ฮอนด้า จับมือ จีเอ็ม ร่วมกันพัฒนา ฟูอัลเซลส์
ค่ายฮอนด้า จับมือกับ จีเอ็ม เพื่อร่วมกันพัฒนาฟูอัลเซลส์ เพื่อการใช้เชื้อเพลิงไฮดรอเจน ซึ่งที่จริงทั้งสองค่ายได้ร่วมกันพัฒนามาแล้ว 3 ปี แต่การร่วมกันครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ ที่ทั้งสองค่ายจะร่วมกันพัฒนาเซลส์เชื้อเพลิงที่ประหยัดต้นทุนมากขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตเป็นชิ้นส่วนเพื่อการประกอบ ในมิชิแกน ให้ได้ในปี 2563
การลงทุนร่วมกันในครั้งนี้ ใช้ชื่อเป็นทางการว่า ฟูอัล เซลส์ ซิสเต็ม แมนูแฟคเจอริง Fuel Cell System Manufacturing เพื่อทำการผลิตชุดฟูอัลเซลส์ ที่โรงงานบราว์สโตน Brownstown ของ จีเอ็ม ซึ่งเคยใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ นอกเมืองดีทรอยต์ ด้วยเงินลงทุน 85 ล้านเหรียญ ราว 2,550 ล้านบาท มีการจ้างงาน 100 ตำแหน่ง
ชุดฟูอัลเซลส์นี้ มีขนาดใกล้เคียงกับชุดที่ฮอนด้าใช้อยู่กับรถเชื้อเพลิงไฮดรอเจน คลาริตี้ เอฟซีวี ปัจจุบัน แต่ใช้วัสดุในการประกอบน้อยชิ้นกว่า และลดการใช้โลหะที่มีราคาสูงลง รวมทั้งง่ายต่อการประกอบด้วย สำหรับสายการผลิตจะใช้ระบบที่ออกแบบใหม่ เพิ่มขั้นตอนทางอีเล็กทรอนิคมากขึ้น ซึ่งความเรียบง่ายและความสะดวกในการผลิตชุดฟูอัลเซลส์นี้ จะช่วยให้สามารถลดต้นทุน อันเป็นสิ่งที่ทั้งสองค่ายคาดหวังในการร่วมทุนครั้งนี้
ค่ายฮอนด้า ประกาศตัวที่จะจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟูอัลเซลส์ เหมือนอย่างรุ่น คลาริตี้ ขณะที่ จีเอ็ม ทำการทดสอบรุ่น อิควิน็อกซ์ เอฟซีวี Equinox FCV ซึ่งใช้เชื้อเพลิงไฮดรอเจน แต่ไม่เคยประกาศว่าจะผลิตออกจำหน่ายต่อสาธารณะ และในการประกาศการลงทุนครั้งนี้ ผู้บริหารจีเอ็ม มาร์ค รุส Mark Reuss ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จีเอ็ม อาจจะคิดแตกต่างออกไป “think outside the box” เมื่อพิจารณาถึงการประกอบชุดฟูอัลเซลส์ใหม่นี้ ซึ่งหมายถึงการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ในอนาคตอย่างอื่น นอกเหนือจากยานยนต์ โดยที่ในปัจจุบัน จีเอ็ม กำลังทำการทดลองชุดฟูอัลส์เซลส์กับอากาศยาน และเรือเดินทะเลอยู่
ซึ่งหมายถึงทั้งสองค่าย กำลังพิจารณาการนำชุดฟูอัลเซลส์ไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่น นอกเหนือจากยานยนต์
ขณะที่ต้นทุนการผลิตชุดฟูอัลเซลส์กำลังเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง โดยที่การจัดหาหรือการจัดสร้างโครงสร้างเพื่อการจัดตั้งสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮดรอเจน ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน