“กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย” กับความคืบหน้า “เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ”

ถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก เช่นเดียวกับสังคมไทยที่กำลังเผชิญและร่วมกันต่อสู้อย่างเต็มกำลัง วิกฤตดังกล่าวส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นไม่เพียงพอต่อความต้องการ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย พร้อมอยู่เคียงข้างและให้ความช่วยเหลือคนไทยต้านภัยโควิด-19 เล็งเห็นความสำคัญของการสาธารณสุข รวมถึงการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ให้รักษาผู้ติดเชื้อได้อย่างปลอดภัย จึงได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เพื่อนำทักษะและความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ จำนวน 100 เตียง เพื่อเตรียมส่งมอบให้กับโรงพยาบาลกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ พร้อมประกาศให้การสนับสนุนเพิ่มเติมบริการรถจักรยานยนต์พยาบาลฮอนด้า (Motorlance) อีก 10 คัน

กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย จัดตั้งทีมเฉพาะกิจผลิตเตียงฯ พร้อมให้การสนับสนุนเพิ่มเติมบริการรถจักรยานยนต์พยาบาลฮอนด้า (Motorlance) 10 คัน

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย กล่าวว่า “ฮอนด้า พร้อมเคียงข้างคนไทยในทุกสถานการณ์ ในครั้งนี้ เราได้ตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นเพื่อพัฒนานวัตกรรมเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ ช่วยให้ไม่ต้องรอการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ปัจจุบันเป็นที่ต้องการทั่วโลก ซึ่งจะมีการผลิตเตียงฯ ณ โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพนักงานจากสายการผลิต
ที่หยุดเดินสายการประกอบรถยนต์ชั่วคราวเป็นจิตอาสาดำเนินการผลิต ภายใต้การควบคุมคุณภาพการผลิตของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งขณะนี้ผ่านการทดสอบทางการแพทย์และเริ่มการผลิตแล้ว โดยจะทยอยส่งมอบให้กับโรงพยาบาลกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ ได้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563

 

นอกจากนี้ กองทุนฯ ยังได้ให้การสนับสนุนเพิ่มเติม โดยมอบบริการรถจักรยานยนต์พยาบาล (Motorlance) 10 คัน ซึ่งดัดแปลงจากรถจักรยานยนต์ฮอนด้า CBR250R ที่มีสมรรถนะสูง
ปราดเปรียวคล่องตัว และสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีในภาวะการจราจรติดขัดหรือในพื้นที่คับแคบ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติมอีกทางหนึ่งด้วย”

“เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ” ทั้งขาดแคลน ทั้งต้นทุนสูง

 

ผศ.นพ.อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเผยว่า “ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ทางมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้พยายามคิดค้นนวัตกรรมเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบขึ้นมาเพื่อการใช้งานทางการแพทย์ เพราะเดิมมีจำนวนน้อยและเป็นที่ต้องการ อีกทั้งต้นทุนการนำเข้ามาจากต่างประเทศสูงถึงเตียงละ 500,000 – 1,000,000 บาท ซึ่งเตียงฯ นี้จะช่วยให้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเป็นไปอย่างปลอดภัยที่สุด ในครั้งนี้ฮอนด้าได้ต่อยอด คือมีการพัฒนาทั้งระบบปรับความดันและการกรองละอองขนาดเล็กได้ดีขึ้นกว่าต้นแบบ รวมทั้งมีการใส่ถังออกซิเจนที่จำเป็นเพิ่มเข้าไป ซึ่งผลทดสอบทางการแพทย์เป็นที่น่าพอใจ ขอขอบคุณทีมงานและการส่งต่อไปให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศด้วย

โดยเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ยุติลง
เตียงเหล่านี้ยังสามารถนำไปใช้กับกลุ่มผู้ป่วยวัณโรค หรือผู้ป่วยทางเดินหายใจอื่นๆ ได้อีกด้วย”

ความคืบหน้าการผลิต “เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ” ของกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย

ด้านนายวัลลภ เหลืองสีนาค ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปส่วนงานบริหาร ตัวแทนทีมวิศวกรจิตอาสา บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงความคืบหน้าในการผลิตเตียงฯ ว่า “ได้ต่อยอดแนวคิดเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบจากต้นแบบของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล โดยได้พัฒนาระบบปรับความดันอากาศ
ให้สามารถดูดลมและกรองอากาศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคุมให้มีแรงดันลบภายในไม่ต่ำกว่า-20 ปาสคาล (นิวตันต่อตารางเมตร หรือ N/m2) เพื่อไม่ให้เชื้อกระจายออกสู่ภายนอก พร้อมทั้งปรับตัวกล่องกรองอากาศ HEPA Filter (High-efficiency Particulate Air Filter) ให้สามารถกรองฝุ่น 0.3 ไมครอนได้ 99.9% นอกจากนี้ ยังมีการปรับตัวกล่องให้กระชับมากขึ้น และเผื่อให้มีพื้นที่สำหรับเพิ่มถังออกซิเจนเข้าไปได้

ทางทีมฯ รู้สึกภูมิใจที่ได้นำทักษะในการผลิตรถยนต์ มาประยุกต์ใช้ในการผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงด้วย

ซึ่งหลังจากนี้ จะทยอยส่งมอบไปยังโรงพยาบาลต่างๆ จนครบตามจำนวน 100 เตียง ภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2563”
ทั้งนี้ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ต้านภัยโควิด-19 ได้สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมมูลค่ากว่า40 ล้านบาท ที่ประกอบด้วย
• สนับสนุนบริการรถพยาบาลของกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย 10 คัน ซึ่งดัดแปลงจากรถยนต์ฮอนด้า สเตปแวกอน ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

• สนับสนุนบริการรถจักรยานยนต์พยาบาล (Motorlance) 10 คัน ซึ่งดัดแปลงจากรถจักรยานยนต์ฮอนด้า CBR250R เพื่อให้การช่วยเหลือและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปได้อย่างคล่องตัว

• เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ (Negative Pressure Mobile Bed) 100 เตียงโดยมีพนักงานสายการผลิตรถยนต์ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นทีมผลิต

• หน้ากากกันกระเด็น (Face Shield) 1,000 ชิ้น ที่เกิดจากการรวมพลังของพนักงานจิตอาสาบริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และบริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด

• ชุดป้องกันเชื้อ หรือ Personal Protective Equipment Suit (PPE Suit) 10,000 ชุด ให้บุคลากรทางการแพทย์ใส่รักษาผู้ป่วยโควิด-19

• หน้ากากอนามัย (Face Mask) 100,000 ชิ้น ที่จัดซื้อจากกรมราชทัณฑ์ เพื่อมอบให้แก่ชุมชนใกล้เคียงโรงพยาบาล

ทั้งนี้ งบประมาณของกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยที่สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ในครั้งนี้ รวมมูลค่ากว่า40 ล้านบาท มาจากเงินสมทบจากการจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์อเนกประสงค์


ซึ่งลูกค้าผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ของฮอนด้าล้วนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม และยังเป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกองทุนฯ ที่พร้อมอยู่เคียงข้างคนไทยและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อให้สังคมไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ด้วยดี และจะเดินหน้าสร้างประโยชน์สุขให้กับคนไทย ดังเจตนารมณ์ของฮอนด้าในการสร้างสรรค์คุณค่าเพื่อเป็นองค์กรที่สังคมไทยต้องการให้ดำรงอยู่ตลอดไป

Facebook Comments