ทดลองขับ Hyundai COUPE 2.0 4AT : Korean Aston Martin พร้อมขุมพลังแมวหง่าว…By : J!MMY



เวลาล่วงผ่านมาแล้ว 15 วัน หลังจากผ่านพ้นช่วงวันหยุดปีใหม่มาแล้ว
ยังคงน่าจดจำอยู่ในห้วงความรู้สึก

แม้ว่าวันหยุดในช่วงปีใหม่ ปีนี้
ผมไม่ได้ไปไหน เพราะไม่อยากออกต่างจังหวัดไปแย่งใครกินแย่งใครเที่ยว
ยังคงอยู่โยงกับบ้าน เฉกเช่นเดียวกับหลายปีที่ผ่านมา อาจจะดีกว่าปีก่อนๆ
ที่ไม่ต้องนั่งทนลำบากลำบนปั่นงานกันข้ามปี เป็นบ้าเป็นบอ



แต่อย่างน้อย ปีนี้ก็ได้พักผ่อนในช่วงสั้นๆบ้าง กับการได้ทำความรู้จักกับรถสปอร์ต 2+2 ที่นั่ง อันเป็นผลงานของ ฮุนได มอเตอร์ แห่งเกาหลี
หนึ่งใน 4 ขุนพลชุดแรกที่ ยักษ์ใหญ่แดนกิมจิ ส่งมาบุกตลาดเมืองไทยคำรพสอบ และรถคันนี้ ก็ตั้งชื่อได้ จืดชืดสุดๆว่า ฮุนได คูเป้



อันที่จริงแล้ว ชื่อ ว่า คูเป้ นั้นไม่ใช่ชื่อรุ่นที่แท้จริง ของรถคูเป้ 2 ประตูคันนี้ เพราะเมื่ออยู่ในเกาหลีใต้ รถคันนี้จะยังคงถูกทำตลาดด้วยชื่อเดิมของมัน
นั่นคือ ทิบูรอน



ถ้าใครยังจำได้ ก็พอจะนึกออกว่า ทิบูรอน คือชื่อของ รถสปอร์ตคูเป้ขนาดเล็ก ที่สร้างชึ้นโดยใช้งานวิศวกรรมร่วมกับ เอแลนทรา และโซนาตา ใหม่ในบางส่วน
และเป็นตัวตายตัวแทนของ รถยนต์คอมแพกต์คูเป้ 2 ประตู รุ่น SCOUPE ที่เปิดตัวออกมาในช่วงราวๆ ปี 1989-1995

และถ้าเรานับย้อนหลังกันไปจนถึงรุ่น SCOUPE แล้ว ฮุนได คูเป้ รุ่นนี้ ถือเป็นรุ่นที่ 3 ในตระกูลรถยนต์คูเป้ ที่ฮุนไดทำออกมาขายในประวัติศาสตร์ของตน

แม้ว่าชื่อรุ่นจะชวนน่าเบื่อจืดชืด ยิ่งกว่านมสดรสจืดตราหนองโพ แต่เส้นสายตัวถังภายนอก กลับเฉียบคม เผ็ดร้อน และเร้าใจอย่างมาก
เรียกได้ว่า ลบล้างความรู้สึกเก่าๆ ที่พบได้ใน SCOUPE และ เจ้าฉลามน้อย ทิบูรอน คันเดิมไปได้เกือบหมด

และเพราะรูปลักษณ์ภายนอกนี้เอง ที่มีส่วนทำให้ฮุนได อ้างความสำเร็จได้ว่า มียอดของ รุ่นคูเป้ ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป
เดือน ธันวาคม 2007 ที่ผ่านมา หลายสิบคันเลยทีเดียว



มีคนถึง 5 คน ที่พูดกับผมตรงกันเป๊ะเลยว่า เห็นรูปลักษณ์ของ คุเป้ใหม่คันนี้ แล้วนึกถึง แอสตัน มาร์ติน แล่นมาแต่ไกล
พอเข้ามาใกล้ๆ จึงเริ่มมองเห็นว่า มันเป็นฮุนได หาใช่รถสปอร์ตผู้ดีเชื้อสายอังกฤษที่ตอนนี้ไปตกอยู่ในกรรมสิทธิ์ของนักลงทุนรายใหม่
ที่จ่ายเงินซื้อไปจากอ้อมใจของฟอร์ด มอเตอร์ คัมพานีไปเป็นที่เรียบร้อย



ก็ต้องยอมรับนับถือในความชาญฉลาดของนักออกแบบชาวเกาหลี ที่จับเอาจุดเด่นจุดดี ของเส้นสายที่ปรากฎอยู่บนเรือนร่างของรถยนต์คูเป้ หรือรถสปอร์ตรุ่นดังๆ
มารังสรรค์อยู่บนเรือนร่างของรถยนต์คูเป้รุ่นนี้



ไม่ว่าจะเป็นแนวเส้นชุดไฟหน้า หากมองจากด้านข้างกันดีๆ จะชวนให้จำได้ถึง Ford หรือ Mercury Cougar คูเป้ เจเนอเรชันสุดท้าย ปี 1999



ขณะที่แนวเส้นตัวถังทั้งคัน ชวนให้ย้อนหลังไปถึง Ferrari 456 GT
รถยนต์ แกรนด์ ทัวริง รุ่นที่น่าสงสารอีกรุ่นหนึ่งของ
ค่ายม้าลำพองจากมาราเนลโล



แม้กระทั่ง ครึ่งคันหลัง ก็ยังมีเค้าโคงมาจากรถยนต์ ซับ-คอมแพกต์ สปอร์ตร่างเล็ก Ford Puma ในปี 1996-1997 ที่สร้างขึ้นจากพื้นฐานของ Ford Fiesta



ก็ในเมื่อดึงเอาเส้นสายตัวถังจากรถยนต์รุ่นดังๆเหล่านี้มาใช้อย่างเต็มที่ จึงไม่น่าแปลกใจ หากจะพบว่า
มีสายตาหลายคู่จับจ้องมองมายังความแปลกตาแต่สวยงามบนท้องถนนของฮุนได คูเป้

ไม่เว้นแม้แต่ อาซิ้ม กับ แขกโพกหัว…ที่ป้ายรถเมล์ แถวเกียกกาย !


แต่ก็ชวนให้สงสัยว่า ทำไม ในเมื่อฮุนได คูเป้ มีรูปทรงที่สวยงามบาดตาตรึงใจ
ไม่เว้นแม้แต่สายตาอาซิ่ม

แต่เมื่อถามว่าจะซื้อไหม บางคนกลับบอกเฉยๆ?
บางคนกลับบอกว่า น่าสนใจ

อาจเป็นเพราะบางคนเหล่านั้น เจอตรา ฮุนได แล้วเกิดอาการไม่อยากมอง?

และนั่นละ คือ ปัญหาหนึ่ง ที่ ฮุนได ต้องค่อยๆแก้ไขไปทีละเปลาะ
เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ผู้บริโภคชาวไทย กลับมาเมียงมองกันอีกครั้ง



ภายในห้องโดยสาร พยายามสร้างความรู้สึกให้เป็นสปอร์ตกับผู้โดยสารอย่างจงใจ
ด้วยแนวเส้นบ่าด้านข้างที่สูง ราวกับจะสร้างความรู้สึกให้ผู้ขับขี่ได้คิดว่า ตนเองกำลังนั่งอยู่ใน
รถสปอร์ตระดับโลก ทั้ง Audi TT และ Nissan Fairlady Z รุ่น 350Z ซึ่ง มีแนวเส้น Belt-Line หรือบ่าด้านข้าง
ที่สูง จริงอยู่ว่า เมื่อมองจากภายนอก คุณจะดูทะมัดทะแมง แต่เมื่อคุณมานั่งจุ้มปุกอยู่ในรถ อาจจะรู้สึกอึดอัดไปบ้าง
ในบางขณะ

ก็ขอให้คิดเสียไว้ในใจว่า "เอาน่า รถสปอร์ต รถสปอร์ต ท่องไว้นะลูก รถสปอร์ตตตตต"

พรมปูพื้นในรถคันทดลองขับนี้ อาจแปลกตาไปจากคันขายจริง
แน่ละ เขาไปเอาพรมของเจ้า โซนาต้า มาวางใส่ไว้ให้ผมนั่นเอง



เบาะนั่งทรงสปอร์ตนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดความเมื่อยล้ามากมายนัก การโอบกระชับลำตัวผู้ขับขี่ ถือว่าทำได้ดี
การปรับเลื่อนต่างๆ ใช้ระบบอัตโนมือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แทนที่จะมีระบบปรับตำแหน่งด้วยสวิชต์ไฟฟ้า
เหมือนที่ ซีดานรุ่นโซนาตา เขามีมาให้ ทั้งที่ราคารถนั้น แพงกว่าโซนาต้า
เล็กน้อยด้วยซ้ำ นัยว่ารถสปอร์ตดิบๆแท้ๆที่ไหน
ทั่วไปเขาใช้เบาะไฟฟ้ากัน? แสดงว่า คนที่พูดคนนั้น คงยังไม่เคยเปิดแค็ตตาล็อกรถสปอร์ตรุ่นใหม่ๆ จากต่างประเทศ
ในช่วง 1-2 ปีให้หลังมานี้ แถมที่พักแขนบริเวณคอนโซลกลาง ยังไม่มีมาให้



ส่วนเบาะแถวหลังนั้น แน่นอนละครับ ว่าเขาออกแบบมาแค่เผื่อไว้ในกรณีจำเป็นเท่านั้น ตามสไตล์รถแบบ 2+2 ที่นั่ง
หากใครที่มีความสูงเกิน 165 เซ็นติเมตร ทำใจได้เลยว่า มันไม่เหมาะสมกับคุณอย่างแน่นอน
เพราะมันเหมาะกับผู้โดยสารที่มีความสูงไม่มากนัก หรือจะให้ดีก็ควรจะเป็นเด็กตัวเล็กๆ ไปเลยจะเป็นการดี

ผมเองก็อุตริยัดเยียดร่างกายอันเข้าใกล้ บีเบนดัม ลองเข้าไปนั่งด้านหลังดูแล้ว ตำแหน่งเบาะนั่งหนะโอเค
แต่พื้นที่เหนือศีรษะนั้น ไม่ต้องพุดถึง เพราะหัวผม ไม่เพียงแต่จะติดกระจกบังลมหลังแล้ว ยังถูกเบียดจนต้องเอียงหัว
หรือไม่ก็ต้องนั่งแบบไหลตัวลงต่ำ แต่ กับคุณแม่ของผม แค่ดึงเบาะหน้าเลื่อนขึ้นไปข้างหน้า ก็เข้าไปนั่งด้านหลังได้อย่างสบายๆ
และพอดีๆ ศีรษะไม่ชนกระจกหลังเสียด้วย!

ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้ ดังนั้น ถึงเวลาที่ผมควรจะไปเข้าฟิตเนส แล้วใช่ไหม?

ไม่เช่นนั้น ก็ควรจะท่องต่อไปว่า "เอาน่าๆๆ มันคือรถสปอร์ต มันก็ต้องมีเบาะหลังเอาไว้นั่งเพียงแค่นี้ละ"



แต่เชื่อผมเถิดว่า ต่อให้คุณจะท่องไว้ในใจอย่างนั้น นานแค่ไหน เมื่อใดที่สายตาคุณกวาดมาพบกับแผงหน้าปัด
และชุดมาตรวัด ผมเชื่อว่า คุณอาจจะเลิกคิดแบบนั้นไปแน่ๆ

ก็แน่ละครับ การออกแบบมันช่าง…ยากจะหาคำบรรยายจริงๆ
ตำแหน่งการวางอุปกรณ์ ก็ถือว่าพอรับได้อยู่ แต่เส้นสายของมัน ชวนให้ต้องตั้งคำถามย้ำอีกครั้งให้แน่ใจว่า
แน่นะ ว่านี่คือแผงหน้าปัดของรถสปอร์ตคูเป้ที่มีเรือนร่างสุดโฉบเฉี่ยว?

ดูช่องแอร์ 2 ช่องตรงกลางนั่นสิ
หน้าตาของมัน ราวกับ ปล่องระบบระบายอากาศ บนชั้นดาดฟ้าของโรงแรม หรือโรงพยาบาลเก่าๆเสียนี่กะไร



(ชุดมาตรวัดในยามค่ำคืน มีระบบแจ้งเตือนระยะทาง ซึ่ง น้ำมันในถังที่เหลือ เพียงพอจะนำพาคุณไปถึงปั้มที่ใกล้สุดได้)

เพราะงานดีไซน์ของแผงหน้าปัด มันขัดกับเส้นสายภายนอกของตัวรถ ราวกับว่า ทีมออกแบบทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เคยพบเจอกัน
มาก่อนในระหว่างพัฒนารถรุ่นนี้ไปด้วยกันเลย ต่อให้พยายาม จะเน้นอารมณ์สปอร์ต ด้วยรูปทรงกลม ทั้งแผงหน้ากากช่องแอร์
ไปจนถึงมาตรวัดต่างๆ แต่มันยังดูทื่อๆ อยู่ดี ยิ่งพอใช้แสงสีฟ้าอมน้ำเงิน เป็นสีหลักสำหรับส่องสว่างชุดมาตรวัดยามค่ำคืน
ยิ่งทำให้ผมได้พบว่า…

บางครั้ง เส้นแบ่งความสวยงาม กับความคล้ายคลึงใกล้เคียงกับหน้ากากชุดเครื่องเสียงที่ขายกันแถวๆ ตลาดนัดติดแอร์
ชั้น 4 ห้างมาบุญครอง มันมีเส้นแบ่งขวางที่ บางงงงง เอามากกกๆๆๆ



คือ "สีสัน"ของมัน ช่างดู "คลองถม" เสียนี่กะไร!

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงวัสดุที่ใช้ ซึ่งแม้จะดูพอรับได้ แต่ก็เป็นวัสดุแบบที่พบได้ในรถยนต์ยุคปี 1995-2001
อันเป็นยุคท้ายๆ ที่เรายังได้เห็นวัสดุบุแผงหน้าปัด อันเป็นมรดกตกทอดมาจากรถยนต์ในยุคปี 1990
กันอยู่อย่างนี้

ถึงจะน่าเกลียดน่าชัง แต่กระนั้น มันก็ยังดูไม่ถึงกับเลวร้ายมากจนเกินจะรับได้ แบบที่ผมเคยเจอมาในรถยนต์หลายๆรุ่นก่อนหน้านี้แล้วกัน

เพราะในตอนกลางวัน สีสันของมัน ไม่ได้ชวนให้สยองเกล้าเท่ากับตอนกลางคืน



แผงคอนโซลกลางนั้น มีทั้งเทอร์โมมิเตอร์ บอกอุณหภูมิภายนอกตัวรถ คั่นกลางด้วยสวิชต์ไฟฉุกเฉินขนาดใหญ่
และนาฬิกาดิจิตอล

ระบบปรับอากาศ ก็เป็นแบบอัตโนมัติ เย็นเร็ว แต่บางทีก็เย็นช้า ตามแต่อุณหภูมิภายนอกรถ
หากเร่งความเร็วอยู่ คอมเพรสเซอร์จะตัดการทำงาน เพื่อให้กำลังเครื่องยนต์ ถูกส่งไปช่วย
หมุนล้อคู่หน้าอย่างเต็มที่

ชุดเครื่องเสียงที่ให้มาในคันทดลองขับนี้ เป็นของ JVC รุ่าน EXAD คุณภาพเสียง จัดอย่ในระดับ
พอรับได้ เกือบจะดีมาก แต่ยังไม่ถึงกับดีที่สุด พอฟังได้ และอาจมีเสียงบ่นจากผมลอยมาให้ได้ยินอยู่บ้าง
และแม้เป็นตัวเครื่องแบบ 1 DIN แต่ จอมอนิเตอร์ที่เห็นนั้น หากคุณใส่แผ่นภาพยนตร์ อะไรก็ตามเข้าไป
มีความเป็นไปได้สูงที่ มันจะเล่นให้คุณได้ในเวลาหลังจากนั้นราวๆ 1 นาที ไม่เว้นแม้แต่แผ่นหนังโป๊ ไฟล์ AVi…!!!

แต่ที่น่าแปลกใจ และชวนให้งุนงงว่าผมควรจะดีใจ หรือรู้สึกเฉยๆกันแน่ ไปกว่านั้นคือ
ตั้งแต่ผมทดลองรถมา ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ผมยังไม่เจอรถคันไหน ที่ติดตั้ง "มาตรวัดแรงบิด"
มาให้ จากโรงงานแบบนี้มาก่อนเลย มันอาจดูไร้ค่า ในสายตาของใครหลายๆคน
แต่สำหรับคนที่อยากจะศึกษาเรื่องเทคนิคทั่วไปของรถยนต์แล้ว ชุดมาตรวัดแบบนี้
มีประโยชน์ให้เด็กน้อยเหล่านั้น มองดูความเคลื่อนไหวของเข็มมาตรวัดแรงบิด
ขณะที่ผู้เป็นพ่อ กำลังขับพุ่งออกจากสี่แยกไฟแดง เพื่อไปติดเป็นตังเม กับรถคันที่
รอสัญาณไฟในแยกถัดไปอยู่ก่อนแล้วประมาณ 5 ชาติเศษเห็นจะได้

แถมยังมีชุดมาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง หน่วยเป็น ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร
มาให้อีกด้วย บางคนก็สงสัยว่า ขับรถแนวนี้ยังสนใจเรื่องการกินน้ำมันด้วยเหรอ?
เอ๋า ไม่รู้อะไรซะแล้ว เหตุผลหนะมีนะ

1. อย่าคิดว่า คนที่ซื้อรถรุ่นนี้ จะต้องมีตังค์จ่ายค่าน้ำมันเพียงอย่างเดียว เพราะบางที ตังค์ในกระเป๋าติดตัว
เหลือไม่ถึง 100 บาทก็มี (เช่นผมไง มีอยู่วันหนึ่ง ทั้งเนื้อทั้งตัว เหลืออยู่ 40 บาท ตอนประคองเจ้าหมอเนี่ยกลับบ้าน)

2. อย่าคิดว่า วิศวกรฮุนไดเขาสิ้นคิดแล้วหรือยังไง ที่ไม่อาจหามาตรวัดอื่นๆมาใส่แทนมาตรวัดตัวนี้ได้
เพราะคำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ถ้าเขาคิดออกจริง
เราคง จะไม่ได้โชคดีเห็นมันติดตั้งอยู่ตรงนี้ ไปนานแล้ว



รถคันนี้ มีซันรูฟ มาให้ ซึ่งก็ดูเท่ และช่วยเพิ่มความปลอดโปร่งในห้องโดยสารขึ้นพอสมควร
แต่เมื่อใดที่เปิดซันรูฟ ความสวยงามของตัวรถเมื่อมองจากภายนอก จะถูกหักคะแนนลงไปเล็กน้อยทันที
ก็แน่ละ เล่นเปิดเผยอขึ้น ออกมาจนแปลกพิลึกแบบนี้ เห็นที ฮุนได ควรจะไปศึกษาจากมาสด้า
ในการทำหลังคา มูนรูฟ ของ RX-8 ให้ดีกว่านี้อีกสักนิดนึงจะดีกว่า



แต่สิ่งที่ผมมีปัญหามากที่สุดในรถคันนี้ เห็นทีจะหนีไม่พ้น กระจกมองข้าง
กระจกฝั่งซ้ายยังไม่เท่าไหร่ แต่ฝั่งขวาถือว่า หลอกหลอนสายตามากๆ ไม่ต่างอะไรกับ ฮุนได โซนาตา เลย
ถ้าเปรียบถึงกระจกมองข้างของรถยุโรป ในอดีต ที่ติดคำเตือนไว้ที่ตัวกระจกว่า The object may closer than appear
อันแปลได้ประมาณว่าว่า วัตถุที่เห็นในกระจก จะใกล้กว่าความเป็นจริง แล้ว

กระจกมองข้างฝั่งขวาของฮุนไดนั้น ให้ภาพของวัตถุ หรือ object ที่ closer "AS appear" คือ วัตถุเข้าใกล้อย่างไร
มันก็ใกล้กันอย่างที่เห็นในกระจกนั่นเลยจริงๆ นั่นแหละ!

–_–

นั่นทำให้ผมปวดเศียรเวียรเกล้าแทบทุกครั้งที่คิดจะเปลี่ยนไปใช้เลนขวามือ
ตบขวาแซงขึ้นหน้าใคร หรือแม้แต่ถอยเข้าจอดในโรงรถที่บ้าน
ทั้งที่ ทัศนวิสัยด้านหน้า และด้านข้างรถ จัดอยู่ในเกณฑ์ ใกล้เคียง (แต่ดีกว่ากันเล็กน้อยเมื่อเทียบ) กับ
Nissan 350Z หรือ Audi TT



ห้องเก็บของด้านหลัง มีขนาดกำลังดี และชวนให้นึกถึง มาสด้า แอสทินา ทั้งรุ่นแรก และรุ่นสุดท้าย อยู่ไม่น้อย
มีแผงพลาสติกบังสัมภาระมาให้



เบาะหลัง ทั้ง 2 ชิ้น แบ่งพับได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังให้ยาวขึ้นอีกนิด แต่ คงไม่มีใคร
คิดจะยัดตู้ถ้วยชามสังคโลกเข้าไปในรถคันนี้อยู่แล้วหรอกกระมังครับ

อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย หลักๆที่ติดตั้งมาให้ ยังคงมีถุงลมนิรภัยคู่หน้ามาให้ตามมาตรฐานของรถยนต์สมัยใหม่
และ เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด รวมทั้งคานกันกระแทกที่ประตูคู่หน้า



***** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ *****

ฮุนได คูเป้ รุ่นใหม่นี้ ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ชิ้นส่วนงานวิศวกรรมต่างๆ ร่วมกับ ฮุนได โซนาต้า ใหม่ค่อนข้างเยอะ
ทั้งเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ไปจนถึงรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย

เครื่องยนต์ ที่ติดตั้งในฮุนได คูเป้ เป็นบล็อก
4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,975 ซีซี
ความกว้างกระบอกสูบ x ระยะชัก
82.0 x 93.5 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 10.1 : 1
กำลังสูงสุด 143 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 186 นิวตันเมตร (18.95 กก.-ม.) / 4,500 รอบ/นาที
เสื้อสูบ ยังคงเป็นบล็อกเหล็กหล่อ มิใช่อลูมีเนียม



แม้จะเป็นรถสปอร์ต แต่เพราะเดานิสัยลูกค้าคนไทยว่ารักความสบายมาก่อนสิ่งอื่นใด
ฮุนได จึงนำเข้ามาทำตลาดเฉพาะรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ พร้อมโหมด บวก-ลบ H-Matic
อันเป็นเกียร์ลูกเดียวกับที่ติดตั้งอย่ใน ฮุนได โซนาต้า ซีดานที่เพิ่งผ่านมือผมไปเมื่อไม่นานมานี้

อัตราทดเกียร์
เกียร์ 1……………………..2.842
เกียร์ 2……………………..1.529
เกียร์ 3……………………..1.000
เกียร์ 4……………………..0.712
เกียร์ ถอยหลัง………….2.480
อัตราทดเฟืองท้าย…….4.407

ถ้าสังเกตให้ดีๆจะพบว่า ถึงแม้ คูเป้ จะใช้เกียร์อัตโนมัติ ลูกเดียวกันกับ โซนาต้า
แต่มีการทดเฟืองท้าย ให้แตกต่างกัน โดยรุ่นคูเป้ ทดไว้ที่ 4.407 : 1 ขณะที่ โซนาต้า จะทดเอาไว้ 3.770 : 1



เรายังคงทดลองจับเวลาหาอัตราเร่งกัน ด้วยวิธีการเดิม คือ นั่ง 2 คน เปิดแอร์ และเปิดไฟหน้า
และทดลองจับเวลา กันในช่วงกลางคืนเพื่อความปลอดภัยของผู้ร่วมสัญจรบนท้องถนนในยามกลางวัน
ผู้ร่วมทดลองคราวนี้ คือ น้องกล้วย Login "น้องชายคนเล็ก" สมาชิกเว็บไซต์ Pantip.com ห้องรัชดา
ซึ่งเป็นห้องที่พูดคุยกันเรื่องรถยนต์ น้ำหนักตัว 48 กิโลกรัม รวมกับผู้ขับ น้ำหนักตัว 92 กิโลกรัม
รวมแล้ว 140 กิโลกรัม

และต่อไปนี้คือ ผลลัพธ์ที่ได้

****อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.****

ครั้งที่
1………….10.56 วินาที
2………….10.44 วินาที
3………….10.53 วินาที
4………….10.55 วินาที

เฉลี่ย……10.52 วินาที

—————————————–

****อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม.****
หรือช่วงเร่งแซงทั่วไป
กดคันเร่งจนจมสุดทันที จาก 80 กม./ชม. ที่เกียร์ 4
เพื่อให้ระบบเกียร์ เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ลงมายังเกียร์ 2 เอง มีดังนี้

ครั้งที่
1………….8.17 วินาที
2………….8.14 วินาที
3………….8.05 วินาที
4………….8.05 วินาที

เฉลี่ย……8.10 วินาที

—————————————–

***รอบเครื่องยนต์ที่เกียร์ 4 อันเป็นเกียร์สูงสุด ***
ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,100 รอบ/นาที
ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,600 รอบ/นาที
ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,900 รอบ/นาที

—————————————–

***ความเร็วสูงสุด ที่วัดได้ในแต่ละเกียร์ อ่านจากมาตรวัดบนแผงหน้าปัด***

(หน่วย กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ รอบเครื่องยนต์/นาที)

เกียร์ 1…………60 @ 6,500
เกียร์ 2……….115 @ 6,500
เกียร์ 3……….162 @ 6,200
เกียร์ 4……….205 @ 5,200

***ความเร็วสูงสุด***

205 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่รอบเครื่องยนต์ 5,200 รอบ/นาที
ณ เกียร์ 4



มีเรื่องน่าแปลกใจเกิดขึ้นนิดหน่อย กับตัวเลขสมรรถนะที่ได้จาก คูเป้

เพราะตัวเลขอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ออกมาดูเหมือนว่าจะทำได้ดี ใกล้เคียงกับ ฮอนด้า ซีวิค 2.0 (เฉลี่ย 10.38 วินาที)
และดีกว่า มาสด้า 3 รุ่น 2.0 ลิตร (เฉลี่ย 10.99 วินาที) เสียด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับสเป็ก

และยิ่งเมื่อเทียบกับ ฮุนได โซนาต้า 2.0 ลิตร และ 2.4 ลิตร (0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 12.75 และ 11.54 วินาที) แล้ว
จะพบว่าตัวเลขของ คูเป้ ทำได้เหนือกว่าอย่างชัดเจน ซึ่งก็มีส่วนมาจากอัตราทดเฟืองท้ายที่แตกต่างกัน
และน้ำหนักตัวของรถ รวมทั้งการจัดการด้านอากาศพลศาสตร์

แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว การขับขี่ในชีวิตประจำวันนั้น การตอบสนองจริงจากตัวรถ
กลับไม่ได้สร้างความรู้สึกถึงการเร่งแซงอย่างปรู๊ดปร๊าดทันใจ มากนัก
ทั้งที่ตัวเลขอัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ก็ไม่ได้
ขี้ริ้วขี้เหร่มากนัก เมื่อเทียบกับมาสด้า 3 รุ่น 2.0 ลิตร (7.47 วินาที) และ ซีวิค 2.0 (7.7 วินาที)
และแน่นอนเช่นกันว่า ทำได้ดีกว่า โซนาต้า ทั้ง 2.0 และ 2.4 ลิตร (10.54 และ 8.87 วินาที)

การออกตัวในช่วงแรก พุ่งตัวออกไป แต่ไม่ได้สร้างอาการดึงจนหลังติดเบาะเท่าใดนัก รอบเครื่องยนต์
ในช่วง 3,000 – 4,000 รอบ/นาที ก็ยังคงเป็นช่วงที่เรียกพละกำลังออกมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่เสียงครางของเครื่อง ในช่วงเกียร์ 2 นั้น ชวนให้เกิดคำถามว่า ตกลงแล้ว คูเป้คันนี้ มันใช้เครื่องยนต์เบนซิน หรือดีเซล
เพราะเสียงที่ครางออกมาจากเครื่องยนต์ และเสียงที่ผสมออกมาจากท่อไอเสียนั้น ฟังแล้วคล้ายคลึงกับเครื่องยนต์เบนซิน
ที่ป่วยไข้ทางจิต ริอ่านจะหันไปรับประทานดีเซลมากกว่า หลังจากนั้น กว่าจะเค้นขึ้นไปถึงช่วงรอบความเร็วสูงสุดของเครื่องยนต์
กันออกมาได้ ก็ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง และแทบไม่มีพละกำลังรอเราเหลืออยู่ที่ปลายทาง แต่กระนั้น หากคันเกียร์ไม่มีโหมดบวก-ลบมาให้
แม้ว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่ในบางครั้ง ความสนุกในการขับขี่ก็อาจลดน้อยถอยลงไปได้ เพราะการเร่งแซงในแต่ละครั้ง
ต้องใช้เวลาอยู่บ้างเหมือนกัน

ในเมื่อสมรรถนะออกมาเป็นเช่นนี้ ค่อนข้างแน่ใจได้เลยว่า หากเป็นรุ่นเครื่องยนต์ วี6 DOHC 2,700 ซีซี ที่มีขายอยู่ในตลาดโลก
แล้วละก็ อัตราเร่ง และสมรรถนะในด้านต่างๆ น่าจะดีกว่า เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี ในทุกด้าน ยกเว้นประเด็นเดียว….

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง….

ยังก่อน ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะพูดถึงประเด็นนั้นกัน

สิ่งที่น่าประทับใจ จนเรียกว่า ผิดคาดกันเลยทีเดียว
อยู่ที่การให้ความสำคัญต่อระบบกันสะเทือน พวงมาลัย ไปจนถึงการออกแบบพื้นตัวถัง และโครงสร้างตัวถังในภาพรวม
ที่ให้ประสบการณ์การขับขี่ ดีขึ้นจากฮุนไดในยุคก่อนๆ อย่างผิดหูผิดตา!

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ Dual Link พร้อมเหล็กกันโคลง
ให้ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับรถสปอร์ตแบบบ้านๆ ทั่วๆไป ที่ต้องออกแบบมารองรับการใช้งานบนท้องถนนด้วย
คือยังเหลือความนุ่มนวลทิ้งเอาไว้สักนิด ให้พอหายคิดถึง ดูดซับแรงสะเทือนจากพื้นผิวถนนไว้ได้ดี ในแบบที่รถสปอร์ตเป็น
ช่วงทางโค้งรูปตัว S ลงทางด่วนพระราม 6 ก็ยังซัดเข้าไปได้ที่ 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยางติดรถยนต์ Dunlop LM703
มีส่วนช่วยให้ตัวรถยังคงจิกอยู่ภายในโค้ง และแน่นอนว่า ในเมื่อสร้างขึ้นบนพื้นฐานของ โซนาต้า บุคลิกหนึ่งที่ติดกลิ่น
มาให้สัมผัสกันในคูเป้ก็คงจะหนีไม่พ้นอากัปกิริยาของตัวรถ ที่ออกแบบให้เมื่อเลี้ยวแล้วจะสัมผัสได้ว่า หน้ารถนำ เคบิน ตาม
แม้สัมผัสจะไม่แรงนัก แต่ก็พอจะแหวกตัวเข้ามาในความรู้สึกกันบ้างเหมือนกัน ถือว่าฮุนไดทำได้ดีกว่าที่คิดไว้ค่อนข้างเยอะ

พวงมาลัยมีน้ำหนักมากกว่ารถญี่ปุ่นในพิกัดเดียวกัน ตั้งใจเซ็ตมาเพื่อสร้างความรู้สึกสปอร์ต หนักแน่น กระชับมือ แม้จะมีระยะฟรีนิดนึง
แต่ก็ไม่มากนัก แค่นิดเดียว อีกทั้งยังให้ความมั่นใจในการขับขี่ ด้วยความเร็วสูง ในระดับที่ใช้ได้ แต่เมื่อเจอพื้นผิวที่ไม่เรียบ
พวงมาลัยก็ส่งต่อสัมผัสที่ไม่เรียบเนียนนั้น ขึ้นมาให้ผู้ขับขี่สัมผัสได้โดยตรง แทบจะทุกหลุมทุกเนิน

ระบบเบรก เป็นสิ่งที่ผมไม่ต้องบ่นอะไรมากมาย เพราะให้การตอบสนองที่ดี แป้นเบรก มาในแนวคล้ายคลึงกับโซนาต้า
คือ มีน้ำหนักแป้นค่อนข้างดี น่าจะถูกใจคนไทย การทำงานของ เอบีเอส ซึ่งพ่วงระบบกระจายแรงเบรก อีบีดี มาให้ด้วย
ก็ไมได้ว่องไวจนเกินไป กำลังดี อีกทั้งชุดผ้าเบรกนั้น สามารถใช้ร่วมกับรุ่นโซนาต้า ใหม่ได้ ก็แน่ละ ทั้งคู่ เขาใช้โครงสร้าง
วิศวกรรมร่วมกันได้ในหลายชิ้นส่วนนี่นา

เสียงรบกวนจากกระแสลม จะยังมีไม่มากนัก หากปิดแผงบังแดดของซันรูฟ และจะเริ่มดังมากขึ้นเมื่อใช้ความเร็วเกินกว่า
150 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าเปิดแผงบังแดดดังกล่าวออก เราก็จะได้ยินเสียงกระแสลมที่ไหลผ่าน ในช่วง ตั้งแต่
120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป

การเก็บรายละเอียดความเรียบร้อยบริเวณใต้ท้องรถนั้น ถือว่าฮุนไดทำได้ดี
ไม่มีอะไรเผยอหรือลอยหน้าลอยตาออกมาจนเกินงาม

มีท่อไอเสียคู่ ที่ถูกปรับแ่ต่งเสียงท่อ ให้คล้ายคลึงกับรถแต่งวางเครื่องยนต์
ดังนั้น เวลาแล่นในหมู่บ้านอย่างช้าๆ ผู้คนก็จะค่อยๆหันมามองว่า
รถอะไรหว่า กำลังคำรามเบาๆ ขณะที่เคลื่อนตัวผ่านหน้าตนไป

ใครจะไปรู้ละว่า ความแรงของรถนั้น เอาเข้าจริง ก็ แมวหง่าว!



***** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง *****

เรายังคงใช้วิธีการเดิม เหมือนเช่นเคย

เติมน้ำมัน ออกเทน 95 ที่ปั้มน้ำมันย่านพระราม 6 เซ็ต 0 ที่มาตรวัด เพื่อวัดระยะทาง จากหน้าปัดรถ
ออกรถมุ่งหน้าขึ้นทางด่วน ที่ด่านพระราม 6 ไปยังสุดปลายทางด่วนสายเชียงราก
และเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วนอีกครั้ง ใช้ความเร็ว ไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ นั่งกัน สองคน น้ำหนักประมาณ 140-150 กิโลกรัม และกลับมาเติมน้ำมันที่ปั้มเดิม หัวจ่ายเดิม

คราวนี้ เราได้ น้องเนย สมาชิกของ Pantip.com ห้องรัชดา และ Mazdaclub.net มาร่วมทดลองนั่ง และเป็นผู้โดยสาร
ถามว่าเจ้าตัวมาเกี่ยวอะไร คำตอบก็คือ ปกติน้องเนย เคยช่วยเหลือผมในการทดลองรถมาหลายต่อหลายหน
และครั้งนี้ เจ้าตัวก็อยากลองสัมผัสกับฮุนไดดูสักที แม้ท้ายที่สุด เจ้าตัวจะชอบรูปทรง แต่กลับรู้สึกเฉยๆในภาพรวม
แม้จะชื่นชอบในระบบกันสะเทือนเหมือนผมก็ตาม



ผลลัพธ์ที่ได้ ด้อยกว่าที่ผมคาดการณ์ไว้นิดเดียว
แต่ค่าตัวเลข บวก-ลบ ไม่หนีกันไปมากนัก
ผมคาดไว้ว่า ได้ราวๆ 10 กิโลเมตร/ลิตร น่าจะหรูแล้ว
พอเอาเข้าจริง ก็ด้อยกว่าที่คาดคิดไว้สักหน่อย

ระยะทางที่แล่น ตามมาตรวัด…….89.8 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ…………….7.559 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย…… 11.88 กิโลเมตร / ลิตร

ถ้าเทียบกันแล้วกับ โซนา้ต้า 2.0 ลิตร
ความแตกต่างกันก็ไม่ได้มากมายแบบฉีกขาดห่างไกลเท่าใดเลย



***** สรุป ****

*****ขับดีใช้ได้แล้ว แต่ขอเครื่องแรงกว่านี้อีกหน่อยเดียวเองได้ป่าว? *****

วันเวลาที่ผ่านไป จากเจ้า ทิบูรอน ที่ได้สมญานามว่า ร่อนสมชื่อ บัดนี้ ฮุนได ได้สร้างสรรค์ รถยนต์คูเป้รุ่นปัจจุบัน ให้กลายเป็น
รถสปอร์ตที่มีบุคลิกการขับขี่ทัดเทียมกับรถสปอร์ตฝั่งญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเผลอๆจะดีกว่ารถสปอร์ตคูเป้ สเปเชียลตี้เหล่านั้น เสียด้วยซ้ำไป

ผมเชื่อว่า ฮุนไดเองคงใช้เวลาถอดแกะแงะรื้อ รถยนต์ของคู่แข่ง เพื่อศึกษาความเป็นไป และเทคโนโลยีผู้ผลิตร่วมวงการเยอะมาก
จนได้ผลลัพธ์ออกมามากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของการปรับปรุงระบบกันสะเทือนและระบบพวงมาลัย ให้เหมาะสมกับบุคลิก
ของรถยนต์ในแต่ละรุ่น

เมื่อออกมาเป็นคันจริง ฮุนได คูเป้ จึงมิใช่เพียงแค่การนำ ซีดานรุ่นโซนาต้า มาร่นระยะฐานล้อและความยาวตัวรถให้สั้นลง
หากแต่ เหมือนเป็นรถยนต์คนละคันกันไปเลยเมื่อมองแต่เพียงภายนอก กรณีแบบนี้ ชวนให้ผมนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง
ตระกูลซีดาน โคโรน่า ที่เกิดต่อยอดแตกหน่อออกมาเป็น รถสปอร์ตขนาดกลางรุ่นเซลิกา เมื่อช่วงปี 1970 และต่อเนื่องมา
จนถึงราวๆ ปี 2002 เพียงแต่ ในกรณีของโตโยต้านั้น หากต้องการความแตกต่างที่ชัดเจน คุณต้องมองหาและไต่ระดับขึ้นไปถึง
เซลิกา GT-FOUR ขณะที่ ฮุนไดนั้น ถ้าอยากได้ความแตกต่างจากรถทั้งคันในภาพรวม ก็เพียงหารุ่น 2.0 ลิตร ของคูเป้
มาขับก็พอจะสัมผัสได้แล้ว



อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ที่ทำตลาดในบ้านเรานั้น ให้พละกำลังออกมา เหมือนแมว ที่กำลังง่วงนอน ร้องหง่าว
ก็เลยกลายเป็นจุดด้อยเพียงหนึ่งใน 2 ข้อ ซึ่ง ฮุนได เองก็รู้ตัว และมีแผนจะจัดการยกระดับสมรรถนะ ด้วยระบบเทอร์โบ
ที่คาดว่าน่าจะคลอดออกมาได้ปลายปีนี้ คาดว่าตัวเลขจะแรงขึ้นไปถึง ระดับ 160-170 แรงม้า ซึ่งก็จะน่าสนใจขึ้นอีกเยอะ

จุดด้อนต่อมา ก็คิอ ด้วยค่าตัวที่ตั้งไว้ในระดับ 1,649,000 บาท นั้น แม้ว่าจะเป็นเพียงตัวเลือกเดียวในกลุ่มตลาดรถยนต์ 2 ประตู
ที่มีราคาถูกกว่า 2 ล้านบาทและยังหลงเหลืออยู่ในเมืองไทยทุกวันนี้ คำถามที่ชวนให้คิดก็คือ แล้วเบาะนั่งคนขับที่สมควรจะปรับด้วยไฟฟ้า
ไปจนถึงระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control ที่มีอยู่ใน ซีดานรุ่น โซนาตา ซึ่งมีราคาถูกกว่ากันราวๆ 300,000 บาท
ยังอุตส่าห์มีอุปกรณ์เหล่านี้ ติดตั้งมาให้ ขณะที่ คูเป้ กลับไม่มี?

ก็เลยเกิดคำถามว่า จะขายกันด้วยความดิบ ฟิลลิง แต่อย่างเดียวหรือ?

กระนั้น ต้องยอมรับในความใจกล้าของ ฮุนได ที่สั่ง คูเป้ เข้ามาจำหน่าย
เพราะถือว่าเป็นตัวเลือกในตลาดรถยนต์ 2 ประตูทรงสปอร์ตเพียง 1 เดียวในตลาดเมืองไทย
ที่มีระดับราคาต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท

ทีนี้ เหมือนเช่นที่เคยย้ำกันไว้ ก็คงต้องฉายหนังซ้ำกันอีกสักรอบว่า
ตัวรถหนะ ดีกว่าที่คาดคิด ต้องลองขับเท่านั้น
แต่ จะเรียกลูกค้าให้เข้าโชว์รูมได้อย่างไรเนี่ยสิ คือปัญหา

ความมั่นใจในแบรนด์ ไงละ คือ โจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายยังต้องทำงานกันหนักเพื่อหาหนทางเดินกันต่อไป ตลอดปีนี้และปีหน้า

ขอขอบคุณ :
คุณวิกรานต์ อมาตยกุล
และคุณเอก
บริษัท ฮุนได มอเอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
ที่เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ



J!MMY
17 มกราคม 2008
13.00 – 18.10 น.

Facebook Comments