โรงงานฟอร์ดคว้ารางวัลองค์กรส่งเสริมการจ้างงานคนพิการดีเยี่ยมต่อเนื่อง 10 ปี

โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) สะท้อนความมุ่งมั่นในการสร้างความเท่าเทียมในสถานปฏิบัติงาน ด้วยการคว้ารางวัล องค์กรที่ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ระดับดีเยี่ยมต่อเนื่อง 10 ปี จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในงานวันคนพิการสากล ปี 2567 ขณะที่บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฟอร์ด เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด คว้ารางวัล องค์กรที่ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ระดับดีเด่น ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3  

รางวัลเหล่านี้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นอันยาวนานของฟอร์ดในการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมอย่างยั่งยืน โดยเน้นการเปิดโอกาสให้ผู้พิการมีส่วนร่วมในสถานที่ทำงานอย่างแท้จริง พร้อมสนับสนุนทั้งการพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิต ผ่านโครงการและนวัตกรรมที่หลากหลาย อาทิ การติดตั้งโปรแกรม NVDA (Non-Visual Desktop Access) ซึ่งเป็นโปรแกรมอ่านหน้าจอสำหรับระบบปฏิบัติการ Windows เพื่อช่วยให้พนักงานผู้พิการทางการมองเห็นใช้งานคอมพิวเตอร์สะดวกสบายยิ่งขึ้นด้วยฟังก์ชันการอ่านออกเสียง

ซึ่งนอกจากการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ทั้งที่โรงงานเอฟทีเอ็ม และสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพ ฟอร์ดยังได้ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและศักยภาพของพนักงานหลายโครงการ เช่น

โครงการอาสาสมัครทางใจ: สนับสนุนให้พนักงาน ทั้งผู้พิการและคนทั่วไป ร่วมเป็นอาสาสมัครให้คำปรึกษาและรับฟังปัญหาสุขภาพจิตแก่เพื่อนร่วมงาน โดยต้องผ่านการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ

ชมรม Ford Embracing Diverse Abilities (FEDA): ชมรมพนักงานผู้พิการที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมดูแลสุขภาพจิต RUOK?  การให้ความรู้เรื่องการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคม

กิจกรรม CSR: ร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดระยอง จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการมาตรา 33 แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ และช่วยเหลือคนพิการตามมาตรา 35

ตลาดนัดคนพิการ: เปิดพื้นที่ภายในโรงงานเอฟทีเอ็ม ให้ผู้พิการนำสินค้าและบริการมาจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้เสริม ตามมาตรา 35

โครงการนวดผ่อนคลาย ออฟฟิศ ซินโดรม: ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกวิชาชีพหญิงตาบอดสามพราน จัดบริการนวดผ่อนคลายโดยผู้พิการทางการมองเห็นให้กับพนักงาน เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพและเสริมสร้างการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้พิการในสถานที่ทำงานผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างการนวด

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *