มูลนิธิโตโยต้าโมบิลิตี้ เปิดตัวโครงการ Sustainable Cities Challengeเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนภายในระยะเวลา 3 ปี จับมือหน่วยงานของเมือง และนักพัฒนา ร่วมแก้ไขปัญหาของเมือง
• ภายใต้เป้าหมายเพื่อสนับสนุนเมืองต่างๆ ในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปรับปรุงการเข้าถึงการเดินทาง และการใช้ข้อมูลเพื่อระบบขนส่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว
• 3 เมืองของโลกที่ได้รับการคัดเลือก จะได้ทำงานร่วมกับนักพัฒนา เพื่อค้นหาวิธีการเอาชนะอุปสรรคด้านการเดินทาง ภายใต้บริบทของเมืองนั้นๆ
มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ ร่วมกับ Challenge Works และ World Resources Institute เปิดตัวโครงการระดับโลกมูลค่า 9 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยให้เมืองต่างๆ สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนนับล้านทั่วโลก
ในขณะที่เมืองต่างๆ ได้เติบโตขึ้น ความท้าทายในการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้า ที่มีความน่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมสำหรับทุกคนเป็นสิ่งที่สำคัญ ในขณะเดียวกันโอกาสในการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าด้านการขนส่ง การออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน การดำเนินงาน ทางเลือกด้านพลังงาน และระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงกันมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
โครงการ Sustainable Cities Challenge มีเป้าหมายในการพัฒนาชีวิตของผู้คน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงงาน การศึกษา และบริการที่จำเป็นอื่นๆ โดยโครงการนี้จะนำหน่วยงานของเมืองมาทำงานร่วมกับนักพัฒนา เพื่อค้นหาวิธีการเอาชนะอุปสรรคด้านการเดินทาง โดยมีเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การปรับปรุงการเข้าถึงการเดินทาง และการใช้ข้อมูลเพื่อระบบขนส่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว
ไรอัน เคลม ผู้อำนวยการโครงการของมูลนิธิ โตโยต้า โมบิลิตี้ เปิดเผยว่า “จากประสบการณ์ในการทำกิจกรรมของเราในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมของเมืองมีความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองเป็นอย่างมาก ตลอดโครงการ Sustainable Cities Challenge เรามีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานของเมือง ในการมองหานวรรตกรรมใหม่ๆ เพื่อการแก้ปัญหาที่สำคัญ และสามารถนำไปขยายผลสำหรับเมืองอื่นๆ ต่อไป”
การเข้าร่วมโครงการ
ในขั้นตอนแรก เปิดโอกาสให้ผู้นำ และหน่วยงานของเมือง หน่วยงานด้านการขนส่ง และหน่วยงานท้องถิ่นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถส่งหัวข้อที่สนใจหนึ่งหัวข้อหรือมากกว่า ภายใต้หัวข้อดังต่อไปนี้
• การขยายการเข้าถึงการเดินทางที่ปลอดภัย ในราคาที่เข้าถึงได้ และครอบคลุมสำหรับทุกคน
• การใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงเพื่อการเดินทางที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว
• การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการหาทางออกด้วยวิธีที่ทำให้เกิดปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ และการใช้พลังงานหมุนเวียน
เมืองที่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการอบรมที่สถาบันการเสริมสร้างศักยภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา และจะได้รับการสนับสนุนในการร่วมพัฒนาวิธีการแก้ปัญหา รวมถึงจะได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายของเมืองแห่งนวัตกรรมอื่นๆ
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เมืองที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 3 แห่ง จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน City Challenge เพื่อให้เหล่านักพัฒนา จากทั่วโลก ซึ่งอาจจะมาจากเมืองหรือประเทศนั้นๆ เอง ได้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่สามารถใช้ได้กับเมืองที่ได้รับการคัดเลือก
นักพัฒนาที่ชนะการคัดเลือกในแต่ละเมือง จะได้รับการประกาศผลในช่วงปลายปี พ.ศ.2567 เมืองต่างๆ และนักพัฒนาจะได้รับการจัดสรรปันส่วนจากเงินสนับสนุน 9 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปดำเนินการทดสอบในการแก้ปัญหา
เพิ่มทางออกในการเดินทางเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น
หลายเมืองกำลังปรับตัวเข้ากับพฤติกรรม และวิถีชีวิตใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงการใช้เครื่องมือผ่านช่องทางออนไลน์ มากขึ้น และการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ในขณะที่ปัจจุบันประชากรมากกว่าครึ่งของโลกอาศัยอยู่ในเมือง สหประชาชาติได้คาดการณ์ว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งเมืองต่างๆ เหล่านี้ เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 70% ทั่วโลก
Sustainable Cities Challenge ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ โดยร่วมมือกับ Challenge Works และ World Resources Institute ซึ่งทาง Challenge Works เป็นผู้นำระดับนานาชาติในการพัฒนาโครงการท้าทายเพื่อขับเคลื่อนความคิดใหม่ๆ และหาทางออกที่สร้างสรรค์สำหรับปัญหาที่สังคมต้องเผชิญอยู่ ส่วน World Resources Institute ซึ่งเป็นองค์กรด้านการวิจัยระดับโลก ก็จะทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน ในขณะที่ยังสามารถรักษาธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันได้
เคที นอทสไตน์ หัวหน้าฝ่าย Future Cities ของ Challenge Works กล่าวเสริมว่า “ผู้คนที่มีความสามารถทั่วโลกกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อหาทางออกที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อช่วยให้การเดินทางเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่พยายามลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โครงการ Sustainable Cities Challenge จะช่วยเชื่อมโยงนักพัฒนาเหล่านั้นกับเมืองต่างๆ เพื่อทำการทดสอบ และปรับเปลี่ยนวิธีการตามความต้องการของพื้นที่นั้นๆ เพื่อปรับปรุงชีวิตของผู้คน ความท้าทายเช่นนี้จะเป็นแรงกระตุ้นเพื่อเร่งให้เกิดนวัตกรรมในสภาพแวดล้อมจริง”
นอกเหนือจากการช่วยให้เมืองลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว การเปลี่ยนระบบการเดินทาง จะช่วยให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีประชากรมากกว่า 1.2 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ไม่สามารถเข้าถึงบริการหลักอย่างน้อยหนึ่งบริการ หรือมากกว่านั้น
เบน เวลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายการขนส่งแบบบูรณาการและนวัตกรรมที่ Ross Center for Sustainable Cities ของ World Resources Institute กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมืองต่างๆ ต้องการนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเดินทางที่ยั่งยืน ลดการปล่อยมลพิษ ส่งเสริมสุขภาพ และเพิ่มการเข้าถึงงาน และโอกาสสำหรับทุกคน โครงการ Sustainable Cities Challenge ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับเมืองต่างๆ ในการเพิ่มศักยภาพและสนับสนุนนักพัฒนาในการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่”