TAQAมุ่งยกระดับอุตฯยานยนต์ไทย ค่ายรถ-ผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องคว้ารางวัลขวัญใจมหาชน TAQA Award 2014
รางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม (TAQA) เผยผลสำรวจผู้ใช้รถจริง สะท้อนความต้องการในเชิงคุณภาพ ความคุ้มค่า เสริมด้วยปัจจัยใหม่คือแคมเปญส่งเสริมการขาย ตามที่ค่ายรถยนต์โหมกระหน่ำ ส่วนการประกาศรางวัลขวัญใจมหาชนมี 9 ค่ายรถยนต์ และ 6 ผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง ตบเท้ารับรางวัล ตอกย้ำความพึงพอใจในด้านผลิตภัณฑ์ บริการ และภาพลักษณ์
สำหรับรางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม 2557 หรือ Thailand Automotive Quality Award 2014 (TAQA) จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 ซึ่งปีนี้นายปราโมทย์ วิทยาสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีประกาศผลรางวัล ณ งานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 31 อิมแพค ชาเลนเจอร์ฮอลล์ เมืองทองธานี
นายสุกิจ ตันสกุล ประธานกรรมการบริหารบริษัท คัสต้อม เอเซีย จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาดมากว่า 30 ปี กล่าวว่า ปีนี้ตลาดรถยนต์ในประเทศค่อนข้างซบเซา หลายค่ายยังไม่สามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงต้องออกเงื่อนไขเพื่อสนับสนุนการขายในหลายรูปแบบ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของผู้บริโภคในการเลือกซื้อรถด้วยงบประมาณที่มีอยู่ ทำให้ได้รถดีขึ้น ทั้งในแง่สมรรถนะและคุณภาพ
ขณะเดียวกันไลฟ์สไตล์การชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการดังกล่าว จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ประเภทรถแยกย่อยหลายรุ่น พร้อมราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ขณะที่โปรโมชั่นส่งเสริมการขายยังคงเป็นตัวกระตุ้นในการตัดสินใจซื้อ นอกเหนือไปจากปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคคำนึงถึงคือ ความเชื่อมั่นในแบรนด์ ความคุ้มค่า อัตราบริโภคน้ำมัน และการออกแบบ
สำหรับรางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม หรือ TAQA นับเป็นข้อมูลสำคัญ ที่ผ่านการสำรวจและศึกษา เพื่อให้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์เข้าใจว่า ในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ผู้บริโภคต้องการองค์ประกอบอะไรบ้างในการตัดสินใจซื้อรถ เหนืออื่นใด TAQA ยังเป็นรางวัลที่ช่วยให้บริษัทรถยนต์ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง มีกำลังใจพร้อมเป็นพลังในการพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งดีๆต่อไป
ในปีนี้ค่ายรถยนต์ชั้นนำที่คว้ารางวัลขวัญใจมหาชน คือ โตโยต้า ฮอนด้า อีซูซุ มาสด้า ซูซูกิ เชฟโรเลต ฟอร์ด เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู พร้อมผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ ปตท. เชลล์ บริดจสโตน ลามิน่า 3เคแบตเตอรี่ และเอ.พี. ฮอนด้า ถือเป็นการยืนยันคุณภาพจากผู้ใช้รถตัวจริงได้เป็นอย่างดี ซึ่ง TAQA จะวัดความพึงพอใจที่ครอบคลุมรอบด้าน ทั้ง ประสิทธิภาพรถยนต์ คุณภาพบริการการขายและหลังการขาย ตลอดจนภาพลักษณ์ของแบรนด์ รวมถึงการออกแบบที่ดึงดูดใจ
โดย “โตโยต้า” ยังครองใจผู้ใช้รถ จากรางวัล “ธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม” ด้านคุณภาพแรกใช้ผลิตภัณฑ์ ทั้งรถยนต์นั่ง ปิกอัพ และปิกอัพดัดแปลงอเนกประสงค์ ส่วน “ฮอนด้า” สามารถคว้ารางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยมด้านภาพลักษณ์ดีเด่นประเภทยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ ซึ่งถือเป็นรางวัลสำคัญอันมีผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัทได้เป็นอย่างดี ส่วนรางวัลภาพลักษณ์ดีเด่นประเภทคุ้มค่าเงิน ตกเป็นของ “อีซูซู” ขณะที่ “มาสด้า” ได้ภาพลักษณ์ดีเด่นประเภทสร้างสรรค์นวัตกรรมและประเภทขับขี่สนุก ในกลุ่มรถยนต์หรูหรา “เมอร์เซเดส-เบนซ์” คว้ารางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยมด้านภาพลักษณ์ดีเด่นประเภทเทคโนโลยีระดับสูง ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยู ได้รับรางวัลภาพลักษณ์ดีเด่นประเภทรูปลักษณ์ดึงดูดใจ
ด้านรางวัล “ธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม” ผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ในกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและสถานีบริการ ตกเป็นของ “ปตท.” ขณะที่ “เชลล์” ได้รางวัลประเภทน้ำมันหล่อลื่น และรถจักรยานยนต์ “เอ.พี. ฮอนด้า” ส่วนยาง “บริดจสโตน” คว้าไปครองอีกสมัย เช่นเดียวกับฟิล์มกรองแสง และแบตเตอรี่รถยนต์ ที่ “ลามิน่า” และ “3เค” คว้ารางวัลไปตามลำดับ
ในปีนี้มีผู้ที่ได้รับรางวัล TAQA Excellence Award ที่จะมอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลที่ 1 เป็นระยะเวลา 5 ปี ติดต่อกัน อันได้แก่ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ปตท. น้ำมันเชื้อเพลิง ปตท. ยางยนต์ BRIDGESTONE
TOYOTA VIOS TOYOTA VIGO ฟิล์มกรองแสง LAMINA
ปีนี้รางวัล TAQA ทำการสำรวจข้อมูลความพึงพอใจของผู้บริโภค ที่มีต่อผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ด้วยการกำหนดสุ่มกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้รถจำนวน 5,800 คน ในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผ่านช่องทางการสัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ ซึ่งจะมีความแม่นยำเที่ยงตรง ไร้ปัญหาเอนเอียง และเข้าถึงทุกพื้นที่ ด้วยแบบสอบถามที่ได้รับการออกแบบให้ง่ายต่อการให้ข้อมูล ทำการประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โมเดลที่ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
สำหรับรางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม (TAQA) เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันยานยนต์ บริษัท สื่อสากล จำกัด บริษัท คัสต้อม เอเซีย จำกัด และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ประกอบการที่สามารถครองใจมหาชนได้มากที่สุด ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 โดยวัดจากการทำวิจัยเชิงปริมาณสำรวจความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้รถจริงทั่วประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่ความพึงพอใจคุณภาพการบริการ คุณภาพรถแรกใช้ และบริการหลังการขาย ตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์