ใครที่ไปงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป ในปีนี้ คงจะได้มีโอกาสพบเห็น การเปิดตัวบนพื้นที่ ยิ่งใหญ่ ไม่แพ้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและยุโรป
ของ โปรตอน กันไปบ้างแล้ว
หรือใครที่ติดตามข่าวสารเรื่องรถยนต์มานานพอสมควร น่าจะคุ้นเคยกับชื่อของโปรตอน อยู่บ้าง
ถ้าถามว่า โปรตอน คือใคร?
คำตอบที่สั้นที่สุดในช่วงเวลาที่ผมไม่อาจจะสาธยายได้เต็มที่นัก ก็คือ
เป็นบริษัทรถยนต์ หนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ถูกก่อตั้งขึ้น จากแนวคิด ของดร.มหาเธร์ มูฮัมหมัด ในการผลิตรถยนต์แห่งชาติ
โดยในระยะแรกนั้น เริ่มจากการร่วมมือแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี กับมิตซูบิชิ มอเตอร์ส จนสำเร็จเป็นรูปร่างคันขายจริง
ในชื่อ โปรตอน ซาก้า เมื่อราวๆ ปี 1986
การก่อกำเนิดของโปรตอนนั้น ได้แรงสนับสนุนจากภาครัฐบาล ถึงขนาดว่า ใช้แรงจูงใจทางภาษี เพื่อจะเปิดโอกาสให้ประชาชน
ชาวมาเลเซีย มีโอกาสได้เป็นเจ้าของรถยนต์โปรตอนกันง่ายขึ้น แต่เมื่อผู้ใช้รถชาวมาเลย์ เริ่มพบปัญหาความไม่ทนทานพอ
ของวัสดุที่นำมาประกอบเป็นรถ จนกลายเป็นคำพูดปากต่อปาก ทำให้โปรตอนเองต้องเร่งปรับตัว พัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ
อย่างมาก ให้ทันกับการแข่งขันบนเวทีสากลโลก
วันนี้ โปรตอน พร้อมจะบุกตลาดเมืองไทยแล้ว โดยตกลงให้ "พระนครยนตรการ" เป็นผู้จำหน่าย รถยนต์ประกอบสำเร็จรูป
นำเข้าทั้งคัน จากมาเลเซีย มาขายในประเทศไทย
ผมเดินเข้าไปชมบูธของโปรตอน ซึ่ง จัดขึ้นแบบโดยเน้นความโปร่งสบาย และ มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการเดินชมรถยนต์ 3 รุ่นแรก
ที่โปรตอน ส่งเข้ามาบุกตลาดในบ้านเรา
ทั้ง น้องเล็ก Savvy Sub -B Segment Hatchback 5 ประตู เครื่องยนต์ 1,200 ซีซี 74 แรงม้า (PS)
NEO B-Segment (Sub-Compact) 3 ประตู เอาใจวัยรุ่นมหาวิทยาลัย เครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,600 ซีซี 110 แรงม้า (PS)
และ Gen 2 C-Segment Compact แฮตช์แบ็ก 5 ประตู เครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,600 ซีซี ใหม่ CAMPRO ที่เคลมว่าเปิดตัวในเมืองไทยครั้งแรกในโลก
ยิ่งการที่โปรตอน พยายามโปรโมทว่า ตนเองใช้เทคโนโลยี การเซ็ตช่วงล่างโดย Lotus ผ้ผลิตรถสปอร์ต และมือปืนรับจ้างพัฒนาระบบรองรับ
และโครงสร้างของรถยนต์ จากอังกฤษ ซึ่งตน เข้าไปซื้อกิจการมาเป็นของตน เมื่อหลายปีก่อน ทำให้ หลายๆคน น่าจะอยากรู้ว่า ภาพรวมของรถ
ที่เซ็ตโดยโลตัส จะเป็นอย่างไร
ยอมรับว่า ในตอนแรก สะดุดตากับ นีโอ ซึ่งดูแล้วโหงวเฮ้งของรถน่าจะดีที่สุดในกลุ่ม เพราะเป็นรถยนต์ แฮตช์แบ็ก 3 ประตู ที่ออกแบบมาได้สวยจบ
แต่ว่า วัสดุในห้องโดยสาร ก็ชวนให้ผมเกิดอาการเซ็งไปบ้างเล็กน้อย พยายามทำใจว่า เอาน่า รถยนต์ราคาเริ่มต้น 499,000 บาท จากมาเลเซีย ก็เป็นแบบนี้ละ
ก้มๆดูๆ วิพากษ์วิจารณ์กัน อยู่พักหนึ่ง ก็มีเสียงเชื้อเชิญจากพนักงานขายสุภาพสตรี บอกว่า "ทดลองขับได้นะคะ"
ผมกับ ตาแบงค์ 2 เพื่อนสนิท ที่พูดคุยกันในฐานะคนชอบรถด้วยกัน ที่มาเดินชมงานกับผมด้วย ก็หูผึ่งสิ!
ตกลงตอบรับคำเชิญในทันที
จากนั้น นายกล้วย 910 หนึ่งในเพื่อนอีกคน ซึ่งเคยช่วยเหลือผมในการทดลองรถอยู่เรื่อยๆ ก็ตามมาสมทบ
เมื่อเซ็นเอกสารเสร็จ ถ่ายสำเนาใบขับขี่ไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อยแล้ว พนักงานของทางบูธ ก็พาเดินไปที่รถทดลองขับจริง
ซึ่งจอดเรียงกันกับรถยนต์ทดลองขับของค่ายอื่นๆ
ที่ลานขนถ่ายสินค้าด้านหลังแชลเลนเจอร์ ฮอลล์ นั่นละครับ
แม้ว่า จะเสียดาย ที่ไม่อาจขับไปไหนได้ไกลเกินกว่าพื้นที่ลานจอดรถ ด้านหลังแชลเลนเจอร์ ฮอลล์ แต่นั่นก็มีความยาวเพียงพอ และมี
ช่องทางให้ลองรถในระยะสั้นๆให้ได้จับอาการของตัวรถกันได้ เท่าที่พอจะเอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นการขับลงจากทางลาดชัน แล้วเลี้ยวขวา ตั้งลำ ออกตัวเต็มที่ แต่ต้องคอยระวัง
รถที่แล่นจะออกจากลานจอดรถดังกล่าว ไปจนถึงปลายสุดทาง หักเลี้ยวขวา ครั้งแรก พุ่งไปยังเกือบจะสุดลานจอดรถบรรทุกส่งของ ก็เลี้ยวขวาแรงๆได้อีกครั้ง
ก่อนจะ ต้องหักเลี้ยวซิกแซก ซ้าย-ขวา 1 ครั้ง และจบด้วยการ ขับขึ้นทางชัน นำรถกลับไปจอดยังจุดเริ่มต้น
เริ่มกันที่ Gen-2 รถยนต์นั่งระดับคอมแพกต์ ที่ตั้งราคาไว้ราวๆ 629,000 คือต่ำกว่า กลุ่มของเชฟโรเลต ออพร้า มิตซูบิชิ แลนเซอร์ และนิสสัน ทีด้า อยู่เล็กน้อย
แต่ไปเจอกับกระดูกชิ้นใหญ่ อย่าง โตโยต้า วีออส ฮอนด้า ซิตี้ เชฟโรเลต เอวิโอ นี่ยังไม่นับรวม พวกแฮตช์แบ็กแท้ๆ อย่างฮอนด้าแจ้สและ โตโยต้า ยาริส ที่มีระดับราคาเท่าๆกันอีกนะ
เมื่อเปิดประตูขึ้นนั่งครั้งแรก บอกตรงๆเลยว่า ผมรู้สึกแปลกๆ ออกไปในแนวไม่ค่อยประทับใจเท่าที่ควร
พุดกันตรงๆคือ เบาะนั่งของ เจ็น-ทู นั้น มีไว้แค่ใช้นั่ง จริงๆ และแค่นั้น โปรดอย่าคิดถึงเรื่องหลักสรีระศาสตร์อันใดให้ปวดกบาล
เพราะนอกจากจะรองรับสรีระของผู้ขับขี่ ไม่ได้ดีเท่าที่ควรแล้ว มันยังไม่สามารถรั้งตัวผู้ขับขี่ไว้กับเบาะได้ ขณะที่เหวี่ยงเข้าโค้งอีกด้วย!
มันไม่ได้โอบกระขับตัวของผู้ขับขี่และผู้โดยสารเอาเสียเลย แถมเบาะรองนั่งก็ยังสั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อีกทั้งเบาะรองนั่งด้านหลังนั้น
ยังมีมุมเงยไม่มากพอ จะรองรับต้นขา และน่องของผู้โดยสารตอนหลัง มีความเป็นไปได้สูงว่าจะก่อให้เกิดอาการเมื่อยล้าขณะเดินทางไกล
วัสดุในห้องโดยสาร เป็นพลาสติกเกรดไม่สูงนัก แต่ยังพอรับได้อยู่บ้าง อย่างกล้ำกลืนฝืนทนไปสักหน่อย เมื่อเทียบกับรถที่ตกแต่งได้แย่กว่าที่คิด
ทั้ง แซฟวี และนีโอ ที่ชวนให้ผม ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมโปรตอนถึงได้ ใช้พลาสติกเกรดเดียวกับที่พวกโรงงานโน-เนมเมืองจีน ผลิตของเล่นส่งไปขาย
ในสหรัฐอเมริกาให้เขาตีกลับคืนมากันเล่นๆเช่นนี้เล่าหนอ?
กระจกมองข้างมีขนาดเล็ก ทัศนวิสัย มองได้ไม่ดีเท่าใดนัก ชวนให้นึกถึง BMW บางรุ่น และ Chevrolet Lumina เข้าอย่างจัง
แถม ที่เปิดฝากระโปรงหน้า ก็ให้ความรู้สึกไม่แตกต่างอะไรจาก ก้านดึงเปิดฝากระโปรง ของ Datsun Sunny 120Y คันเก่าที่ครอบครัวผมเคยใช้เมื่อหลายสิบปีก่อน
เอาละ ปรับกระจกมองข้างและหลังด้วยสวิชต์ไฟฟ้า เสร็จแล้ว ก็ติดเครื่องยนต์ เหยียบเบรก ปลดเกียร์ลงมาจาก P สู่ D ทีละจังหวะ การกระตุกยังพอมีให้เห็นอยู่
ทัศนวิสัยด้านหน้าหนะโอเค แต่้ด้านหลัง ยังมีเสาหลังคาคู่หลังที่หนาและบดบังอยู่บ้าง
แ่นั่นยังไม่ใช่ปัญหาเท่ากับสิ่งที่ผมจะต้องเผชิญต่อไปนี้
และเมื่อออกตัว จนถึงเร่งความเร็ว คันเร่ง นอกจากจะตอบสนองช้าแล้ว ก็ยังทำงานอย่างขี้เกียจ แต่เอาเถิด เรานั่งกันไป 4 คน ถ้ารถเกียร์อัตโนมัติขนาดเล็กสักคัน
จะเร่งไม่ค่อยจะไป ก็คงจะไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก เมื่อผนวกกับการตอบสนองของเครื่องยนต์ใน Gen 2 ที่ไม่กระชับกระเฉง เท่ากับเครื่องยนต์ของ แซฟวี เลยแม้แต่น้อย!
ยิ่งทำให้รถคันนี้น่าผิดหวังเข้าไปอีก
พวงมาลัย ในคันขายจริง บางรุ่น จะมีสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียงมาให้ ซึ่งถือเป็นจุดขายอีกอย่างหนึ่งของรถรุ่นนี้
แต่เราต้องไม่ลืมว่า หน้าที่หลักของพวงมาลัย คือการบังคับทิศทางรถให้เลี้ยว หรือตรงไปข้างหน้า ซึ่งหน้าที่หลักตรงนี้
ผมพบว่า เจ็น-ทู สอบไม่ผ่าน
ทำไมหนะหรือ? ก็ลองคิดเอาแล้วกันว่า ถ้าคุณกำลังแล่นด้วยความเร็วประมาณ 50-60 กิโลเมตร/ชั่วโมงบนพื้นปูนซีเมนต์
แล้วพบว่า พวงมาลัยนั้น มันนอกจากจะมีระยะฟรีมากแล้ว ยังไม่มีความเสถียร ไม่ตั้งตรงๆ นิ่งๆ หากแต่ดีดไปดีดมาเล็กๆ ซ้ายที-ขวาที
แบบนี้ จะให้ผมคิดอย่างไรดี?
แถมการหักเลี้ยวขวานั้น ความเร็วระดับไม่สูงมากนัก 40 – 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอหักเลี้ยวปุ๊บ หน้ารถนั้น แทบไม่ยอมเลี้ยวตาม จะดื้อไปข้างหน้าอีกสักเล็กน้อย
ก่อนจะโดนยางรถบีบบังคับให้ยอมอ่อนข้อเลี้ยวตามคำสั่งแต่โดยดี แทบไม่ต้องนึกถึงการหักแบบซิกแซก ซ้ายที-ขวาที ซึ่งดูเหมือนตัวรถไม่ค่อยเต็มใจอยากจะเลี้ยวเท่าใดนัก
แถมระบบกันสะเทือนก็ยังมีอาการตึงตัง กับรอยต่อผิวถนนให้เจอกันอยู่เนืองๆ แทบไมได้สัมผัสถึงความนุ่มนวลอะไรนัก เพราะรอบสนามสั้น และเวลามีจำกัด
ดูเหมือนจะมีแค่แป้นเบรกที่ยังพอจะตอบสนองกับเท้าได้ดี กว่าเจ้า แซฟวี ที่กำลังจะเล่าให้อ่านเป็นรายการต่อไปนี่กระมัง ที่ยังพอกู้หน้าเอาไว้ได้บ้าง
พูดกันตรงๆคือ ผมไม่ประทับใจกับ สัมผัสแรก ของ Gen-2 เอาเสียเลย
แม้ว่าบั้นท้ายจะมีดีไซน์ให้ชวนหลงไหลขนาดไหน แต่ถ้าต้องเจอกับ
บุคลิกของรถ ทั้งคันในลักษณะนี้แล้ว ผมยินดีจะหันกลับไปหารถเกาหลีที่แปะตรารถอเมริกัน
อย่าง Chevrolet Aveo ที่ผมเคยตำหนิติเตียนไว้เสียเละ จนแทบจะเหลือข้อดีเพียงแค่ระบบกันสะเทือน และรูปทรงภายนอกเท่านั้น
ยังน่าปลาบปลื้มปิติเสียมากกว่า
เรื่องพวงมาลัย มานั่งนึกอีกที มันไม่ใช่อาการดีดตัว
หากแต่เป็นอาการ "ส่ายตัวกันง่ายๆ" มากกว่า…
หลังจากลองขับ เจ็น-ทู ไปแล้ว 2 รอบ ผมก็นำรถกลับขึ้นไปจอดยังจุดเริ่มต้น ด้วยความรู้สึก ไม่ดีเท่าที่ควร
แต่เมื่อเห็นว่า มี เจ้าแซฟวี คันสีเขียวตัวน้อยๆจอดอยู่ ความคิดก็เริ่มแว่บเข้ามาทันที
ในเมื่อไหนๆก็ไหน ได้มีโอกาสลอง กันแล้วทั้งที ก็ขอลองอีกสักรุ่นไปเลยก็แล้วกัน และทางเจ้าหน้าที่ก็ยินดีจะให้ลองขับ
เราจะได้รับรู้กันละว่า รถยนต์นั่งขนาดเล็ก ที่มีราคาถูกที่สุดในประเทศไทย ในรอบ 5-6 ปีมานี้ จะมีอะไรดีพอให้ลูกค้าควักตังค์จ่ายมาขับเล่นบ้างไหม?
เริ่มกันที่ประตูคนขับ จนถึงสัมผัสแรกในห้องโดยสาร โปรตอนแทบทุกคัน มีเสียงปิดประตูที่เหมือนๆกัน คือ เสียงโปร่งๆ บางๆ และชวนให้รู้สึกถึงความกลวง
ไม่ต่างอะไรกับประตูคู่หน้าของ Toyota Yaris เท่าใดนัก
แผงหน้าปัดนั้น พยายามออกแบบมาให้เน้นการใช้งาน และดูเหมือนว่าจะมีเส้นสายที่ดี แต่พอเอาเข้าจริง มันกลับกลายเป็นฝันร้าย
เพราะพลาสติกที่ใช้ขึ้นรูปแผงหน้าปัด และแผงประตูนั้น ดูไร้ราคา เฉกเช่นเดียวกับ ปืนฉีดน้ำของเด็กเล่นราคาถูก ที่ทำจากเมืองจีน ส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา
ที่พึ่งโดนส่งคืนตีกลับมา บอกกันตรงนี้เลยว่า วัสดุใน แซฟวีนั้น แย่มากกว่า Gen-2 เสียอีก คือถ้าจะใช้คำว่า "ห่วย" ก็ดูจะแรง และตรงกับความเป็นจริงเกินไป
เอาเป็นว่า ตกแต่งได้ไม่ต่างอะไรจากรถเกาหลี ยุคเริ่มก่อร่างสร้างตัวเมื่อหลายสิบปีก่อน ก็แล้วกัน
เบาะนั่ง ใช้ผ้าแบบเดียวกับที่คุณจะพบได้ใน Chevrolet Aveo แต่มิได้หมายความว่า มันจะดีนะครับ มันสาก และไม่ชวนให้น่าลูบไล้ เหมือนผ้าใน Chevrolet Optra รุ่นก่อนหรอก
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้โดยสารด้านหลังผมทั้ง 2 คน ทั้งน้ากล้วย 910 และตาแบงค์ บ่นอุบเป็นเสียงเดียวกันว่า "เบาะนั่งนอกจากจะแข็งและนั่งไม่สบายแล้ว
พนักศีรษะ ยังตำคอ" พอผมลองนั่งเอง ก็…เอ่อ…อยากจะแทบลุกออกเดี๋ยวนั้นเลยจริงๆ ความรู้สึกแม้ว่าจะใกล้เคียงกับเบาะนั่งแถว 2 ของ โตโยต้า วิช และเชฟโรเลต แค็พติวา
แต่ทั้งสองคันนั้น ก็ยังไม่เลวร้ายเท่ากับที่ แซฟวี มีให้กับผู้โดยสารแถวหลัง เพราะรายนี้นอกจาก เบาะจะแข็งแล้ว ยังไม่รองรับสรีระเท่าที่ควร นั่งแล้วเมื่อย
แถมส่วนขาเองก็ยังต้องนั่งชันขา เหมือนกันกับ Gen-2 ดังนั้น อย่าได้ให้ อากงอาม่า ของคุณ มานั่งเบาะหลังเด็ดขาด เดี๋ยวอาการปวดหลังจะกำเริบ
กระจกมองข้าง รุ่นเกียร์ธรรมดายังปรับด้วยมืออยู่ น่าจะถูกใจกลุ่มลูกค้าที่ไม่ต้องการของเล่นไฟฟ้ามากนัก และยังต้องการความดิบ
ใช้ง่าย ไม่วุ่นวาย ซึ่งกลุ่มลูกค้ารสนิยมแบบนี้ ยังพอมีอยู่บ้าง แต่ฝ่ายขายของโปรตอน ต้องออกควานหาให้ดีสักหน่อย เพราะน่าจะหายากเอาเรื่อง
ลูกเล่นหนึ่งที่น่าสนใจของแซฟวีคือ มีเสียงเตือนขณะเข้าเกียร์ถอยหลังมาให้ด้วย
ซึ่งรถระดับแบบนี้ โดยทั่วไป อย่าหวังเลยว่าจะมีมาให้่คุณในราคาเท่านี้
อย่างไรก็ตาม แซฟวี มีหลายเรื่อง ที่คุณคาดไม่ถึงจริงๆ ว่ารถเล็ก ราคาถูก และตกแต่งด้วยพลาสติกอันห่วยบรมคันนี้
จะมีพกดีกรีความเด่นมาพอตัวเลยทีเดียว!
เริ่มกันที่เครื่องยนต์ 1,200 ซีซี 74 แรงม้า (PS) ฟังดูเผินๆ เหมือนจะไม่น่ามีเรี่ยวแรงอะไรใช่ไหมครับ แต่ถ้าผมจะบอกคุณว่า เครื่องยนต์นี้
ผลิตขึ้นโดย เรโนลต์ (RENAULT) บริษัทรถยนต์เก่าแก่จากฝรั่งเศส ละ? เอาละ ลืมภาพลักษณ์ของเรโนลต์ยุคเก่าๆในบ้านเราไปก่อน ไปศึกษาในเมืองนอกให้ดี
จะพบว่า ทุกวันนี้ เรโนลต์ กลับมาผงาดเหนือตลาดยุโรปได้อย่างร้อนแรง และดุดัน ด้วยหลากรถยนต์รุ่นใหม่ๆมากมาย รวมทั้งการเป็น
มือปืนรับจ้างผลิตเครื่องยนต์ให้กับบริษัทรถยนต์วยกันเองหลายค่ายไม่ใช่เล่น
และมันก็ไม่ได้ทำให้ผมผิดหวัง ทันทีที่ออกตัว เจ้าหนู แซฟวี สีเขียวตองอ่อน ก็แบกผู้โดยสารน้ำหนักมิใช่น้อยเลย รวม 4 คน พุ่งปรู๊ด ไปข้างหน้า
อย่างกับกำลังวิ่งแข่งรายการกรีฑา แชมป์กีฬา ช่อง 7 สี อย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว
เกียร์ธรรมดาของ แซฟวี กระฉับกระเฉงและ ตอบสนองดีกว่าทื่หลายคนคาดคิดไว้ ช่วงเกียร์ 1 และ 2 ถือว่า ให้อัตราเร่งที่ดีพอตัวกว่าที่คาดคิด
แต่แน่นอนว่า เกียร์ 3 ก็จะเริ่มเหี่ยว และเร่งไม่ออก อันเป็นเรื่องปกติ สำหรับรถเล็กอย่างนี้
และเมื่อรถเริ่มเคลื่อนตัว พวงมาลัยนั้น การบังคับเลี้ยว ถือว่าอยู่ในระดับพอใช้ได้ การที่ตัวรถมีระยะ Overhang หน้าสั้น หลังก็สั้น
ถือว่าเป็นจุดได้เปรียบของรถคันนี้ไปแล้วไม่น้อย การบังคับเลี้ยว ก็คล่องตัวดีอยู่หรอก เพียงแต่ว่า หากเปลี่ยนยางชุดใหม่ที่ดีกว่ายางที่ติดรถจากโรงงาน
ผมว่า การตอบสนองจะยิ่งทำได้ดีขึ้นไปอีกจากที่ดีอยู่แล้ว
กระนั้น เจ้าหนู แซฟวี ก็ยังมีข้อให้ต้องปรับปรุงกันนิดนึง นั่นคือระบบเบรก แบบหน้าดิสก์ หลังดรัม ที่เซ็ตแป้นเบรกมาแปลกๆ คือ คุณต้องเหยียบแป้นเปล่าๆ
ลงไปประมาณครึ่งนึงก่อน ก่อนจะเจอว่ามีระบบเบรกติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มตรฐานในรถด้วย กล่าวโดยสรุปคือ มีระยะฟรีของแป้นเบรกพอสมควร
แต่พอเหยียบลงไปเท่าไหร่ มันก็ไม่ใช่ว่าจะหยุดได้ในทันที พอเพิ่มแรงเหยียบลงไปอีกนิด ทีนี้รถก็หยุดหัวทิ่มกันเลย สรุปว่า ไปเซ็ตมาใหม่เถอะ
สำหรับผมแล้ว แซฟวี ถือเป็นรถเล็ก ที่น่าสนใจไม่ใช่เล่นเลยทีเดียว ถ้าไม่ติดเรื่องของวัสดุในห้องโดยสาร กับงานประกอบที่ยังไม่ถึงกับดีนัก
แต่ก็พอรับได้ กว่าสมัยไดฮัทสุ มิร่า ก็แล้วกัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับ โปรตอน นีโอ รถยนต์แฮตช์แบ็ก 3 ประตู ที่ผมตั้งใจจะทดลองขับคร่าวๆนั้น ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า รถยังไม่พร้อม
ต้องรอวันเปิดงานผ่านไปแล้ว วันสองวัน ซึ่งป่านนั้น หลายๆท่าน ก็คงจะได้ลองขับกันไปบ้างแล้ว ซึ่งค่อนข้างน่าเสียดาย เพราะดูจากโหงวเฮ้งแล้ว
นีโอ รุ่นล่างสุด เกียร์ธรรมดา ราคาเริ่มต้นที่ 499,000 บาท ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
อ้อ ลืมบอกไป ที่สำคัญ ระบบกันสะเทือนของแซฟวี นั้น ตึงตัง และแข็งกระด้างกว่าที่คิดนะรับ
***** สรุป *****
SAVVY : เหมือนว่าจะมีอะไรดีกว่าที่คิด ถ้าคุณรับได้กับคุณภาพวัสดุที่ Look cheap as its price.
ส่วน Gen 2 : ลวกแล้วแต่ ยังไม่เสด็จน้ำพอ ดูสวย แต่รสชาติไม่ค่อยจะดี มองข้ามรถรุ่นนี้ไปเถอะ…..
แซฟวี นั้น หากจะมองว่าเป็นรถราคาถูกๆ เพียงพอไว้ขับไปจ่ายกับข้าว ย้ำ ว่าจ่ายกับข้าวจริงๆ
รถคันนี้ก็ถือว่า ดีเพียงพอให้คุณจ่ายเงินซื้อไปอวดพ่อค้าแม่ค้า ที่ตลาดสดแถวบ้าน ว่า ฉันซื้อรถป้ายแดงคันนี้มา
ด้วยราคาเริ่มต้นเพียง 399,000 บาท แต่นั่นต้องทำใจกับวัสดุภายในห้องโดยสารอันย่ำแย่ และการตอบสนองของ
ระบบเบรก ที่ยังควรจะปรับปรุงให้ดีกว่านี้อีกสักหน่อย แต่นอกนั้นแล้วแซฟวี ยังถือว่าเป็นรถที่ดี ในราคาที่ต้องเข้าใจกันว่า
"คุณจ่ายไปเท่าไหร่ คุณก็ได้กลับมา แค่นั้น"
แต่สำหรับ Gen-2 แล้ว คำจำกัดความสั้นๆคำเดียวที่ผมอยากจะบอกสำหรับคนของโปรตอนคือ …..
"ไปทำรถมาใหม่เถอะ"
และสำหรับลูกค้าที่คิดจะจอง Gen 2 กันละก็ ขอบอกสั้นๆเลยว่า
"หารถยี่ห้ออื่นในระดับราคาเดียวกันดีกว่า หรือไม่
ถ้าคุณเป็นคนโสด และยังอยากได้โปรตอนจริงๆแล้วละก็
ไปเล่นเจ้า นีโอ แทน เถอะครับ มันน่าจะดีกว่า"
มาถึงตรงนี้ ผมไม่รู้จะสรุปอะไรให้คุณอ่านเกินไปกว่า สิ่งที่ได้สาธยายไปทั้งหมดแล้วข้างบนนี้
ผมจึงคิดว่า จะขอนำเอา ใบประเมิน ที่ทางพนักงานขาย ขอให้ผมช่วยกรอกให้เขาหน่อย
ผมตีค่าเอาไว้ในใจคร่าวๆ ดังที่เห็นอยู่นี้ครับ
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีคุณผู้ฟังรายหนึ่งโทรเข้ามาถามผม กับคุณอาธเนศร์ ในรายการวิทยุ "กลับให้ได้ ไปให้ถึง" ที่ AM1269
ถามในเชิงที่ว่า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว โปรคอนจะมีอนาคตเป็นอย่างไรในบ้านเราเมื่อเทียบกับฮุนได
อาหมู ตอบออกอากาศไปว่า มันเป็นเรื่องที่ เปรียบเทียบกันไม่ได้
แต่ถ้าผมจะลองดัดแปลงและเปลี่ยนคำถามนั้นใหม่ เป็นดังว่า "ภาพรวมแล้ว โปรตอนจะสอบผ่านไหม ในตลาดเมืองไทย? "
ผมตอบตรงๆ กันแบบ ไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหมกันตรงนี้เลยว่า
"ผมไม่แน่ใจครับ"
เพราะกรณีของโปรตอนนั้น แตกต่างออกไปจาก ฮุนได
สำหรับ ฮุนได นั้น การกลับมาครั้งนี้ เกิดขึ้น เพื่อต้องการลบข้อผิดพลาดต่างๆ รวมทั้งภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เสียหาย
อันมีผลมาจากการดำเนินงานของ พระนครยนตรการ ผู้จำหน่ายรายเดิม เรายังไม่รู้เลยว่า อนาคตต่อไปจะออกหัวหรือออกก้อย
มันก็ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ฝีมือของฮุนไดเขา
แต่โปรตอน นั้น สำหรับระนครยนตรการแล้ว ครั้งนี้ถือเป็นแมทช์ ชี้ชะตา ของตน เพราะเกมนี้ เปรียบเสมือนการแก้ตัว ครั้งสำคัญ
ครั้งสุดท้าย กับโอกาสสุดท้าย ที่ผู้บริโภคยังพอจะหยิบยื่นให้ และเท่าที่ยังมีบริษัทรถยนต์ ต่างชาติ กล้าให้ความไว้วางใจ
การใช้ "ราคา" เป็นกลยุทธ์ในการจูงใจผู้บริโภคนั้น ถือเป็นวิธีการที่คล้ายกันกับ การที่พระนครยนตรการ เคยใช้แจ้งเกิด ฮุนได เมื่อปี 1992
แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า วิธีการเอาราคามายั่วใจลูกค้า จะทำให้โปรตอน ลงรากฐานได้ยั่งยืนในระยะยาว อีกครั้งหนึ่ง
เพราะในวันนั้น ผู้บริโภค แม้จะยังไม่เชื่อมั่นใน ฮุนไดนัก แต่การได้ภาพลักษณ์ที่ดี จากการส่งรถยนต์ออกไปขายในสหรัฐอเมริกาและเริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้งยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนักที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลี ก็ทำให้ ฮุนได พอจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยการบริหารงานในอดีตที่ผ่านมา ของกลุ่มพระนครยนตรการ ที่เน้นการสร้างยอดขายเป็นหลัก และไม่ได้มุ่งเน้นการบริการหลังการขายมากเท่าที่ควร
ทำให้ลูกค้าของฮุนได ประสบปัญหาอยู่ไม่ใช่น้อย จนกระทั่งเริ่มทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ฮุนได ตกต่ำลงไปมาก จนวันนี้ บริษัทแม่ ต้องส่งพาร์ตเนอร์ชาวญี่ปุ่นระดับโลก
มาปัดกวาดเช็ดถูนับหนึ่งเริ่มต้นกันใหม่อีกรอบ….
แต่สถานการณ์ของโปรตอนนั้น ในระดับโลกเอง ก็ใช่ว่าจะแข็งแกร่งนัก เพราะล่าสุด กลุ่มโฟล์กสวาเก้นเองก็ตัดสินใจ ยุติการเจรจา เพื่อความร่วมมือทางธุรกิจ กับโปรตอนไปแล้ว
ก่อนหน้างาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป จะเริ่มต้นได้ไม่กี่วัน
อีกทั้งภาพลักษณ์ของ โปรตอน ในสายตาคนไทย ก็รู้กันอยู่ว่าเป็นสินค้ามาเลเซีย ซึ่งคนไทยเองนั้น
มีอคติอันเกิดจากความรักชาติแบบขาดสติ ไม่ลืมหูลืมตามาเจือปนอยู่ด้วยมิใช่เล่นเหมือนกัน
ซึ่งต่างจากตอนที่ฮุนไดเข้ามา ความรู้สึกในเชิงลบนั้น ไม่ได้มากมายนัก
สิ่งที่พระนครยนตรการ ควรจำเอาไว้เป็นบทเรียน นั่นคือ ท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีสิ่งใดสำคัญ
ยิ่งไปกว่า การจัดการกับงานด้านบริการหลังการขาย นี่คือ จุดเริ่มต้นของปัญหาต่างๆนาๆ มากมาย
ในยุคที่ยังทำฮุนได อย่างที่หลายๆคนคงทราบกันดีอยู่ว่า ทุกวันนี้ พระนครยนตรการเอง เสียแบรนด์
ที่ตนครอบครองดูแลไปเยอะเท่าใด?
หวังว่านี่คือการลงหลักปักฐานอีกครั้งอย่างมั่นคง เสียที
และขอต้อนรับ โปรตอน สู่ สมรภูมิตลาดรถยนต์ ที่เข้มข้น และน่าอัศจรรย์มากที่สุด ระดับหักปากกาเซียนมาแล้ว….แห่งหนึ่งของโลก
——————————————–
J!MMY
7 ธันวาคม 2007
3.52 AM.
บริษัท โตโยต้า …
มาเซราติ FUORIS…