เทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน มีการพัฒนาก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว ในยุคของโซเชียล มีเดีย ที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยความรวดเร็ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยี ก้าวล้ำไปข้างหน้าหลากหลายอย่าง อย่างเช่น เทคโนโลยี การจอดรถ ที่ปัจจุบันผู้ขับขี่แทบจะไม่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลย เพียงเปิดระบบและขับรถวนไปเรื่อยๆ ระบบที่ทำงานด้วยเรดาห์ หรือเซ็นเซอร์ จะตรวจสอบพื้นที่เพื่อการจอดรถเอง และเมื่อพบ ก็จะทำการจอดเข้าตำแหน่งได้อย่างเรียบร้อย
นักข่าวอเมริกันให้เครดิตว่า เล็กซัส เป็นเจ้าแรกที่แนะนำเทคโนโลยีการจอดรถนี้ ในรถระดับหรูตลาดอเมริกันเป็นเจ้าแรก เมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมา และจากนั้นบรรดาค่ายรถ ทั้งค่ายรถหรู และไม่หรูแต่ราคาแพง ต่างก็พากันค้นคว้าและเพิ่มเทคโนโลยีการจอดรถในหลายรูปแบบ ทั้งการค้นหาที่จอดที่ได้ขนาดกับตัวรถ หรือผู้ขับขี่ต้องควบคุมพวงมาลัย หรือแป้นเบรก แม้แต่คันเร่ง แล้วแต่วิศวกรแต่ละค่ายจะค้นคิดกันขึ้นมา
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีในการจอด park-assist technology ไม่ใช่เพียงลูกเล่นที่วิศวกรคิดค้นกันมาแล้วใส่เข้าไปในรถเฉยๆ แต่เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ ไม่ว่าผู้ขับขี่จะมีฝีมือขับระดับไหนก็ตามที
ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ว่าก้าวล้ำขึ้นไปอีกระดับแล้ว พ้นจากยุคสมัยที่ผู้ขับขี่ต้องนั่งเหยียบแป้นอยู่ในรถ เพื่อช่วยเหลือระบบ แม้แต่ผู้ขับขี่ ก็สามารถออกมายืนนอกตัวรถได้อย่างสบายอารมณ์ โดยค่ายรถไฟฟ้า เทสล่า Tesla Motors นำเสนอระบบในรุ่น โมเดล เอส และ เอ็กซ์ ที่จะให้รถเคลื่อนที่ในทางตรง เดินหน้าหรือถอยหลังเท่านั้น เพื่อเข้าสู่ที่จอดรถที่ค่อนข้างแคบ เพื่อให้ผู้บริโภคที่มีโรงจอดรถแคบ สามารถสั่งการให้รถเข้าจอดได้ โดยตัวเองออกมาอยู่นอกรถ ไม่ได้คาดหวังให้เป็นระบบเปิดสำหรับสาธารณะทั่วไป
แต่ปัจจุบัน กฎหมายยังไม่มีข้ออนุญาตสำหรับเทคโนโลยีชนิดนี้ แม้ในมลรัฐที่อนุญาตการทดลองระบบรถขับเคลื่อนด้วยตนเอง ระดับ 3 หรือระดับ 4 อย่าง แคลิฟอร์เนีย, เนวาด้า, มิชิแกน, ฟลอริด้า และวอชิงตัว ดีซี. ที่ผู้ขับขี่จะต้องนั่งอยู่ในที่นั่งตลอดเวลาที่อยู่ในที่สาธารณะ แม้ว่าจะเป็นการจอดรถ เพื่อพร้อมที่จะควบคุมรถได้ทันทีทันใด
ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า เมื่อผู้ขับขี่กดปุ่มเปิดระบบเพื่อให้รถเข้าที่จอดเอง โดยมองไม่เห็นตัวรถ หรือยืนอยู่นอกตัวรถ หรือประเมินว่าไม่จำเป็นต้องเฝ้าจนเสร็จ เพราะระบบสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง จะเป็นความผิดหรือไม่
ค่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนยักษ์ใหญ่ แซ่ดเอฟ ZF เพิ่งจะแนะนำระบบล่าสุดอีก 2 ระบบ ระบบแรก อนุญาตให้รถยนต์ค้นหาสถานที่จอดรถที่เป็นไปได้ เจ้าของรถเพียงแต่อนุมัติด้วยสมาร์ทโฟน หรือ นาฬิกา สมาร์ทวอช เพื่อให้ระบบนำรถเข้าจอด อีกระบบหนึ่ง ช่วยให้เจ้าของรถใช้แท็ปเล็ต ยืนอยู่นอกรถ บังคับพวงมาลัย เหมือนกับใช้รีโมทคอนโทรล ในสถานที่จอดรถ ระยะห่างไม่เกิน 10 ฟุต
ระบบนี้ใช้การสื่อสารด้วยไวไฟ กับตัวรถยนต์ แต่หากสัญญาณขัดข้องในห้วงจังหวะเวลาหนึ่ง ระบบก็จะหยุดทำงานทันที แม้ว่าวิศวกรของ แซ่ดเอฟ บอกว่า จากการทดลองและทดสอบที่ผ่านมา การขัดข้องของสัญญาณค่อนข้างเป็นไปได้ยาก พร้อมบอกด้วยว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะออกมายืนนอกรถ เพื่อใช้อุปกรณ์สื่อสารสั่งการให้ระบบทำการจอดรถด้วยตนเอง