New Toyota Altis การเปลี่ยนแปลงที่ให้มากกว่าคำว่า “ไมเนอร์เชนจ์”
“ไมเนอร์เชนจ์” หลายท่านคงจะคุ้นกับคำๆนี้ หากจะดูรถรุ่นอื่นๆที่ไมเนอร์เชนจ์กันไป ก็จะเห็นได้ว่า จะเป็นแค่การแต่งหน้าทาปากใหม่เพียงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไฟหน้า กระจังหน้า กันชนท้าย ไฟท้าย หรือแม้แต่จะเพิ่มของตกแต่งต่างๆก็ตาม ล้วนแล้วออกมาเพื่อกระตุ้นยอดขาย ของผลิตภัณฑ์ตัวเดิมที่ออกมานานแล้วให้ดีขึ้น
แต่สำหรับโตโยต้า ผมมองว่าการไมเนอร์เชนจ์อัลติสในครั้งนี้ นอกจากจะกระตุ้นยอดขายก่อนเปลี่ยนโมเดลแล้ว ยังเป็นการชิมรางสำหรับเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังใหม่ด้วย
เครื่องยนต์ใหม่ที่ว่าก็คือ เครื่องยนต์ 2,000 cc. 3ZR-FE ACIS (Acoustic Control Induction System)แบบ 4 สูบแถวเรียง DOHC Dual VVT-I พร้อมด้วยระบบ ACIS ซึ่งปรับเปลี่ยนความยาวท่อไอดีให้เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องยนต์ ให้แรงม้าสูงสุด 145 แรงม้าที่ 6,200 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 187 นิวตัน-เมตรที่ 3,600 รอบต่อนาที
อีกตัวนึงที่ผมได้ไปทดลองขับนั้นเป็นเครื่องยนต์ 1,800 cc. 2ZR-FE ACIS แบบ 4 สูบแถวเรียง DOHC Dual VVT-I พร้อมด้วยระบบ ACIS เช่นกัน ตัวนี้ให้แรงม้าสูงสุด 140 แรงม้าที่ 6,400 รอบต่อนาทีและแรงบิดสูงสุด 173 นิวตัน-เมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที
ทั้งสองเครื่องยนต์ใช้ระบบส่งกำลังแบบใหม่ เป็นเกียร์อัตโนมัติ Super CVT-I 7 สปีด หลายท่านอ่านถึงตรงนี้ คงสงสัยว่าโตโยต้าคิดอย่างไร ถึงได้เอาเจ้าเกียร์ CVT มาใส่ในอัลติสใหม่นี้ ก็อย่างที่บอกนั่นและครับ ว่าเป็นการชิมราง พร้อมทั้งบอกไปในตัวด้วยว่า ในอนาคต รถรุ่นใหม่ๆ จะใช้เกียร์ตัวนี้เช่นกัน
จริงๆไอ้เจ้าเกียร์ตัวนี้ก็ไม่ได้ใหม่ไปซะทีเดียวนะครับ เพราะมันใส่อยู่ในโมเดลอื่นของโตโยต้าอยู่บ้าง แต่เป็นโมเดลที่ทำตลาดอยู่ที่เมืองนอก ทีนี่มาดูกันครับว่า เครื่องกับเกียร์ CVT ตัวนี้มีอะไรดีกันบ้าง
จากการทดลองขับตัวเครื่องยนต์ 1,800 ซีซี. ในช่วงสั้นๆ ภายในสนาม Thai Bridgestone Proving Groundสนามใหม่ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยานั่น การทดสอบจะแบ่งเป็นสถานีต่างๆ 4สถานีด้วยกัน โดยแต่ละสถานี จะเป็นการวิ่งต่อเนื่องกันไปเป็นรอบๆ รวมทั้งสิ้น 5 สนามด้วยกัน
มาที่รอบแรก จะเป็นการขับวน 1 รอบเพื่อให้คุ้นกับรถเสียก่อน ขับตามๆกันไป เป็นการวนแบบตรงๆ ไม่มีกรวยมาขวางใดๆทั้งสิ้น การเปลี่ยนเกียร์ในรอบนี้ ก็จะรู้สึกเหมือนการเปลี่ยนเกียร์ CVT ทั่วๆไป ไม่ได้แตกต่างอะไรมากนัก
ในรอบที่สองเป็นการทดสอบสมรรถนะรถกันสักเล็กน้อย โดยสถานีแรกจะเป็นเรื่องอัตราเร่ง จาก 0-100 กม./ชม.กันก่อน โดนเกียร์จะอยู่ที่ตำแหน่ง D เท่านั้น ผลที่ได้ออกมา ประมาณ 10.7 วินาทีจากการบอกเล่าของเจ้าหน้าที่
ส่วนความรู้สึกในการเปลี่ยนเกียร์นั้น ทำให้ผมแปลกใจอยู่พอสมควร เพราะโดยทั่วๆของเกียร์ CVT รอบของเครื่องยนต์เมื่อเรากดคันเร่งลงไป รอบก็จะตีขึ้นไปรออยู่ที่บริเวณที่ควรจะเป็นจากการคำนวณจากกล่องคอมพิวเตอร์ หากกดจนสุดเท้ารอบก็เกือบจะตัดเลยก็มี แล้วความเร็วก็จะค่อยๆตามขึ้นมา และจะไม่ค่อยรู้ถึงการเปลี่ยนสปีดของเกียร์สักเท่าไหร่ แต่นี่ไม่ใช่เพราะมันมีแรงกระชากเหมือนเกียร์ออโต้ทั่วๆไป ส่วนรอบก็ไม่ได้ตีขึ้นไปรอเหมือนเกียร์ CVT ทั่วๆอีก แต่รอบจะค่อยๆขึ้นไปให้ความรู้สึกที่ต่อเนื่องมากกว่า และยังให้ความสะใจในแรงกระชากระหว่างเปลี่ยนเกียร์เหมือนเกียร์ออโต้ หรืออาจจะพูดได้ว่า เหมือนเกียร์ธรรมดาเลยก็ว่าได้
เมื่อผ่านสถานีแรกไปไม่ไกล ก็จะเป็นสถานีที่สอง ซึ่งเป็นสถานีที่จะต้องทำการเปลี่ยนเลนด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. เมื่อถึงจุดที่จะต้องหักพวงมาลัย ทั้งช่วงล่างและน้ำหนักของพวงมาลัยนั้น ให้ความรู้สึกที่มั่นคงและแม่นยำ ทำให้การเปลี่ยนเลนในความเร็วขนาดนั้นเป็นเรื่องง่ายไปเลยครับ
สถานีที่สามเป็นการขับซิกแซ็กไปตามกรวยที่วางไว้กลางถนน หรือที่เรียกการขับแบบนี้ว่า “สลาลม” นั่นเอง โดนจะใช้ความเร็วประมาณ 60 กม./ชม. ในการเข้ากรวยแรก จากนั้นก็เลี้ยงความเร็วไว้จนถึงกรวยสุดท้าย แล้วค่อยกดคันเร่งออกไป คล้ายๆกันการเปลี่ยนเลนนั่นแหละครับ แต่การทดสอบแบบนี้จะแสดงให้เห็นถึงการโยนตัวของรถมากกว่า แต่อัลติสใหม่ ที่ได้รับการปรับแต่งช่วงล่างและน้ำหนักของพวงมาลัยใหม่ ตอบสนองการหักเลี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีอาการโยนตัวให้เห็นมากนัก
ส่วนสถานีที่สี่นั้น เป็นการขับเข้าโค้งซ้ายยาวๆของสนามโดยความเร็วที่ 100 กม./ชม. บอกตามตรงเลยครับว่า แรกๆผมก็ไม่ค่อยกล้าที่จะเข้าหรอกครับ อาจจะเป็นเพราะไม่ชินกับสนามด้วย ก็เลยไม่กล้า แต่รอบหลังๆ นี่เมื่อเริ่มชินแล้วก็เข้าโค้งได้สบายครับ สบายจนลืมดูความเร็วไปเลย
การทดสอบโดยรวมจะขับกันทั้งหมด 5 รอบใหญ่ครับ แต่จะผ่านสถานีเพียงรอบที่ 2 และรอบที่ 4 เท่านั้น โดยรอบที่ 4 และ5 จะเป็นรอบที่เปลี่ยนโหมดเกียร์จากเดิมที่อยู่ในตำแหน่ง D มาเป็นตำแหน่ง M เพื่อที่จะสามารถเปลี่ยนสปีดของเกียร์ได้เองครับ
ความรู้สึกหลังจากเปลี่ยนมาเป็นหมวด M นั้นต้องยอมรับเลยครับว่าให้ความรู้สึกที่มันกว่าอย่างเห็นได้ชัดครับ ตอนเปลี่ยนเกียร์ขึ้นก็ไม่เท่าไหร่ครับ ไอ้ตอนเปลี่ยนลงเพื่อเข้าโค้ง หรือผ่านตามสถานีต่างๆนี่ ได้ความรู้สึกสนุก เหมือนขับรถเกียร์ธรรมดาเลยครับ แต่จะมีสักกี่คนละครับที่ใช้โหมดนี้ หากจะใช้ ก็คงใช้เพื่อความสนุกเป็นครั้งคราวเท่านั้น
โดยรวมแล้วผลสรุปออกมาค่อนข้างดีเลยที่เดียวครับ แต่มันยังไม่จบเท่านั้นหรอกครับ มันต้องดูกันยาวๆ เนื่องจากชื่อเสียงของเกียร์ CVT ในบ้านเรานี่ก็ไม่ค่อยดีนัก บางยี่ห้อไม่เอาเข้ามาเลยก็มี เนื่องจากมีปัญหาเยอะ เสียกันเยอะ โดยถ้าหากเสียแล้วไปซ่อมศูนย์ ศูนย์บอกเลยครับว่าต้องยกเกียร์ทั้งลูก แล้วลูกละเท่าไหร่ครับ เหยียบแสนกันทั้งนั้น แล้วของโตโยต้าล่ะเป็นอย่างไรบ้าง ได้รับคำตอบเหมือนกันเปี๊ยบเลยว่า “ไม่มีการซ่อมครับ เสียยกลูกอย่างเดียวครับ แต่ของเรา เกียร์ลูกละ 3-4 หมื่นเท่านั้นครับ เนื่องจากความซับซ้อนที่น้อยกว่า และชิ้นส่วนที่น้อยกว่า จึงทำให้เกียร์มีราคาถูกลงครับ”
แล้วการดูรักษา ต้องทำอะไรเป็นพิเศษไหมครับ ก็ได้คำตอบว่า ”ก็ไม่มีอะไรพิเศษครับ นอกจากขับไปอย่างสบายใจ เช็คน้ำมันเกียร์ทุกๆ 40,000 กม. ยังไม่ต้องเปลี่ยนนะครับ เพียงแค่ตรวจสอบดูคุณภาพเฉยๆ จากการดูสี และดมกลิ่นพอครับ หากไม่ดีค่อยเปลี่ยน ส่วนชิ่นส่วนอื่นๆก็ไม่ต้องไปสนใจครับ ทุกชิ้นส่วนมีอายุการใช้งานตามอายุของรถครับ” ฟังมาถึงตอนนี้ ตัวผมเองก็อยากจะเปลี่ยนเกียร์รถตัวเองมาเป็นเกียร์ Super CVT-I ของโตโยต้าเหมือนกันครับ เพราะการดูแลรักษานั่นง่ายกว่าเกียร์ออโต้เสียอีก
แต่ก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับว่า ของอย่างนี้ต้องดูกันยาวๆ ยิ่งในเมืองไทยด้วย อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ แต่จริงๆผมว่าบางที ปัญหาไม่ได้มาจากชิ่นส่วนหรืออุปกรณ์เพียงเท่านั้น ปัญหาส่วนใหญ่ มักจะมาจากผู้ใช้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ และการดูแลรักษาเสียมากกว่าครับ ส่วนความรู้ที่ได้มาจากไหนแหละครับ ก็ต้องมาจากคู่มือการใช้สิครับ ในนั้นมีบอกไว้หมดทุกอย่างเลยครับ ทั้งวิธีการใช้ และการดูแลต่างๆ อ่านเสียบ้างนะครับ ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจ ค่อยสอบถามจากช่างผู้ชำนาญการอีกทีหนึ่งก็ได้ครับ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ถาม คู่มือการใช้มีอยู่กับตัวไม่อ่าน อ่านเสียหน่อยเถอะครับ ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อตัวคุณเอง รถคุณเอง ความปลอดภัยของคุณเองนั่นแหละครับ
**************************************************************************
บทความ สารฑูล สักการเวช
ภาพ โตโยต้า มอเตอร์
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…