“CU TOYOTA Ha:mo” งานแถลงรายละเอียดโครงการแบ่งปันรถกันใช้ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในกรุงเทพฯ

คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ มร.เคอิจิ ยามาโมโตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท คอนเน็คเต็ด พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศเปิดตัวความร่วมมือโครงการ “CU TOYOTA Ha:mo” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560

เชื่อมต่อยานพาหนะเข้ากับระบบเครือข่ายด้วยเทคโนโลยี IoT
ทุกวันนี้ โลกของเราเผชิญกับสถานการณ์รอบด้านที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องของประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างก็มีจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและเริ่มเข้าสู่ภาวะสังคมเมือง อีกทั้งเรายังมีแหล่งกำเนิดพลังงานที่หลากหลายมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การเชื่อมต่อยานพาหนะ เข้ากับเครือข่ายด้วยเทคโนโลยี IoT(Internet of Things) จึงกลายเป็นบริการในรูปแบบใหม่สำหรับลูกค้าและผู้คนในสังคม ตลอดจนเป็นรากฐานสำคัญให้ผู้ผลิตรถยนต์รายต่างๆ พัฒนาธุรกิจเพื่อให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงต่อไป
ในปี 2559 โตโยต้าได้ก่อตั้งบริษัท คอนเน็คเต็ด เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการตัดสินใจเรื่องกลยุทธ์และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อยานพาหนะกับระบบเครือข่าย ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว
มร.เคอิจิ ยามาโมโตะ กล่าวว่า “ที่โตโยต้า นอกเหนือจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยียานยนต์เพื่อให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตอย่างคล่องตัวสะดวกสบายไร้กังวลแล้ว เรายังมุ่งบรรลุเป้าหมายอันท้าทายเพื่อพัฒนาการเดินทางอัจฉริยะด้วย โดยในสังคมแห่งการเดินทางอัจฉริยะนี้ ยานพาหนะต่างๆ จะมาพร้อมกับฟังก์ชั่นและอุปกรณ์ใหม่ๆ ซึ่งจะเพิ่มทั้งความน่าสนใจและมูลค่าของรถโดยอาศัยการเชื่อมต่อผู้คน ยานพาหนะ และสังคมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างสรรค์สังคมแห่งการเดินทางอัจฉริยะในท้ายที่สุด”

“Ha:mo” เครือข่ายการเดินทางที่สอดประสานกัน
ด้วยระบบการคมนาคมสำหรับยุคหน้าอย่าง Ha:mo โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาในการเดินทางด้วยการเชื่อมต่อรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ากับระบบขนส่งสาธารณะเพื่อให้การเดินทางสัญจรเป็นไปอย่างราบรื่นและไร้รอยต่อ โตโยต้าเชื่อว่าทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้คือ การนำยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Ultra-compact Electrical Vehicle) มาให้บริการ ทำให้ผู้คนสามารถใช้ร่วมกันเพื่อเดินทางไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระโดยสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้ ระบบการเดินทางแบบ Ha:mo จึงถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น (ในโตโยต้าซิตี้ โตเกียว โอกายาม่า และโอกินาว่า) ประเทศฝรั่งเศส (ในเมืองเกรโนเบิล) และล่าสุด ณ วันนี้ คือที่กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่แรกที่โตโยต้าได้นำเอานวัตกรรมนี้มาใช้
มร.เคอิจิ ยามาโมโตะ กล่าวว่า “Ha:mo คือการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กร่วมกัน ซึ่งเหมาะกับการเดินทางระยะสั้นในสังคมเมือง โดยเมื่อขับรถไปถึงที่หมายแล้ว ผู้ใช้รถ Ha:mo สามารถจอดรถทิ้งเอาไว้ได้เลย Ha:mo ช่วยให้ผู้คนเดินทางจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทางได้ง่ายขึ้น การเปิดตัว Ha:mo ในกรุงเทพฯ ถือเป็นการริเริ่มสร้างต้นแบบของแนวทางการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบ ที่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรในประเทศตลาดเกิดใหม่ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนไทยจะให้การยอมรับ Ha:mo โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในอนาคต”


โครงการนี้มีชื่อว่า “CU TOYOTA Ha:mo” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในโอกาสครบรอบ 55 ปีของการก่อตั้งบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยจะมีการทดลองระบบการแบ่งปันรถกันใช้ ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (EV sharing) เพื่อวิ่งในระยะสั้นๆ ภายในพื้นที่โดยรอบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะจากต้นทางไปยังจุดหมายปลายทางของผู้ใช้งาน
คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ กล่าวว่า “ทางโครงการได้วางแผนเพื่อทำการศึกษาและทดลองระบบการแบ่งปันรถกันใช้ ออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจะเรียกว่าช่วงพัฒนา (ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2562) หลังจากเสร็จสิ้นการดำเนินงานในระยะแรก ทางโครงการก็จะทำการทบทวนและสรุปผล เพื่อเข้าสู่ระยะที่สองในรูปแบบทางธุรกิจเต็มตัว โดยจะเชิญชวนให้ผู้ที่มีความสนใจเข้าร่วมลงทุน เพื่อขยายการให้บริการออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่นๆ
โครงการจะเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป โดยในช่วงระยะเริ่มต้นจะมีรถที่ให้บริการทั้งหมด10 คัน และมีแผนจะเพิ่มจำนวนรถอีก 20 คันในกลางปีหน้า รวมจำนวนรถทั้งสิ้น 30 คันที่จะให้บริการในช่วงระยะเวลา 2 ปี โดยพื้นที่การให้บริการจะครอบคลุมในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสองฝั่ง โดยทางโครงการจะเตรียมสถานีจอดรถไว้ทั้งหมด 12 สถานี กระจายครอบคลุมเพื่อรองรับความต้องการใช้งาน พร้อมทั้งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 10 สถานี และมีจำนวนช่องจอดรถให้บริการทั้งหมด 33 ช่องจอด ทำให้สามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการในการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าทั้ง BTS, MRT และรถโดยสารประจำทาง กลุ่มเป้าหมายในการให้บริการคือนิสิต อาจารย์ บุคลากรและประชาชนทั่วไป โดยผู้ใช้บริการจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของโครงการผ่านระบบออนไลน์หรือมาสมัครด้วยตนเองที่สำนักงานโครงการที่ตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค่าบริการเริ่มต้นที่ 30 บาทต่อครั้ง สามารถใช้รถได้ 20 นาที”
นอกจากนี้ โครงการยังวางแผนที่จะให้ “CU TOYOTA Ha:mo” เป็นเวทีเปิด เพื่อร่วมพัฒนาสู่นวัตกรรมการเดินทางของสังคมในอนาคต โดยมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมจากบุคคลและภาคประชาสังคมในเรื่องระบบการแบ่งปันรถกันใช้ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาสังคม การเปิดโอกาสให้ทั้งบริษัทที่สนใจ นิสิตนักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ และองค์กรต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ ช่วยให้สามารถรวบรวมแนวคิดต่างๆ คัดเลือกแนวทาง พัฒนาแผนโครงการ ตลอดจนทดลองใช้ในพื้นที่จริง ซึ่งจะเป็นแนวทางต่ออนาคตของระบบการแบ่งปันรถกันใช้ในประเทศไทย

 


รองศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม กล่าวว่า “จากวิสัยทัศน์ของเรา เรามุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก โดยสร้างความรู้และนวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เราก่อตั้งโครงการ ’ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ (CU Innovation Hub) เมื่อปีที่แล้วเพื่อเป็นเวทีสำหรับพัฒนาทั้งนวัตกรและนวัตกรรม อันเป็นการปูทางเพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของประเทศที่มีศักยภาพเชิงนวัตกรรมในระดับโลก เพื่อเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิต การเรียนรู้ และการทำกิจกรรมต่างๆ ของคนไทย นอกจากนี้ เรายังพัฒนาโครงการใหญ่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ด้วยชื่อโครงการ ‘เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ’ (CU Smart City) เพื่อเป็นต้นแบบอนาคตของกรุงเทพฯ ในหลากหลายมิติ เช่น เรื่องพลังงาน การเดินทาง สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้น เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับโตโยต้าในโครงการนี้ และพร้อมสนับสนุนโครงการเพื่อร่วมพัฒนาสังคมการเดินทางในอนาคต ภายใต้แนวคิด ‘เวทีเปิดทางนวัตกรรม’ ”

 
คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ กล่าวทิ้งท้าย “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาทางเลือกใหม่สำหรับการเดินทางในสังคมเมือง หัวใจสำคัญก็คือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่ง เพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงวิถีการเดินทาง อันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติที่จะพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน”

Facebook Comments