มร.เคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น / กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค มาร์เก็ตติ้ง แอนด์เซลส์ / กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง / กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย มร. โซอิชิโระ โอคุไดระ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น / ประธานบริหารด้านเทคนิค ประจำภูมิภาคเอเชีย โอเชียเนีย และจีน และนายสุรพงษ์ ตินนังวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง ร่วมเปิดงานเยี่ยมชม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง เป็นครั้งแรกแก่สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ณ สำนักงานใหญ่ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (TMAP-EM)
สำนักงานใหญ่ของโตโยต้าประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค
สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา วิศวกรรมการผลิต และการบริหารจัดการด้านชิ้นส่วน
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2550ที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนกว่า 1.3 พันล้านบาท โดยรวมกับ โตโยต้า เทคนิคอล เซ็นเตอร์ เอเซีย แปซิฟิค (TTCAP – Toyota Technical Center Asia Pacific) ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย พร้อมเพิ่มบทบาทการสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมการผลิต และการบริหารจัดการด้านชิ้นส่วน โดยมีจุดมุ่งหมายให้บริษัทฯ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเซีย แปซิฟิค
บทบาทสำคัญของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง
มร.ทานาดะ กล่าวว่า “บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง มุ่งมั่นยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและภูมิภาคนี้ โดยการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศไทย ภายใต้ความรับผิดชอบในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา วิศวกรรมการผลิต และการบริหารจัดการชิ้นส่วน รวมถึงการสร้างบุคลากรคนไทยที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทเครือข่ายธุรกิจของโตโยต้าในภูมิภาคนี้
1. ศูนย์สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (Technical Center)
TMAP-EM เป็นศูนย์กลางการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาแห่งที่ 3 ของโตโยต้า นอกประเทศญี่ปุ่น ต่อจาก สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยได้รับความไว้วางใจจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ให้รับผิดชอบการสนับสนุนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี ใน 11 ประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค รวมถึง ทวีปอเมริกาใต้ และแอฟริกา ภายใต้สโลแกน “Challenge the dream” เพื่อพัฒนาให้เกิดการผลิตรถยนต์ที่ดียิ่งขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (Ever-Better Cars) ภายใต้ 4 ขอบเขตการวิจัยหลัก ดังนี้
– การวางแผนผลิตภัณฑ์ (Product Planning)
– การออกแบบทางวิศวกรรม (Engineering Design)
– การทดสอบและประเมินประสิทธิภาพ (Evaluation)
– การส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Localization)
ทั้งนี้หน้าที่รับผิดชอบดังกล่าวได้ครอบคลุมถึง 5 หน่วยงาน ได้แก่ วิศวกรรมตัวถังรถยนต์และช่วงล่าง (Body & Chassis Engineering) วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Engineering) วิศวกรรมเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง (Power Train Engineering) วิศวกรรมวัสดุ (Material Engineering) และวิศวกรรมยานยนต์ (Vehicle Engineering)
ความสำเร็จของการวิจัยและพัฒนา TMAP-EM
– การพัฒนาชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ส่วนบนและการประเมินประสิทธิภาพรถยนต์ เพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละประเทศในภูมิภาค เช่น ชิ้นส่วนทั้งภายนอกและภายในของรถยนต์ การออกแบบสี การทดสอบเสียง และการสั่นสะเทือนที่มีผลต่อประสิทธิภาพรถยนต์
– ศูนย์กลางการพัฒนาพลังงานทางเลือก – การพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อลูกค้าทั่วโลก โดยก่อตั้งสถานีผสมซีเอ็นจี (CNG Mixing Station) เพื่อปฏิบัติการทดสอบคุณภาพของ CNG ให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ในแต่ละประเทศ เช่น เชื้อเพลิง E85 สำหรับประเทศไทย และ เชื้อเพลิง E100 สำหรับประเทศบราซิล
– การพัฒนาซอฟต์แวร์ – TMAP-EM เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา ซอฟต์แวร์ของรถยนต์โตโยต้าไฮบริด
– การพัฒนาคุณภาพยางรถยนต์ – ร่วมพัฒนายางรถยนต์กับบริษัทผลิตยางรถยนต์ในประเทศ โดยใช้สนามทดสอบภายใน TMAP-EM
รถกระบะไฮลักซ์ ความภาคภูมิใจของ TMAP-EM
รถกระบะไฮลักซ์ ภายใต้โครงการ IMV (Innovative International Multi-purpose Vehicle) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความสามารถของวิศวกร TMAP-EM ที่มีส่วนสำคัญในการร่วมวิจัยและพัฒนา ผ่านการทดสอบในทุกสภาพถนนทุกทวีปทั่วโลกด้วยเวลากว่า 12 ปี จนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั่วโลก
ทั้งนี้ความสำเร็จของทีมวิศวกรจาก TMAP-EM ในด้านการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนารถกระบะไฮลักซ์ใหม่ ได้แก่
– การมีส่วนในการออกแบบ (Drawing) ชิ้นส่วนถึง 40% และการทดสอบและประเมินผลสมรรถนะรถยนต์และวัสดุทั้งหมด (Vehicle and All Material Evaluation)
– การเป็นผู้ริเริ่มในการพัฒนาเครื่องยนต์ชนิดใหม่ทั้งแบบเบนซินและดีเซล รวมถึงผลักดันให้เกิดการผลิตระบบเกียร์ 6 จังหวะแบบใหม่ ภายในประเทศไทย
2. วิศวกรรมการผลิต (Production Engineering)
TMAP-EM เป็นศูนย์กลางวิศวกรรมการผลิตเพื่อสนับสนุนการเตรียมการผลิตรถยนต์ใน 14 ประเทศ ครอบคลุม 17 บริษัทเครือข่าย ในภูมิภาคเอเชีย โอเชียเนีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา ภายใต้วัตถุประสงค์ที่จะยกระดับความสามารถในการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ TMAP-EM เป็นส่วนสำคัญในการเตรียมกระบวนการผลิตและติดตั้งเครื่องจักรสำหรับการผลิตรถยนต์ นับตั้งแต่การออกแบบ การประกอบ ไปจนถึงขั้นตอนการติดตั้ง และกระบวนการทดลองการผลิต เพื่อสนับสนุนให้ภูมิภาคนี้สามารถผลิตรถยนต์ที่ดียิ่งขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (Ever-Better Cars) ที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพภายใต้การดำเนินงานในด้าน
– วิศวกรรมผลิตรถยนต์ (Vehicle Production Engineering)
– วิศวกรรมผลิตเครื่องยนต์ (Unit Production Engineering)
– วิศวกรรมการประกอบ (General Assembly Production Engineering)
ความสำเร็จในด้านวิศวกรรมการผลิต TMAP-EM
– สนับสนุนการเตรียมการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เริ่มจากโตโยต้า วีออส จนถึงรถกระบะยอดนิยม ไฮลักซ์ รีโว่ และรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์
– สนับสนุนการก่อตั้งโรงงานโตโยต้าในภูมิภาค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ที่ประเทศอินเดียอินโดนีเซีย และที่โรงงานเกตเวย์ ในประเทศไทยตามลำดับ
– ศูนย์กลางการฝึกอบรมด้านวิศวกรรมการผลิตของพนักงานบริษัทในเครือโตโยต้ากว่า 100 คน จาก 10 ประเทศ
– สนับสนุนความรู้ด้านความปลอดภัยแก่โรงงานในเครือ โตโยต้า รวมถึงผู้รับเหมาและผู้ส่งชิ้นส่วนรถยนต์ให้โตโยต้า
– ส่งเสริมการยกระดับโรงงานผลิตของโตโยต้าให้เป็นโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. การบริหารจัดการด้านชิ้นส่วน (Purchasing)
TMAP-EM เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการด้านชิ้นส่วนให้กับ บริษัท โตโยต้า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสนับสนุนการจัดการด้านชิ้นส่วนของบริษัทในเครือ ให้บรรลุเป้าหมายในการบริหารจัดการชิ้นส่วนของแต่ละประเทศให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพในระดับสากล รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่
ความสำเร็จของการบริหารจัดการด้านชิ้นส่วน TMAP-EM
– เพิ่มบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน 1st Tier มากขึ้นถึง10 % นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550
– สนับสนุนการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศของ ไฮลักซ์ รีโว่ มากถึง 95 %
– มีบทบาทในการส่งเสริมพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการผลิตของบริษัทผู้ผลิตชิ้น ส่วน ผ่านกิจกรรมเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยระบบการผลิตของโตโยต้า (Toyota Production System) และนวัตกรรมการผลิตอย่างมีคุณภาพ (Monozukuri Innovation)
– การถ่ายทอดความรู้เรื่องระบบการผลิตของโตโยต้า (Toyota Production System) สู่อุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลางและขนาดเล็ก ผ่านโครงการร่วมพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ (AHRDIP – Automotive Human Resource Development Institute Project) ซึ่งริเริ่มจากความร่วมมือของรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น
– ศูนย์กลางการเรียนรู้งานจัดซื้อชิ้นส่วนของพนักงานบริษัทในเครือโตโยต้ากว่า 90 คน จาก 8 ประเทศ
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ TMAP-EM ยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก และการสนับสนุนเพื่อเพิ่มการลงทุนของผู้ผลิตชิ้นส่วนและการจ้างงาน อันจะนำไป สู่คุณภาพของผลงานและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการช่วยผลักดันให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค”
ร่วมยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคสู่มาตรฐานระดับโลก
นอกจากนี้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง ยังมีบทบาทสำคัญในการ พัฒนาด้านบุคลากร เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยและภูมิภาคนี้ให้ก้าวสู่ระดับโลก อันก่อให้เกิดการส่งเสริมในด้านอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
มร.ทานาดะ กล่าวปิดท้ายว่า “บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จึงไม่เป็นเพียงความภาคภูมิใจของโตโยต้าเท่านั้น แต่ยังเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและภูมิภาคนี้ด้วยเช่นกัน ที่จะทำให้ภูมิภาคนี้มี “รถยนต์คุณภาพระดับโลก” ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการดูแลการผลิตจากฝีมือคนไทย ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งความภูมิใจของเราที่จะเติบโตไปพร้อมกับคนไทยและภูมิภาคนี้อย่างยั่งยืน”
อีซูซุส่งเครื่อ…