คู่ต่อสู้จากญี่ปุ่น ฮอนด้า ส่งต้นแบบ วิชั่น เอ็กซ์เอส-1 นำเสนอในแบบ เอสยูวี ขนาดเล็ก คันสีฟ้า เหลือบดำด้านบน ประตูข้างละบานเดียว เปิดเลื่อนไปด้านหลังยาวตลอด ออกแบบโฉบเฉี่ยวเข้ากับยุคสมัย แม้ว่าจะตัวเล็ก แต่ก็มี 7 ที่นั่ง ให้คนแถวสามต้องป่ายปีนเข้าประตูข้างไปเอง แต่ก็ไม่ควรจะเป็นรถที่ผลิตในเชิงพาณิชย์แน่นอน
ฮอนด้า เองก็ยอมรับว่าไม่มีแผนการผลิตรถรุ่นนี้ แต่สร้างรถต้นแบบขึ้นมา เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นว่า ฮอนด้า ให้ความสนใจกับรถรุ่นเล็ก ที่จะเป็นรุ่นที่เติบโตในอนาคตแน่นอน
ค่ายโฟล์คสวาเก้น ก็นำเสนอรถต้นแบบ ไทกัน Taigun ที่แนะนำไปแล้วในงาน เซาท์เปาโล มอเตอร์โชว์ โดยยังไม่ปรับปรุงขนาดตัวรถ ที่ยังคงสั้นกว่า นิสสัน จู๊ค อยู่ราวหนึ่งฟุต ออกแบบให้เป็น เอสยูวี ขนาดเล็ก สำหรับใช้ในชนบท ด้วยสี “ส้มพิเศษ”
เครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ 1.0 ลิตร ไดเร็คอินเจ็คชั่น เทอร์โบ พร้อมเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ที่ โฟล์ค คุยว่า ทำ 0-100 ได้เพียง 9.2 วิ. และประหยัดนำ้มันราว 50 ไมล์/แกลลอน ตามมาตรฐานยุโรป และคาดว่าคงจะขึ้นสายการผลิตในไม่ช้านี้
ตามมาด้วยค่ายอเมริกันอีกค่าย เชฟโรเลต มีรถต้นแบบ อะดรา Adra คันสีเหลืองมะนาว มานำเสนอ ด้วยฝีมือการออกแบบของ ศูนย์เทคนิคของเจเนอรัล มอเตอร์ ในเมือง บังกาลอร์ Bangalore อินเดียนี่เอง ในแนวทางของ เอสยูวี ตัวรถสูง ทำให้ได้ตำแหน่งนั่งที่ค่อนข้างสูง แต่ได้ทัศนวิสัยที่ดี รูปทรงจะเป็นแนวทางเดียวกับรถยนต์เชฟโรเลต ทั่วโลก
จีเอ็ม ไม่ระบุแผนการผลิตต้นแบบคันนี้ และไม่แจ้งรายละเอียดทางเทคนิคใดๆ แต่ดูจากภาพรวมแล้ว รถคันนี้น่าจะเกือบพร้อมสำหรับการขึ้นสายการผลิตได้แล้ว
และก็มาถึงค่ายอีซูซุ แนะนำ อีซูซุ ดี-แมกซ์ สเปซแค็บ เป็นกระบะเจ้าแรกในอินเดีย มุ่งเจาะลูกค้าที่เป็นเจ้าของและใช้งานด้วยตัวเอง โดย มร.ทากาชิ คิกูชิ ประธานอีซูซุ มอเตอร์ อินเดีย มาแนะนำด้วยตัวเอง เพราะตลาดกระบะมากถึง 35 เปอร์เซนต์ ของรถเพื่อการพาณิชย์ พร้อมประเมินว่า ตลาดรถกระบะในอินเดีย จะเป็นอันดับหนึ่งของโลก ในปี 2566
ดี-แมกซ์ สเปซแค็บ ใช้เครื่องยนต์ ดีเซล 2.5 ลิตร ให้กำลัง 100 กิโลวัตต์ ราว 134 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ โดยจะประกอบที่โรงงาน ฮินดูสถาน เมืองเชนไน โรงงานแห่งเดียวกับที่ประกอบ มิว-7
อีซูซุ อินเดีย เพิ่งเริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 เริ่มด้วยการสั่งนำเข้ารถกระบะจากประเทศไทย และปัจจุบัน เริ่มการประกอบด้วยตัวเอง
อีซูซุ แต่งรถกระบะคันสีน้ำเงินให้เป็นตัวแข่งขัน แรลลี่ ชิงแชมป์ประเทศไทย หมายเลข 9 ขับโดย วีระพจน์ บุญช่วยเหลือ ออกแสดงด้วย
ค่ายจากัวร์ ส่งรถต้นแบบ ซี-เอ็กซ์17 C-X17 มานำเสนอ สำหรับสปอร์ต ครอสโอเวอร์ คันสีนำ้เงินสด ที่เพิ่งแนะนำในงาน แฟรงค์เฟิร์ท มอเตอร์ โชว์ ปีก่อน หลังคาแก้ว พร้อมเทคโนโลยีอินเตอร์แอคทีฟ ทัชสกรีน สำหรับผู้โดยสารทั้ง 5 ที่นั่ง ที่จะสามารถติดต่อกับโลกภายนอก ได้ด้วยตัวเอง ประตูด้านหลังจะมีตัวจับสัญญาณความเคลื่อนไหวด้านนอก อาทิ จักรยาน ขณะเปิดประตู เพื่อความปลอดภัย
ต้นแบบคันนี้ จากัวร์ ออกแบบโดยให้นำ้หนักเบาที่สุด ใช้โครงสร้างอลูมิเนียม และจะเป็นโครงสร้างต้นแบบสำหรับรถนั่งขนาดกลางของจากัวร์ ทั้งหมด โดยจะออกสู่ตลาดได้ในปีหน้า มีเครื่องยนต์ทั้งเบนซิน และดีเซล ประกอบในประเทศอังกฤษ พร้อมเครื่องเสียงเซอร์ราวด์ ลำโพง 28 ตัว
ค่ายเฟียต จากอิตาลี เตรียมบุกอินเดียเต็มที่ เปิดตัวครอสโอเวอร์ อัฟเวนทูร่า Avventura สีน้ำตาล พร้อมบรรทุกจักรยานมาสองคัน พัฒนาจากโครงสร้างของรุ่น แกรนด์ ปุนโต และใช้ชิ้นส่วนร่วมกันหลายชิ้น เครื่องยนต์ดีเซล 1./3 ลิตร มัลติเจ็ท ให้กำลัง 90 แรงม้า แรงบิด 200 นิวตันเมตร พร้อมเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และจะมีเครื่องยนต์เบนซิน ให้เลือกด้วย
อัฟเวนทูร่า ยกตัวเองสูงจากพื้น 200 มม. พร้อม เอบีเอส ถุงลมนิรภัยคู่ จะมาเป็นคู่ต่อสู้ของ โตโยต้า เอทีออส ครอส และ โฟล์คสวาเก้น ครอส โปโล ในตลาดอินเดีย
อีกรุ่นที่ทำตลาดอยู่แล้ว ก็เอามาไมเนอร์เชนจ์ ลิเนีย Linea จะเข้าตลาดต้นเดือนมีนาคม ดีไซน์กระจังหน้าใหม่ และตกแต่งภายในให้หรูหราขึ้น ทำเป็นทูโทน ระบบเครื่องเสียงพร้อม บลูทูธ เซ็นเซอร์ ตรวจจับนำ้ฝน ครุยซ์คอนโทรล เซ็นเซอร์เตือนขณะจอด
ขณะเดียวกัน เฟียต ก็เปิดตัวรุ่นแรง อะบาร์ท 500 Abarth อย่างเป็นทางการ มาพร้อมเบาะแบบสปอร์ต ซันรูฟ ไฟซีนอน ถุงลมนิรภัย 7 ใบ เอบีเอส พร้อม อีบีดี และระบบช่วยเบรกด้วยไฮดรอลิค เซ็นเซอร์เตือนขณะจอด และระบบเสียงอย่างยอด