มูลนิธิโตโยต้าฯ และ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมเชิดชูเกียรติรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น“TTF Award” ประจำปี 2551

มูลนิธิโตโยต้าฯ และ ม.ธรรมศาสตร์
ร่วมเชิดชูเกียรติรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น
“TTF Award” ประจำปี 2551


พล.ต.อ.เภา สารสิน ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ร่วมกับ มร.มิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ และคณาจารย์ ร่วมมอบ 4 รางวัลเชิดชูเกียรติ ผลงานวิชาการดีเด่น “TTF Award” ประจำปี 2551 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ศกนี้ ที่ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ.2530 ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสังคมไทยให้มีพัฒนาการและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมทางด้านการศึกษา วิชาการ และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ นับเป็นวัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของการก่อตั้งมูลนิธิฯ

ปี พ.ศ.2538 เป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศรางวัล “TTF Award” ภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการศึกษาในระดับสูง ตลอดจนสนับสนุนให้นักวิชาการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานงานวิชาการของไทย โดยมุ่งหวังพัฒนาสังคมไทยให้เป็น “สังคมแห่งความรู้” อันเป็นที่มาของการประกาศเกียรติคุณ ยกย่องผลงานวิชาการในสาขาต่างๆ พร้อมสนับสนุนการจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน อันจะเป็นประโยชน์แก่นิสิต นักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจนสาธารณชน เพื่อนำไปใช้ในการศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ ในวิทยาการใหม่ๆ ได้อย่างกว้างขวาง และลึกซึ้ง โดยตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ได้มีการประกาศรางวัลเกียรติยศให้กับผลงานอันทรงคุณค่าทางวิชาการ รวมทั้งได้รับการตีพิมพ์สู่สาธารณชนแล้วจำนวนทั้งสิ้น 22 เล่ม

ในปี พ.ศ.2551 มีผลงานส่งเข้ารับการพิจารณาจำนวนทั้งสิ้น 43 ผลงาน แบ่งออกเป็น
รางวัลเกียรติยศ -3 ผลงาน
สาขาวิทยาศาสตร์ -12 ผลงาน
สาขาสิ่งแวดล้อม – 3 ผลงาน
สาขาสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ -25 ผลงาน

คณะกรรมการได้พิจารณาผลงานวิชาการที่สมควรได้รับรางวัล
“TTF Award” ประจำปี พ.ศ.2551 ได้แก่


รางวัลเกียรติยศ

หนังสือเรื่อง “วัฒนธรรมคือความหมาย: ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ”
แต่งโดย รศ.ดร.มรว.อคิน รพีพัฒน์
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ได้รับรางวัล เงินสด 150,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

คำประกาศเกียรติคุณ

“สังคมไทยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นทุนเดิม ดำรงอยู่ในยุคที่โลกทุกส่วนถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยเทคโนโลยีข่าวสารที่ก้าวหน้า และการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งของระบบการเงินและการค้าระหว่างประเทศ เมื่อถูกโหมกระหน่ำด้วยความรู้ความคิดใหม่ รวมทั้งนวัตกรรมทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และสังคม ก็ทำให้ความหลากหลายที่ดำรงอยู่ก่อน สลับประสานซับซ้อนจนยากแก่การทำความเข้าใจยิ่งขึ้นไปอีก มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตระหนักว่าการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมไทยเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังมิต้องกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างมีสติ และมีขันติธรรม ไม่เพียงต้องการความรู้ที่ลึกซึ้ง ชนิดที่ไม่หลงลืมผู้คนที่เป็นทั้งผู้ให้ และผู้บริโภคความรู้ อีกทั้งยังต้องเป็นความรู้ที่ใส่ใจกับชีวิต และความเปราะบางทั้งของสถาบันทางสังคมเดิม ของสายใยทางสังคม และของสรรพสิ่งที่แวดล้อมมนุษย์อยู่”

ผลงานวิชาการเรื่อง “วัฒนธรรมคือความหมาย” โดย หม่อมราชวงศ์ อคิน รพีพัฒน์ นักมานุษยวิทยาอาวุโสคนสำคัญของประเทศ เป็นการนำเสนอวิธีวิทยาทางมานุษยวิทยาที่ประสานชุดของความรู้ในระดับสากล เข้ากับความเข้าใจสังคมไทย โดยได้เฝ้าติดตามและศึกษา มาตลอด เพื่อให้เครื่องมือดังกล่าวสามารถนำมาใช้ทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมที่อุดมด้วยความแตกต่างหลากหลาย ทว่ามีพลวัตของการเปลี่ยนแปลงอย่างสูงเช่นสังคมไทย โดยไม่ละเลยมนุษย์ และภาวการณ์ดำรงอยู่ของผู้คนในฐานะเพื่อนมนุษย์ ด้วยลักษณะโดดเด่นดังกล่าว “วัฒนธรรมคือความหมาย” จึงเป็นผลงานวิชาการที่ควรค่าแก่การได้รับรางวัล “TTF Award เกียรติยศ” ประจำปี 2551

รางวัลผลงานวิชาการดีเด่น


สาขาวิทยาศาสตร์

หนังสือเรื่อง “วงจรป้อนกลับแบบลบและออสซิลเลเตอร์
ผู้แต่ง ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม
ได้รับรางวัล เงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

คำประกาศเกียรติคุณ

“ปัจจุบันเป็นยุคที่เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างมาก การติดต่อสื่อสารระหว่างกันที่สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารแบบไร้สาย เรามีอุปกรณ์หรือเครื่องเอื้ออำนวยความสะดวกมากขึ้นโดยเฉพาะระบบที่เป็นแบบอัตโนมัติ ตั้งแต่ระบบที่มีขนาดใหญ่ไปจนถึงระบบที่มีขนาดเล็กๆ ความเจริญก้าวหน้านี้เป็นผลพวงจากการที่เทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์มีการพัฒนาไปอย่างมาก เนื่องจากสามารถประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์จำนวนหลายหมื่นตัวในไอซี (IC หรือ Integrated Circuit) ชิ้นเล็กๆชิ้นเดียวกันได้ อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ในส่วน การเรียน การสอน และการวิจัยด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศไทยนั้น จะหาตำราทางวิชาการที่เป็นภาษาไทยซึ่งสามารถใช้อ้างอิงเป็นหลักได้ไม่มากนัก”

ผลงานวิชาการเรื่อง “วงจรป้อนกลับแบบลบและออสซิลเลเตอร์” โดย ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม เป็นการรวบรวมเกี่ยวกับหลักการการป้อนกลับสัญญาณ คือ การป้อนกลับแบบลบ และ การป้อนกลับแบบบวก (หรือวงจรออสซิลเลเตอร์) ที่มีประโยชน์ สามารถประยุกต์ใช้อย่างมากมายในการวิเคราะห์ทางทฤษฎีและการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการคิดค้นกันไว้มากว่า 40 ปี โดยได้เรียบเรียงและรวบรวมไว้เป็นองค์ความรู้เดียวกัน นับเป็นความรู้ที่สำคัญที่นักศึกษาและนักวิจัยใช้ศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานและเพื่อต่อยอดพัฒนางานวิจัยได้ ในแต่ละบทผู้เขียนนอกจากจะอธิบายให้เห็นแนวคิดของการออกแบบและลำดับความเป็นมาอย่างชัดเจนแล้ว ยังได้มีการนำเสนอหลักการวิเคราะห์ไว้อย่างละเอียด เนื้อหาซึ่งผ่านสำนวนการเขียนที่ลุ่มลึก ส่วนใหญ่ผู้เขียนได้เรียงร้อยมาจากประสบการณ์การวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาของผู้เขียนเอง นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้แสดงทฤษฎีสมัยใหม่ในเรื่องราวของเฟสนอยซ์ในออสซิลเลเตอร์ไว้อย่างค่อนข้างจะสมบูรณ์ กอปรกับหลายต่อหลายส่วนในตำราเล่มนี้ ยังมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์วงจรในลักษณะวงจรรวมแบบแอนะลอกอีกด้วย “วงจรป้อนกลับแบบลบและออสซิลเลเตอร์” นับเป็นหนังสือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกเล่มหนึ่งที่มีคุณภาพระดับนานาชาติที่เขียนเป็นภาษาไทย จึงสมควรได้รับการยกย่องและควรค่าอย่างยิ่งแก่ รางวัล “TTF AWARD ประเภทดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2551


สาขาสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

หนังสือเรื่อง “นโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น: ความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง”

ผู้แต่ง รศ.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ได้รับรางวัล เงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

คำประกาศเกียรติคุณ

“ผลงานวิชาการ นโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น : ความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู เป็นผลงานวิชาการที่โดดเด่นมาก เพราะไม่เพียงนำเสนอการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่มีบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยข้อมูลหลักฐานทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ ทั้งจากนักวิชาการตะวันตก และนักวิชาการเอเชีย รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย ยังนำเสนอเนื้อหาสาระอย่างกว้างขวางครอบคลุมนโยบายต่างประเทศญี่ปุ่นต่อภูมิภาคต่าง ๆ ที่สำคัญในโลก สร้างความเข้าใจต่อบทบาทและนโยบายของญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังใช้ภาษา ที่สละสลวย เข้าใจง่าย ช่วยให้ผู้อ่านที่สนใจประเทศญี่ปุ่น สามารถเข้าใจความซับซ้อนของเนื้อหาได้อย่างชัดเจน นับเป็นงานวิชาการที่เปี่ยมด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง” ดังนั้นจึงสมควรได้รับรางวัล “TTF AWARD ประเภทดีเด่นสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์” ประจำปี 2551

* หมายเหตุ สาขาวิทยาศาสตร์ ไม่มีผลงานได้รับรางวัล

พล.ต.อ.เภา สารสิน ประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่า “การศึกษานับเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย มีความตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสังคมไทยในทุกระดับ ซึ่งรางวัล TTF Award นับเป็นหนึ่งในความตั้งใจที่จะพัฒนาองค์ความรู้ในระดับสูง จากผลงานวิชาการของนักวิชาการไทย ซึ่งการประกาศรางวัลครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 13 มูลนิธิฯจะมุ่งมั่นดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ต่อไป เพื่อให้สังคมไทยมีพัฒนาการ และเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนสืบไป”

**************************************************************************

สารฑูล สักการเวช
sarathun@caronline.net

Facebook Comments