ค่ายรถยนต์ ร่วมสู้ โควิด-19
จากโรคระบาดร้ายแรงของไวรัส โคโรน่า หรือ โควิด-19 ในครั้งนี้ บรรดาผู้ผลิตในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ต่างพากันร่วมมือในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยจากไวรัส โควิด-19 มาดูกันว่า ใครบ้าง ทำอะไรกันบ้าง
เริ่มด้วย เจเนอรัล มอเตอร์ ที่ปรับโรงงานผลิตระบบส่งกำลัง ให้มาทำการผลิตหน้ากาก หรือ Mask ที่ใช้ในการป้องกันฝุ่นผง หรือละออง เข้าไปในร่างกาย
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องช่วยระบบหายใจ ventilators สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสแล้ว และยังมีโรงงานที่ช่วยผลิตอุปกรณ์ยังชีพอีกหลายชนิด สำหรับทั้งป้องกันแพทย์ พยาบาล ผู้ที่ใกล้ชิดกับคนไข้ หรือช่วยเหลือคนไข้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการประกาศผลิตเมื่อวันที่ 20 มีนาคม และในเวลาเพีจงสัปดาห์เดียว อุปกรณ์ตัวย่างชุดแรกก็สามารถผลิตออกมาให้ได้ตรวจสอบแล้ว
จีเอ็ม ใช้บรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วน ให้เป็นผู้จัดหาชิ้นส่วนในการผลิต อาทิ ชิ้นส่วนจมูกโลหะ สำหรับติดในหน้ากากอนามัย, สายยืดอีลาสติค และวัสดุเฟบริก สำหรับการจัดทำหน้ากาก และใช้วิศวกรของโรงงาน ในการออกแบบและทำการผลิต
จีเอ็ม ประเมินว่า จะสามารถส่งมอบหน้ากากอนามัยล็อตแรก จำนวน 20,000 ชิ้น ในวันที่ 8 เมษายน นี้ โดยตั้งเป้าที่จะทำการผลิตให้ได้ วันละ 50,000 ชิ้น ราว 1.5 ล้านชิ้น/เดือน เมื่อทำงานเต็มเวลา
สำหรับค่ายลัมบอร์กินี่ ที่สั่งหยุดสายการผลิตเมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากการแพร่กระจายของไวรัส โควิด-19 ก็ผันพนักงานบางส่วน มาพัฒนาเพื่อการผลิตอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ PPE อาทิ หน้ากากอนามัย และ สิ่งปกป้องจากการแพร่กระจาย
ขณะที่พนักงานฝ่ายประกอบภายในตัวรถ หันมาทำการผลิตหน้ากากอนามัย ป้องกัน ขณะเดียวกัน ฝ่ายคาร์บอน ไฟเบอร์ และฝ่ายค้นคว้า ก็ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ป้องกัน เพื่อปกป้องแพทย์และพยาบาลจากการแพร่กระจาย ด้วยการใข้การพิมพ์ระบบ 3D และสามารถผลิตได้ 200 ชิ้น/วัน
ผลิตภัณฑ์จาก ลัมบอร์กินี่ ได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัย โบล็อกน่า University of Bologna ในการพัฒนาเบื้องต้น ขณะเดียวกัน ก็ได้รับการรับรองจาก กรมการแพทย์ นำไปทำการทดสอบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชิ้นจาก ลัมบอร์กินี่ ได้ตามมาตรฐาน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลฝรั่งเศส ก็ร้องขอภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อให้ช่วยสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจ ที่ขาดแคลนอย่างหนัก โดยขอให้สนับสนุนจำนวน 10,000 เครื่อง ภายในเวลา 50 วัน นับแต่ต้นเดือนเมษายน จนถึงราวกลาวเดือนพฤษภาคม
เพื่อเป็นการตอบสนองรัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม โดยมี แอร์ลิควิด Air Liquide ที่ถนัดเรื่องก๊าซสำหรับสุขภาพ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ร่วมด้วย กลุ่ม พีเอสเอ, ชไนดอร์ อีเล็คตริค Schneider Electric และ วาเลโอ Valeo ก็จัดทีมงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือ แอร์ลิควิด ในการเพิ่มกำลังการผลิต เครื่องช่วยหายใจ ที่กำลังขาดแคลน
อร์ลิควิด ระบุว่า ต้องใช้ชิ้นส่วนในการผลิตเครื่องช่วยหายใจ ราว 300 ชิ้น รวมทั้งต้องปรับสายการผลิต และเพิ่มผู้ชำนาญในการประกอบเพื่อทำงานให้ได้ทันเวลา ซึ่งบรรดาพนักงานในสายการผลิตรถยนต์ ต่างก็พากันเข้ามาสนับสนุนกันอย่างเข้มแข็ง
หลังจากเริ่มต้นแผนงาน และมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน แผนงานก็ปรับเปลี่ยน โดยมีเป้าหมายใหม่ ที่จะผลิตเครื่องช่วยหายใจให้ได้ 10,000 ชุด ภายในเวลา 50 วัน ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย
ถัดมาเป็นที่ สเปน เมื่อโรงงาน มาร์โตเรลล์ ผู้ผลิตรถยนต์ เซียต ที่เมื่อปีที่แล้ว ผลิตได้ 500,000 คัน ก็ปรับเปลี่ยนสายการผลิต มาเป็นการผลิตเครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติ เพื่อสนับสนุนทางการแพทย์เช่นกัน
วิศวกรของ เซียต พัฒนาเครื่องต้นแบบทั้งสิ้น 13 แบบ โดยร่วมมือกับฝ่ายอีเล็คทรอนิค และผู้ชำนาญด้านคอมพิวเตอร์ ก่อนตัดสินใจเลือกเครื่องที่จะทำการผลิตจริง ด้วยการใช้เครื่องพิมพ์ 3ดี และมอเตอร์จากที่ปัดน้ำฝน นำมาพัฒนา พร้อมอุปกรณ์อีเล็คทรอนิคอีกราว 80 ชิ้น ที่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเล็ต ก่อนนำมาทำการผลิตจริง
วิศวกรของ เซียต ใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียว ในการแปลงสายการผลิตรถยนต์ ให้กลายเป็นสายการผลิตเครื่องช่วยหายใจอัตโนมัตินี้ ด้วยพนักงาน 150 คน และต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ก่อนเริ่มการผลิตจริง เพื่อให้ได้มาตรฐาน
ยังมีภาคอุตสาหกรรมรถยนต์อีกหลายค่าย ที่หันมาร่วมมือกันในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนกับการต่อสู้กับ ไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ในครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยในการทำงาน แต่ทุกคนก็ร่วมมือกัน เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ ในห้วงเวลาที่เดือดร้อนทั่วกันเช่นนี้