ออกแบบยานยนต์ที่ไม่ต้องใช้คนขับ โดย ลุงอ็อด
ในอดีต การออกแบบภายในของรถยนต์ จะยึดถือผู้ขับขี่เป็นหลัก แต่ลองใช้จินตนาการดู ถึงยานยนต์ในอนาคต หากมียานยนต์ที่สามารถขับขี่ได้เองโดยผู้ขับเพียงแต่นั่งเฉยๆ หลังจากกดปุ่มบังคับให้รถทำงานแล้ว ก็จะหมดหน้าที่ ไม่ต้องทำการขับขี่ใดๆ ไม่ต้องนั่งมองผ่านกระจกบังลมหน้า เพื่อควบคุมตัวรถแต่อย่างใด แล้วการออกแบบห้องโดยสารจะเป็นอย่างไร
นั่นเป็นปัญหาที่นักออกแบบกำลังประสบ สำหรับการออกแบบยานยนต์ไร้คนขับรุ่นแรก ที่จะออกสู่ตลาดในเวลาอันใกล้ ทั้งในแบบที่กึ่งไร้คนขับ หรือรุ่นไร้คนขับเต็มรูปแบบ
“ถ้าหากยานยนต์ไม่จำเป็นต้องมีผู้บังคับควบคุมอีกต่อไป การออกแบบภายในห้องโดยสาร ก็ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้โดยสารให้มากขึ้น” โมเรย์ คัลลัม Moray Callum หัวหน้ากลุ่มผู้ออกแบบฟอร์ด ในอเมริกา กล่าว
ปัจจุบัน มีรถยนต์หลายค่ายที่กำลังทำการพัฒนา รถซึ่งไม่ต้องใช้ผู้ขับขี่เช่นที่ว่า อาทิ เบนซ์ เอส-คลาส ที่กำลังพัฒนารถให้ขับขี่ได้เองในบางสถานการณ์ แต่ก็ยังไม่ออกสู่ท้องตลาด
ตราบใดที่ยานยนต์ยังมีความจำเป็นต้องใช้ผู้ขับขี่อยู่ เช่นในปัจจุบัน การออกแบบภายในห้องโดยสารของรถรุ่นใหม่ๆ ก็ต้องคำนึงถึงผู้ขับขี่อยู่เป็นหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้ห้องโดยสารกลายเป็นห้องประชุมเคลื่อนที่ไปโดยปริยาย
แล้วถ้าคนขับ ไม่มีความจำเป็นต้องทำหน้าที่ขับขี่ เพราะเพียงแค่ขึ้นนั่ง กดปุ่ม รถก็จะสามารถเดินทางไปได้ด้วยตัวเองแล้ว แล้วจะออกแบบภายในอย่างไร นี่คือคำถาม จะออกแบบให้ตั้งเตาหุงข้าวทำอาหาร หรืออย่างไร
นักออกแบบในสายงานอื่น ที่เกี่ยวข้องกับความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร วางแผนเอาไว้มากมายถึงวิธีออกแบบสำหรับรถกึ่งไร้คนขับ แถมยังเสาะหาวัสดุ อุปกรณ์ ที่จะใช้เอาไว้แล้วด้วย อย่างเช่น การโยกเอาระบบพวงมาลัย ระบบการควบคุมออกไปจากหน้าคอนโซล เมื่อใช้งานระบบไร้ผู้ขับขี่ เปลี่ยนมุมของถุงลมนิรภัย เพิ่มพื้นที่วางขา เปลี่ยนมุมเบาะนั่งผู้ขับขี่ สามารถประชุมกันทางวิดีโอได้ทันที ปรับเปลี่ยนการให้แสงสว่างจากเดิม ที่ไม่ต้องการให้รบกวนผู้ขับขี่ มาเป็นความสว่างทั่วทั้งห้องโดยสาร รวมทั้งเพิ่มจุดชาร์จอุปกรณ์พกพาทั้งหลายของคนรุ่นใหม่ ระบบบลูทูธ ใช้ได้ทั้งห้องโดยสาร และสิ่งที่ลืมไม่ได้ คือ การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตโดยเสรี ภายในห้องโดยสารที่กำลังเคลื่อนที่
อย่างไรก็ตาม นักออกแบบก็ยังคงค้องคำนึงถึงรถที่ไม่ต้องการคนขับเหล่านี้ จะต้องอยู่บนสภาพการจราจรที่อยู่ร่วมกับ ยานยนต์ที่ยังมีผู้ขับขี่ อยู่อีกนานนับศตวรรษ เพราะความผิดพลาดจากการตัดสินใจของมนุษย์ ถึงอย่างไรก็ยังคงมีอยู่ แต่สำหรับเครื่องจักร เครื่องยนต์ จะต้องไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นตลอดเวลา
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กำลังทำการทดสอบความเปลี่ยนแปลงของผู้ขับขี่ ที่จะต้องปรับสภาพอารมณ์ตนเอง เมื่ออยู่ในสภาวะที่ต้องสลับไปมา ระหว่างการไม่ต้องเพ่งพิจารณาถนนตรงหน้า เพราะยานยนต์ทำหน้าที่แทนทั้งหมด แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่อุปกรณ์ส่งสัญญาณว่า ต้องการให้ผู้ขับขี่เข้าควบคุมแล้ว ความสามารถในการปรับตัวของผู้ขับขี่ ปรับให้เข้ากับการต้องเผชิญสภาพการจราจร ในทันทีทันใด จะเป็นอย่างไร
ค่ายมิชลินเอง ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และยกเอาเป็นหัวข้อในการประกวดการออกแบบห้องโดยสาร โดยภาพประกอบเป็นของ คิม โด ยอง จากเกาหลีใต้ ที่เลือกใช้รถโฟล์คสวาเก้น มาออกแบบห้องโดยสาร ที่จะเก็บระบบพวงมาลัย ทันทีที่ใช้การขับเคลื่อนด้วยสมองกล