ECO Car? ช้าก่อน! แต่ละค่ายยังไม่สรุป!


โดย…J!MMY

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้มีการกำหนดอัตราภาษีของรถยนต์ขนาดเล็ก
ที่เรียกว่า "อีโค คาร์" (Eco Car) ไว้ที่ระดับ 17% สำหรับรถยนต์
ที่ตรงตามข้อกำหนด ทั้งเครื่องยนต์ เบนซิน ไม่เกิน 1,300 ซีซี และดีเซล ไม่เกิน 1,400 ซีซี กินน้ำมัน 20 กิโลเมตร/ลิตร (แต่ไม่ยักบอกว่า ทดสอบที่ความเร็วเท่าใด หรือใช้มาตรฐานใดในการทดสอบ)

ทำให้ทุกค่ายรถยนต์ต่างเริ่ม
มีความเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่าครั้งใดในช่วง 2 ปีที่มีกระแสข่าว
ของโครงการนี้

อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่า วันนี้ แต่ละค่าย คิดจะนำรถยนต์รุ่นใดมาผลิตขายในเมืองไทยบ้าง?

คำตอบเดียวที่ผู้เขียน จะตอบให้ได้ในเวลานี้ คือ "แต่ละค่ายยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ชัดเจนเลย"

เป็นไปได้หรือ?

งั้นเรามาลองดูกันดีกว่าครับ ว่าแต่ละค่าย จะมีทางเลือกอะไรกันบ้าง

***TOYOTA***

พี่เบิ้มของวงการ ผู้ที่เคยถูกมองว่า ไม่ให้การสนับสนุนโครงการนี้เท่าที่ควร
ในที่สุด ก็พร้อมเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายแรกๆ ที่ขอรับสิทธิ์พิเศษ
จากโครงการ อีโคคาร์

ความจริงแล้ว ผู้บริหารโตโยต้าชาวญี่ปุ่น เคยเกริ่นๆ ในเรื่องความสนใจในการ
ผลิตรคถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ในเมืองไทยไว้แล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนนัก

เพราะจนถึงทุกวันนี้ โตโยต้ายังมีทางออกอยู่ถึง 5 ช่องทาง

– มองหารถยนต์ที่ทำตลาดอยู่แล้ว เช่น ยาริส มาใส่เครื่องยนต์เล็กลงจาปัจจุบัน แม้จะเป็นทางเลือกที่ง่าย และประหยัดที่สุด จนดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่
โตโยต้า มองไว้ตั้งแต่แรก แต่ถ้าเอาเข้าจริงแล้ว การกดราคาขายปลีกให้ต่ำลงนั้น
จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? รวมถึงการยอมรับของลูกค้า
และการแข่งขันกับคู่แข่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

– มองหารถที่ทำตลาดอยู่แล้วในต่างประเทศ มาผลิตขายในเมืองไทย
กรณีนี้คือ โตโยต้า ไอโก้ (AYGO) รถยนต์ขนาดเล็ก Sub-B-segment
1,000 ซีซี ที่มีขายอยู่แล้วในยุโรป แต่แม้จะเป็นรถที่มีความเป็นไปได้สูง สำหรับ
การผลิตขายในเมืองไทย

ทว่า เมื่อมองจากในแง่ของการผลิตแล้ว เป็นไปได้ยาก
เพราะทุกวันนี้ โตโยต้า จับมือ เซ็นสัญญากับ PSA Group (Peugeot Citroen)
เพื่อผลิตรถยนต์ 3 รุ่น ที่สร้างขึ้นบนโครงสร้างวิศวกรรมร่วมกัน
(โตโยต้า ไอโก้ เปอโยต์ 107 และ ซีตรอง ซี1)
โดยผลิตขึ้นที่โรงงานในสาธารณรัฐเชค ด้วยเพดานกำลังการผลิต 2 แสนคัน

แต่ปัจจุบันนี้ ยอดขายของทั้ง 3 รุ่น ยังเป็นไปได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับหวือหวามาก
และกำลังการผลิต ก็ยังไม่สูงถึงระดับ 2 แสนคัน ตามที่เคยประมาณการไว้

ดังนั้น แล้วโตโยต้า จะตั้งโรงงานใหม่ เพื่อผลิตรถรุ่นนี้ นอกเหนือจากสาธารณรัฐเชค เพื่อประโยชน์อันใดเล่า?

– ไม่เช่นนั้น ก็ต้องมองหารถยนต์ที่อยู่ในความร่วมมือกับ ไดฮัทสุ ผู้ผลิตรถเล็กในเครือ มาผลิตขายในกลุ่มเอเซีย
ทางเลือกนี้ มีตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ โตโยต้า พาสโซ / ไดฮัทสุ บูน (Toyota Passo / Daihatsu Boon)
รถยนต์ขนาดเล็ก 1,000 – 1,300 ซีซี ที่ทำตลาดอยู่ในญี่ปุ่น
ส่วนในตลาดยุโรป ใช้ชื่อ ไดฮัทสุ ซิริออน (Daihatsu Sirion)
และผลิตขายในมาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือกับ เพอโรดัวร์ ในชื่อ เพอโรดัวร์ มายวี่ (Perodua Myvi) ทางเลือกนี้ ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด
เพราะมีการคาดการณ์ล่วงหน้ามานานแล้ว

– ทางเลือกต่อมา คือการลงทุน พัฒนารถเล็กรุ่นใหม่ "โดยอาศัยความร่วมมือ
กับทาง ไดฮัทสุ" ที่จะช่วยให้ต้นทุนในการพัฒนา ถูกลง เป็นอีกทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้สูงมาก

– ทางเลือกสุดท้าย คือ ลงทุนพัฒนาสร้างรถยนต์รุ่นใหม่ "ด้วยตัวเอง"
ทางเลือกนี้ ต้นทุนสูงที่สุด และความคุ้มค่าในการลงทุนนั้น ยังไม่แน่ชัด

แต่อย่างไรก็ตาม 2 ทางเลือกหลังนั้น ต้องการงลลงทุนที่สูงไม่ใช่เล่น เพราะถือเป็นการนำรถโมเดลใหม่
มาประกอบขายในเมืองไทย ดังนั้น โรงงานเกตเวย์ ไม่น่าจะรองรับกำลังการผลิต
ได้เพียงพอ และคงต้องทำให้โตโยต้า เริ่มขยับขยาย พื้นที่เฟส 2 ในโรงงาน
บ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา นั่นเอง

——————-

***HONDA***

พร้อมแล้วตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ สำหรับยักษ์ขนาดกลางคู่รักคู่แค้นในตลาดรถยนต์นั่ง
ฮอนด้า ตั้งใจจะให้โครงการนี้เกิดโดยเร็ว เพื่อจะได้ต่อยอดเป็นภาพจิ๊กซอร์
โครงการรถยนต์ขนาดเล็ก Sub-B-segment ระดับโลก ซึ่งมีฐานการผลิต
ตามจุดต่างๆของโลก โดยมีโครงสร้างต่างๆ เป็นรุ่นเดียวกัน
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าจะบอกว่า ในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายที่
ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ อีโค คาร์ นี้ ฮอนด้า ดูจะพร้อมกว่าใครเพื่อน
เพราะมีกระแสข่าวเล็ดรอดออกมาตั้งแต่ 2 ปีก่อนแล้วว่า แบบพิมพ์เขียว
ของรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ ที่ยังไม่เคยทำตลาดที่ไหนมาก่อนในโลกรุ่นนี้
ใกล้เสร็จสมบูรณ์เต็มทีแล้ว

ดังนั้น คาดว่า ภายในปี 2009 เราจะได้เห็นรถเล็กรุ่นใหม่เอี่ยมจากฮอนด้า
(ที่ไม่ใช่แค่การนำ ฮอนด้า ไลฟ์ รถยนต์ ขนาดกระทัดรัดระดับ K-Car 660 ซีซี ตามกฎหมายญี่ปุ่น มาขยายตัวถัง และความจุเครื่องยนต์) ค่อนข้างแน่นอน

——————-

***NISSAN***

ยักษ์อีกรายแห่งแดนอาทิตย์อุทัย เป็นอีกค่ราย ที่มีแผนการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก รุ่นใหม่ๆ เอาไว้ในใจ แต่ยังคงถูกเก็บงำไว้อย่างมิดชิด

จนกระทั่ง นิตยสาร Autocar ฉบับอินเดีย เปิดเผยโครงการพัฒนารถเล็กรุ่นใหม่ๆ
ของนิสสัน ในอินเดีย ออกมาสู่สาธารณชนรับรู้
ในการนี้ มีรหัสโครงการใหม่ๆ หลุดออกมาที่น่าสนใจ และยังยากต่อการเฉลยปริศนา นั่นคือ
รหัส "X02A" ที่ยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่า เป็นรถยนต์ขนาดใดกันแน่
จะเป็นรุ่นเปลี่ยนโฉมของนิสสัน มาร์ช/ไมครา (March Micra)
รถยนต์แฮตช์แบ็ก 5 ประตู ระดับ ซับ-คอมแพกต์ B-Segment
หรือว่า จะเป็นรถยนต์ระดับที่เล็กกว่า มาร์ช/ไมครา กันแน่

ดังนั้น คงต้องรอกันอีกสักระยะ กว่าที่ความเคลื่อนไหวจากทั้ง อินเดีย ญี่ปุ่น รวมทั้ง ไทย อันเป็น 3 ประเทศหลักที่มีรายชื่อว่าเกี่ยวข้องในโครงการนี้
จะเริ่มเห็นเด่นชัดกว่าที่เป็นอยู่

——————-

***Mitsubishi***

ยังไม่ต้องคาดหวังอะไรมาก สำหรับค่ายสามเพชร เพราะจนป่านนี้ เอาแค่
การเร่งพัฒนาเอสยูวี ไทรทัน จี-แวกอน บนพื้นฐานจากรถกระบะ ไทรทัน
ภายใต้รหัสโครงการ 3E45 รวมทั้ง รุ่นเปลี่ยนโฉมของแลนเซอร์ใหม่ รหัสโครงการ GS41 ให้เสร็จทันปลายปี 2008
ก็แทบจะทำความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ร่วมงานกับมิตซูบิชิมามากพอแล้ว

ดังนั้น ถ้าจะคาดหวังรถยนต์อีโคคาร์ จากมิตซูบิชิ คงต้องรอการศึกษาในรายละเอียดขนานใหญ่กันเสียก่อน และกว่าจะสำเร็จเป็นรุ่นจำหน่ายจริงได้
อาจต้องรอให้รถยนต์ระดับ ซับ-คอมแพกต์ B-Segment ที่ค่อยๆคืบหน้า
ไปอย่างช้ามากๆ สำเร็จพร้อขายจริงราวๆปี 2010 – 2011 เสียก่อน
นั่นหมายความว่า เราอาจจะได้เห็น อีโค คาร์ จากมิตซูบิชิ อย่างเร็วที่สุด
น่าจะเป็นช่วงปี 2011-2012 !!!

——————-

***Mazda / Ford***

คู่หูคู่นี้ ยังอยู่ในระหว่าง ง่วนกับการเตรียมสายการผลิตรถยนต์ซับ-คอมแพกต์ B-Segment รุ่นใหม่ในเมืองไทย ทั้งมาสด้า 2/เดมิโอ
และรุ่นเปลี่ยนโฉม/เปลี่ยนชื่อ ของฟอร์ด ฟิเอสต้า ในยุโรป
ดังนั้น โครงการพัฒนารถยนต์ Sub-B-Segment
ที่จะทำตลาดแทน แฮตช์แบ็กทรงหยดน้ำรุ่น กา (KA)
ไปจนถึงโครงการรถยนต์ขนาดเล็กกว่ามาสด้า 2 ที่น่าจะผลิตขึ้นในชื่อ
"มาสด้า 1"
จึงยังต้องรอดูท่าทีจากทางฟอร์ดกันก่อน

——————-

***Suzuki / Chevrolet***

คู่นี้อาจเป็นไปได้ว่า จะแท็คทีมบุกตลาดรถยนต์ระดับ Sub-B-Sgement
หรือ อีโค คาร์ในบ้านเรา เพราะก่อนการประกาศของ ครม. เพียงไม่กี่สัปดาห์
ซูซูกิ และจีเอ็ม ยุโรป ได้เผยโฉม ซูซูกิ สแปลช และ โอเปิล/วอกซ์ฮอลล์ อาจิล่า (Suzuki Splash / Opel-Vauxhall Agila)
อันเป็นรถยนต์แฮตช์แบ็กขนาดกระทัดรัด ที่มีขนาดตัวถังเล็กกว่า ซูซูกิ สวิฟต์

ขณะเดียวกัน รถใหม่ทั้ง 2 รุ่นนี้ มีเส้นสาย คล้ายคลึงกับ เชฟโรเลต บีท (Beat) 1 ใน 3 รถต้นแบบ ขนาดเล็ก ที่แผนกเชฟโรเลต คาดว่าจะจับมือ
กับ จีเอ็ม-แดวู ทำขายออกมาในไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า รวมกับนัดกันมา

ทำให้เราพอจะมองเห็นว่า
ถ้าซูซูกิ คิดจะว่าจ้าง หรือร่วมมือกับ จีเอ็ม ไทยแลนด์ ให้ช่วยผลิต ซูซูกิ สแปลช ด้วย โดยที่ ทาง จีเอ็ม ต้องผลิต เชฟโรเลต รุ่นใหม่คันนี้ ทำตลาดในไทย
โดยแปะตราของตนเองอยู่แล้ว ความเป็นไปได้ของประเด็นนี้ ถือว่ามีสูงมิใช่เล่นเลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้ คือทางเลือกของแต่ละบริษัทรถยนต์ ที่จะขานรับต่อนโยบายอีโคคาร์ แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยากเกินจะสรุปว่า แต่ละค่าย จะเลือกเดินในแนวทางไหน
และอย่างไร

ดังนั้น เร็วที่สุด ที่เราจะได้เห็นรถยนต์ จากโครงการ อีโคคาร์ ขึ้นโชว์รูมในบ้านเรา
อาจต้องรอกันถึงปี 2009…….

———–///————

Facebook Comments