อดีตประธานนิสสัน หายจากญี่ปุ่น ไปปรากฏตัวที่ เลบานอน
กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เมื่อ อดีตประธานนิสสัน คาร์ลอส โกสน์ วัย 65 ปี ซึ่งถูกจำกัดบริเวณโดยอัยการกรุงโตเกียว ในบ้านพักกรุงโตเกียว ในการไต่สวนคดีคอรัปชั่นทางการเงิน ระหว่างดำรงตำแหน่ง และไปปรากฏตัวอยู่ในกรุงเลบานอน
แม้ว่าจะยังคงเป็นความลับ ว่า โกสน์ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่คนญี่ปุ่นรู้จักมากที่สุด จะสามารถเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นได้อย่างไร แต่บรรดาสำนักข่าว ออกมาระบุตรงกันว่า โกสน์ เดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ซึ่งเป็นของ เม็นเอ็นจี โอลดิ้ง MNG Holding ประเทศตุรกี พร้อมแหล่งข่าววงในระบุว่า มีการเปลี่ยนเครื่องบินเป็นอีกลำหนึ่ง โดย โกสน์ เข้าไปอยู่ในกล่องเครื่องดนตรีระหว่างการเคลื่อนย้าย
ในวันที่ 31 ธันวาคม โกสน์ เผยแพร่แถลงการณ์ โดยแจ้งไปยังสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ยืนยันการอยู่ในประเทศเลบานอน เป็นที่เรียบร้อย และปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดในการเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่น
คาร์ลอส โกสน์ ระบุว่า เขาไม่ต้องการเผชิญกับ “การทุจริต” ของกระบวนการยุติธรรมในญี่ปุ่น ที่กำลังไต่สวนเขาในคดีคอรัปชั่น และเขาไม่ต้องการอยู่ในสถานะ “ตัวประกัน” ของกระบวนการยุติธรรมในญี่ปุ่น “ที่มีการทุจริต” และการที่สิทธิส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานถูกล่วงละเมิด ตลอดจนมีการเลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรงอีกต่อไป
โกส์นยืนยันว่าเขาไม่ได้หลบหนีจากการต่อสู้คดีในญี่ปุ่น แต่ต้องการหลุดพ้นจาก “ความไม่ยุติธรรม” และ “การกดขี่ทางการเมือง” เท่านั้น นับจากนี้เขาและครอบครัว “มีอิสรภาพแล้ว” และจะเริ่มเปิดเผยข้อมูลอีกด้านหนึ่งกับสื่อมวลชนทั่วโลกตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่น สำนักงานอัยการกรุงโตเกียว รัฐบาลเลบานอน บริษัทนิสสันและทีมงานฝ่ายกฎหมายของกอส์นในญี่ปุ่น ยังไม่แสดงท่าทีอย่างเป็นทางการต่อรายงานดังกล่าว ส่วนสถานเอกอัครราชทูตเลบานอน ฝรั่งเศส และบราซิลประจำกรุงโตเกียวต่างออกแถลงการณ์ว่า “ยังไม่ได้รับรายงาน”
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและเลบานอนไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนร่วมกัน ความเป็นไปได้ในการที่อดีตนักธุรกิจใหญ่ซึ่งถือสัญชาติเลบานอน ฝรั่งเศส และบราซิล จะเดินทางกลับมาขึ้นศาลตามกำหนดในเดือนเม.ย. 2563 “จึงแทบเป็นศูนย์” ด้านสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคนรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลเลบานอน ว่ากอส์นใช้เอกสาร “ที่เป็นชื่ออื่น” เพื่อเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวจากญี่ปุ่นมายังกรุงเบรุต เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานโดยอ้างแหลงข่าวว่า โกสน์ “หลบหนี” ออกจากญี่ปุ่น เพราะไม่เชื่อมั่นว่าจะได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม และเดินทางผ่านตุรกีเข้ามายังเลบานอน และสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ศาลแขวงกรุงโตเกียวไม่ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามโกสน์เดินทางออกจากญี่ปุ่
อนึ่ง โกสน์ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2561 ตามหมายจับของศาลแขวงกรุงโตเกียว ในคดีละเมิดกฎหมายทางการเงินและประพฤติมิชอบ ที่รวมถึงการเจตนาปกปิดบิดเบือนรายได้เพื่อเลี่ยงภาษี และการละเมิดต่อหน้าที่ด้วยการถ่ายโอนความสูญเสียจากการลงทุนภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับนิสสันเข้าสู่ฐานข้อมูลของบริษัท และข้อหายักยอกเงิน 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 959.4 ล้านบาท) จากกองทุนของนิสสัน ไปยังบริษัทซูเฮล บาห์วัน ออโต้โมบิลส์ (เอสบีเอ) ซึ่งเป็นตัวแทนของนิสสันในโอมาน แต่กอส์นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และประณามรัฐบาลญี่ปุ่นว่าเจตนาให้ร้ายเขา
อย่างไรก็ตาม ศาลแขวงกรุงโตเกียวอนุญาตให้โกสน์ได้รับการประกันตัวเมื่อเดือนมี.ค. 2562 ด้วยเงื่อนไขหลักทรัพย์ 1,000 ล้านเยน (275.3 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวงเงินประกันตัวบุคคลสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น พร้อมทั้งต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเคร่งครัดอีกหลายประการ รวมถึงการห้ามเดินทางออกจากญี่ปุ่น “ในทุกกรณี”
บ้านพักของโกสน์ เป็นตึก 3 ชั้น ในเขตรอปปองกิ Roppongi ในกรุงโตเกียว จะอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ผ่านกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการส่งเทปให้ศาลตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ แต่หากต้องการใช้คอมพิวเตอร์ โกสน์ต้องเดินทางมาใช้งานอุปกรณ์ที่สำนักงานของทนายความ และต้องเป็นเวลากลางวันเท่านั้น การห้ามติดต่อกับภรรยา “ก่อนได้รับอนุญาต” การห้ามติดต่อกับสมาชิกทุกระดับของนิสสัน “อย่างเด็ดขาด” และการต้องแจ้งให้ศาลพิจารณาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เมื่อต้องการเดินทางออกจากกรุงโตเกียว