โตโยต้าเปิดศูนย์การเรียนรู้ “ชีวพนาเวศ” ต้นแบบเมืองสีเขียวสู่ความยั่งยืน

เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน
ทรงเปิดศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน “ชีวพนาเวศ” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิม
พระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ณ โรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมี มร.เคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ตัวแทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน ผู้แทนจำหน่าย ผู้ผลิตชิ้นส่วน บริษัทในเครือ ชุมชนฉะเชิงเทรา และสื่อมวลชน ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ
เมื่อวันพุธที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา


จากการดำเนินธุรกิจของโตโยต้าในประเทศไทยมามากกว่า 50 ปี โดยมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความสุขสู่สังคมไทย ด้วยการเป็นองค์กรที่ดี มีจิตสำนึกรับผิดชอบและร่วมพัฒนาสังคมไทย โดยหนึ่งในความมุ่งมั่นและตั้งใจของโตโยต้า คือ ด้านอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันดำเนินงานภายใต้โครงการ “โตโยต้าเมือง
สีเขียว หรือ Toyota Green Town” เพื่อก่อให้เกิดการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนครอบคลุมทั่วประเทศ
ด้วยนโยบายของโตโยต้าที่ต้องการให้อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อมอยู่คู่กันได้อย่างกลมกลืน โตโยต้า
จึงเริ่มต้นการปลูกป่านิเวศ ในโรงงานบ้านโพธิ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2551 และในปีต่อมาได้ต่อยอดริเริ่มโครงการ
โตโยต้าไบโอโทป แห่งแรกขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด
และกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ในพื้นที่ของโรงงานประกอบรถยนต์บ้านโพธิ์ ด้วยเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการดูแลสิ่งแวดล้อม ประกอบกับองค์ความรู้ และเครือข่ายที่มี ในปี พ.ศ. 2559 จึงต่อยอดโครงการโดยเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ให้กลายเป็น ศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน “ชีวพนาเวศ”
โดยชื่อ “ชีวพนาเวศ” เกิดจากการรวมกันของคำว่า
ชีว ที่มีความหมายว่า “ชีวิต”
พนา ที่มีความหมายว่า “ป่า”
เวศ ที่มีความหมายว่า “ที่อยู่”

  รูปบน ก่อนนั้น

รูปล่าง ปัจจุบัน
บนพื้นที่กว่า 60 ไร่ ของศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน “ชีวพนาเวศ”นั้น
เกิดจากความมุ่งมั่นของโตโยต้าที่อยากเห็นคนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชีวิตและปัจจัย 4 ของมนุษย์ ผ่านการเรียนรู้ และสัมผัสประสบการณ์จริงในห้องเรียนธรรมชาติ โตโยต้าจึงได้ร่วมมือกับ มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย)
หรือ FEED และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ
ในการให้บริการสิ่งแวดล้อมศึกษา ร่วมพัฒนาหลักสูตรสำหรับนักเรียน โดยภายในปี พ.ศ. 2559 นี้ จะเริ่ม
การทดลองหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา ณ “ชีวพนาเวศ” กับโรงเรียนมัธยมในจังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนจะมีการวัดผล
และขยายผลต่อไปในอนาคต
ภายในชีวพนาเวศประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1. ป่านิเวศ
โครงการป่านิเวศในโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 5 “โรงงานแห่งความยั่งยืน” จากเครือข่ายโตโยต้าทั่วโลก โดยในพื้นที่ป่านิเวศกว่า 30 ไร่ ของโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์นั้น ใช้หลักการปลูกป่านิเวศอย่างยั่งยืนตามแนวคิดของ ศ.ดร. อาคิระ มิยาวากิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโยโกฮาม่า และผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยานานาชาติประจำประเทศญี่ปุ่น ที่ช่วย
ร่นระยะเวลาการเจริญเติบโตเป็นป่านิเวศได้เร็วขึ้นนับ 10 เท่า และต้นไม้มีอัตราการอยู่รอดสูงกว่า 90%
ซึ่งในปัจจุบันมีพันธุ์ไม้ท้องถิ่นกว่า 43 สายพันธุ์ในป่านิเวศแห่งนี้

2. โตโยต้าไบโอโทป
ไบโอโทป คือการสร้างระบบนิเวศธรรมชาติ ให้ต้นไม้ได้มีการเติบโตเหมือนสภาพป่าตามธรรมชาติจริง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นบ้านของพืช สัตว์ และสื่งมีชีวิตอื่นๆ ที่จะมาเติมเต็มระบบนิเวศให้มีความสมบูรณ์ โดยไบโอโทปที่โตโยต้าบ้านโพธิ์ ถือเป็นไบโอโทปแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” ผ่านการจำลองสภาพสังคมพืชป่าแบบต่างๆ ตามระดับความสูงจากน้ำทะเล เช่น สังคมพืชป่าดิบ สังคมพืชป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง สังคมพืชพื้นที่ชุ่มน้ำป่า เช่น ป่าน้ำกร่อย และป่าชายเลน โดยในปัจจุบันมีสิ่งมีชีวิตที่มาอาศัยอยู่ในพื้นที่กว่า 218 ชนิด
ในพื้นที่ 30 ไร่ ของโตโยต้าไบโอโทป

3. อาคารแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
ภายในอาคารประกอบด้วย ห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ที่จัดแสดงโครงการในพระราชดำริ
ด้านสิ่งแวดล้อม และห้องนิทรรศการเกี่ยวกับระบบนิเวศบนดิน และใต้ดิน ซึ่งจัดแสดงโดยการใช้
“ต้นโพธิ์” อันเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นดั้งเดิม และเป็นสัญลักษณ์ของบ้านโพธิ์ มาใช้เป็นตัวแทนของถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ทั้งบนดินและใต้ดิน

 

การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน “ชีวพนาเวศ” แห่งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายการสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโตโยต้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
ชีวพนาเวศจะเป็นต้นแบบเมืองสีเขียว ที่ทำให้เด็กและเยาวชน ตระหนักถึงความสำคัญและร่วมกันรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ อันเปรียบเสมือนแหล่งความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ต่อไป ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนความสุขสู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน 

Facebook Comments
Thunyaluk Seniwongs

Recent Posts