ทำอย่างไรไม่ให้ถูกตรวจจับความเร็ว : By;Thunyaluk Seniwongs
ว่าจะพูดถึงเรื่องการตรวจจับความเร็วทุกครั้งที่ขับรถไปเขาใหญ่โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันออก กรุงเทพฯ –บางปะอิน) หรือไปพัทยาโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ – ชลบุรี )แต่ก็ไม่ได้เขียนสักที สัปดาห์ที่ผ่านไปเมื่อวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม ก็ได้เดินทางไปพัทยา เพื่อไปที่คอนโดไปดูอินเตอร์เน็ตของทีโอทีที่ใช้ไม่ได้มาเกือบหนึ่งเดือนแล้ว ว่าใช้ได้แล้วหรือยัง ซึ่งทางคอนโดบอกว่าเขามาซ่อมให้แล้วเมื่อวันศุกร์ที่27 วันเสาร์เข้าไปแล้วก็ใช้ได้แล้วจริงๆ ค่อยหายเหนื่อยใจหน่อย ทั้งที่มี Air card ใช้อยู่แล้ว
ก่อนจะเข้าไปที่คอนโดก็แวะที่สนามพีระอินเตอร์แนชั่นแนลเซอร์กิตก่อน ซึ่งได้จัดการแข่งขัน Honda Racing Festival 2010 สนามที่ 2 -3 โดยมีสองวันคือเสาร์และอาทิตย์ เป็นการแข่งขันที่สนุกทีเดียวเพราะรถเข้าแข่งขันจำนวนมาก แต่ละรุ่นไม่ต่ำกว่ายี่สิบคัน ดูการรายงานข่าวจากคุณเปรมศักดิ์และคุณสารฑูลได้เลยค่ะ
ตอนนี้ก็กลับเข้าสู่เรื่องทำอย่างไรไม่ให้ถุกตรวจจับความเร็ว จากคนที่โดนมาแล้ว ไม่ได้จะแนะนำให้ทำผิดกฎหมายนะคะอย่าเพิ่งเข้าใจผิด ตามมาเลยค่ะ
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมฉันก็ได้รับจดหมายจากสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ตอนแรกก็ตกใจเหมือนกันนะ ว่ามันเรื่องอะไรนะ “ อ้อเรื่องให้ไปชำระค่าปรับ” โดยจดหมายก็ระบุวันเวลาไว้ โดยมีภาพถ่ายรถยนต์พร้อมรายละเอียดแนบมาด้วย
โดยถ่ายด้วยเครื่องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ ( LACER SPEED CAMERA ) ภาพที่บันทึกเห็นทะเบียนและยี่ห้อรถชัดเจนเห็นทั้งคนนั่งคนขับ ได้ตรวจจับความเร็วบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ถนนมอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-ชลบุรี ) วิ่งด้วยความเร็ว 138 กม./ ชม. เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่ 120 กิโลเมตร / ชั่วโมง ให้ไปเสียค่าปรับ 500 บาท โดยให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันที่ได้รับจดหมาย ก็คือไปเสียค่าปรับนั่นเอง จะไปด้วยตัวเองก็ได้ หรือ ส่งธนาณัติสั่งจ่ายผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปรษณีย์เจ้าคุณทหาร
ซึ่งตัวฉันก็ได้จัดส่งค่าปรับเป็นธนาณัติ ก็ไปส่งที่ไปรษณีย์ โดยระบุหมายเลขที่ของจดหมายที่เราได้รับ พร้อมกับจ่าหน้าซองถึงตัวเราเองใส่ซองไปด้วย เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะได้จัดส่งใบเสร็จกลับไปให้ ค่าส่งไปรษณีย์จะเป็นแบบ EMS ค่าจัดส่งไป-กลับก็ 74.90 บาท ซึ่งฉันก็ได้รับใบเสร็จค่าปรับกลับมาเรียบร้อยแล้ว
ตัวฉันเองเมื่อขับความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเมื่อโดนปรับก็จ่ายค่าปรับไป
ท่านที่ได้รับจดหมายท่านต้องไปชำระค่าปรับนะคะ เพราะจะมีผลต่อการต่อทะเบียนของท่าน เดี๋ยวนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่ทำให้เชื่อมต่อกันโดยการออนไลน์
ก็เอาประสพการณ์มาบอกเล่าให้กับท่านผู้อ่าน หากท่านวิ่งบนทางหลวงหมายเลข 7 คือตั้งแต่เลี้ยวเข้ามาบนถนนมอเตอร์เวย์ (กรุงเทพฯ –ชลบุรี) จากด่านทับช้างตรงไปที่ ถนนวงแหวนตะวันออก( กรุงเทพฯ –บางปะอิน) จะออกไปทางวังน้อยนั้นก็เป็นทางหลวงหมายเลข 9 ซึ่งทางหลวงทั้งสองเส้นนี้จะทำให้ผู้ขับขี่ขับกันเพลินมาก เพราะฝั่งละ 4 เลน และเป็นทางตรง
จะมีความเร็วที่กำหนดให้รถแต่ละชนิดว่าวิ่งความเร็วเท่าไหร่ แล้วจะมีการเขียนว่าระวังตรวจจับความเร็วพร้อมมีรูปกล้อง อันนี้เขามีกล้องจริงๆนะคะ คนที่ใช้สายนี้ที่รู้แล้วหรือโดนปรับแล้วก็จะวิ่งกันด้วยความเร็วตามกำหนด แต่ก็เห็นรถอีกจำนวนมากเหมือนกันที่วิ่งด้วยความเร็วสูง หลังจากเสียเงินค่าปรับไป 500 บาทแล้วก็คงจะลดความเร็วไปโดยปริยาย
ถือว่าเป็นเรื่องดีนะคะที่ทำให้คนขับรถตามกฎจราจรเพราะกล้อง และเงินที่เสียค่าปรับก็เป็นไปอย่างถูกต้อง
รถที่มี Cruise Control ก็เป็นโอกาสดีที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะสามารถควบคุมความเร็วเดินทางอัตโนมัติ ตามที่ต้องการไว้เลย แต่อย่าหลับคาพวงมาลัยแล้วกัน ตัวฉันใช้บ้างในบางครั้งแต่ยังอยากใช้เท้าให้เป็นประโยชน์มากกว่า ใช้แต่มืออย่างเดียวไม่ชอบค่ะ
GPS ก็มีประโยชน์นะคะ ตัวเดิมที่มีอยู่แล้วใช้มาแล้วหลายปี ก็เลยซื้อตัวใหม่มาเป็นคนละยี่ห้อกับตัวเดิม ตอนนี้เปิดใช้ตลอดเวลที่ขับรถไปต่างจังหวัด รุ่นที่ฉันใช้อยู่ปัจจุบันพูดมากจริงๆแต่ก็ชอบนะ พอขับรถด้วยความเร็วใกล้จะถึง 120 จะรีบบอกทันที่เลยว่า โปรดขับด้วยความระมัดระวัง ทำให้ยกเท้าจากคันเร่งทันที และหายง่วงไปด้วย จะเตือนทุกครั้งที่ความเร็วใกล้ 120 กม. / ชม.
ถนนสายไหนมีกล้องก็จะบอกว่า มีกล้องตรวจจับความเร็ว
ทางหลวงหมายเลข 7 และทางหลวงหมายเลข 9 นี้กล้องหลายตัวจริงๆ
นำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังนะคะ เพื่อรักษากฎจราจร ความปลอดภัยของตัวท่านเองทั้งชิวิตและกระเป๋าค่ะ
ทางที่ดีทีสุดก็คือเท้าเรานี่แหละ ต้องยกคันเร่งเป็นแล้วจะปลอดภัยสุดสุด