โตโยต้า วางแผนพัฒนาโครงสร้างตัวรถ เพื่อใช้งานในการออกแบบรถรุ่นต่างๆ ไว้ใช้งานทั่วโลก ใช้ชื่อว่า โตโยต้า นิว โกลบอล อาร์ชิเทคเจอร์ Toyota New Global Architecture (TNGA) เพื่อให้เป็นค่ายรถยนต์ระดับโลก ที่ไม่เพียงจะผลิตรถออกจำหน่ายได้มากที่สุดเท่านั้น แต่จะต้องสามารถทำผลกำไรได้เช่นกัน ซึ่งมาตรการหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ก็โดยการออกแบบโครงสร้างตัวรถ TNGA รุ่นแรก เพื่อใช้เป็นโครงสร้างสำหรับรถขนาดกลาง ที่จะสามารถพัฒนาเป็นรถรุ่นใหม่ๆ ได้ต่อไป
ในอุตสาหกรรมยานยนต์ การใช้โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานแบบเดียวกัน แต่สามารถยืดหยุ่นได้ในชิ้นส่วนที่ไม่มีความสำคัญ พิสูจน์แล้วว่าสามารถย่นระยะเวลาการพัฒนาได้เร็วขึ้น และสามารถลดค่าใช้จ่ายต้นทุนได้อย่างยั่งยืน โดย โตโยต้าเริ่มต้นการใช้โครงสร้างมาตรฐานเดียว เพื่อให้สามารถแบ่งปันชิ้นส่วนอะไหล่ และชิ้นส่วนระบบช่วงล่าง ประเมินว่า จะสามารถลดความจำเป็นในการจัดหาชิ้นส่วน แยกย่อยในแต่ละรุ่นได้ราว 20% หรือมากกว่า ด้วยการใช้โครงสร้างมาตรฐานเดียวกัน
แต่ไม่เพียงลดต้นทุนได้เท่านั้น ยังมีเรื่องของพละกำลังและประสิทธิภาพของตัวรถด้วย เพราะการออกแบบโครงสร้างตัวรถ วิศวกรได้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งการวางเครื่องยนต์ อันจะช่วยลดศูนย์กลางศูนย์ถ่วงของรถลง รวมทั้งเจาะจงถึงการลดนำ้หนักชิ้นส่วนอุปกรณ์มาตรฐานในตัวรถ และสามารถเพิ่มความทนทานต่อการบิดตัวของตัวถัง ได้ราว 30-60% ด้วยการใช้วัสดุทนแรงดึงสูง และเทคโนโลยีการเวลดิ้ง-เชื่อมต่อ สมัยใหม่ ที่ใช้เลเซอร์ ทดแทนการเวลดิ้ง-เชื่อมต่อ แบบดั้งเดิม
ระบบการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ ก็ได้พัฒนาใหม่ คุยว่าจะสามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึน ราว 25% และให้กำลังมากกว่าเดิม 15% ด้วยการปรับปรุงการทำงานของการจุดระเบิดภายในเครื่องยนต์ และลดความฝืดที่เกิดจากการส่งกำลังลง ขณะที่มีการปรับปรุงระบบไฮบริดเช่นกัน โดยตั้งเป้าหมายให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึ้น 15% จากการปรับปรุงผังระบบขับเคลื่อน และการออกแบบมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนระบบกระแสไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ให้มีขนาดเล็กลง
เจ้าโครงสร้างตัวถังระดับโลกใหม่ TNGA นี้ จะสามารถเปิดตัวได้ในปีนี้ โดยอาจเริ่มที่ พริอุส รุ่นต่อไป โดยแยกโครงสร้างตัวถังออกสำหรับรถคอมแพค รถใหญ่ และรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ส่วนโครงสร้างสำหรับรถขับเคลื่อนล้อหลังแบบใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับยี่ห้อ เล็กซัส ก็จะพัฒนาใหม่ด้วย ประเมินว่า อย่างเร็วภายในปี 2020 หรือ 2562 รถยนต์ที่ขายอยู่ทั่วโลกกว่าครึ่ง จะใช้โครงสร้างรุ่นใหม่นี้
นอกเหนือจากนั้น โตโยต้า ยังพัฒนาวิธีการผลิตด้วย หลังจากระงับโครงการก่อสร้างสายการผลิตใหม่ ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อให้ร่วมกันปรับปรุงวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และสามารถเพิ่มประสิทธิผลจากการผลิตแต่เดิม 70% ในปี 2552 เพิ่มขึ้นเกือบได้ 90% ในปัจจุบัน รวมทั้งยังพยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายในการเริ่มสายการผลิตรถรุ่นใหม่ โดยหวังจะตัดงบประมาณการลงทุน ที่ต้องการเพิ่มการผลิตรถรุ่นใหม่ลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง เปรียบเทียบกับงบประมาณในปี 2551 ซึ่งรวมถึงการผลิตเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลังแบบใหม่ และชิ้นส่วนต่างๆ ด้วย
โตโยต้า คาดหวังที่จะเดินสายการผลิตรถยนต์ ที่ก้าวล้ำหน้ากว่าค่ายอื่น นอกเหนือจากใช้ยอดขายเป็นเป้าหมายเพียงอย่างเดียว
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…