New Toyota Altis การเปลี่ยนแปลงที่ให้มากกว่าคำว่า “ไมเนอร์เชนจ์”


New Toyota Altis การเปลี่ยนแปลงที่ให้มากกว่าคำว่า “ไมเนอร์เชนจ์”

“ไมเนอร์เชนจ์” หลายท่านคงจะคุ้นกับคำๆนี้ หากจะดูรถรุ่นอื่นๆที่ไมเนอร์เชนจ์กันไป ก็จะเห็นได้ว่า จะเป็นแค่การแต่งหน้าทาปากใหม่เพียงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไฟหน้า กระจังหน้า กันชนท้าย ไฟท้าย หรือแม้แต่จะเพิ่มของตกแต่งต่างๆก็ตาม ล้วนแล้วออกมาเพื่อกระตุ้นยอดขาย ของผลิตภัณฑ์ตัวเดิมที่ออกมานานแล้วให้ดีขึ้น


แต่สำหรับโตโยต้า ผมมองว่าการไมเนอร์เชนจ์อัลติสในครั้งนี้ นอกจากจะกระตุ้นยอดขายก่อนเปลี่ยนโมเดลแล้ว ยังเป็นการชิมรางสำหรับเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังใหม่ด้วย

เครื่องยนต์ใหม่ที่ว่าก็คือ เครื่องยนต์ 2,000 cc. 3ZR-FE ACIS (Acoustic Control Induction System)แบบ 4 สูบแถวเรียง DOHC Dual VVT-I พร้อมด้วยระบบ ACIS ซึ่งปรับเปลี่ยนความยาวท่อไอดีให้เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องยนต์ ให้แรงม้าสูงสุด 145 แรงม้าที่ 6,200 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 187 นิวตัน-เมตรที่ 3,600 รอบต่อนาที


อีกตัวนึงที่ผมได้ไปทดลองขับนั้นเป็นเครื่องยนต์ 1,800 cc. 2ZR-FE ACIS แบบ 4 สูบแถวเรียง DOHC Dual VVT-I พร้อมด้วยระบบ ACIS เช่นกัน ตัวนี้ให้แรงม้าสูงสุด 140 แรงม้าที่ 6,400 รอบต่อนาทีและแรงบิดสูงสุด 173 นิวตัน-เมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที

ทั้งสองเครื่องยนต์ใช้ระบบส่งกำลังแบบใหม่ เป็นเกียร์อัตโนมัติ Super CVT-I 7 สปีด หลายท่านอ่านถึงตรงนี้ คงสงสัยว่าโตโยต้าคิดอย่างไร ถึงได้เอาเจ้าเกียร์ CVT มาใส่ในอัลติสใหม่นี้ ก็อย่างที่บอกนั่นและครับ ว่าเป็นการชิมราง พร้อมทั้งบอกไปในตัวด้วยว่า ในอนาคต รถรุ่นใหม่ๆ จะใช้เกียร์ตัวนี้เช่นกัน

จริงๆไอ้เจ้าเกียร์ตัวนี้ก็ไม่ได้ใหม่ไปซะทีเดียวนะครับ เพราะมันใส่อยู่ในโมเดลอื่นของโตโยต้าอยู่บ้าง แต่เป็นโมเดลที่ทำตลาดอยู่ที่เมืองนอก ทีนี่มาดูกันครับว่า เครื่องกับเกียร์ CVT ตัวนี้มีอะไรดีกันบ้าง

จากการทดลองขับตัวเครื่องยนต์ 1,800 ซีซี. ในช่วงสั้นๆ ภายในสนาม Thai Bridgestone Proving Groundสนามใหม่ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยานั่น การทดสอบจะแบ่งเป็นสถานีต่างๆ 4สถานีด้วยกัน โดยแต่ละสถานี จะเป็นการวิ่งต่อเนื่องกันไปเป็นรอบๆ รวมทั้งสิ้น 5 สนามด้วยกัน


มาที่รอบแรก จะเป็นการขับวน 1 รอบเพื่อให้คุ้นกับรถเสียก่อน ขับตามๆกันไป เป็นการวนแบบตรงๆ ไม่มีกรวยมาขวางใดๆทั้งสิ้น การเปลี่ยนเกียร์ในรอบนี้ ก็จะรู้สึกเหมือนการเปลี่ยนเกียร์ CVT ทั่วๆไป ไม่ได้แตกต่างอะไรมากนัก

ในรอบที่สองเป็นการทดสอบสมรรถนะรถกันสักเล็กน้อย โดยสถานีแรกจะเป็นเรื่องอัตราเร่ง จาก 0-100 กม./ชม.กันก่อน โดนเกียร์จะอยู่ที่ตำแหน่ง D เท่านั้น ผลที่ได้ออกมา ประมาณ 10.7 วินาทีจากการบอกเล่าของเจ้าหน้าที่


ส่วนความรู้สึกในการเปลี่ยนเกียร์นั้น ทำให้ผมแปลกใจอยู่พอสมควร เพราะโดยทั่วๆของเกียร์ CVT รอบของเครื่องยนต์เมื่อเรากดคันเร่งลงไป รอบก็จะตีขึ้นไปรออยู่ที่บริเวณที่ควรจะเป็นจากการคำนวณจากกล่องคอมพิวเตอร์ หากกดจนสุดเท้ารอบก็เกือบจะตัดเลยก็มี แล้วความเร็วก็จะค่อยๆตามขึ้นมา และจะไม่ค่อยรู้ถึงการเปลี่ยนสปีดของเกียร์สักเท่าไหร่ แต่นี่ไม่ใช่เพราะมันมีแรงกระชากเหมือนเกียร์ออโต้ทั่วๆไป ส่วนรอบก็ไม่ได้ตีขึ้นไปรอเหมือนเกียร์ CVT ทั่วๆอีก แต่รอบจะค่อยๆขึ้นไปให้ความรู้สึกที่ต่อเนื่องมากกว่า และยังให้ความสะใจในแรงกระชากระหว่างเปลี่ยนเกียร์เหมือนเกียร์ออโต้ หรืออาจจะพูดได้ว่า เหมือนเกียร์ธรรมดาเลยก็ว่าได้

เมื่อผ่านสถานีแรกไปไม่ไกล ก็จะเป็นสถานีที่สอง ซึ่งเป็นสถานีที่จะต้องทำการเปลี่ยนเลนด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. เมื่อถึงจุดที่จะต้องหักพวงมาลัย ทั้งช่วงล่างและน้ำหนักของพวงมาลัยนั้น ให้ความรู้สึกที่มั่นคงและแม่นยำ ทำให้การเปลี่ยนเลนในความเร็วขนาดนั้นเป็นเรื่องง่ายไปเลยครับ


สถานีที่สามเป็นการขับซิกแซ็กไปตามกรวยที่วางไว้กลางถนน หรือที่เรียกการขับแบบนี้ว่า “สลาลม” นั่นเอง โดนจะใช้ความเร็วประมาณ 60 กม./ชม. ในการเข้ากรวยแรก จากนั้นก็เลี้ยงความเร็วไว้จนถึงกรวยสุดท้าย แล้วค่อยกดคันเร่งออกไป คล้ายๆกันการเปลี่ยนเลนนั่นแหละครับ แต่การทดสอบแบบนี้จะแสดงให้เห็นถึงการโยนตัวของรถมากกว่า แต่อัลติสใหม่ ที่ได้รับการปรับแต่งช่วงล่างและน้ำหนักของพวงมาลัยใหม่ ตอบสนองการหักเลี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีอาการโยนตัวให้เห็นมากนัก

ส่วนสถานีที่สี่นั้น เป็นการขับเข้าโค้งซ้ายยาวๆของสนามโดยความเร็วที่ 100 กม./ชม. บอกตามตรงเลยครับว่า แรกๆผมก็ไม่ค่อยกล้าที่จะเข้าหรอกครับ อาจจะเป็นเพราะไม่ชินกับสนามด้วย ก็เลยไม่กล้า แต่รอบหลังๆ นี่เมื่อเริ่มชินแล้วก็เข้าโค้งได้สบายครับ สบายจนลืมดูความเร็วไปเลย

การทดสอบโดยรวมจะขับกันทั้งหมด 5 รอบใหญ่ครับ แต่จะผ่านสถานีเพียงรอบที่ 2 และรอบที่ 4 เท่านั้น โดยรอบที่ 4 และ5 จะเป็นรอบที่เปลี่ยนโหมดเกียร์จากเดิมที่อยู่ในตำแหน่ง D มาเป็นตำแหน่ง M เพื่อที่จะสามารถเปลี่ยนสปีดของเกียร์ได้เองครับ

ความรู้สึกหลังจากเปลี่ยนมาเป็นหมวด M นั้นต้องยอมรับเลยครับว่าให้ความรู้สึกที่มันกว่าอย่างเห็นได้ชัดครับ ตอนเปลี่ยนเกียร์ขึ้นก็ไม่เท่าไหร่ครับ ไอ้ตอนเปลี่ยนลงเพื่อเข้าโค้ง หรือผ่านตามสถานีต่างๆนี่ ได้ความรู้สึกสนุก เหมือนขับรถเกียร์ธรรมดาเลยครับ แต่จะมีสักกี่คนละครับที่ใช้โหมดนี้ หากจะใช้ ก็คงใช้เพื่อความสนุกเป็นครั้งคราวเท่านั้น

โดยรวมแล้วผลสรุปออกมาค่อนข้างดีเลยที่เดียวครับ แต่มันยังไม่จบเท่านั้นหรอกครับ มันต้องดูกันยาวๆ เนื่องจากชื่อเสียงของเกียร์ CVT ในบ้านเรานี่ก็ไม่ค่อยดีนัก บางยี่ห้อไม่เอาเข้ามาเลยก็มี เนื่องจากมีปัญหาเยอะ เสียกันเยอะ โดยถ้าหากเสียแล้วไปซ่อมศูนย์ ศูนย์บอกเลยครับว่าต้องยกเกียร์ทั้งลูก แล้วลูกละเท่าไหร่ครับ เหยียบแสนกันทั้งนั้น แล้วของโตโยต้าล่ะเป็นอย่างไรบ้าง ได้รับคำตอบเหมือนกันเปี๊ยบเลยว่า “ไม่มีการซ่อมครับ เสียยกลูกอย่างเดียวครับ แต่ของเรา เกียร์ลูกละ 3-4 หมื่นเท่านั้นครับ เนื่องจากความซับซ้อนที่น้อยกว่า และชิ้นส่วนที่น้อยกว่า จึงทำให้เกียร์มีราคาถูกลงครับ”

แล้วการดูรักษา ต้องทำอะไรเป็นพิเศษไหมครับ ก็ได้คำตอบว่า ”ก็ไม่มีอะไรพิเศษครับ นอกจากขับไปอย่างสบายใจ เช็คน้ำมันเกียร์ทุกๆ 40,000 กม. ยังไม่ต้องเปลี่ยนนะครับ เพียงแค่ตรวจสอบดูคุณภาพเฉยๆ จากการดูสี และดมกลิ่นพอครับ หากไม่ดีค่อยเปลี่ยน ส่วนชิ่นส่วนอื่นๆก็ไม่ต้องไปสนใจครับ ทุกชิ้นส่วนมีอายุการใช้งานตามอายุของรถครับ” ฟังมาถึงตอนนี้ ตัวผมเองก็อยากจะเปลี่ยนเกียร์รถตัวเองมาเป็นเกียร์ Super CVT-I ของโตโยต้าเหมือนกันครับ เพราะการดูแลรักษานั่นง่ายกว่าเกียร์ออโต้เสียอีก


แต่ก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับว่า ของอย่างนี้ต้องดูกันยาวๆ ยิ่งในเมืองไทยด้วย อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ แต่จริงๆผมว่าบางที ปัญหาไม่ได้มาจากชิ่นส่วนหรืออุปกรณ์เพียงเท่านั้น ปัญหาส่วนใหญ่ มักจะมาจากผู้ใช้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ และการดูแลรักษาเสียมากกว่าครับ ส่วนความรู้ที่ได้มาจากไหนแหละครับ ก็ต้องมาจากคู่มือการใช้สิครับ ในนั้นมีบอกไว้หมดทุกอย่างเลยครับ ทั้งวิธีการใช้ และการดูแลต่างๆ อ่านเสียบ้างนะครับ ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจ ค่อยสอบถามจากช่างผู้ชำนาญการอีกทีหนึ่งก็ได้ครับ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ถาม คู่มือการใช้มีอยู่กับตัวไม่อ่าน อ่านเสียหน่อยเถอะครับ ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อตัวคุณเอง รถคุณเอง ความปลอดภัยของคุณเองนั่นแหละครับ

**************************************************************************

บทความ สารฑูล สักการเวช
ภาพ โตโยต้า มอเตอร์

Facebook Comments