เพิ่งจะเขียนข่าวเรื่องโครงสร้างตัวถังระดับโลกไปหมาดๆ ก็ให้มีข่าวที่น่าจะเขียนถึงอีกครั้ง เมื่อค่ายโตโยต้า เปิดแนวรุกระดับโลกด้วยการประกาศสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเม็กซิโก กำลังการผลิต 200,000 คัน และขยายโรงงานที่เมืองกวางเจา ทางตอนใต้ของประเทศจีน กำลังการผลิต 100,000 คัน และเมื่อรวมกับอีก 2 โรงงานเดิม จะเป็นกำลังการผลิตในประเทศจีน 1.1 ล้านคัน
สายการผลิตของโรงงานทั้งสองแห่งนี้ จะเป็นสายการผลิตแบบใหม่ ที่โตโยต้า ได้พัฒนาขึ้นแบบเรียบง่าย ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต สามารถปรับเปลี่ยนรุ่นรถและแบบได้ตลอดเวลา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้ความปลอดภัยสูง โดยมีสายพานอยู่เหนือศีรษะของพนักงาน เครื่องมือที่ใช้ก็ติดตั้งอยู่กับพื้นให้ได้หยิบฉวยได้ง่าย
ประธาน อะคิโอะ โตโยดะ ประกาศที่ประเทศญี่ปุ่น ถึงการลงทุนครั้งใหม่นี้ เพื่อเป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาตัวเองให้ทำดียิ่งขึ้น ไม่ได้หมายความว่าต้องการจะทำให้ยอดการผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่เพื่อเป็นการจัดหายานยนต์ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า ด้วยพนักงานที่มีความชำนาญ โดยการลงทุนครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญที่จะพัฒนาสายการผลิตที่มีประสิทธิผล ให้ประสบความสำเร็จ
โตโยต้า ได้ชะลอการก่อสร้างโรงงาน หรือสายการผลิตใหม่ เพื่อค้นคว้าปรับปรุงในการเพิ่มประสิทธิผลในการผลิต รวมทั้งลดการปรับโฉมรถในหลายประเทศ และลดการลงทุนใหม่ๆ มาแล้ว 3 ปี ซึ่งปัจจุบัน โตโยต้า ได้ใช้กำลังการผลิตจากทุกโรงงานในโลกนี้ ประมาณ 90% ของกำลังการผลิตจริง โดยสายการผลิตที่พัฒนาใหม่นี้ รวมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือใหม่ๆ จะสามารถลดการลงทุนได้ราว 40% เมื่อเทียบกับการลงทุนในปี 2551 เพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดรถยนต์ของโลก
ในเม็กซิโก โตโยต้า จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ ที่เมือง กัวนาจัวโต้ Guanajuato โดยจะผลิตรุ่น โคโรลล่า และรถขนาดกลาง เพื่อส่งจำหน่ายในอเมริกาเหนือ โดยจะเป็นสายการผลิตที่ปรับปรุงใหม่ รวมทั้งผลิตด้วยโครงสร้างที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานในระดับโลก โดยสายการผลิตจะเริ่มได้ในปี 2562 ย้ายการผลิตจาก ออนตาริโอ แคนาดา มายังโรงงานใหม่นี้ โดยมีโรงงานอีก 2 แห่ง ที่ เคนตักกี้ และ อินเดียน่า ผลิตป้อนตลาดด้านนี้ เงินลงทุนราว 1 พันล้านเหรียญ จ้างงาน 2,000 ตำแหน่ง
ส่วนในประเทศจีน โตโยต้า มีโรงงานอยู่ในกวางเจา อยู่แล้ว 2 โรง แต่โรงใหม่นี้ จะใช้สายการผลิตที่ปรับปรุงใหม่เช่นกัน และจะทำการปรับปรุงโรงงานเดิมทั้งสองแห่ง ให้อยู่ในมาตรฐานใหม่ด้วย เงินลงทุนราว 440 ล้านเหรียญ ปริมาณการผลิต 100,000 คัน เริ่มดำเนินการได้ในปี 2560
โตโยต้า ร่วมทุนกับรัฐบาลจีน กวางเจา ออโตโมไบล์ กรุ๊ป มีโรงงานอยู่แล้ว 2 โรง ปริมาณการผลิตปีละ 360,000 คัน เป็นรุ่น เอสยูวี ไฮแลนเดอร์, เก๋ง แคมรี่ และ ยาริส โดยมีโรงงานในประเทศจีนทั้งหมด 5 โรง ปริมาณการผลิต 960,000 คัน และเป็นรถยนต์ญี่ปุ่นอันดับหนึ่งในประเทศจีน โดยโรงงานแห่งใหม่นี้ รวมทั้งการปรับปรุงโรงงานเดิม จะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตทั้งหมดเป็น 1.1 ล้านคัน
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…