โตโยต้าแนะนำโครงการ “โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา

นายพิเชียน ลิมป์หวังอยู่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายสมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรี เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา และ นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมแนะนำโครงการ “โตโยต้า เมืองสีเขียว อยุธยา” ศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแห่งแรกนอกโรงงาน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2561 ณ โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา หน้าตลาดหัวรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


จากพันธสัญญาที่เป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทโตโยต้าทั่วโลก ในการลดผลกระทบเชิงลบ
ด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นศูนย์ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อ “พันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า พ.ศ. 2593” บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จึงได้มุ่งมั่นในการดำเนินงานในทุกกระบวนการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้
สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่สังคมไทย ผ่านกิจกรรมต่างๆภายใต้โครงการ “โตโยต้า เมืองสีเขียว”
โดยมีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ เมืองสีเขียว เพื่อธรรมชาติ เพื่อทุกชีวิต สะท้อนการใช้ชีวิตในเมืองอย่างมีคุณภาพร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของโตโยต้าเมืองสีเขียว คือการนำองค์ความรู้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของ
โตโยต้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมของชุมชนเมือง ส่งเสริมให้คนในชุมชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว
ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าและชุมชน ในการออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วใน 3 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดกระบี่ และ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
สำหรับโครงการ “โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา” ถือเป็นจังหวัดที่ 4 ที่โตโยต้าได้นำองค์ความรู้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้ามาประยุกต์ใช้ และยังเป็นจังหวัดแรกที่ได้ต่อยอดองค์ความรู้ โดยความร่วมมือกับเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ในการบูรณะเรือนจำเก่า หน้าตลาดหัวรอ บนพื้นที่
ขนาด 8 ไร่ให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแห่งแรกนอกโรงงาน ต่อจาก ศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน “ชีวพนาเวศ” ในโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ ผ่านการนำองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้ง 5 ด้านของโตโยต้ามาประยุกต์ใช้และนำเสนอเป็นแนวทางให้เกิดขึ้นภายในพื้นที่


เมืองสีเขียว อันได้แก่
• การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Increasing Green Area) ส่งเสริมการอนุรักษ์ต้นไม้ที่มีอยู่เดิม การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเน้นไม้ยืนต้น หรือ สร้างสวนป่าในเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยใช้ความรู้ด้านการปลูกป่านิเวศตามหลักของศาสตราจารย์ ดร.อากิระ มิยาวากิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกป่าจากประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
• การจัดการขยะ (Waste Management) โดยจัดการขยะอย่างครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมการลดปริมาณขยะ ลดการใช้สินค้าที่ก่อให้เกิดขยะ การคัดแยกขยะและการนำไปใช้ประโยชน์ และการกำจัดขยะแบบถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
• การอนุรักษ์น้ำ (Water Management) การส่งเสริมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า การประหยัดน้ำ การนำทรัพยากรน้ำมาใช้อย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การติดตั้งแท้งค์น้ำรองน้ำฝนเพื่อใช้ในการรดน้ำต้นไม้และกิจกรรมอื่นๆภายในสวน
• การลดการใช้พลังงานและการใช้พลังงานทางเลือก (Renewable Energy) ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ หลอดไฟLED การนำแบตเตอรี่ไฮบริดที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (re-use)
• การเดินทางอย่างยั่งยืน (Sustainable Transportation) ส่งเสริมการเดินทางที่ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง การจัดการด้านผังเมืองให้เป็นเมืองที่มีการใช้พลังงานในการเดินทางน้อยที่สุด เช่น การสนับสนุนการใช้จักรยาน การใช้รถพลังงานไฟฟ้า HA:MO หรือ รถยนต์ไฮบริด

งานในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อแนะนำโครงการฯ และส่งเสริมให้คนในชุมชนท้องถิ่นสามารถใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ โดยภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชนท้องถิ่นกว่า 300 คน โดยการปลูกป่านิเวศอย่างยั่งยืน เพิ่มพื้นที่สีเขียวตามแนวคิดของ ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ
ที่ช่วยร่นระยะเวลาการเจริญเติบโตเป็นป่านิเวศได้เร็วขึ้นนับ 10 เท่า และต้นไม้มีอัตราการอยู่รอดสูงกว่า 90% โดยทำการปลูกต้นไม้พรรณไม้ท้องถิ่น อาทิ ต้นกันเกรา ต้นอินทนิล รวมทั้งสิ้น จำนวน 668 ต้น เพื่อเป็นการสื่อถึงระยะเวลาการก่อตั้งเมืองพระนครศรีอยุธยาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ยังได้ร่วมรณรงค์ให้เกิดการเดินทางอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวของอยุธยา โดยรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก HA:MO รถยนต์ CH-R ไฮบริด และการปั่นจักรยาน เส้นทางไปกลับจากโตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา – อุทยานประวัติศาสตร์ – ศูนย์ท่องเที่ยวอยุธยา รวมระยะทางกว่า 7 กิโลเมตร เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ยังได้มีการเปิดตัว “เยาวชนโตโยต้าเมืองสีเขียว” จากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ในการคัดสรรเยาวชนที่เป็นตัวแทนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาเรียนรู้การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า เพื่อมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้บรรยายองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้แก่ชุมชนท้องถิ่น นักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจต่อไปในอนาคต อันจะเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม แก่เยาวชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างยั่งยืน


ปัจจุบัน โครงการ “โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา” กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโดยจะใช้ระยะเวลา
ในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 14 เดือน และมีกำหนดเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งในระหว่างการก่อสร้าง โตโยต้าจะเปิดพื้นที่บางส่วนสำหรับการจัดกิจกรรมร่วมกับคนในพื้นที่ อาทิ การจัดกิจกรรมออกกำลังกายในสวน การจัดตลาดขายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้ชุมชนและนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แห่งนี้เพื่อปลูกฝังการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและหวงแหนพื้นที่ของชุมชน


นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า “โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยาเป็นความตั้งใจของโตโยต้า ที่จะนำเสนอการใช้ชีวิตในเมืองอย่างมีคุณภาพร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียนให้กับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน
ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ละแวกใกล้เคียง โดยในอนาคตโตโยต้าคาดหวังว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว
เชิงนิเวศให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยี่ยมเยือนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนสามารถจุดประกาย
ให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมได้เกิดจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ อันจะเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมืองสีเขียว ให้เกิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เพื่อธรรมชาติ เพื่อทุกชีวิต ต่อไป”

Facebook Comments