แบตเตอรี่ใช้แล้ว หายไปไหน
กระแสความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า มีการใช้งานมาเป็นเวลาค่อนข้างนานพอควร ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นว่า แบตเตอรี่ที่หมดอายุจากการใช้งานในรถยนต์ จะเอาไปไว้ที่ไหน หรือทำลายอย่างไร ไม่ให้เกิดมลภาวะตามมา แม้ว่าประจุของแบตเตอรี่เหล่านั้น ยังพอมีใช้งานประเภทอื่นได้ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานในรถยนต์อีก
ค่ายเจเนอรัล มอเตอร์ เตรียมรายงานนำเสนอในการประชุม แอดวานซ์ ออโตโมทีป แบตเตอรี่ ที่ ดีทรอยต์ เดือนนี้ ด้วยการนำเสนอ เทสล่า พาวเวอร์วอลล์ ที่ได้ร่วมกับ เอเอบี กรุ๊ป ผู้พัฒนาแบตเตอรี่ หรืออุปกรณ์ในการเก็บรักษาประจุไฟฟ้า และมหาวิทยาลัย ดุ๊ก เพื่อแก้ปัญหาการนำแบตเตอรี่มาใช้ซ้ำนี้
ขณะที่ค่ายโตโยต้า ก็พัฒนาร่วมกับ เยลโล่สโตน เนชันแนล ปาร์ค เพื่อติดตั้งแบตเตอรี่นิกเกิล เมตัล ไฮดราย ใช้แล้ว ความจุ 85 กิโลวัตต์/ชม. จาก แคมรี่ ไฮบริด 208 ลูก ในการให้แสงสว่างกับ ลามาร์ บัฟฟาโล แรนซ์ สถานีผลิตไฟฟ้าจากแผงโซล่าร์ และได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกันนี้ให้กับผู้จำหน่ายในญี่ปุ่นเช่นกัน
กระแสการตื่นตัวในการใช้แบตเตอรี่ที่หมดอายุจากการใช้งานในรถไฟฟ้า จะทำให้เกิดธุรกิจชนิดใหม่ขึ้น เนื่องจากความแรงของประจุที่ยังคงเหลืออยู่ในแบตเตอรี่ สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่เพื่อการให้แสงสว่างได้ รวมทั้งยังสามารถชาร์จไฟได้อยู่ แต่ความแรงของประจุที่ได้ ไม่พอเพียงสำหรับการใช้งานในรถยนต์ แต่ยังสามารถใช้ในกิจกรรมอื่น ที่ไม่ต้องการความแรงของประจุไฟฟ้ามากนัก โดย รอยเตอร์ ประเมินว่า มูลค่าของตลาดน่าจะเพิ่มขึ้นจากราวปีละ 6,000 ล้านบาทในปี 2555 ขึ้นเป็น 76,000 ล้านบาทในปี 2560
เจเนอรัล มอเตอร์ พัฒนาแบตเตอรี่ที่ใช้ใน เชฟวี่ โวลต์ ขนาด 16 กิโลวัตต์/ชม. จนสามารถให้การรับประกันได้ 8 ปี หรือระยะทาง 160,000 กม. และยินดีรับซื้อแบตเตอรี่เก่าคืน กรณีที่ลูกค้าต้องการเปลี่ยนแบตลูกใหม่ โดยแบตเตอรี่ชุดเก่าอาจนำไปปรับใช้กับรถจักรยาน ซึ่งประเมินว่าแรงดันประจุของแบตเตอรี่อายุ 10 ปี น่าจะเหลืออยู่ราว 70%
โดยวิศวกรของจีเอ็ม อธิบายว่า ในแต่ละชุดของแบตแตอรี่ สามารถแยกส่วนออกมาได้ และนำไปจัดการด้วยระบบการประจุไฟเข้าแบตเตอรี่วิธีใหม่ ไม่ใช้วิธีที่ใช้ในรถยนต์ แบตเตอรี่เหล่านี้ ก็ยังคงสามารถเก็บประจุไฟฟ้าไว้ใช้งานได้อีกครั้ง สำหรับงานที่ไม่ต้องการแรงดันประจุมากเช่นในรถยนต์