เปรียบเทียบ รถไฟฟ้า-ฟูอัลเซลส์
เป็นที่ทราบกันดี ว่าค่ายรถยนต์แต่ละค่ายต่างซุ่มพัฒนายานยนต์เพื่ออนาคต เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สำหรับการจำหน่ายในอนาคต เมื่อเชื้อเพลิงฟอสซิลในโลกใบนี้ลดปริมาณเหลือน้อยลงเรื่อยๆ แต่ละค่ายก็ใช้งบประมาณกันมหาศาล รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสารว่ารถยนต์ของตนเอง มีคุณสมบัติดีอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ยังไม่มีข้อมูลจากสถาบันใด ออกมาระบุเปรียบเทียบว่า รถยนต์หรือยานยนต์ชนิดใด จะดีต่อสิ่งแวดล้อม ด้านใดบ้าง ปล่อยมลพิษน้อยที่สุด อย่างไร แม้ว่าเราจะทราบกันดีว่า ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า ใช้แบตเตอรี่ และรถยนต์ที่ใช้ฟูอัลเซลส์ อย่างไฮโดรเจน ต่างก็ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการปล่อยค่าไอเสียออกมาน้อยที่สุดก็ตาม
ศูนย์ค้นคว้าด้านการขนส่งของมหาวิทยาลัยมิชิแกน University of Michigan Transportation Research Institute เว็บไซต์ http://www.umtri.umich.edu ก็มอบหมายให้นักวิชาการ 2 ท่าน แบรนดอน โชว์เติ้ล Brandon Schoettle และ ไมเคิล สิวาค Michael Sivak ศึกษาเรื่องดังกล่าว และนำเสนอออกมาเป็นเอกสาร พีดีเอฟ PDF ในชื่อ The Relative Merits of Battery-Electric Vehicles and Fuel-Cell Vehicles แต่เป็นภาษาอังกฤษ จำนวน 28 หน้า
เอกสารดังกล่าว ให้นำ้หนักถึงข้อดีและข้อเสีย หรือข้อด้อย ของรถยนต์ไฟฟ้า เปรียบเทียบกับรถที่ใช้ไฮโดรเจน เป็นเชื้อเพลิง ระบุข้อมูลทางเทคนิค พร้อมมีบทสัมภาษณ์ผู้คนในแวดวงยานยนต์ และผู้รู้ทางด้านพลังงาน เพื่อเปรียบเทียบระบบขับเคลื่อนของการใช้เชื้อเพลิงต่างชนิดกัน โดยมีรถยนต์เครื่องยนต์เบนซิน เป็นตัวเปรียบเทียบ โดยรถไฟฟ้า จะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง หรือกระแสไฟจากแบตเตอรี่ 54 หน่วย บีทียู/ไมล์ ขณะที่รถไฮโดรเจน สิ้นเปลืองแตกต่างกันตามการเหยียบคันเร่ง ตั้งแต่ 27 ถึง 67 หน่วย บีทียู/ไมล์ หรือรถยนต์เครื่องยนต์เบนซิน สิ้นเปลือง 3,791-4,359 หน่วย บีทียู/ไมล์
ภายในเอกสาร มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ของยานยนต์ทั้งสองชนิด แม้ว่าผู้ผลิตยานยนต์แต่ละชนิด จะออกมาให้ความเห็นในหลายประเด็น ถึงข้อดีของยานยนต์ของตนเอง พร้อมระบุว่าค่ายของตน ได้พัฒนาเครื่องยนต์มาหลากชนิด เพื่อค้นหาสิ่งที่ดีที่สุด แม้ว่าอย่างค่ายโตโยต้า ก็นำเสนอรถรุ่น มิราอิ ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน แถมแขวะไปถึงรถไฟฟ้าบางรุ่นด้วย, ค่ายเรโนลต์ กับ นิสสัน ก็ยึดติดกับรถไฟฟ้า ที่ออกขายมานับแสนคันทั่วโลก แต่หนนี้ เป็นเอกสารที่ค้นคว้าโดยวิศวกร ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่มีอคติกับเครื่องยนต์ชนิดใด
จากเอกสารของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า รถไฟฟ้า น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ด้วยความพร้อมในหลายด้าน เพราะมีให้เลือกหลายค่าย หลายรุ่น ถึง 13 รุ่น ค่าใช้จ่ายในการทำงานหรือเดินทางก็ต่ำ และต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณะ อย่างสถานที่ชาร์จไฟ ค่าก่อสร้างก็ไม่ได้แพงมากนัก ถ้าติดตั้งที่ชาร์จไว้ที่บ้าน ค่าใช้จ่ายก็ตกราว 25,000 บาท แต่หากสร้างในที่สาธารณะ ค่าใช้จ่ายจะตกราว 250,000-2,500,000 บาท ส่วนเครื่องยนต์ใช้ไฮโดรเจน เป็นเชื้อเพลิงมีให้เลือกเพียง 3 รุ่น ขณะที่ค่าก่อสร้างสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจน จกตกราว แห่งละ 3-5 ล้านเหรียญ ราว 75,000,000-125,000,000 บาท รวมทั้งต้องมีโครงสร้างเพื่อความปลอดภัยจากแรงดันไฮโดรเจน อีกด้วย
แต่เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ได้เปรียบตรงที่สามารถเติมเชื้อเพลิงได้เร็ว และขับขี่ได้ระยะทางมากกว่า แม้ว่าความสิ้นเปลืองจะมากกว่ารถไฟฟ้าเล็กน้อย ตามวิธีการขับของแต่ละบุคคล แต่เมื่อเทียบค่าการปล่อยไอเสีย รถไฟฟ้าได้เปรียบมากที่สุด ปล่อยไอเสียเฉลี่ยเพียง 214 กรัม/ไมล์ ขณะที่เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ปล่อยไอเสีย 260-364 กรัม/ไมล์ ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน ปล่อยไอเสีย 356-409 กรัม/ไมล์
รายงานระบุว่า รถยนต์เครื่องยนต์เบนซิน ได้เปรียบที่มีให้เลือกมากมาย และมีสถานีบริการเชื้อเพลิงทั่วถึง
ช่างผู้ให้บริการก็คุ้นเคยกับการซ่อมบำรุง แต่หากเป็นรถไฟฟ้า ช่างผู้ให้บริการต้องได้รับการฝึกสอนเรื่องแรงดันกระแสไฟฟ้า และแรงดันเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ในรถไฮโดรเจน