เอทานอลบุกตลาดในปี 2553 : By; Thunyaluk Seniwongs
เป็นที่ทราบกันดีว่าในปี 2553 เป็นปีที่ลำบากสำหรับธุรกิจเอทานอล เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีค่าเฉลี่ยประมาณ $70-80ต่อบาร์เรล มีประชาชนจำนวนมากหันไปใช้เชื้อเพลิงที่เป็น CNG และ LPG ทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลคงที่จากปี 2552 นอกจากนั้นกำลังการผลิตเอทานอลทั้งประเทศยังสูงถึง 3 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตเอทานอลอันได้แก่ กากน้ำตาลและมันเส้นสูงขึ้น และทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีเสถียรภาพ
รายงานฉบับนี้จะรายงานถึงจำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่สามารถใช้น้ำมัน แก๊สโซฮอล์ E85 โครงการรถบัสที่ใช้เอทานอล 100% ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 แก๊สโซฮอล์ E20 และเอทานอลในปี 2552 – 2553 จำนวนสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เป้าหมายในปี 2554 ของบริษัท เพโทรกรีน และการส่งเสริมจากภาครัฐ
จำนวนรถยนต์ FFV
จากตารางที่ 1 จะเห็นว่ายอดรถ Flexible Fuel Vechicle (FFV) ปี 2553 เติบโตร้อยละ 242.71 เมื่อเทียบกับ ปี 2552 หรือเป็นจำนวน 3,563 คัน โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่อุปกรณ์ Conversion Kit นั้นมีราคาที่ต่ำ ตั้งแต่ 4,000 – 18,000 บาท จึงทำให้เป็นที่แพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำมัน
ในขณะที่ ณ สิ้นปี 2553 มีรถยนต์ FFV ที่ผลิตมาเพื่อรองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ 2 รุ่นเท่านั้นคือรถยนต์ Volvo S80 2.5FT และ Mitsubishi Lancer Ex1.8 ทำให้จำนวนรถที่สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 นั้นยังไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งในความเป็นจริงนั้น บริษัทรถยนต์ชั้นนำส่วนใหญ่มีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตรถยนต์ให้รองรับ E85 ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น เมื่อมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ FFV และจะมีการประกาศใช้ใน เดือนมกราคม 2554 ส่งผลให้หลายค่ายรถยนต์ เช่น GM, Honda, และ Toyota ก็ให้ความสนใจในการผลิตรถยนต์ FFV มากขึ้น
โครงการรถมอเตอร์ไซด์ E85
มหาวิทยาลัยสุรนารี ได้วิจัย และพัฒนาให้รถมอเตอร์ไซด์สามารถใช้น้ำมัน E85 ได้ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2552 ที่ อำเภอ ครบุรี, ขามทะเลสอ, ประทาย, วังน้ำเขียว, หนองบุญมาก และปักธงชัย ในจังหวัดนครราชสีมา ทางบริษัทเพโทรกรีน จำกัด จึงได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยสุรนารี ในการส่งเสริม และพัฒนาการใช้รถมอเตอร์ไซด์ E85 ในบริเวณรอบโรงงานเพโทรกรีน ที่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ จากการวิจัยพบว่า รถมอเตอร์ไซด์ที่เป็นระบบคาร์บูเรเตอร์ สามารถใช้น้ำมัน E85 ได้ โดยต้องปรับจูนเล็กน้อย และ เปลี่ยนนมหนูให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่รถที่เป็นระบบหัวฉีดนั้น ยังอยู่ในช่วงทดสอบว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ ณ สิ้นปี 2553 โครงการรถมอเตอร์ไซด์ E85 มีรถมอเตอร์ไซด์ที่ผ่านการปรับจูน และใช้น้ำมัน E85 อยู่บริเวณรอบโรงงานบริษัท เพโทรกรีน จำกัด ประมาณ 130 คัน และกำลังอยู่ในขั้นพัฒนาด้านเทคนิคให้ใช้ดียิ่งขึ้น
ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ มักมีความเชื่อว่า การใช้แก๊สโซฮอล์จะทำให้รถเสีย และทำให้กรองเบนซินอุดตันซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นสาเหตุมาจาก เอทานอล นั้นไปล้างคราบสกปรกในคาร์บูเรเตอร์ออก และทำให้สิ่งสกปรกต่างๆที่เกาะอยู่ในบริเวณตัวถังน้ำมันตลอดการใช้งานตกมาที่กรองเบนซินในคราวเดียวกัน ซึ่งหากใช้เบนซินมาเป็นมาเวลานาน จะมีโอกาสสูงที่กรองเบนซินจะอุดตัน และทำให้รถเกิดปัญหาได้ ดังนั้นทางแก้ที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอล์ คือ ทำความสะอาดล้างคาร์บูเรเตอร์ก่อนที่จะมาใช้แก๊สโซฮอล์ และเปลี่ยนกรองเบนซิน
โครงการการใช้เอทานอลกับรถบัสขนาดใหญ่ (ED95)
โครงการรถบัส ED95 เกิดจากความร่วมมือของหลากหลายองค์กรชั้นนำ ดังนี้
1. บริษัท เพโทรกรีน จำกัด
2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
3. บริษัท สแกนเนีย (ไทยแลนด์) จำกัด
4. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
5. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะ และวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
6. บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การนำรถบัสที่มีขนาดใหญ่มาใช้ เอทานอล ที่มีความบริสุทธิ์ 95% และ สารเติมเต็มอีก 5% โดยรถบัสที่ได้รับมาตรฐานยูโร 5จะถูกนำมาจากประเทศสวีเดนเป็นจำนวน 1 คัน เพื่อใช้ในการทดสอบ
ในช่วงเดือนเมษายน 2554 จนถึงกรกฏาคม 2554 ซึ่งบริษัทเพโทรกรีน จะสนับสนุนเอทานอลเพื่อใช้ในการทดสอบเป็น จำนวน 120,000 ลิตร
ประโยชน์จากการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง
1. ลดภาวะโลกร้อน เพราะการใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมเอทานอลจะเกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์กว่าการใช้น้ำมันที่มาจาก ฟอสซิล นอกจากนั้นการปลูกพืชไร่ยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกจากรถยนต์ได้อีก
2. ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายพืชไร่
3. ประเทศไทยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ทำให้เงินตราไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ
การเติบโตของน้ำมันที่มีส่วนผสมเอทานอลในปี 2552 -2553
จากกราฟที่ 1 จะเห็นได้ว่าปี 2553 น้ำมัน E85 มีการเติบโตจาก 0.076 ล้านลิตร/เดือน เป็น 0.249 ล้านลิตร/เดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 227.63 และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นไปอีก จากการสนับสนุนของภาครัฐ ทั้งในด้านการลดภาษี และนโยบายที่ให้มีการเปิดปั๊ม E85 เพิ่มขึ้น
จากกราฟที่ 2 ถึงแม้ยอดการใช้ของ E20 จะเพิ่มขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่การเพิ่มขึ้นนั้นอยู่ในอัตราส่วนที่น้อยเกินไป ถ้าเทียบกับปริมาณรถยนต์ที่รองรับน้ำมัน E20 และสถานีบริการน้ำมัน E20 ที่เพิ่มขึ้น
จากข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงธุรกิจพลังงาน(http://www.doeb.go.th/knowledge/e20.htm) รถยนต์ที่สามารถใช้น้ำมัน E20 ได้โดยส่วนใหญ่แล้ว คือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (Sedan) ตั้งแต่ปี 2551 ดังนั้นตัวเลขเบื้องต้นโดยประมาณอ้างอิงจากข้อมูลของกรมสถิติ รถ Sedan ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 – ตุลาคม 2553 คือ 923,324 คัน ซึ่งถ้าเทียบกับยอดจำหน่ายน้ำมัน E20 ในเดือน ตุลาคม 2553 ซึ่งเท่ากับ 12.73 ล้านลิตรแล้วจะพบว่ารถยนต์ที่สามารถเติมน้ำมัน E20 ได้ในหนึ่งเดือนนั้นเติมน้ำมัน E20 เพียง 14.14 ลิตรต่อคันเท่านั้น ซึ่งโดยขั้นต่ำแล้ว รถยนต์แต่ละคันจะเติมน้ำมันประมาณ 2 ถังต่อเดือน โดยให้ 1 ถังประมาณ 40 ลิตร คิดเป็นเดือนละ 80 ลิตร นั่นหมายความว่า รถยนต์ที่สามารถเติมน้ำมัน E20 ได้ เติมน้ำมัน E20 เพียงแค่ 17.68% ของปริมาณน้ำมันที่สามารถเติมได้ในแต่ละเดือน
สาเหตุหลักที่ผู้บริโภคไม่เลือกใช้นั้น น่าจะเป็นเพราะราคาของน้ำมัน E20 มีราคาที่แพงเกินไป ถ้าเทียบกับอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันของ E20 ที่เพิ่มขึ้นจาก E10 ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าไม่คุ้มค่า และตัดสินใจกลับไปใช้ E10 ตามเดิม โดยอัตราการสิ้นเปลืองของ E20 นั้นมากกว่า E10 อย่างน้อย 4.01% ขึ้นอยู่กับรถยนต์แต่ละรุ่น ในขณะที่ราคาน้ำมัน ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2553 ราคา E20 อยู่ที่ 30.94 บาท/ลิตร ในขณะที่ราคา E10 (91) อยู่ที่ 31.84 บาท/ลิตร หรือถูกกว่า 2.91% ซึ่งไม่สอดคล้องกับอัตราการสิ้นเปลืองที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นหากรัฐต้องการสนับสนุนการใช้น้ำมัน E20 ให้มากขึ้นก็ควรปรับส่วนต่างราคาของน้ำมัน E20 ให้ถูกกว่าน้ำมัน E10 อย่างน้อย 4.01%
จากกราฟที่ 3 ทั้งๆที่ภาครัฐก็ให้การสนับสนุนแก๊สโซฮอล์มาโดยตลอด และยอดการใช้เอทานอลก็เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ยอดการใช้เอทานอลในปี 2553 กลับมียอดการใช้ที่น้อยกว่าปี 2552 ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้บริโภคหันไปใช้ LPG และ CNG ที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันมาก โดยหากเทียบระหว่างช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคมปี 2552 และปี 2553 ยอดการใช้ LPG เพิ่มขึ้น 16.36% ในขณะที่ CNG เพิ่มขึ้นถึง 35.30%
ในปี 2553 มีสถานีบริการ E85 เปิดแล้วทั้งสิ้น 10 สถานีบริการประกอบด้วย ปตท. 5 สถานี และบางจาก 5 สถานี โดยในปี 2554 ปตท. ได้ให้ข่าวว่าจะเปิดสถานีบริการ E85 เพิ่มอีก 5 สถานี ในขณะที่บางจาก ได้ให้ข่าวว่าจะเปิดสถานีบริการ E85 เพิ่มอีก 10 สถานี
การส่งเสริมจากภาครัฐ
โฆษณาของกระทรวงพลังงาน
ในเดือนธันวาคม 2553 กระทรวงพลังงานได้จัดทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนพลังงานทดแทนเป็นจำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย ชุดเมืองไทย เมืองพลังงานทดแทน 2 ชุด และ E85 น้ำมันของคนไทย 1 ชุด
การปรับภาษี
ผลจากการประชุม ครม. ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ได้มีการปรับภาษีต่างๆดังนี้
1. ปรับลดภาษีสรรพสามิตลง 3% สำหรับรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และใช้น้ำมัน E85 เป็นเชื้อเพลิง ขนาด 1780 – 3000 ซีซี
2. ลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปที่มีขนาด 1780 – 3000 ซีซี และสามารถใช้น้ำมัน E85 เป็นเชื้อเพลิงได้ลง 20% (ลดจากเดิม 80% เหลือ 60%)
3. ยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนที่นำมาผลิตรถยนต์ที่ใช้ E85 เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตใน
ประเทศไทยได้เพิ่มอีก 7 รายการ รวมเป็น 15 รายการ
เงินชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ในเดือนธันวาคม 2553 รัฐบาลได้เพิ่มเงินชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมัน E85 จากเดิม ลิตรละ 11 บาท เป็นลิตรละ 13.50 บาท
thunyaluk@caronline.net