Exclusive First impression : Nissan Fairlady Z / 350Z (313 PS) , Love…but not Lust? …By : J!MMY


2007_07_04
วันชาติอเมริกัน….

04.58 น.

หลังจากม่อยหลับไปด้วยความเพลียสะสม จากที่ต้องนอนดึกอยู่สองสามคืนก่อนหน้านั้น

ผมตื่นขึ้น และรู้สึกไม่อยากนอนอีกต่อไป

โลกแห่งความจริงที่ผมไม่อยากจะตื่นขึ้นมาพบเลย….บางทีผมก็อยากนอนจมอยู่กับความฝันอย่างนั้น ไม่อยากตื่น

ยกเว้นเสียแต่วันนี้….เป็นอีกวันที่ฝันในวัยเยาว์ของผม จะเป็นความจริง

อันที่จริงแล้ว 8 ปี ที่ผมได้เข้ามามีโอกาสทำงานในวงการรถยนต์ มันนานพอที่จะหลอมละลายความรักในรถยนต์และความฝันในวัยเด็ก
จนเกือบจะกลายเป็นเพียงความทรงจำสีตุ่นๆไปมากแล้ว

แต่เชื่อเถิดว่า ความรักก็ยังคงเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่พาให้มนุษย์เราเดินทางสู่ปลายทางแห่งความฝัน อยู่นั่นเอง

ชีวิตผม ยังอยู่ได้ในวันนี้ เพราะผมยังมีความรัก ให้กับทุกคน และแน่นอน กับรถยนต์

คาร์ลอส กอส์น CEO ของนิสสัน เพิ่งให้สัมภาษณ์ในรายการ ชีพจรโลก กับสุทธิชัน หยุ่น เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า
"ผู้คน มองรถยนต์ ด้วยความคิด 2 ขั้ว บางคน มองด้วยความรู้สึก อารมณ์ ความรัก เป็นหลัก บางคนใช้เหตุผล การตัดสินใจ มากกว่า แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม
ผู้คนก็จะต้องมองรถยนต์ด้วยความคิดทั้ง 2 ขั้วนี้เสมอ เพียงแต่ว่า ใครจะมองด้านใดมากกว่ากัน เท่านั้นเอง"

. . . . . . . . . . . . .

Lust..then Love…

ข้อความนี้ อยู่บนแค็ตตาล็อกของ แฟร์เลดี Z เวอร์ชันญี่ปุ่น แบบเล่ม ปกสีเงิน พับเป็น 2 ฝั่ง ที่ผมสะสมเอาไว้ ผุดขึ้นมาในสมอง และชวนให้ผมคิดอยู่จนถึงตอนนี้ว่า ตกลงแล้ว
ผมมองรถยนต์ในด้านใดมากกว่ากัน…..

ผมว่า ผมมองในด้านความรู้สึก หรือ emotional มากกว่า เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูอดีตกันแล้ว…

ผมรู้จัก นิสสัน แฟร์เลดี Z ครั้งแรก ก็เมื่อครั้งยังเยาว์ ประมาณ ป.1 หรือก่อนหน้านั้น ราวปี 1986-1987 ผมจำได้ไม่แน่ชัด จำได้แต่ว่า ตอนนั้น แทบทุกวันอาทิตย์ ครอบครัวของเรา
จะไปเดินช้อปปิ้งที่ มาบุญครองกัน ในวันนั้น มาบุญครอง ถือเป็นห้างสรรพสินค้า ที่ใหญ่ตระกาลงานสร้างมาก และกล้าใช้คำว่า "นครหินอ่อน" ในงานโฆษณาของเขา เพราะประดับ
ตกแต่งด้วยหินอ่อน แทบจะทุกอณูของพื้นที่ให้บริการ และยังไม่ได้แปรสภาพไปเป็นอย่างที่เห็นในกาลปัจจุบัน

และสยามกลการ ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์นิสสัน ในขณะนั้น ก็อุตริผุดแนวคิดบรรเจิด เนรมิตร พื้นที่ชั้นล่าง ประมาณ 4 ห้องขนาดใหญ่ ติดถนน ริมกระจก ตกแต่งให้กลายเป็นห้องแสดงรถยนต์
ในนาม Nissan Gallery โดยได้แรงบันดาลใจจากห้องแสดงรถยนต์อันสว่างตาไปด้วยสีขาว และเงียบสงบ บนพื้นที่ชั้นล่าง ณ อาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทแม่ ที่ย่านกินซ่า มหานครโตเกียว
ในขณะนั้น

วันหนึ่ง เรามาเดินดูนิสสัน แกลลอรี กันตามปกติ แต่สิ่งที่ผมเห็น ทำเอาผมงงเป็นเด็กตาแตก
ก็แน่ละ รถสปอร์ต 2 ประตู สีแดงเลือดหมู ตัดกับสีดำแบบทูโทน ออกแบบด้วยแนวเส้นแหลมเพรียวไปทั้งคัน พร้อมไฟหน้าแบบป๊อบ-อัพ จอดตระหง่านบนแท่นหมุนอยู่ในห้องแสดงแห่งนั้น
กำแพงภาษีนำเข้า ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขณะนั้น ตั้งไว้สูงถึง 617% ส่งผลให้ค่าตัวของรถคันสวยนี้ พุ่งพรวดไปแตะระดับเกือบๆ 10 ล้านบาท!! อันเป็นราคาที่แพงเกินจริง
ไปมากโข

ผมก็เดินเข้าไปดูด้วยความตื่นตาตื่นใจ ตามประสาเด็กน้อยเดียงสาต่อโลก และได้รู้ว่า รถคันนี้แหละ คือ 300ZX ตอนนั้น ผมไม่รู้ว่า รถรุ่นก่อนหน้านี้ หน้าตาเป็นอย่างไร รู้แต่ว่า รถคันนี้
น่าจะต้องมีบรรพบุรุษ รุ่นเก่ากว่ามันออกขายมาก่อนหน้านี้แล้ว หลายรุ่นแน่ๆ

ซึ่งเมื่อผมโตขึ้น ก็ได้รู้ว่า สิ่งที่ผมคิดไว้ตอนเด็กนั้น เป็นความจริง นิสสัน ทำรถสปอร์ตรุ่นดังอย่างแฟร์เลดี ออกขายมาตั้งนานแล้ว

รถสปอร์ตตระกูล Z เริ่มโด่งดังในตลาดโลกมาตั้งแต่ปี 1969 และนับแต่นั้น แฟร์เลดี Z ก็กลายเป็นรถสปอร์ตที่ขายดีที่สุดในโลก จากจำนวนยอดขาย 220,000 คันในญี่ปุ่น
และอีกกว่า 1,220,000 คันทั่วโลก แต่ตำนานของ Z นั้น ไม่ได้เริ่มต้นจากการถือกำเนิดของ 240Z ในปี 1969 อย่างที่ทุกคนพากันเข้าใจ เพราะในความจริงแล้ว ตำนานบท
แรกของรถสปอร์ตรุ่นใหญ่ของนิสสัน ต้องนับย้อนไปถึงรถสปอร์ตรุ่นแรกอย่าง ดัทสัน DC-3 ในปี 1952

ที่มาของชื่อรุ่น ทั้งแฟร์เลดี และ 240Z นั้น ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ Mr. KATSUJI KAWAMATA ประธานใหญ่นิสสันในขณะนั้น (คนเดียวกับที่เซ็นสัญญาให้ ดร.ถาวร พรประภา
เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์นิสสันในเมืองไทยนั่นเอง) เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาในปี 1958 และได้เข้าชมละครบรอดเวย์เรื่อง MY FAIRLADY อันโด่งดัง มร.คาวามาตะ
เกิดความประทับใจในความพริ้วไหวของบทเพลงและนักแสดงนำของละครเวทีเรื่องนี้ ดังนั้น เมื่อนิสสัน ปรับโฉมให้กับรถสปอร์ต SPL212 ในเดือนมกราคม 1960 มร.คาวามาตะ
จึงเลือกเปลี่ยนชื่อรถสปอร์ตพันธุ์แท้รุ่นนี้ว่าแฟร์เลดี

แต่ Mr.YUTAKA KATAYAMA หรือที่รู้จักกันในนาม Mr.K ประธานใหญ่ของนิสสัน มอเตอร์ ออฟ USA ในขณะนั้น ไม่เห็นด้วยอย่างมากที่จะทำตลาดรถสปอร์ต
ในสหรัฐอเมริกาด้วยชื่อดังกล่าวนี้ เนื่องจากเขารู้ดีว่าลูกค้าจะไม่ยอมรับชื่อที่ไม่สื่อให้เห็นถึงความรู้สึกของรถสปอร์ต อีกทั้งในขณะนั้น รถสปอร์ตที่มีจำหน่ายทั่วโลก
ในตอนนั้น นิยมตั้งชื่อรุ่นด้วยตัวเลขขนาดความจุของเครื่องยนต์ หรือไม่ก็เป็นอักษรภาษาอังกฤษทั่วไป ดังนั้น เมื่อต้องนำรถสปอร์ตรุ่นนี้ไปขายในสหรัฐฯ ช่วงปี
1965 Mr.K จึงสั่งให้ปลดป้ายแฟร์เลดี้ออก แล้วเปลี่ยนไปใช้ชื่อ ดัทสัน 1600 แทน

จนกระทั่งการพัฒนาแฟร์เลดี Z รหัสรุ่น S30 เสร็จสิ้นลง Mr.K เริ่มมองหาชื่อใหม่ที่เหมาะสมกว่า ในที่สุดจึงเลือกเอาชื่อ 240 ซึ่งย่อมาจากขนาดเครื่องยนต์ 2,400 ซีซี
ส่วนตัวอักษร Z นั้น มาจากรหัสโครงการพัฒนารถสปอร์ตรุ่นนี้นั่นเอง และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อของ Z ก็ดังกระฉ่อนทั้งในด้านยอดจำหน่าย รวมทั้งในสังเวียนการแข่งรถ
ทั่วโลกชนิดที่นับถ้วยรางวัลไม่หมดในเนื้อที่หน้ากระดาษเดียว

แต่…….เมื่อเวลาผ่าน โลกก็ย่อมหมุนเวียนไป อะไรๆก็เปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันนี้ พื้นที่นิสสัน แกลลอรี ตรงนั้น กลายเป็นของผู้เช่ารายใหม่ แมคโดนัลด์ ไปแล้วอย่างน่าเสียดายยิ่ง….

เช่นเดียวกับที่นิสสัน จากเดิมที่เคยเป็นบริษัทญี่ปุ่นแท้ๆ ก็ตกอยู่ในสภาวะหายใจรวยริน
จน กลุ่มเรโนลต์ เข้ามาร่วมทุน ร่วมบริหารด้วย เมื่อปี 1999 และฟื้นกลับมาแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเหลือเชื่อ
ด้วยฝีมือของ ชายวัย 53 ปี หลากวัฒนธรรมโลกในตนเองที่ชื่อ คาร์ลอส กอส์น

เช่นเดียวกับที่ สยามกลการ ต้องยอมหลีกทางให้บริษัทแม่ เข้ามาทำตลาดรถยนต์แบรนด์รองอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นด้วยตนเอง หลังจากที่ทนเห็นภาพลักษณ์
และยอดขายอันตกต่ำไม่ไหวอีกต่อไป ถึงขนาดพูดออกมากลางที่ประชุมใหญ่ ในวันแถลงข่าวครั้งนั้นว่า "Unacceptable!"

และเช่นเดียวกัน แฟร์เลดี้ Z ในนามของ 300 ZX รหัสรุ่น Z31 ในวัยเด็กของผม ก็พัฒนาขึ้นมาอีก 2 เจเนอเรชัน กลายเป็น 350Z รหัสรุ่น Z33 อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้

และใครจะไปนึกละว่า จู่ๆ นิสสันจะเปิดโอกาสให้ผมได้ทดลองขับรถสปอร์ต รุ่นที่ผมฝันไว้ในวัยเด็ก ว่าอยากขับเมื่อโตขึ้น…

แม้ว่า เทียรี เวียดิว ผู้บริหารสูงสุดของสยามนิสสัน ออโตโมบิลล์ จะเพิ่งกระเซ้าแหย่แนวกวนๆกับผม กลางงานบางกอกมอเตอร์โชว์ ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในวันที่ Z33
ไมเนอร์เชนจ์คันนี้ ปรากฎโฉมในเมืองไทยครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ด้วยภาษาอังกฤษ สำเนียงฝรั่งเศส ที่แปลอย่างง่ายๆ ว่า

"ถ้าอยากลองขับ ทางที่ง่ายที่สุดที่คุณจะได้ลองขับก่อนใคร…คือซื้อมันไปขับเองเลย"

พร้อมกับขยิบตา และยิ้มแบบก๊วนกวนใส่ผมอีก 1 ที ก็ตาม


————————————————-

8.45 น.

รถไฟฟ้ายามเช้าไม่ยุ่งอย่างที่คิด
บรรยากาศยามเช้า ของชั้น 15 ตึกนันทวัน ยังคงมองเห็นสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ ในละแวกย่านพักอาศัยราคาแพงใจกลางเมือง

สื่อมวลนที่นิสสัน เชิญมาร่วมงานทดลองขับกันในวันนี้ ทั้งหมด เป็นนิตยสารแนว Life style ทั้งนั้น
ก็เมื่อเอ่ยชื่อมาแต่ละเล่มแล้ว คงจะร้องอ๋อกันอย่างดี ทั้ง FHM MAXIM Hi-Magazine สารคดี EXtream (เล่มหลังนี่ เครือซีเอ็ดฯ)

ซึ่งแต่ละเล่มเลือกอยากจะเดินทางไปสบายๆบนรถตู้กันทั้งนั้น

ทางพีอาร์ของนิสสัน ก็เลยส่งกุญแจของเจ้า 350Z ที่ดูแล้วไม่เห็นจะพิเศษแตกต่างจากกุญแจรีโมทสหกรณ์ ที่ใช้กับรถเก๋งและกระบะแทบจะทุกรุ่นของนิสสันในบ้านเราเอาเสียเลย
ยื่นให้ผมแล้วบอกว่า "งานนี้ พี่ให้จิมมี่ขับเต็มที่เลยนะคะ ขับไปพัทยา แล้วก็ ขับกลับจากพัทยา ด้วยนะจ้ะ"

อ๋อ ตกลงนี่ให้ผมมาเป็นคนขับรถใช่ไหมเนี่ย?
แต่เอาเถอะ ไม่ว่ามันจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่…

สวรรค์…อยู่ในมือผมแล้ว!!!

หลังจากพี่ตุ๊ก พีอาร์ของนิสสัน พาผมขึ้นไปที่รถคันงาม สีเงิน เพื่อติดสติ๊กเกอร์ พรบ.เรียบร้อยแล้ว ผมก็พร้อมออกเดินทาง….เพียงคนเดียว ตามลำพัง

รถตู้ของกลุ่มสื่อมวลชน ขับนำหน้าเราไปก่อนแล้ว และเพื่อไปรับนักข่าวอีกคนหนึ่ง ย่านบางนา….ถ้ารู้อย่างนี้ น่าจะให้เขามารับที่โลตัสหน้าบ้านก็ดีอยู่หรอก
แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น โอกาสที่ผมจะสัมผัสกับ 350Z เต็มๆเท้า ก็จะน้อยลง….

เมื่อปรับที่นั่ง และตำแหน่งพวงมาลัย ให้เข้ากับสรีระและรูปแบบการขับของผม ซึ่งก็ทำได้อย่างง่ายดาย แถมยังลงล็อกได้พอดีกับควาาต้องการของผม ไม่ยากเย็นเหมือนเช่นรถคันอื่นที่เคยเจอมา
ผมก็พาเจ้า 350Z ลงจากลานจอดรถชั้น 8 ของตึกนันทวัน มุ่งหน้าไปทางถนนวิทยุ ผ่านตึกออลซีซัน เพื่อไปขึ้นทางด่วน ที่ด่านเพลินจิต มุ่งหน้าออกไปทางพระราม 9 เพื่อจะทำความรู้จักกับตัวรถ

และในระหว่างนี้ ก็คงต้องเล่าเรื่องราวของ 350Z ใหม่ ให้คุณผู้อ่านได้รู้จักตัวรถไปพร้อมๆกับผมก่อน



แฟร์เลดี Z ใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ 350Z ทั้งในตลาดโลกรวมทั้งเมืองไทย รุ่นปัจจุบัน ใช้รหัสรุ่น Z33 ถือกำเนิดขึ้น เมื่อ 30 กรกฎาคม 2002 โดยได้รับการพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถัง FM แพล็ตฟอร์ม
และจัดวางตำแหน่งเครื่องยนต์กับห้องโดยสารในรูปแบบ FRONT-MIDSHIP เช่นเดียวกับ สกายไลน์ วี35 / อินฟินิตี จี35 ทั้งซีดานและคูเป้ นั่นเอง

งานพัฒนาแฟร์เลดี Z ใหม่ หรือ 350Z ในรหัสรุ่น Z33 เกิดขึ้น เมื่อผู้บริหารต้องพบกับเสียงเรียกร้องจำนวนมากเป็นประวัติการณ์จากบรรดาผู้นิยมรถสปอร์ต Z รวมทั้งสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกา
หลายฉบับ ให้นิสสันทบทวนการยุติการผลิต Z อีกครั้ง หลังจากนิสสันประกาศยุติการทำตลาด 300ZX รหัสรุ่น Z32 ในช่วงปลายปี 1996 เนื่องจากยอดจำหน่ายตกต่ำ เพราะราคาที่แพงขึ้น
ไปตามขนาดของตัวรถ จนความนิยมลดลง และไม่ผ่านมาตรฐานมลพิษในหลายประเทศ ด้วยเหตุนี้ นิสสันจึงมอบหมายให้ศูนย์ออกแบบ NDA แคลิฟอร์เนีย และศูนย์เทคนิค NTC ในญี่ปุ่น
ลงมือพัฒนารถต้นแบบเวอร์ชันแรกๆ ของโครงการนี้ และนำออกอวดสายตาในงานดีทรอยต์ออโตโชว์ 1999

แต่เมื่อปฏิกิริยาส่วนใหญ่ ไม่ชอบ และอยากเห็นการผสมผสานเส้นสายของรถยนต์ในยุคอนาคต เข้ากับเอกลักษณ์ดั้งเดิมของรถสปอร์ตรุ่น 240Z ที่กลายเป็นตำนานไปแล้ว ทีมออกแบบซึ่งนำโดย
CHIEF DESIGNER ของโครงการนี้ที่ชื่อ Mr.MAMORU AOKI จึงต้องทำงานกันอย่างหนัก และในบางครั้ง C.E.O คนใหม่ CARLOS GHOSN ที่เรโนลต์ส่งเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ
ถึงกับลงมือกำกับงานออกแบบด้วยตัวเองหลายต่อหลายครั้ง และสั่งให้ลูกน้องกลับไปแก้งานใหม่ทั้งหมด เพียงแค่รถคันต้นแบบมีท่อไอเสียเพียงท่อเดียว เพราะเขาต้องการให้มีถึง 2 ท่อ
เพื่อดึงภาพลักษณ์รถสปอร์ตออกมาให้เต็มที่ ฟังดูน่าแปลกใจว่าทำไม GHOSN จึงสั่งให้นิสสันเดินหน้าโครงการพัฒนา Z ใหม่ต่อไป นั่นก็เพราะในช่วงที่เขาเคยเป็นผู้บริหารของบริษัทยาง
มิชลิน ภาคพื้นอเมริกาเหนือ GHOSN เคยนำ 300ZX Z32 ไปขับเล่นหลายต่อหลายครั้ง และเกิดประทับใจในสมรรถนะของมันนั่นเอง เขากล่าวว่า "Z ไม่ใช่แค่เพียงรถยนต์รุ่นใหม่ทั่วๆไป
แต่เป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นตัวของนิสสันอย่างแท้จริง"

เมื่อถึง งานฉลองครบรอบ 30 ปีของ Z ที่จัดขึ้นในปี 2000 ทีมออกแบบนิสสันจึงเผยภาพส่วนบั้นท้ายของ Z33 ออกมาให้เห็นเป็นครั้งแรกในโลก ก่อนจะตามด้วยเวอร์ชันต้นแบบในงาน
ดีทรอยต์ออโตโชว์ 2001 จนกระทั่งมาลงตัวกับเวอร์ชันต้นแบบครั้งสุดท้ายในโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2001 ที่นิสสันยืนยันว่า รุ่นจำหน่ายจริงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมไปจากนี้อีกแล้ว


รูปลักษณ์ทั้งภายนอกและภายในได้รับการออกแบบขึ้นตามแนวคิด LUST THEN LOVE ซึ่งอธิบายถึงความรู้สึกของลูกค้าที่ได้เห็นรูปทรงของรถ จนเกิดอาการลุ่มหลง ก่อน
จะเริ่มชินตา และเกิดความรักในเวลาต่อมา เปรียบได้กับปฏิกิริยาของชายหนุ่มที่พบเจอคู่ที่ถูกใจตนนั่นเอง อาจดูคล้ายกับการนำเอาออดี TT มาผสานกับนิสสัน 240Z S30
รวมทั้งเส้นตัวถังบางส่วนจาก Z32 มาบ้าง แต่นับว่าทีมออกแบบตั้งใจให้แฟร์เลดี Z ใหม่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ด้วยการเดินเส้นตัวถังที่ "แรง" เกินคำว่าโฉบเฉี่ยวและฉีก
ตัวเองออกจากคู่แข่งระดับเดียวกันอย่างชัดเจน

Mr.YUTAKA KATAYAMA หรือที่รู้จักกันทั่วสหรัฐฯ ในชื่อ Mr.K อดีตประธานนิสสัน มอเตอร์ USA ผู้เบิกทางให้รถสปอร์ต Z ก้าวสู่การเป็นหนึ่งในตำนานรถสปอร์ต
ยอดนิยมของโลก จนได้รับฉายาว่า "บิดาแห่งรถสปอร์ต Z " เล่าถึงความรู้สึกครั้งแรกเมื่อได้สัมผัส แฟร์เลดี แซด ใหม่ว่า "ครั้งแรกที่ได้เห็นรถต้นแบบระยะเริ่มต้น ผมไม่รู้สึก
ตื่นเต้นแต่อย่างใด ผิดกับเมื่อครั้งแรกที่เห็นหุ่นจำลองของ 240Z เมื่อ 33 ปีมาแล้ว แต่เมื่อได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องหลายต่อหลายครั้ง รูปทรงจึงออกมาสวยงามดี 350Z
มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจาก 240Z อย่างชัดเจนนั่นคือ ให้ความรู้สึกที่ดุดันมากกว่า และมีสัญชาตญาณที่ปราดเปรียวผสมกับรูปทรงร่วมสมัย"

เคล็ดลับก็คือ นิสสันเลือกจะพัฒนาแฟร์เลดี Z ใหม่บนพื้นตัวถัง FM แพล็ตฟอร์ม และจัดวางตำแหน่งเครื่องยนต์กับห้องโดยสารในรูปแบบ FRONT-MIDSHIP เช่นเดียวกับ
สกายไลน์ วี35 / อินฟินิตี จี35 ทั้งซีดานและคูเป้ นั่นเอง อีกทั้งยังจัดวางตำแหน่งเบาะคนขับ (SEAT POSITIONING) ให้ต่ำ และเข้าใกล้พื้นถนนมากทีสุดเท่าที่จะทำได้
ในสไตล์ FLAT RIDE กำหนดขนาดตัวถังให้มีความยาว 4,310 มิลลิเมตร กว้าง 1,815 มิลลิเมตร สูง 1,315 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,650 มิลลิเมตร และกระจายน้ำหนัก
ตัวระหว่างด้านหน้า-หลัง ในอัตราส่วน 53 % :47 % เพื่อเพิ่มอรรถรสในการขับขี่มากยิ่งขึ้น

Facebook Comments