5 ยนตรกรรมต้นแบบของมาสด้าเพื่อโลกอนาคต สร้างสรรค์การคงอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้คอนเซ็ปต์ Sustainable Zoom-Zoom

มาสด้ามุ่งมั่นสร้างสรรค์ยนตรกรรมต้นแบบที่เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ด้วยรูปลักษณ์การออกแบบที่มีเอกลักษณ์ ผสมผสานระหว่างความสนุกสนานในการขับขี่ ความเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยอย่างกลมกลืน โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตามแนวคิด ซูม ซูม ในการพัฒนายานยนต์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมาสด้า ซึ่งยานยนต์ต้นแบบทั้ง 5 รุ่น พร้อมอวดโฉมต่อสายตาลูกค้าทั่วโลก รวมถึงลูกค้าชาวไทยด้วยเช่นกัน


มาสด้า ฟูไร “เสียงแห่งสายลม”
เผยโฉมครั้งแรกที่งานนอร์ธอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล ออโต้โชว์ 2008 จัดขึ้นที่เมืองดีทรอยท์ เมื่อเดือนมกราคม 2551
ด้วยแรงบันดาลใจจากความเป็นจริงที่ว่า ทุกๆ วันหยุดสุดสัปดาห์ รถที่ออกมาวิ่งแข่งประลองความเร็วกันบนถนนทั่วสหรัฐอเมริกาจะเป็นรถมาสด้าหรือรถที่ติดตั้งเครื่องยนต์ของมาสด้ามากกว่ายี่ห้ออื่นๆ มาสด้าฟูไรคือรถยนต์ที่ผลิตขึ้นจากการใส่ “จิตวิญญาณแห่งรถสปอร์ต” ลงไปในทุกรายละเอียด หากยังคงไว้ซึ่งวิสัยทัศน์แห่งอนาคตและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยคุณสมบัติที่สามารถรองรับเอทานอล E100 ที่ผลิตโดยบีพีได้
ฟูไร นำแนวคิดการออกแบบ “นากาเร่” (แปลว่า ”เคลื่อนไหว” ในภาษาญี่ปุ่น) อันโดดเด่นมีเอกลักษณ์มาใช้ในการพัฒนายานยนต์ต้นแบบโดยอาศัยโครงสร้างของรถแข่งที่ใช้ในการแข่งขันอเมริกัน เลอมองส์ ซีรี่ส์ (ALMS) รถยนต์คันนี้ยังโดดเด่นเหนือใครในสนามแข่งด้วยแชสซี เคอเรจ ซี65 ที่มาสด้าเพิ่งประกาศให้โลกรู้จักในการแข่งขัน ALMS เมื่อ 2 ซีซั่นที่แล้ว และเครื่องยนต์รถแข่งโรตารี่ 3 โรเตอร์ขนาด 450 แรงม้าอันทรงพลัง
ฟรานซ์ ฟอน โฮลซ์เฮาเซ่น ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ ธุรกิจมาสด้าในอเมริกาเหนือ กล่าวว่า “ฟูไรพยายามลดระดับความแตกต่างระหว่างรถยนต์ที่ใช้งานทั่วไปและรถแข่งที่ใช้ในสนาม ในอดีตอาจจะมีช่องว่างระหว่างรถแข่งกับรถที่ใช้งานจริงหรือซูเปอร์คาร์ที่ผลิตขึ้นโดยถอดแบบมาจากรถแข่ง และฟูไรก็คือรถยนต์รุ่นแรกของโลกที่อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างรถสองกลุ่มนี้”
แนวคิดการออกแบบนากาเร่อันลือลั่นของมาสด้าสื่อถึงความเคลื่อนไหวของสายน้ำ อากาศ ผู้คน หรือสิ่งต่าง ๆ องค์ประกอบของมาสด้านากาเร่ในมาสด้าฟูไรคือความเคลื่อนไหวที่มาพร้อมรูปแบบที่เข้าถึงความต้องการและจิตวิญญาณของผู้ขับขี่ซึ่งปลุกเร้าให้ใคร ๆ ต่างก็อยากครอบครองรถคันนี้


มาสด้า ไทกิ
อวดโฉมในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 40 ตุลาคม 2550
มาสด้า ไทกิ สะท้อนให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนอันหนึ่งของรถสปอร์ตมาสด้าในอนาคตซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยเป็นรถยนต์รุ่นที่ 4 ในดีไซน์ซีรี่ของนากาเระยังได้นำธีมเกี่ยวกับ “ความเคลื่อนไหว” มาขยายผลเพื่อสร้างรูปลักษณ์ใหม่ที่ชวนตื่นตาและเกิดความแตกต่างไปจากรุ่นเดิม ๆ อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับสะท้อนให้เห็นภาพของชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกไว้ ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “ไทกิ” ในภาษาญี่ปุ่น ที่มาของชื่อนั่นเอง
สัดส่วนพื้นฐานของรถเริ่มจากรูปทรงของรถคูเป้ที่ขยายความยาวให้มากขึ้น โดยวางเครื่องยนต์ด้านหน้า ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง โอเวอร์แฮงสั้น พร้อมบอดี้กระจกใสรอบคันให้ความรู้สึกโปร่งเบา โจทย์ท้าทายในการสร้างสรรค์ “ดีไซน์ที่สื่อถึงความเคลื่อนไหวของอากาศ” ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพของ ฮาโกโรโม เสื้อคลุมที่ช่วยให้เด็กสาวผู้สวมใส่บินลอยบนท้องฟ้าได้ในนิทานญี่ปุ่น ส่วนการออกแบบภายในแนวคิดแบบ air-tube มีที่มาจาก โคอิโนโบริ หรือธงรูปปลาคาร์ฟที่กำลังว่ายทวนน้ำ
ด้วยเหตุนี้ ส่วนประกอบต่าง ๆ ตั้งแต่แผงหน้ารถ เบาะที่นั่ง จนถึงคิ้วของประตู และพื้นที่ภายในตัวรถ จึงให้ความรู้สึกที่เคลื่อนไหวได้ราวกับเส้นสายของลมที่กำลังพัดมา ด้านระบบขับเคลื่อน ไทกิอาศัยขุมพลังจากเครื่องยนต์โรตารี่ที่มาพร้อมด้วยเทคโนโลยี RENESIS อันล้ำสมัยจากมาสด้า ซึ่งสร้างมาตรฐานใหม่ทั้งในด้านประสิทธิภาพการขับขี่และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วางเครื่องยนต์ด้านหน้าและขับเคลื่อนล้อหลัง วางที่นั่งสองที่ในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมชุดแต่งสปอร์ตของมาสด้าที่สร้างความรู้สึกโปร่งเบายิ่งขึ้นให้กับตัวรถ ผลลัพธ์จากธีมในการดีไซน์ยังช่วยเสริมสร้างความคล่องตัวตามหลักอากาศพลศาสตร์อย่างดีเยี่ยม


มาสด้า ฮากาเซ่
งานเจนีวา อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 77 เดือนมีนาคม 2550
คำว่า ฮากาเซ ในภาษาญี่ปุ่น ประกอบด้วย “ฮา” หมายถึง “ใบไม้” และ “กาเซ่” หมายถึง “สายลม” จึงเป็นคำผสมที่สมบูรณ์แบบสำหรับใช้เป็นชื่อยานยนต์ที่ดูราวกับวิ่งทะลุผ่านอากาศได้ทั้งที่ยังจอดอยู่เฉย ๆ มาสด้า ฮากาเซ่ เป็นรถที่มีสัดส่วนสุดกะทัดรัด ด้วยความยาวเพียง 4,420 มม. ใกล้เคียงกับมาสด้า3 แฮ็ชแบ็ก จึงให้ความรู้สึกในการขับเคลื่อน ที่คล่องตัวแบบรถสปอร์ต แต่มีความกว้าง 1,890 มม. มากกว่ามาสด้า3 ประมาณ 135 มม. และสูง 1,560 มม. สูงกว่ามาสด้า3 ประมาณ 95 มม. จัดวางตำแหน่งที่นั่งที่สูงกว่า พื้นที่กระจกขนาดใหญ่มาก และช่วงล่างก็มีขนาดใหญ่ ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบที่มักใช้ในการออกแบบรถเอสยูวีในเซ็กเม้นต์ ซี ฮากาเซ มีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูล้ำยุค ไม่มีทั้งที่เปิดประตูและกระจก แต่ใช้กล้องจับภาพจากภายนอกแทน รูปทรงกะทัดรัด เส้นสายรอบคันที่ดูโค้งมนลื่นไหล และพื้นผิวด้านข้างที่บึกบึนและแข็งแกร่ง รถคันนี้ไม่มีเสากลาง (B-pillar) และสองในสามของหลังคากระจกสามารถถอดออกเป็นสองส่วนและเก็บเข้าสู่ช่องเก็บตรงกันชนท้ายรถได้ หน้าต่างไร้โครงทั้งสี่บานวางในตำแหน่งที่ต่ำลงเพิ่มความปราดเปรียว ให้ความสนุกสนานในการขับขี่แบบโรดสเตอร์คูเป้ขนาดสี่ที่นั่ง


มาสด้า เรียวกะ
เผยโฉมต่อสื่อมวลชนครั้งแรกในวันที่ 8 มกราคม 2550 ในงานนอร์ธอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนลออโต้โชว์
มาสด้า เรียวกะ สร้างขึ้นจากแนวคิดที่ว่าด้วยความเคลื่อนไหวของมาสด้า ขณะที่รถต้นแบบ “นากาเร่” ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “ความเคลื่อนไหว” เปิดตัวครั้งแรกในงานลอสแองเจลีส ออโต้โชว์ พร้อมกับการแนะนำแนวคิดด้านดีไซน์ในอนาคตของมาสด้า ส่วน เรียวกะ ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “เคลื่อนไหวอย่างสง่างาม” และเป็นแนวคิดด้านดีไซน์แห่งอนาคตนั้นเป็นการสะท้อนถึงเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปอีกขั้นในการใช้เส้นสายโครงสร้างที่หลากหลาย เทคนิคการประกอบ และรายละเอียดต่าง ๆ ที่แฝงอยู่ มาสด้า เรียวกะ จึงเป็นยานยนต์ที่สวยสง่างาม หากคงแฝงไว้ซึ่งจิตวิญญาณและความเฉียบคมอย่างเต็มเปี่ยม สะท้อนถึงความงามแบบญี่ปุ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ลอเรนส์ แวน เดน แอคเกอร์ ผู้อำนวยการด้านดีไซน์ของมาสด้า กล่าวว่า “เรียวกะ พัฒนาขึ้นตามแนวคิด “ซูม-ซูม” ด้วยการผสมผสานความปราดเปรียว ความมั่นใจ ความสนุกสนาน และความสดใหม่ภายใต้รูปลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร”

Facebook Comments
CarOnline Team

Recent Posts