ความปลอดภัยของรถไฟฟ้า โดย ลุงอ็อด


ในโลกของยานยนต์ทุกวันนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีหลากหลาย และเป็นเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าอื่นๆ ที่จะส่งออกสู่ตลาด สู่ผู้บริโภค ที่จะต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัย ให้แน่ใจว่าจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม สำหรับตลาดที่จะเข้าไปจำหน่ายนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ของเล่นเด็ก ที่จะต้องไม่มีแง่มุม หรือเหลี่ยมคม ผู้ผลิตก็จะต้องตระหนักในการออกแบบ และแม้แต่นำของเล่นมาทดลองก่อนออกตลาด ให้แน่ใจว่า จะปลอดภัยสำหรับเด็กแน่นอน

เช่นเดียวกับรถไฟฟ้า ที่เป็นของใหม่ ผลิตภัณฑ์อย่างใหม่ ก็ต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยเช่นกัน ไม่เพียงให้ปกป้องผู้อยู่ภายในรถ ให้สามารถกันอุบัติเหตุจากการชนได้โดยไม่เกิดอันตราย หรือปลอดภัยมากที่สุด แต่ต้องปกป้องจากการแผ่กระจายรังสีแม่เหล็กด้วยเช่นกัน และเป็นข่าวดีที่ว่า รถไฟฟ้า ปลอดภัยจากการแผ่รังสีอย่างแท้จริง

องค์การค้นคว้าเพื่อความปลอดภัยในสแกนดิเนเวีย SINTEF โดยเงินทุนจากสหภาพยุโรป รายงานผลการศึกษาความปลอดภัยจากการแผ่รังสีของรถไฟฟ้า ว่า รถไฟฟ้ามีการแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็ก ในปริมาณที่น้อยกว่าปริมาณจำกัด ที่แนะนำโดย คณะกรรมการป้องกันการแผ่กระจายรังสีสากล International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection (ICNRP)

เช่นเดียวกับสภารถสีเขียว หรือ Green Car Congress ที่ศึกษาพบว่า มีความแตกต่างด้านการกระจายพลังสนามแม่เหล็กเพียงเล็กน้อย ระหว่างรถไฟฟ้า และรถยนต์เครื่องยนต์เบนซิน หรือดีเซล โดยรถไฟฟ้า มีพลังสนามแม่เหล็ก ในระดับเพียงร้อยละ 20 ของระดับจำกัดที่ระบุโดยคณะกรรมการ ICNRP ส่วนรถยนต์สันดาบภายในทั่วไป อยู่ที่ราวร้อยละ 10 เท่านั้น

การตรวจวัด กระทำบริเวณพื้นรถ ใกล้กับที่เก็บแบตเตอรี่ เมื่อสตาร์ทรถ และเมื่อตรวจวัดที่ระดับความสูงของศีรษะผู้อยู่ในรถ พลังสนามแม่เหล็กน้อยกว่าร้อยละ 2 ของค่าระดับจำกัด ซึ่งวิศวกรอธิบายได้ว่า จะไม่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง หรือโรคจากการแผ่กระจายรังสีแน่นอน ซึ่งยืนยันย้อนกลับไปถึงข่าวลือเมื่อปี 2552 ที่ว่า มีสนามพลังแม่เหล็กกระจายอยู่รอบรถ โตโยต้า พรีอุส อันอาจเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ที่เป็นเพียงข่าวลือ ไม่มีข้อมูลอย่างใดที่เป็นทางการมายืนยัน เพราะพลังสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้มากไปกว่าการที่เราเดินอยู่ในที่พักอาศัยของตนเองเลย

และในการค้นคว้าครั้งล่าสุด SINTEF พบว่า การหมุนของวงล้อ ก็สามารถพิจารณาได้ว่าทำให้เกิดพลังสนามแม่เหล็ก โดยรอบตัวรถ ไม่เพียงแต่เฉพาะตัวแบตเตอรี่เท่านั้น แต่โดยรวมทั้งหมดแล้ว พลังสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นจากรถแต่ละคันนั้น ไม่เกิดมากพอจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้เลย

Facebook Comments