2007_07_04
วันชาติอเมริกัน….
04.58 น.
หลังจากม่อยหลับไปด้วยความเพลียสะสม จากที่ต้องนอนดึกอยู่สองสามคืนก่อนหน้านั้น
ผมตื่นขึ้น และรู้สึกไม่อยากนอนอีกต่อไป
โลกแห่งความจริงที่ผมไม่อยากจะตื่นขึ้นมาพบเลย….บางทีผมก็อยากนอนจมอยู่กับความฝันอย่างนั้น ไม่อยากตื่น
ยกเว้นเสียแต่วันนี้….เป็นอีกวันที่ฝันในวัยเยาว์ของผม จะเป็นความจริง
อันที่จริงแล้ว 8 ปี ที่ผมได้เข้ามามีโอกาสทำงานในวงการรถยนต์ มันนานพอที่จะหลอมละลายความรักในรถยนต์และความฝันในวัยเด็ก
จนเกือบจะกลายเป็นเพียงความทรงจำสีตุ่นๆไปมากแล้ว
แต่เชื่อเถิดว่า ความรักก็ยังคงเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่พาให้มนุษย์เราเดินทางสู่ปลายทางแห่งความฝัน อยู่นั่นเอง
ชีวิตผม ยังอยู่ได้ในวันนี้ เพราะผมยังมีความรัก ให้กับทุกคน และแน่นอน กับรถยนต์
คาร์ลอส กอส์น CEO ของนิสสัน เพิ่งให้สัมภาษณ์ในรายการ ชีพจรโลก กับสุทธิชัน หยุ่น เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า
"ผู้คน มองรถยนต์ ด้วยความคิด 2 ขั้ว บางคน มองด้วยความรู้สึก อารมณ์ ความรัก เป็นหลัก บางคนใช้เหตุผล การตัดสินใจ มากกว่า แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม
ผู้คนก็จะต้องมองรถยนต์ด้วยความคิดทั้ง 2 ขั้วนี้เสมอ เพียงแต่ว่า ใครจะมองด้านใดมากกว่ากัน เท่านั้นเอง"
. . . . . . . . . . . . .
Lust..then Love…
ข้อความนี้ อยู่บนแค็ตตาล็อกของ แฟร์เลดี Z เวอร์ชันญี่ปุ่น แบบเล่ม ปกสีเงิน พับเป็น 2 ฝั่ง ที่ผมสะสมเอาไว้ ผุดขึ้นมาในสมอง และชวนให้ผมคิดอยู่จนถึงตอนนี้ว่า ตกลงแล้ว
ผมมองรถยนต์ในด้านใดมากกว่ากัน…..
ผมว่า ผมมองในด้านความรู้สึก หรือ emotional มากกว่า เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูอดีตกันแล้ว…
ผมรู้จัก นิสสัน แฟร์เลดี Z ครั้งแรก ก็เมื่อครั้งยังเยาว์ ประมาณ ป.1 หรือก่อนหน้านั้น ราวปี 1986-1987 ผมจำได้ไม่แน่ชัด จำได้แต่ว่า ตอนนั้น แทบทุกวันอาทิตย์ ครอบครัวของเรา
จะไปเดินช้อปปิ้งที่ มาบุญครองกัน ในวันนั้น มาบุญครอง ถือเป็นห้างสรรพสินค้า ที่ใหญ่ตระกาลงานสร้างมาก และกล้าใช้คำว่า "นครหินอ่อน" ในงานโฆษณาของเขา เพราะประดับ
ตกแต่งด้วยหินอ่อน แทบจะทุกอณูของพื้นที่ให้บริการ และยังไม่ได้แปรสภาพไปเป็นอย่างที่เห็นในกาลปัจจุบัน
และสยามกลการ ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์นิสสัน ในขณะนั้น ก็อุตริผุดแนวคิดบรรเจิด เนรมิตร พื้นที่ชั้นล่าง ประมาณ 4 ห้องขนาดใหญ่ ติดถนน ริมกระจก ตกแต่งให้กลายเป็นห้องแสดงรถยนต์
ในนาม Nissan Gallery โดยได้แรงบันดาลใจจากห้องแสดงรถยนต์อันสว่างตาไปด้วยสีขาว และเงียบสงบ บนพื้นที่ชั้นล่าง ณ อาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทแม่ ที่ย่านกินซ่า มหานครโตเกียว
ในขณะนั้น
วันหนึ่ง เรามาเดินดูนิสสัน แกลลอรี กันตามปกติ แต่สิ่งที่ผมเห็น ทำเอาผมงงเป็นเด็กตาแตก
ก็แน่ละ รถสปอร์ต 2 ประตู สีแดงเลือดหมู ตัดกับสีดำแบบทูโทน ออกแบบด้วยแนวเส้นแหลมเพรียวไปทั้งคัน พร้อมไฟหน้าแบบป๊อบ-อัพ จอดตระหง่านบนแท่นหมุนอยู่ในห้องแสดงแห่งนั้น
กำแพงภาษีนำเข้า ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขณะนั้น ตั้งไว้สูงถึง 617% ส่งผลให้ค่าตัวของรถคันสวยนี้ พุ่งพรวดไปแตะระดับเกือบๆ 10 ล้านบาท!! อันเป็นราคาที่แพงเกินจริง
ไปมากโข
ผมก็เดินเข้าไปดูด้วยความตื่นตาตื่นใจ ตามประสาเด็กน้อยเดียงสาต่อโลก และได้รู้ว่า รถคันนี้แหละ คือ 300ZX ตอนนั้น ผมไม่รู้ว่า รถรุ่นก่อนหน้านี้ หน้าตาเป็นอย่างไร รู้แต่ว่า รถคันนี้
น่าจะต้องมีบรรพบุรุษ รุ่นเก่ากว่ามันออกขายมาก่อนหน้านี้แล้ว หลายรุ่นแน่ๆ
ซึ่งเมื่อผมโตขึ้น ก็ได้รู้ว่า สิ่งที่ผมคิดไว้ตอนเด็กนั้น เป็นความจริง นิสสัน ทำรถสปอร์ตรุ่นดังอย่างแฟร์เลดี ออกขายมาตั้งนานแล้ว
รถสปอร์ตตระกูล Z เริ่มโด่งดังในตลาดโลกมาตั้งแต่ปี 1969 และนับแต่นั้น แฟร์เลดี Z ก็กลายเป็นรถสปอร์ตที่ขายดีที่สุดในโลก จากจำนวนยอดขาย 220,000 คันในญี่ปุ่น
และอีกกว่า 1,220,000 คันทั่วโลก แต่ตำนานของ Z นั้น ไม่ได้เริ่มต้นจากการถือกำเนิดของ 240Z ในปี 1969 อย่างที่ทุกคนพากันเข้าใจ เพราะในความจริงแล้ว ตำนานบท
แรกของรถสปอร์ตรุ่นใหญ่ของนิสสัน ต้องนับย้อนไปถึงรถสปอร์ตรุ่นแรกอย่าง ดัทสัน DC-3 ในปี 1952
ที่มาของชื่อรุ่น ทั้งแฟร์เลดี และ 240Z นั้น ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ Mr. KATSUJI KAWAMATA ประธานใหญ่นิสสันในขณะนั้น (คนเดียวกับที่เซ็นสัญญาให้ ดร.ถาวร พรประภา
เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์นิสสันในเมืองไทยนั่นเอง) เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาในปี 1958 และได้เข้าชมละครบรอดเวย์เรื่อง MY FAIRLADY อันโด่งดัง มร.คาวามาตะ
เกิดความประทับใจในความพริ้วไหวของบทเพลงและนักแสดงนำของละครเวทีเรื่องนี้ ดังนั้น เมื่อนิสสัน ปรับโฉมให้กับรถสปอร์ต SPL212 ในเดือนมกราคม 1960 มร.คาวามาตะ
จึงเลือกเปลี่ยนชื่อรถสปอร์ตพันธุ์แท้รุ่นนี้ว่าแฟร์เลดี
แต่ Mr.YUTAKA KATAYAMA หรือที่รู้จักกันในนาม Mr.K ประธานใหญ่ของนิสสัน มอเตอร์ ออฟ USA ในขณะนั้น ไม่เห็นด้วยอย่างมากที่จะทำตลาดรถสปอร์ต
ในสหรัฐอเมริกาด้วยชื่อดังกล่าวนี้ เนื่องจากเขารู้ดีว่าลูกค้าจะไม่ยอมรับชื่อที่ไม่สื่อให้เห็นถึงความรู้สึกของรถสปอร์ต อีกทั้งในขณะนั้น รถสปอร์ตที่มีจำหน่ายทั่วโลก
ในตอนนั้น นิยมตั้งชื่อรุ่นด้วยตัวเลขขนาดความจุของเครื่องยนต์ หรือไม่ก็เป็นอักษรภาษาอังกฤษทั่วไป ดังนั้น เมื่อต้องนำรถสปอร์ตรุ่นนี้ไปขายในสหรัฐฯ ช่วงปี
1965 Mr.K จึงสั่งให้ปลดป้ายแฟร์เลดี้ออก แล้วเปลี่ยนไปใช้ชื่อ ดัทสัน 1600 แทน
จนกระทั่งการพัฒนาแฟร์เลดี Z รหัสรุ่น S30 เสร็จสิ้นลง Mr.K เริ่มมองหาชื่อใหม่ที่เหมาะสมกว่า ในที่สุดจึงเลือกเอาชื่อ 240 ซึ่งย่อมาจากขนาดเครื่องยนต์ 2,400 ซีซี
ส่วนตัวอักษร Z นั้น มาจากรหัสโครงการพัฒนารถสปอร์ตรุ่นนี้นั่นเอง และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อของ Z ก็ดังกระฉ่อนทั้งในด้านยอดจำหน่าย รวมทั้งในสังเวียนการแข่งรถ
ทั่วโลกชนิดที่นับถ้วยรางวัลไม่หมดในเนื้อที่หน้ากระดาษเดียว
แต่…….เมื่อเวลาผ่าน โลกก็ย่อมหมุนเวียนไป อะไรๆก็เปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันนี้ พื้นที่นิสสัน แกลลอรี ตรงนั้น กลายเป็นของผู้เช่ารายใหม่ แมคโดนัลด์ ไปแล้วอย่างน่าเสียดายยิ่ง….
เช่นเดียวกับที่นิสสัน จากเดิมที่เคยเป็นบริษัทญี่ปุ่นแท้ๆ ก็ตกอยู่ในสภาวะหายใจรวยริน
จน กลุ่มเรโนลต์ เข้ามาร่วมทุน ร่วมบริหารด้วย เมื่อปี 1999 และฟื้นกลับมาแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเหลือเชื่อ
ด้วยฝีมือของ ชายวัย 53 ปี หลากวัฒนธรรมโลกในตนเองที่ชื่อ คาร์ลอส กอส์น
เช่นเดียวกับที่ สยามกลการ ต้องยอมหลีกทางให้บริษัทแม่ เข้ามาทำตลาดรถยนต์แบรนด์รองอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นด้วยตนเอง หลังจากที่ทนเห็นภาพลักษณ์
และยอดขายอันตกต่ำไม่ไหวอีกต่อไป ถึงขนาดพูดออกมากลางที่ประชุมใหญ่ ในวันแถลงข่าวครั้งนั้นว่า "Unacceptable!"
และเช่นเดียวกัน แฟร์เลดี้ Z ในนามของ 300 ZX รหัสรุ่น Z31 ในวัยเด็กของผม ก็พัฒนาขึ้นมาอีก 2 เจเนอเรชัน กลายเป็น 350Z รหัสรุ่น Z33 อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้
และใครจะไปนึกละว่า จู่ๆ นิสสันจะเปิดโอกาสให้ผมได้ทดลองขับรถสปอร์ต รุ่นที่ผมฝันไว้ในวัยเด็ก ว่าอยากขับเมื่อโตขึ้น…
แม้ว่า เทียรี เวียดิว ผู้บริหารสูงสุดของสยามนิสสัน ออโตโมบิลล์ จะเพิ่งกระเซ้าแหย่แนวกวนๆกับผม กลางงานบางกอกมอเตอร์โชว์ ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในวันที่ Z33
ไมเนอร์เชนจ์คันนี้ ปรากฎโฉมในเมืองไทยครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ด้วยภาษาอังกฤษ สำเนียงฝรั่งเศส ที่แปลอย่างง่ายๆ ว่า
"ถ้าอยากลองขับ ทางที่ง่ายที่สุดที่คุณจะได้ลองขับก่อนใคร…คือซื้อมันไปขับเองเลย"
พร้อมกับขยิบตา และยิ้มแบบก๊วนกวนใส่ผมอีก 1 ที ก็ตาม
————————————————-
8.45 น.
รถไฟฟ้ายามเช้าไม่ยุ่งอย่างที่คิด
บรรยากาศยามเช้า ของชั้น 15 ตึกนันทวัน ยังคงมองเห็นสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ ในละแวกย่านพักอาศัยราคาแพงใจกลางเมือง
การเดินทางของผมในวันนี้ จะเริ่มจากตึกนันทวัน ราชดำริ ขับ 350Z คันงามนี้ ไปอย่างไรก็ได้ จนถึงร้านอาหาร มาลาบา อ.สัตหีบ ทานอาหารเที่ยง
จากนั้น เดินทางไปฟังการบรรยายงานออกแบบเส้นสายของ รถสปอร์ตรุ่นนี้ ที่ บ้านทะเลรีสอร์ต อ.สัตหีบ โดย อาจารย์ อภิชาติ พูมสุข ม.ศิลปากร
แล้วจึงเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนท่านอื่นๆ ได้ทดลองขับ 350Z บนถนนที่ คดเคี้ยว และเล็กแคบ บริเวณวัดญาณสังขวราราราม และวิหารเซียน
แล้วจึงเดินทางกลับ กทม.
สื่อมวลชนที่นิสสัน เชิญมาร่วมงานทดลองขับกันในวันนี้ ทั้งหมด เป็นนิตยสารแนว Life style ทั้งนั้น
ก็เมื่อเอ่ยชื่อมาแต่ละเล่มแล้ว คงจะร้องอ๋อกันอย่างดี ทั้ง FHM MAXIM Hi-Magazine สารคดี EXtream (เล่มหลังนี่ เครือซีเอ็ดฯ)
ซึ่งแต่ละเล่มเลือกอยากจะเดินทางไปสบายๆบนรถตู้กันทั้งนั้น
ทางพีอาร์ของนิสสัน ก็เลยส่งกุญแจของเจ้า 350Z ที่ดูแล้วไม่เห็นจะพิเศษแตกต่างจากกุญแจรีโมทสหกรณ์ ที่ใช้กับรถเก๋งและกระบะแทบจะทุกรุ่นของนิสสันในบ้านเราเอาเสียเลย
ยื่นให้ผมแล้วบอกว่า "งานนี้ พี่ให้จิมมี่ขับเต็มที่เลยนะคะ ขับไปพัทยา แล้วก็ ขับกลับจากพัทยา ด้วยนะจ้ะ"
อ๋อ ตกลงนี่ให้ผมมาเป็นคนขับรถใช่ไหมเนี่ย?
แต่เอาเถอะ ไม่ว่ามันจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่…
สวรรค์…อยู่ในมือผมแล้ว!!!
หลังจากพี่ตุ๊ก พีอาร์ของนิสสัน พาผมขึ้นไปที่รถคันงาม สีเงิน เพื่อติดสติ๊กเกอร์ พรบ.เรียบร้อยแล้ว ผมก็พร้อมออกเดินทาง….เพียงคนเดียว ตามลำพัง
รถตู้ของกลุ่มสื่อมวลชน ขับนำหน้าเราไปก่อนแล้ว และเพื่อไปรับนักข่าวอีกคนหนึ่ง ย่านบางนา….ถ้ารู้อย่างนี้ น่าจะให้เขามารับที่โลตัสหน้าบ้านก็ดีอยู่หรอก
แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น โอกาสที่ผมจะสัมผัสกับ 350Z เต็มๆเท้า ก็จะน้อยลง….
เมื่อปรับที่นั่ง และตำแหน่งพวงมาลัย ให้เข้ากับสรีระและรูปแบบการขับของผม ซึ่งก็ทำได้อย่างง่ายดาย แถมยังลงล็อกได้พอดีกับควาาต้องการของผม ไม่ยากเย็นเหมือนเช่นรถคันอื่นที่เคยเจอมา
ผมก็พาเจ้า 350Z ลงจากลานจอดรถชั้น 8 ของตึกนันทวัน มุ่งหน้าไปทางถนนวิทยุ ผ่านตึกออลซีซัน เพื่อไปขึ้นทางด่วน ที่ด่านเพลินจิต มุ่งหน้าออกไปทางพระราม 9 และขับตรงยาวไปสู่มอเตอร์เวย์ จนถึงพัทยา เพื่อจะทำความรู้จักกับตัวรถ
และในระหว่างนี้ ก็คงต้องเล่าเรื่องราวของ 350Z ใหม่ ให้คุณผู้อ่านได้รู้จักตัวรถไปพร้อมๆกับผมก่อน
แฟร์เลดี Z ใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ 350Z ทั้งในตลาดโลกรวมทั้งเมืองไทย รุ่นปัจจุบัน ใช้รหัสรุ่น Z33 ถือกำเนิดขึ้น เมื่อ 30 กรกฎาคม 2002 โดยได้รับการพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถัง FM แพล็ตฟอร์ม
และจัดวางตำแหน่งเครื่องยนต์กับห้องโดยสารในรูปแบบ FRONT-MIDSHIP เช่นเดียวกับ สกายไลน์ วี35 / อินฟินิตี จี35 ทั้งซีดานและคูเป้ นั่นเอง
งานพัฒนาแฟร์เลดี Z ใหม่ หรือ 350Z ในรหัสรุ่น Z33 เกิดขึ้น เมื่อผู้บริหารต้องพบกับเสียงเรียกร้องจำนวนมากเป็นประวัติการณ์จากบรรดาผู้นิยมรถสปอร์ต Z รวมทั้งสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกา
หลายฉบับ ให้นิสสันทบทวนการยุติการผลิต Z อีกครั้ง หลังจากนิสสันประกาศยุติการทำตลาด 300ZX รหัสรุ่น Z32 ในช่วงปลายปี 1996 เนื่องจากยอดจำหน่ายตกต่ำ เพราะราคาที่แพงขึ้น
ไปตามขนาดของตัวรถ จนความนิยมลดลง และไม่ผ่านมาตรฐานมลพิษในหลายประเทศ ด้วยเหตุนี้ นิสสันจึงมอบหมายให้ศูนย์ออกแบบ NDA แคลิฟอร์เนีย และศูนย์เทคนิค NTC ในญี่ปุ่น
ลงมือพัฒนารถต้นแบบเวอร์ชันแรกๆ ของโครงการนี้ และนำออกอวดสายตาในงานดีทรอยต์ออโตโชว์ 1999
แต่เมื่อปฏิกิริยาส่วนใหญ่ ไม่ชอบ และอยากเห็นการผสมผสานเส้นสายของรถยนต์ในยุคอนาคต เข้ากับเอกลักษณ์ดั้งเดิมของรถสปอร์ตรุ่น 240Z ที่กลายเป็นตำนานไปแล้ว ทีมออกแบบซึ่งนำโดย
CHIEF DESIGNER ของโครงการนี้ที่ชื่อ Mr.MAMORU AOKI จึงต้องทำงานกันอย่างหนัก และในบางครั้ง C.E.O คนใหม่ CARLOS GHOSN ที่เรโนลต์ส่งเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ
ถึงกับลงมือกำกับงานออกแบบด้วยตัวเองหลายต่อหลายครั้ง และสั่งให้ลูกน้องกลับไปแก้งานใหม่ทั้งหมด เพียงแค่รถคันต้นแบบมีท่อไอเสียเพียงท่อเดียว เพราะเขาต้องการให้มีถึง 2 ท่อ
เพื่อดึงภาพลักษณ์รถสปอร์ตออกมาให้เต็มที่ ฟังดูน่าแปลกใจว่าทำไม GHOSN จึงสั่งให้นิสสันเดินหน้าโครงการพัฒนา Z ใหม่ต่อไป นั่นก็เพราะในช่วงที่เขาเคยเป็นผู้บริหารของบริษัทยาง
มิชลิน ภาคพื้นอเมริกาเหนือ GHOSN เคยนำ 300ZX Z32 ไปขับเล่นหลายต่อหลายครั้ง และเกิดประทับใจในสมรรถนะของมันนั่นเอง เขากล่าวว่า "Z ไม่ใช่แค่เพียงรถยนต์รุ่นใหม่ทั่วๆไป
แต่เป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นตัวของนิสสันอย่างแท้จริง"
เมื่อถึง งานฉลองครบรอบ 30 ปีของ Z ที่จัดขึ้นในปี 2000 ทีมออกแบบนิสสันจึงเผยภาพส่วนบั้นท้ายของ Z33 ออกมาให้เห็นเป็นครั้งแรกในโลก ก่อนจะตามด้วยเวอร์ชันต้นแบบในงาน
ดีทรอยต์ออโตโชว์ 2001 จนกระทั่งมาลงตัวกับเวอร์ชันต้นแบบครั้งสุดท้ายในโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2001 ที่นิสสันยืนยันว่า รุ่นจำหน่ายจริงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมไปจากนี้อีกแล้ว
รูปลักษณ์ทั้งภายนอกและภายในได้รับการออกแบบขึ้นตามแนวคิด LUST THEN LOVE ซึ่งอธิบายถึงความรู้สึกของลูกค้าที่ได้เห็นรูปทรงของรถ จนเกิดอาการลุ่มหลง ก่อน
จะเริ่มชินตา และเกิดความรักในเวลาต่อมา เปรียบได้กับปฏิกิริยาของชายหนุ่มที่พบเจอคู่ที่ถูกใจตนนั่นเอง อาจดูคล้ายกับการนำเอาออดี TT มาผสานกับนิสสัน 240Z S30
รวมทั้งเส้นตัวถังบางส่วนจาก Z32 มาบ้าง แต่นับว่าทีมออกแบบตั้งใจให้แฟร์เลดี Z ใหม่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ด้วยการเดินเส้นตัวถังที่ "แรง" เกินคำว่าโฉบเฉี่ยวและฉีก
ตัวเองออกจากคู่แข่งระดับเดียวกันอย่างชัดเจน
Mr.YUTAKA KATAYAMA หรือที่รู้จักกันทั่วสหรัฐฯ ในชื่อ Mr.K อดีตประธานนิสสัน มอเตอร์ USA ผู้เบิกทางให้รถสปอร์ต Z ก้าวสู่การเป็นหนึ่งในตำนานรถสปอร์ต
ยอดนิยมของโลก จนได้รับฉายาว่า "บิดาแห่งรถสปอร์ต Z " เล่าถึงความรู้สึกครั้งแรกเมื่อได้สัมผัส แฟร์เลดี แซด ใหม่ว่า "ครั้งแรกที่ได้เห็นรถต้นแบบระยะเริ่มต้น ผมไม่รู้สึก
ตื่นเต้นแต่อย่างใด ผิดกับเมื่อครั้งแรกที่เห็นหุ่นจำลองของ 240Z เมื่อ 33 ปีมาแล้ว แต่เมื่อได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องหลายต่อหลายครั้ง รูปทรงจึงออกมาสวยงามดี 350Z
มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจาก 240Z อย่างชัดเจนนั่นคือ ให้ความรู้สึกที่ดุดันมากกว่า และมีสัญชาตญาณที่ปราดเปรียวผสมกับรูปทรงร่วมสมัย"
เคล็ดลับก็คือ นิสสันเลือกจะพัฒนาแฟร์เลดี Z ใหม่บนพื้นตัวถัง FM แพล็ตฟอร์ม และจัดวางตำแหน่งเครื่องยนต์กับห้องโดยสารในรูปแบบ FRONT-MIDSHIP เช่นเดียวกับ
สกายไลน์ วี35 / อินฟินิตี จี35 ทั้งซีดานและคูเป้ นั่นเอง อีกทั้งยังจัดวางตำแหน่งเบาะคนขับ (SEAT POSITIONING) ให้ต่ำ และเข้าใกล้พื้นถนนมากทีสุดเท่าที่จะทำได้
ในสไตล์ FLAT RIDE กำหนดขนาดตัวถังให้มีความยาว 4,310 มิลลิเมตร กว้าง 1,815 มิลลิเมตร สูง 1,315 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,650 มิลลิเมตร และกระจายน้ำหนัก
ตัวระหว่างด้านหน้า-หลัง ในอัตราส่วน 53 % :47 % เพื่อเพิ่มอรรถรสในการขับขี่มากยิ่งขึ้น
จุดที่ช่วยให้ง่ายต่อการสังเกตและแยกแยะว่า เป็นรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์แล้ว คือฝากระโปรงหน้าทำจากอะลูมีเนียม เพื่อลดน้ำหนักตัวรถในภาพรวมลงนั้น ถูกเปลี่ยนจากแบบเดิม
ที่มีแนวเส้น 2 เส้น บนฝากระโปรง เปลี่ยนมาเป็นแบบ แนวเส้นรูปตัว U เพื่อชวนให้ระลึกถึง บรรพบุรุษในรุ่น 240Z ที่เคยใช้ฝากระโปรงหน้าลวดลายแบบนี้ ส่วนชุดกันชนหน้า และ
ชุดไฟหน้า HID พร้อมหลอดฮาโลเจนเฉพาะไฟสูง ถูกออกแบบลวดลายภายในขึ้นใหม่ โดยยึดแนวเส้นสายเดิมไว้
ขณะที่ บั้นท้าย ยังคงใช้ชุดไฟท้ายทรง 3 เหลี่ยมแนวยาว เอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร แต่เปลี่ยนมาใช้หลอด LED
เมื่อเปิดประตู บานกระจกจะเลื่อนลงมาเอง 10 มิลลิเมตร และจะเลื่อนกลับสู่ตำแหน่งเดิมเมื่อปิดประตู เฉกเช่นใน
เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอมดับเบิลยู ตัวถังคูเป้รุ่นใหม่ๆ
ด้วยเหตุที่นิสสัน ต้องการให้แฟร์เลดี Z คือรถสปอร์ต 2 ที่นั่งอย่างแท้จริง ทีมวิศวกรจึงตัดสินใจลดจำนวนเบาะนั่งในห้องโดยสารให้เหลือเพียงแค่ 2 ที่นั่ง เท่านั้น ไม่มีรุ่น 2+2 ให้เลือกเหมือนเช่นรุ่นก่อนหน้านั้นแทบทุกรุ่น
และเมื่อเปิดประตู เข้าไป จะพบว่า ภายในห้องโดยสารได้รับการปรับปรุงจากรุ่นเดิมเพียงบางจุด
หากมองผิวเผิน ก็จะไม่เห็นความแตกต่างใดๆมากนัก ต้องเป็นคนสายตาไว
หรือละเอียดถี่ถ้วนพอสมควร จึงจะรู้ว่าแตกต่างจากรุ่นก่อนปรับโฉมตรงไหนบ้าง
เบาะนั่งทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารนั้น ปรับระดับได้ด้วยไฟฟ้า หลายคนอาจงงว่า แล้ว 2 ปุ่มหมุนตรงนี้ มีไว้ทำอะไร ไหนว่าเบาะปรับด้วยไฟฟ้าไง?
ไม่ต้องแปลกใจครับ ทั้ง 2 ปุ่มหมุนนี้ มีไว้เพื่อปรับระดับสูงต่ำ ของเบาะรองนั่งนั่นเอง
เบาะนั่งทั้งคู่ ออกแบบมาเอาใจนักขับรถอย่างแท้จริง ปรับระดับได้ง่ายมาก
ลงตัวจนไม่ต้องปรับตำแหน่งซ้ำหลายรอบ
ส่วนสวิชต์เลื่อนขึ้นหน้าถอยหลัง และปรับเอนพนักพิงหลังนั่น คือสวิชต์ 2 ชิ้น ติดตั้งอยู่ที่เบาะด้านข้างคอนโซลกลางครับ
ทั้ง 2 เบาะ มีระบบฮีตเตอร์ อุ่นเบาะด้วยไฟฟ้ามาให้จากโรงงาน ตามประสาสเป็กรถส่งออกจากญี่ปุ่นทั่วไป สวิชต์ ติดตั้งบนชุดคอนโซลกลาง ถัดจากชุดคันเกียร์ ลงมาทางตอนใต้อย่างที่เห็น
คันเกียร์อัตโนมัติ ดีไซน์สวย แต่วัสดุ ยังไม่ให้สัมผัสที่หรูสมราคาเท่าที่ควร
ถัดลงมา เป็น ที่วางแก้วน้ำ ซึ่งมีฝาปิด เลื่อนปิด-เปิดได้ แถมยังยกที่แบ่งตำแหน่งแก้วน้ำออกได้
นิสสันเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีเรื่องชวนประหลาดใจ ผิดมนุษย์มนาเขา
คือให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆน้อย ที่ค่ายอื่นเขาไม่สนใจ
เช่นการหุ้มกำมะยี่ ลงในช่องใส่เหรียญ ในซอกข้างๆที่วางแก้วชุดนี้
หรือแม้กระทั่ง ออกแบบ แป้นที่ทำจากวัสดุอ่อนนุ่ม ไปติดไว้ด้านข้างแผงคอนโซลกลาง นัยว่า เพื่อช่วยให้ หัวเข่า ของผู้ขับขี่ ต้องกระทบกระแทกกับ
พลาสติกแข็งๆ ของคอนโซลกลางเหล่านั้น ในขณะเดินทาง
ส่วนชุดมาตรวัดต่างๆ เป็นแบบ 3ช่อง นิสสันก็ใส่ใจในรายละเอียด ถึงขนาดว่า
ถ้าปรับระดับความสูง-ต่ำของพวงมาลัยด้วยแล้ว ชุดมาตรวัด ก็จะยกขึ้นยกลง
ไปพร้อมๆกันเลยทีเดียว สวิชต์ฝั่งซ้าย ด้านข้างมาตรวัดน้ำมันและความร้อน
ชิ้นบน สั่งเปลี่ยนเมนูระบบแสดงข้อมูลตัวรถ ส่วนปุ่มล่าง ไว้สั่ง Reset ตั้งค่าต่างๆใหม่
ปุ่มฝั่งขวา ด้านข้างมาตรวัดรอบ มีไว้เพิ่มหรือลดขนาดแสงบนชุดมาตรวัด
แต่ทีเรื่องสำคัญกว่า ประเด็นยิบย่อยดังกล่าวข้างต้น กลับไม่ค่อยใส่ใจ หรือเห็นความสำคัญกันเสียดื้อๆ
ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดคือ
วัสดุที่ใช้หุ้มวงพวงมาลัย ซึ่งเหมือนกับที่พบได้ในเอสยูวี รุ่น Murano ชัดๆ
เมื่อใช้ไปนานๆ หนังแบบนี้จะลื่นมือมากๆ ไม่ค่อยทนต่อแสงแดดเท่าที่ควร อีกทั้งจับแล้วยังไม่กระชับมือเท่าที่ควร
ถ้าอยากจะหาวัสดุหุ้มพวงมาลัยที่ดี นิสสัน ควรไปดูตัวอย่างจาก มาสด้า ในรถเปิดประทุน MX-5
ไม่เช่นนั้น ก็ดู เมอร์เซเดส-เบนซ์ AMG บางรุ่นได้เลย นั่นละดีกว่า
นอกจากนั้น แผงสวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ที่มีเสียงบ่นจากผู้ร่วมทริปคราวนี้ว่า
มันดู Look cheap เหมือนรถยนต์รุ่นล่างๆของตน ไปนิดนึง
และเพื่อให้ยิ่งเป็นรถสปอร์ตมากขึ้น
เราจึงยังพบเห็นเอกลักษณ์การออกแบบที่สำคัญในห้องโดยสาร คือ มาตรวัด 3 รายการ อยู่กันครบถ้วน ทั้งมาตรวัดกระแสไฟจากแบ็ตเตอรี มาตรวัดน้ำมันเครื่อง
และ Trip information แจ้งข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย
และความเร็วเฉลี่ย ระยะทางที่เหลือพอให้เชื้อเพลิงในถังพาให้รถแล่นไปได้
ไปจนถึง อุณหภูมิภายนอกรถ ติดตั้งอยู่เหนือช่องเก็บของขนาดใหญ่ ที่สามารถ ใส่กล้องถ่ายรูปเข้าไปได้จนหมดรวมทั้งสายสะพาย แล้วปิดฝาได้เลย โดยไม่ต้องกังวลอะไรอีก
เครื่องปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติ ไฟฟ้า ปรับอุณหภูมิให้อุ่นขึ้นเท่าใด ก็ยังรู้สึกว่า หนาวเกินไปอยู่ดี ทั้งในช่วงเวลาแดดจ้า หรือว่ายามฝนโปรยปราย
ช่องแอร์ทั้งที่บานประตู 2 ฝั่งและกลางคอนโซล สามารถพับปิดได้จนดูเรียบเนียนไปกับชิ้นส่วนอื่นๆบนแผงหน้าปัด
ชุดเครื่องเสียงติดรถ เป็นแบบ วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตต์ และ เล่น CD ได้ 6แผ่น พร้อมลำโพง 6 ชิ้น จาก BOSE
ผมยกเอา ซีดี ของ Tatsuro Yamashita ศิลปินคนโปรดที่ผมกำลังคลั่งไคล้อยู่ในตอนนี้ มา 2 แผ่น แผ่นหนึ่ง เป็นแผ่นที่มีเพลงโฆษณา
Nissan Skyline R32 และ R33 อยู่ และอีกแผ่นเป็นอัลบั้ม Cozy งานในปี 1998 และ ซีดีรวมเพลงโฆษณา Nissan SHIFT_album
ชุด 2 ที่ฝากน้องๆผม เขาสั่งซื้อมาให้ทางอินเตอร์เน็ต ติดมาฟังด้วย 3 แผ่น
และ คุณภาพเสียงนั้น ถือว่าดีพอที่ไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่มเติมกับเครื่องเสียง เพราะถ่ายทอดรายละเอียดออกมาได้ดีแล้ว
แต่ถ้าได้ระบบเสียงระดับ premium sound ที่ดีกว่านี้อีกนิด ก็จะดี
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงแผงประตูด้านข้างให้มีวัสดุอ่อนนุ่ม หุ้มด้วยหนังน่าสัมผัสกว่าแบบเดิมที่แข็งกระด้าง
เปลี่ยนลายผ้าเบาะแบบใหม่ และเพิ่มจำนวนช่องเก็บของตามจุดต่างๆให้มากขึ้น
ส่วนห้องเก็บของ นิสสันเคลมว่ามีขนาดใหญ่พอจะแยกถุงกอล์ฟได้ถึง 2 ถุง แต่ถ้าจะทำเช่นนั้น
คุณต้องอ่านวิธีการยัดมันเข้าไป ซึ่งติดไว้เป็นสติ๊กเกอร์ อยู่ที่แผงพลาสติกบนฝากระโปรงท้ายนั่นละ
ส่วนด้านหลังเบาะนั่ง นอกจากจะเป็นสถานที่อยู่อาศัยแบบถาวรของลำโพง 2 ชิ้นแล้ว
ยังมีช่องเก็บของพร้อมฝาปิด มากถึง 4 ช่อง มากพอให้คุณเก็บซ่อนความลับ
บางประการ ให้รอดหูรอดตาภรรยาสุดหึงของคุณได้อย่างดี
ส่วนห้องเก็บของ นิสสันเคลมว่ามีขนาดใหญ่พอจะแยกถุงกอล์ฟได้ถึง 2 ถุง แต่ถ้าจะทำเช่นนั้น
คุณต้องอ่านวิธีการยัดมันเข้าไป ซึ่งติดไว้เป็นสติ๊กเกอร์ อยู่ที่แผงพลาสติกบนฝากระโปรงท้ายนั่นละ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องปรับปรุงของ 350Z อยู่ที่เรื่องของ การเก็บเสียงในห้องโดยสาร เพราะเสียงรบกวนจากยาง และจากกระแสลม
ที่ไหลผ่านตัวรถนั้น ดังเข้ามามาก ขนาดที่ว่า เมื่อขับด้วยความเร็วระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ต้องเร่งเสียงเพลงให้ดังขึ้น พร้อมกับเร่งเสียงพูด
ให้ดังขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้น จะคุยกันไม่รู้เรื่องแน่ๆ
เหตุที่เป็นเช่นนี้ นั่นเพราะ 350Z ใช้ประตูพร้อมกระจกหน้าต่างแบบ ไร้เสากรอบ ซึ่งแม้จะสร้างความสวยงามให้กับตัวรถ ตามบุคลิกดั้งเดิมที่เป็นมาของ Zรุ่นก่อนๆ
แต่การออกแบบยางขอบกระจกที่ไม่ดี อาจก่อให้เกิดเสียงรบกวนที่เล็ดรอดเข้ามาได้โดยง่าย อันเป็นเรื่องปกติที่พบเจอได้ทั่วไปในรถยนต์ที่มีหน้าต่างประตูลักษณะนี้ จริงอยู่ว่า
เสียงรบกวนนั้น อาจต้องมีเข้ามาบ้าง เพื่อให้ผู้ขับได้สัมผัสกับบุคลิกดิบๆแบบรถสปอร์ต แต่ถ้ามันดังมากขนาดที่ผู้โดยสารคุยกันไม่รู้เรื่อง ในย่านความเร็วสูง
จนต้องตะเบ็งเสียงตนเองให้ดังขึ้นนั้น ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของความอภิรมณ์ ในการขับขี่รถสปอร์ตยุคใหม่เสียแล้วกระมัง
ดังนั้นการแก้ไข และการออกแบบยางขอบกระจกให้ดีกว่านี้อีกสักหน่อย
น่าจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้
นอกจากนี้ ยังควรปรับปรุงในเรื่องทัศนวิสัยอีกสักหน่อย เพราะแม้ว่า การมองทัศนวิสัยข้างหน้าจะโปร่งสบายตา กะระยะห่างจากรถคันหน้าง่าย
และทัศนวิสัยด้านข้าง จะปลอดโปร่งด้วยเสาหลังคาขนาดเล็ก ก็ตาม
ทว่า กระจกมองข้าง ที่ต้องออกแบบให้มีขนาดเล็ก เพื่อลดปัญหาด้านอากาศพลศาสตร์
อีกทั้ง ยังต้องออกแบบเพื่อสอดรับกับแนวทางการออกแบบเส้นสายตัวรถทั้งคันด้วยนั้น
ยังให้การมองเห็นที่ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร แต่ยังถือว่าดีกว่า เชฟโรเลต ลูมินา และฟอร์ด โฟกัสใหม่
เพราะไม่หลอกตา และคราบน้ำไม่เกาะติดที่กระจกง่ายดายเกินไปนัก
แต่เมื่อจำเป็นต้องเลี้ยวกลับรถ บริเวณที่หนาสุดของแนวประตูห้องเก็บของด้านหลัง จะบดบังทัศนวิสัยด้านหลังไปมาก แม้เป็นเรื่องธรรมดาของรถสปอร์ต
ที่จะต้องเน้นการออกแบบให้สวยบาดใจจากภายนอกเข้าไว้ก่อน แต่ถ้าจะพูดถึงการป้องกันอุบัติเหตุ ในด้านทัศนวิสัยแล้ว ผมว่าผมยังไม่เห็นรถสปอร์ตแท้ๆคันไหน
จะทำได้ดีเลยสักคัน และนิสสัน 350Z ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แถมยังเป็นไปกับเขาด้วย
อุปกรณ์ความปลอดภัย อุ่นใจได้กับถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้างและม่านลมนิรภัยรวมถึง 6 ใบ เข็มขัดนิรภัย 3 จุด ELR ลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ ทั้ง 2 ที่นั่ง
และจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX เป็นออพชันพิเศษ
ก้านไฟเลี้ยว และก้านควบคุมใบปัดน้ำน ออกแบบให้กลมกลืนกับแนวเส้น
ของห้องโดยสาร ใบยปัดน้ำฝนหลัง เปิดโดยใช้วิธี ดันก้านสวิชต์ออกห่างจากตัว
***รายละเอียดด้านวิศวกรรม ***
ขุมพลังเปลี่ยนจากรหัส VQ35DE NEO มาเป็นรหัสใหม่ VQ35HR แม้ทั้งคู่จะใช้พื้นฐานโครงสร้างหลัก บล็อก วี6 DOHC 24 วาล์ว 3,498 ซีซี ที่ยกมาจากซีดานหรูรุ่นฟูก้า
แกรนด์ทัวริสโม ซีดานและคูเป้รุ่น สกายไลน์/อินฟินิตี จี35 รถตู้ เอลแกรนด์ใหม่ และสเตชันแวกอน รุ่น สเตเจีย
ทว่า รหัสต่อท้ายใหม่ล่าสุด HR ซึ่งย่อมาจาก High Revolution นั้น มีความหมายถึงการปรับปรุงให้เครื่องยนต์มีจุดเด่นในด้านสมรรถนะสูง ด้วยรอบเครื่องยนต์สูงสุดที่พร้อมให้
ลากรอบขึ้นไปได้ถึง 7,500 รอบ/นาที อันเป็นผลมาจากการออกแบบเสื้อสูบอะลูมีเนียมขึ้นใหม่ ลดน้ำหนักและแรงเสียดานด้านข้างของลูกสูบ ไปจนถึงการปรับปรุงท่อไอดีให้ได้สมมาตรกัน
อย่างดีเยี่ยม ติดตั้งท่อไอเสียคู่ แยกฝั่งซ้ายขวา โดยวางท่อร่วมไอเสียไว้ด้านหลัง และย้ายท่อร่วมไอดี เข้าทางด้านข้างทั้งสองฝั่งของเครื่องยนต์ เพื่อให้เกิดความสมมาตรกันอย่างดี
ไปจนถึงการนำระบบแปรผันวาล์ว CVTCS ในฝั่งไอดี และระบบแผรผันวาล์วแบบ e-VTC (ELECTROMAGNETIC VALVE TIMING CONTROL) ติดตั้งที่ฝั่งไอเสีย ฯลฯ
อีกหลายประการ ช่วยเพิ่มสมรรถนะของเครื่องยนต์ได้อย่างราบรื่น และเรียกพละกำลังออกมาได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในรอบเครื่องยนต์สูงๆ
ทั้งหมดนี้ ช่วยเพิ่มพละกำลังจาก 350Z รุ่นเดิม 280 และ 294 แรงม้า พุ่งพรวดพราดขึ้นมาเป็น 313 แรงม้า (PS) ที่ 6,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 36.5 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที และ
สามารถเร่งรอบเครื่องได้มากถึง 7500 รอบต่อนาที แถมยังให้แรงบิดที่สูงในช่วงรอบต่ำ ช่วยเพิ่มความคล่องตัวสำหรับการขับขี่ในเมือง
นอกจากนี้ทีมวิศวกรยังใช้เสียงจากท่อไอเสียของมาเซราติ 3200GT เฟอร์รารี 360 โมเดนา และ นิสสัน สกายไลน์ GT-R มาเป็นต้นแบบเพื่อปรับปรุงเสียงของท่อไอเสียคู่
ทำให้มีเสียงดังเพิ่มขึ้น ณ รอบเครื่องยนต์ระหว่าง 1,000-3,000 รอบ/นาที และดังสุด ณ รอบตั้งแต่ 3,500-6,000 รอบ/นาที แต่จะเบาลงจนเกือบเงียบสนิท เมื่อใช้ความเร็ว
เดินทางปกติ รวมทั้งลดอาการ Back Pressure บริเวณท่อทางเดินไอเสีย ช่วยให้การไหลเวียนไอเสียดีขึ้น
ในเวอร์ชันไทย ช่วงเปิดตัวจะมีให้เลือกเพียงเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ พร้อมโหมด บวก/ลบ ให้ผู้ขับขี่เลือกเปลี่ยนเล่นเกียร์ได้ ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ จะถูกสั่งเข้ามาขายในบ้านเราหลังจากนี้
อัตราทดเกียร์ มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม
เกียร์ลูกเดิมเป็นเกียร์ AISIN รุ่น RE 5R05A
เกียร์ 1 อยู่ที่ 3.540
เกียร์ 2 อยู่ที่ 2.264
เกียร์ 3 อยู่ที่ 1.417
เกียร์ 4 อยู่ที่ 1.000
เกียร์ 5 อยู่ที่ 0.834
เกียร์ถอยหลัง 2.370
เกียร์ลูกใหม่ ยังคงเป็นฝีมือของ AISIN เช่นเดิม
แต่ปรับอัตราทดใหม่ ดังนี้
เกียร์ 1 อยู่ที่ 3.841
เกียร์ 2 อยู่ที่ 2.352
เกียร์ 3 อยู่ที่ 1.529
เกียร์ 4 อยู่ที่ 1.000
เกียร์ 5 อยู่ที่ 0.839
เกียร์ถอยหลัง 2.764
อัตราทดเฟืองท้าย 3.357
นั่งดูตัวเลขอัตราทดเกียร์แล้วก็ชวนให้เอะใจ
พอกลับไปเปิดดูข้อมูลของซูบารุ B9 ทรีเบกา ที่เพิ่งผลาญน้ำมันผมไปอย่างสาหัสสากรรจ์ นั่น
พบว่า อัตราทด เท่ากันพอดีเป๊ะเลย ยกว้นอัตราทดเกียร์ถอยหลัง อยู่ที่ 2.765 และอัตราทดเฟืองท้าย อยู่ที่ 3.583
แต่เมื่อพยายามเช็คข้อมูลไปยังฝ่ายเทคนิค และทั้ง นิสสัน และซูบารุ ทั้งคู่ ต่างไม่อาจให้คำตอบที่กระจ่างได้
ว่าเป็นเกียร์ลูกเดียวกัน รุ่นเดียวกันหรือไม่ ดังนั้น จึงพอจะอนุมานทึกทักเอาเองไปก่อนว่า เกียร์อัตโนมัติ
ของรถยนต์ที่แตกต่างกันทั้ง 2 ยี่ห้อและรุ่นนี้ มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะใช้เกียร์รุ่นเดียวกัน
โดยอาจต้องปรับเปลี่ยนอัตราทดเฟืองท้ายให้เหมาะสม ตามสเป็กที่แต่ละโรงงานกำหนด
ผู้ร่วมทดลองคราวนี้ เป็นผู้ร่วมทดลองจำเป็น นั่นคือ พี่โอฬาร เป็นช่างภาพอิสระที่คนในวงการรถยนต์รวมทั้งผม คุ้นหน้าคุ้นตากันดี
เพราะมีฝีมือถ่ายภาพระดับมืออาชีพ นั่นเอง แต่ในเมื่อหลวมตัวมานั่งรถที่ผมขับ ก็เลยถือเหตุขอรบกวนให้พี่ช่วยจำตัวเลขเวลา
โดยที่คราวนี้ ผมกดนาฬิกาจับเวลาด้วยตัวเอง
ตัวเลขที่ได้ มีดังนี้
**อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.**
ครั้งที่
1……..6.87 วินาที
2……..6.79 วินาที
3……..6.89 วินาที
4……..6.88 วินาที
เฉลี่ย……6.85 วินาที
—————————————–
**อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม.** หรือช่วงเร่งแซงทั่วไป
กดคันเร่งจนจมสุดทันที จาก 80 กม.ชม. มีดังนี้
ครั้งที่
1……..5.13 วินาที
2……..5.09 วินาที
3……..5.09 วินาที
4……..5.11 วินาที
เฉลี่ย……5.10 วินาที
—————————————–
**รอบเครื่องยนต์ที่เกียร์ 5 อันเป็นเกียร์สูงสุด **
ความเร็ว ..80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 1,500 รอบ/นาที
ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,150 รอบ/นาที
ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,250 รอบ/นาที
—————————————–
**ความเร็วสูงสุด ที่วัดได้ในแต่ละเกียร์ อ่านจากมาตรวัดบนแผงหน้าปัด**
(หน่วย กิโลเมตร ที่ รอบเครื่องยนต์/นาที)
เกียร์ 1…….60 @ 7,500
เกียร์ 2…..115 @ 7,500
เกียร์ 3…..175 @ 7,500
ส่วนความเร็วสูงสุดของเกียร์ที่สูงกว่านี้ คงไม่หาตัวเลขมาให้อ่านกัน
เพราะขนาดกดลากไปถึงความเร็วระดับ 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังลากไปไม่สุดเกียร์ 4 เลยด้วยซ้ำ
มันเสี่ยงอันตรายมากเกินไป
—————————————–
—————————————–
ดูจากตัวเลขแล้ว คงพอจะนึกภาพออกว่า ความร้อนแรงที่ได้จากเครื่องยนต์ใหม่ VQ35HR จะเร้าความรู้สึกได้แค่ไหน….ทันทีที่กดคันเร่งจมสุด เพื่อออกตัว
ขนาดว่าเป็นรถเกียร์อัตโนมัติแล้ว ยังออกตัวได้ร้อนแรงขนาดนี้ มีแรงดึงให้หลังติดเบาะอย่างสุดสวิงริงโก้ แต่ก็ไม่ถึงกับกระชากสุดขีดคลั่ง เทียบเท่ารถที่ใช้
หรือวางเครื่องยนต์เทอร์โบมาใหม่บางคัน ที่แน่ๆ ทุกครั้งที่ออกตัว หากกดคันเร่งเต็มๆเท้า อาการ Torque steer หรือแรงบิดลงสู่ล้อมากเกินไปจนผิวสัมผัสหน้ายาง
ไม่อาจเกาะกับพื้นถนนอยู่ จนกวาดบั้นท้ายปัดออก ก็เกิดขึ้นได้ง่าย
แต่นิสสัน ก็รับมือกับอาการดังกล่าวด้วยการติดตั้งระบบความคุมเสถียรภาพและลดการลื่นไถล VDC (Vehicle Dynamic Control) เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการเข้าโค้ง
และสภาพถนนเปียกลื่นด้วยการควบคุมแรงดันเบรกของแต่ละล้อให้มีความสมดุล โดยจะมีสัญญาณไฟกระพริบเตือนบนชุดมาตรวัดว่า SLIP ทันทีที่ล้อใดล้อหนึ่ง หมุนฟรีมากจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับการขับขี่ในเมือง ถ้าคุณแม่บ้าน จำเป็นต้องยืมรถคันนี้ของคุณพ่อบ้านไปทำงาน เนื่องจากรถตัวเองส่งซ่อม ทั้งที่ตัวเองเป็นคนขับรถเท้าเบาแล้วละก็
น้ำหนักคันเร่งที่ดี ช่วยลดความพะวงสำหรับการขับขี่แบบสบายๆในเมืองได้มาก และไม่ต้องห่วงว่า จะพุ่งจนควบคุมรถไม่อยู่ เพราะตราบใดที่เท้าขวาคุณเบา และ
ไม่ได้เร่งความเร็วรอบเครื่องยนต์ จนเกิน 2,500 รอบ/นาที ขับแบบไหลๆ ไปตามสภาพการจราจร บนทางด่วน ตามประสารถเกียร์อัตโนมัติ เชื่อขนมกินได้เลยว่า
คุณจะยังควบคุมรถคันนี้ได้ จนถึงที่หมายอย่างปลอดภัย โดยที่คนขับ วีโก้ หรือฟอร์จูเนอร์ บางคนซึ่งขับแบบระห่ำ จะไม่ยุ่งกับคุณแน่นอน เพราะถ้าเขามีสติดี
เขาจะรู้ว่า 350Z เป็นรถประเภทใด
แต่ถ้าคิดจะเล่นสนุกขึ้นมาละก็ อัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้เพียง 5 วินาที เวลาเพียงเท่านั้น ก็ช่วยให้คุณ ทิ้งห่างจากใครสักคนที่ขับรถมาจี้ท้ายคุณ
จนรำคาญ ได้อย่างรวดเร็ว จนมองไม่เห็นแม้แต่ภาพในกระจกมองหลัง
เพียงแต่ผมสงสัยว่า ขณะที่ผมเดินทางด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนมอเตอร์เวย์ ในช่วงเช้า รถคันที่พยายามไล่จี้ท้ายผม กลับไม่ใช่วีโก้ และฟอร์จูเนอร์ อย่างที่เคยเป็น
หากแต่เป็น รถกระบะ อีซูซุ มังกรทอง อีโคโนแวน ห้องเย็น รุ่นสุดท้ายก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นดีแมกซ์ เป็นรถคันสีขาว ที่พยายามไล่จี้ผมมาตั้งแต่บนทางด่วน
ผมไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใด สิ่งที่ผมทำ ก็เพียงแต่หลบจากเลนขวาสุด เข้าเลนกลาง ปล่อยให้เขาแซงไป แล้วเจ้าคนขับรถเซ่อๆ คนนั้น ก็พารถที่เหลือจะเชื่อว่ายังจะมุดได้
อย่างนั้น มุดเข้าไป ติดแหงกจ่อท้ายรถขับช้าในเลนซ้าย และทำให้ผม แซงไปได้นิ่มๆ แต่ฉีกขาด โดยไม่ต้องออกแรงกดคันเร่งอะไรเท่าใดนักเลย แค่เหยียบเพิ่มกว่าเดิมอย่างแผ่วเบา
นิดนึง เท่านั้นเอง
แต่คล้อยหลังจากนั้น แป๊บเดียว เขาก็มาใหม่ คราวนี้ก็ไล่จี้บั้นท้ายตามเคย และสถานการณ์ก็วนเข้าส่ย่อหน้าข้างบน แบบนี้อีก 2-3 รอบ จนเมื่อหมอนี่กลับมาจี้ท้ายผมอีกครั้ง คราวนี้
ผมรู้สึกว่า คงต้องสั่งสอนหมอนี่สักหน่อยแล้ว เอาละ รถคันข้างหน้าเรา ในเลนขวา หักหลบเข้าเลนกลางแล้ว ขอสั่งสอนหน่อยแล้วกันนะ…
ว่าแล้วก็เพิ่มน้ำหนักเท้าขวา ลงบนคันเร่งเพิ่มขึ้นจากเดิม อีก นิดหน่อย ขอย้ำว่า นิดหน่อยเท่านั้น และเพียงแค่นั้น 350Z ก็พุ่งเป็นลูกธนูติดล้อ ทิ้งให้รถห้องเย็นคันนั้น หายไปจากกระจก
มองหลังตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ภายในไม่เกิน 10 วินาทีดีนักหรอกครับ
และอีกช่วงหนึ่งที่ได้เรียนรู้พิษสงของเจ้า VQ35HR ก็คือตอนวัดอัตราเร่ง 0-100 บนทางยกระดับ ขณะมุ่งหน้าเข้า กทม. นั่นละครับ
ในการทดลองครั้งสุดท้าย ผมออกตัว และกดยาวต่อเนื่อง เพื่อจะหาความเร็วสูงสุดของเกียร์ 3 เพราะตอนนั้น เกียร์ 1 และ 2 เสร็จสิ้นแล้ว
ยังไม่ทันที่พี่โอฬาร จะตั้งตัวระหว่างคุยกับภรรยาสุดเลิฟ ดีนัก ความเร็วของรถก็พุ่งไปแตะระดับ 220 กิโลเมตร/ชั่วโมงอย่างรวดเร็วจนผมยังตกใจ
รถยนต์ที่ใช้เวลา 0-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง สั้นๆแบบนี้ ถ้าเป็นรถญี่ปุ่นด้วยกันแล้ว ที่ผมเคยลองขับมา มีเพียงเล็กซัส GS300 เท่านั้น ครับที่ทำได้
แต่ก็ยังไม่เร็วเท่า 350Z
ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ทั้งที่เข็มความเร็วแตะระดับนั้นแล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบง่ายๆ ผมต้องถอนเท้าออกเพราะอันตรายเกินไป จะให้เข้าโค้ง"บางวัว" ด้วยความเร็วระดับ
220 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมว่าไม่ไหวละครับ มันมากเกินไปแล้วละ โอกาสพลาดมีสูงมากๆ กลัวจะไม่มีโอกาสกลับมาเขียนเรื่องให้ได้อ่านกัน และกลัวว่ารถจะไม่ถึงมือของ
บริษัทแม่เค้าแล้วเราจะยุ่ง (แต่ถ้าเป็นตอนเที่ยงคืนไปแล้ว และฝนไม่ตกด้วยละก็ คงจะทำท็อปสปีด มาให้ได้อ่านกันแน่ๆ)
และยิ่งการเปลี่ยนเกียร์ที่นุ่มนวล แทบไม่มีอาการกระตุกในขณะขับขี่เลยนั้น ยิ่งทำให้ความสนุกและท้าทายในการขับขี่ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แม้อาการกระตุก จะเกิดขึ้นบ้าง
ในบางครั้ง ช่วงเปลี่ยนจากเกียร์ P มายัง D
ระบบกันสะเทือนแบบอิสระมัลติลิงค์ ทั้ง 4 ล้อ โดยโครงสร้างขึ้นรูปจากอลูมิเนียม เสริมเหล็กกันโคลง ทั้งหน้า-หลัง ส่วนช็อกอัพ เป็นแบบ Ripple-control
แม้จะเซ็ตมาในแบบรถสปอร์ตเต็มพิกัด ทว่า ดูดซับแรงสะเทือนได้ดี ตึงตังอย่างพอเหมาะ บนพื้นผิวถนนที่ไม่เรียบ แต่ยังพอจะเหลือความนุ่มนวลไว้ให้ได้สัมผัสบ้าง
ขณะอยู่บนพื้นถนนราดยางมะตอยเรียบพิเศษ หรือถ้าพูดให้ง่ายเข้าคือ ไม่ตึงตังจนเมื่อยล้าหนักข้อเหมือนอย่าง มินิ คูเปอร์ เอส แต่ก็ไม่นุ่มนวลลงมากมายเท่ากับ มินิ คูเปอร์ ธรรมดา
หรือ บีเอ็มดับเบิลยู 330i
พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง เพิ่มน้ำหนักตามความเร็วรอบเครื่องยนต์ ให้รัศมีวงเลี้ยวแคบเพียง 5.4 เมตร
แต่ถูกเซ็ตมาให้เฉียบคม ตอบสนองได้ฉับไว และหนักแน่นมั่นใจได้ในความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม เมื่อแล่นด้วยความเร็วสูง บนพื้นผิวถนนทางหลวง
ที่ไม่ได้เรียบสนิทเหมือนเช่นในเมืองนอก ของบ้านเรา พวงมาลัยจะมีการส่งผ่านความรู้สึกจากรอยต่อและหลุมบ่อต่างๆ เข้ามาให้ผู้ขับขี่ได้สัมผัสกันอย่าง
เต็มเม็ดเต็มหน่วย แทบไม่ตกหล่นเลยแม้แต่หลุมเดียว อีกทั้งวัสดุหุ้มพวงมาลัยนั้น ถ้าใช้ไปนานๆ อาจจะลื่นเป็นมันแผล่บได้ และอาจยากต่อการบังคับรถในช่วงหลายปีให้หลัง
การหักเลี้ยวในช่วงความเร็วต่ำนั้น พวงมาลัยค่อนข้างหนัก แต่ดีแล้วที่เซ็ตมาแบบนั้นเพราะจะให้ความมั่นใจกับผู้ขับขี่ที่รักความเป็นรถสปอร์ตสมัยใหม่ได้ดีกว่า
กระนั้น ก็ยังไม่หนักมากเท่ากับ บีเอ็มดับเบิลยู 330i ซึ่งรายนั้น หนักมากไปนิดนึง
ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกแบบมีรูระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ จาก Brembo ของอิตาลี พาร์ตเนอร์ที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่การพัฒนาระบบเบรกของ Nissan Skyline GT-R R34
นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบ เอบีเอส อีบีดี และ Break Assist มาให้ตามสมัยนิยม ส่วน ล้ออัลลอยเป็นแบบ 5 ก้านขนาดใหญ่ 18 นิ้ว สวมด้วยยางหน้าขนาด 225/45R18 และยางหลังขนาด 245/45R18
ประสิทธิภาพการเบรกนั้น แทบจะหมดห่วงในประเด็นนี้ไปได้เลย เพราะการชะลอ และการหน่วงความเร็วนั้น ทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงความเร็วใดก็ตาม ในช่วงหนึ่ง ที่ผมทดลองอัตราเร่ง
ปรากฎว่า มีรถบรรทุกชะลอตัวอยู่ข้างหน้าพอสมควร ผมสามารถสั่งให้ 350Z ลดความเร็วอย่างฉับพลัน จาก 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหลือประมาณ 20-30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ในเวลาไม่กี่วินาที
โดยไม่ต้องกระทืบเบรกอย่างรุนแรงใดๆทั้งสิ้น แค่เหยียบให้ลึกลงไปสักนิด แต่ไม่ต้องเหยียบให้ลึกจน เอบีเอส ทำงาน ก็เท่านั้น
—————————————–
***อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง***
คราวนี้ ไม่ได้ทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้ เนื่องจากเวลามีจำกัดมากๆ และทางนิสสัน จะไม่ให้ยืมรถกลับไปบ้าน เพื่อทำการทดลองใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากรถคันนี้
เมื่อถูกนำมาใช้ ในกิจกรรมการตลาด ต่างๆเรียบร้อยแล้ว จะต้องถูกส่งกลับคืนไปทางสำนักงานใหญ่ของนิสสันที่ญี่ปุ่น
แต่ผมมีข้อสังเกตอยู่ 2 ประการ
ข้อแรก ผมลองให้คอมพิวเตอร์ในตัวรถ ลองคำนวนหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดู หากขับด้วยความเร็วประมาณ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วเปิดระบบ Cruise control ไว้
กดปุ่ม Reset ค่าเฉลี่ยเดิมที่แสดงอยู่บนจอวงกลมฝั่งวาสุดออก ปล่อยให้ระบบคำนวนออกมา จะพบว่า ความเร็วเฉลี่ยระดับ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงระดับ
12.3 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งถือว่าประหยัดใช้ได้เกินคาดคิดสำหรับรถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบใหญ่โตถึง 3,500 ซีซี โดยประมาณ
ข้อที่ 2 นับตั้งแต่ออกจากตึกนันทวัน ตอน 9.30 น. ผมกดเซ็ต 0 บนหน้าปัด เพื่อวัดระยะทางแล่นทั้งหมดของวันนี้ ไปจนกระทั่งกลับมาถึงตึกเดียวกันอีกครั้ง ในเวลา
20.30 น. ระยะทางบนมาตรวัดที่แล่นไปทั้งหมดนั้น 432.2 กิโลเมตร
แถมทริปคอมพิวเตอร์ ยังแจ้งเตือนว่า เหลือน้ำมันให้แล่นไปถึงที่หมายได้อีก 158 กิโลเมตร
เพราะตั้งแต่ออกจากตึกนันทวัน จนถึงพักทานอาหารเที่ยง และขับไปยังบ้านทะเลรีสอร์ต ผมขับตลอดทางด้วยความเร็วประมาณ 80 – 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามสภาพ
การจราจร บนมอเตอร์เวย์ จนถึง พัทยา มีบางช่วงที่ผมอาจขับแบบมะงุมมะงาหรา ไปบ้างเพราะต้องคลำทางช่วงพัทยา หาร้านอาหาร ที่นัดหมายกันไว้กับทางนิสสัน
แต่หลังจากนั้น สื่อมวลชนท่านอื่นๆ ผลัดกันขับ และแต่ละคน ก็ไมได้ขับกันเร็วมากนัก มีทั้งช่วงฝนตก บนทางโค้ง ถนนลื่นบ้าง แต่ดูอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจากหน้าจอ
อกว่า เฉลี่ย 7.7 กิโลเมตร/ลิตร
แต่เมื่อขากลับ ขับออกจากตัวเมืองชลบุรี ตัวเลขยังแจ้งขึ้นมาว่า เหลือน้ำมันให้แล่นได้ในระยะทางอีก 175 กิโลเมตร….เลยงงๆว่า ตกลงคอมพิวเตอร์เพี้ยน หรือผมขับเซฟแน่ๆ
จะว่าไป ก็ไม่น่าเป็นเช่นนั้นเพราะตั้งแต่ออกจาก ชลบุรี ขึ้นทางยกระดับบางนา-บางปะกง มา ผมก็ทดลองอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ ท็อปสปีดแต่ละเกียร์
แถมทางนิสสัน ก็โทรมาเร่งว่า อยากให้ถึง กทม. ตอน 2 ทุ่ม ทั้งที่เพิ่งขึ้นทางยกระดับตอน 19.30 น.
เอาไงดีละ? ผมก็จำใจต้อง"ซัด"สิครับ……เอาแค่ ในช่วง 120-180 กิโลเมตร/ชั่วโมงก็พอ ขืนเร็วกว่านั้น อันตรายเกินไป และรอบเครื่องยนต์ ก็ไม่เกิน 5 พันรอบบ่อยมากนัก
ยกเว้นตอนทำความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ ที่ช่วงสุดท้าย ความเร็วพุ่งพรวดไปถึงระดับ 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างที่ได้เล่าไปข้างต้น
กระนั้น เข็มน้ำมัน ก็ลดลงมาเหลือเพียงเท่าที่เห็นในรูป คึอยังเหลือน้ำมันอีกมากพอให้ขับจาก วงแหวน บางนา-บางปะอิน ตรงทางแยกทับช้าง-พระราม 9 ไปจนถึง ป้ายเข้าเขตจังหวัดนครนายก
ได้น่าจะสบายๆ ถ้าใช้ความเร็วคงที่ระดับ 90-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จากทั้ง สอง ข้อสังเกต ทำให้ผมมองว่า ถ้าเอามาวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันจริงๆ ที่ความเร็วระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยรอบเครื่องยนต์ 2,250 รอบ/นาที แล้ว
350Z ใหม่ ไมเนอร์เชนจ์ น่าจะกินน้ำมันที่ระดับ 10.5-11.5 กิโลเมตร/ชั่วโมงป้วนเปี้ยนอยู่ในระดับนี้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีกว่าคาดคิด สำหรับรถสปอร์ตพละกำลังสูงระดับปานกลางขนาดนี้
แต่เมื่อแล่นทางไกล กินน้ำมัน พอกันกับแคมรี แอคคอร์ด เทียนา และเลยเถิดไปถึง มูราโน แต่ไม่หนักหนาสาหัสขนาดเจ้า B9 ทรีเบกา แน่ๆ ทั้งที่ดูเหมือนว่าน่าจะใช้เกียร์ลูกเดียวกันด้วยซ้ำ
***สรุป***
//Love…but not lust //
ถ้าจะให้เทียบกับคู่แข่งด้วยกันในตลาดกันแล้ว คาตัว 4,950,000 บาท อาจดูเหมือนจะแพงไปสักหน่อย เมื่อเทียบกับค่าตัวของ ทั้ง Mazda RX-8 ,Audi New TT,
BMW Z4, Mercedes-Benz SLK
แต่ ถ้าใคร ที่รักและชื่นชอบ Z มาก่อนอยู่แล้ว คุณจะยิ่งรักมันมากขึ้น
เพราะรถสปอร์ตตระกูล Z ถือเป็นรถสปอร์ตขนาดกลางรุ่นเชิดหน้าชูตาของนิสสัน และสร้างความสำเร็จด้วยดีในด้านยอดขาย และบนสนามแข่ง มาโดยตลอด วันนี้ 350Z ใหม่
ถูกยกระดับความสนุกในการขับขี่เพิ่มมากขึ้น ไปพร้อมๆกับเทคโนโลยี ในการพัฒนารถสปอร์ต เพื่อนักขับในยุคปัจจุบัน ที่ต้องแฝงบุคลิกที่เข้มข้น เข้ากับแนวเส้นสายที่โค้งมน
แต่โฉบเฉี่ยว ปราดเปรียว และดูเปี่ยมพลัง…
ขอโทษที จะใช้คำว่าดูเปี่ยมพลัง คงจะไม่ได้แน่ เพราะรถคันนี้ มันเกินกว่าจะใช้คำนั้น เพราะมันเต็มไปด้วยพลัง ที่จะพาคุณพุ่งโผนโจนทะยานไปได้อย่างที่ใจต้องการ ด้วยพละกำลัง
ที่สูงถึง 313 แรงม้า และแรงบิดถึง 36.5 กิโลกรัม-เมตร พร้อมด้วยสมรรถนะที่เอื้ออำนวยต่อความสนุกในการขับขี่ ทั้งน้ำหนักพวงมาลัย ระบบเบรก ระบบกันสะเทือน
และการออกแบบในแทบทุกจุดของตัวรถ
แต่ ถึงจะ รักยังไง ก็ยังไม่ถึงกับลุ่มหลงอยู่ดี
เพราะจะว่าไปแล้ว ในเรื่องการขับขี่ ภาพรวม แม้ว่าพอจะรู้อาการของตัวรถ แต่การทดลองขับในระยะสั้นๆนี้ แทบจะยังน้อยเกินไปที่จะดึงเอาประสิทธิภาพของตัวรถขณะการขับขี่บนทางโค้ง
ของสนามแข่ง มาเป็นข้อมูลประกอบ ซึ่งนั่นจะช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า 350Z ยังต้องแก้ปัญหาอื่นใดอีกบ้าง
เพราะเท่าที่เจอมา มีเพียงแค่ปัญหาเรื่องการออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุ ที่พิลึกพิลั่น เพราะดันไปพิถีพิถันกับสิ่งละอันพันละน้อย อย่างช่องเก็บเศษเหรียญ
หรือที่วางแก้วน้ำ จนลืม และมองข้ามรายละเอียดของสาธารณูปโภคหลักพื้นฐานไปไม่น้อย ไปจนถึง เรื่องของการเก็บเสียงในห้องโดยสารที่ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
อีกทั้งยังมีทัศนวิสัยที่เป็นจุดบอดขณะกลับรถ หรือเลี้ยวเข้า-ออกจากซอย เปลี่ยนเลน ฯลฯ เท่านั้น….
นิสสัน ได้ผลิตรถสปอร์ตขนาดกลางขับเคลื่อนล้อหลังที่ดีที่สุดคันหนึ่งในตลาดออกมาแล้ว แต่ แน่นอน ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกันอีกต่อเนื่อง เป็นธรรมดา
เพื่อที่รถในฝันของใครหลายคน รวมทั้งผม จะก้าวสู่จุดสูงสุดของความเป็นรถในฝัน ที่พลันสมบูรณ์เป็นความจริง เสียที
ขอขอบคุณ :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
– บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิลล์ จำกัด
สำหรับความอนุเคราะห์ ในการทดลองขับ
ขอขอบคุณ
– บ้านทะเล รีสอร์ต
โครงการบ้านพักตากอากาศระดับหรู
ราคาเริ่มต้น 15-128 ล้านบาท
ริมถนนสุขุมวิท สัตหีบ
เอื้อเฟื้อสถานที่ ถ่ายภาพ
รายละเอียดเพิ่มเติม :
http://www.nissan.co.th
————————
————————
————————