Brand: NISSAN Model: Frontier
Year: 2001 Miles: 100001 – More
From: ภูมิภัทร ภัทรพักเย็น
ไปอ่านเจอหลายที่ว่าติดเทอร์โบแล้วเครื่องแรงขึ้น ประหยัดนำมัน ผมใช้งานปกติครับ ไม่เน้นเร็วแรง อะไร อยากได้แบบดีขึ้นนิดหน่อยครับ
รถผมกินนำมัน โลละเกือบ 2 บาท อยากประหยัดด้วยครับ
อาจารย์ว่านาทำไหมครับ รถวิ่ง มา 240000 โล ครับ ไม่เคยซ่อม
มีเปลี่ยนนำยาแอร์ 1 ครั้ง
ก่อนอื่น ผมอยากแก้ความเข้าใจในการสื่อความหมายของคุณสักนิด ถือว่า แก้ให้กับท่านสมาชิกอีกหลายท่านไปพร้อมพร้อมกันเลยก็คงจะได้นะครับ
ผมจะไม่หวัง หรือไม่ถามละนะครับ ว่าใครอย่าถือสาหาความอะไรผมเลย เพราะผมเข้าใจเอาเองว่า เมื่อผมมาทำงานอยู่ตรงนี้ หลายท่าน เอาเป็นว่า ทุกท่าน ก็น่าจะเข้าใจอยู่แล้วว่า เป็นการนำเอาประสบการณ์ และความรู้ที่ผมผ่านมา และร่ำเรียนมา มาพูดคุยกับทุกท่านที่สนใจ ถามไถ่เข้ามา
แม้ท่านจะไม่ถาม แต่มาอ่านเอาเรื่องเอาความ ก็จะได้ทราบประสบการณ์ และรู้ถึงความคิดความอ่าน การศึกษาที่ผ่านมาและกำลังดำเนินอยู่ของผม จะถือว่า แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็ดี
ส่วนท่านที่ถาม ก็แสดงว่า ต้องการทราบความเห็นของผม ที่ผมจะให้อย่างตรงไปตรงมา ไม่เข้าใคร ออกใคร ไม่เห็นแก่หน้าผู้ใดทั้งสิ้น อันเป็นนิสัยของผม จะเรียกสันดานก็ได้ ไม่ถือว่าหยาบคายอะไร เมื่อให้ความเห็นไปแล้ว ผมก็ลืมไปบ้างอะไรบ้าง ตามประสาคนอายุขนาดผม
หากท่านไม่ได้ถาม แต่เข้ามาอ่านเล่น ก็เพียงแค่ผ่านไป อย่ามาใส่ใจอะไรกับข้อเขียนของผม ก็เท่านั้น
การแก้ความเข้าใจในการสื่อความหมายของคุณภูมิภัทร ก็อยู่ตรงที่ว่า อัตราสิ้นเปลืองนั้น ตามสากล เขาไม่ถือเป็นจำนวนเงิน กับระยะทางนะครับ เพราะจำนวนเงินนั้น เป็นค่าเชื้อเพลิง ที่จะต้องเสียไปในอัตราตลาด มีการขึ้น และลง ตามสภาพการของตลาด พูดง่ายง่ายคือไม่คงที่ จะเอาแน่นอนไม่ได้
คุณพูดวันนี้ แต่เชื้อเพลิงขึ้นมาในวันถัดไป เราจะเข้าใจผิดกันได้ ว่าระยะทางต่อจำนวนลิตรหรือกิโลกรัมของเชื้อเพลิง อันเป็นจำนวนคงที่นั้น เปลี่ยนแปลงหรือไม่ เช่นวันนี้ ราคาเชื้อเพลิง 10 บาทต่อลิตร(ฮา) คุณบอกว่าเสียค่าเชื้อเพลิง 2 บาทต่อหนึ่งกิโลเมตร ก็แปลว่า 5 กิโลเมตรต่อหนึ่งลิตร(อันเป็นอัตราตายตัว หรือคงที่)
แต่หากเผอิญ ใคร หรือผมมาอ่านข้อความของคุณ เวลาผ่านไปหลายวัน หรือหลายเดือน เชื้อเพลิงเพิ่มราคาขึ้นเป็น 20 บาทต่อลิตร แต่คุณระบุไว้ว่า เสียค่าเชื้อเพลิง 2 บาทต่อกิโลเมตร
คราวนี้ ทุกคนรวมถึงผมด้วย ก็จะเข้าใจเอาเองเลยว่า คุณใช้เชื้อเพลิงในอัตรา 10 กิโลเมตร ต่อหนึ่งลิตร
เพิ่มขึ้นแบบโชคดี ทั้งที่คุณน่ะ โชคไม่ดีเท่าไรนัก จริงไหม
ดังนั้น ผมจึงอยากแก้ความเข้าใจของคุณ โปรดอย่าใช้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเทียบจากราคาเชื้อเพลิงเลยครับ
ใช้อัตรา เป็นระยะทาง กิโลเมตร ต่อหนึ่งลิตร จะเหมาะที่สุด เพราะทั้งสองอย่างนั้น เป็นหน่วยคงที่
ไม่ใช่หน่วยราคา ที่ไม่คงที่
เข้าใจกันนะครับ
เอาละ ทีนี้ มาปัญหาของคุณ เรื่องการติดตั้งเทอร์โบ ที่คุณบอกว่า อ่านมาหลายที่ แจ้งว่า สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน้อยลง และอัตราเร่งดีขึ้น ผมคิดว่า คุณคงอ่านเฉพาะส่วนดี มากกว่า
ส่วนดีนั้น ปกติ จะมาจากฝ่ายการตลาดของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์
ด้วยว่า เครื่องยนต์ที่ติดตั้งเทอร์โบมาจากผู้ผลิต เขาต้องออกแบบมาให้เหมาะสม คือตอนที่เทอร์โบยังทำงานไม่เต็มที่ เครื่องยนต์ก็จะมีกำลังเพียงพอในการใช้งานอยู่บ้าง คืออัตราส่วนการอัดไม่ได้ลดลง เพราะเป็นเครื่องที่ผลิตออกมาจากเขา ถือเป็นมาตรฐาน แม้ว่า จะลดลงหรือไม่เท่ากับเครื่องยนต์ที่เขาไม่ได้ติดตั้งเทอร์โบมาให้ แต่เป็นขนาดและแบบเดียวกัน ก็ตาม
ทีนี้ ผู้เขียนคอลัมน์ต่างต่าง ไม่เคยนึกไกลไปถึงขนาดนั้น คงนึกถึงเพียงแค่คำบอกเล่าของฝ่ายการตลาด หรือเอาให้จับใจกันไปเลย ก็คือฝ่ายเทคนิคการตลาด ซึ่ง เมื่อจะเสนออะไรออกมาสู่ผู้บริโภค หรือสาธารณชน ก็จะเสนอเพียงด้านดีของสินค้าของตน ไม่ได้ปิดบังส่วนเสีย หากแต่ไม่ได้เสนอส่วนเสียออกมา
เรื่องก็ดำเนินต่อมาหลายสิบปี จนเป็นที่เชื่อถือกันไปหมดว่า ติดเทอร์โบแล้ว ประหยัดขึ้น แรงขึ้น อย่างเดียว
ทั้งที่จริงนั้น เมื่อเราไม่ได้พูดถึงเครื่องที่ผลิตจากผู้ผลิตโดยตรง แต่เป็นเครื่องยนต์ที่เราใช้งานอยู่โดยไม่มีเทอร์โบ หากเราจะติดตั้งเทอร์โบ ขั้นแรก เราก็ต้องลดอัตราส่วนการอัดลงบ้าง ไม่มากก็น้อย
ตรงนี้แหละครับ ที่เป็นจุดด้อยของการติดตั้งเทอร์โบด้วยตัวเอง (ถึงจะทำโดยช่างของผู้ผลิตก็ตามเถิด)
การลดอัตราส่วนการอัดลง ก็เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ต้องทำงานหนักขึ้น และชิ้นส่วนภายใน ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่องานหนักนั้นนั้น ต้องทรุดโทรมลงไปเร็วกว่าที่ควรนั่นเป็นหลักใหญ่
เมื่อลดอัตราส่วนการอัดลง ปัญหาก็จะตามมา เริ่มจากการติดเครื่องยนต์ ที่ยากขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ตอนแรกอาจจะไม่รู้สึก แต่ระยะหลังหรือความรู้สึกระยะหลัง ต้องเกิดขึ้นแน่นอน
อัตราเร่งนั้น ผมไม่พูดถึงละนะ เพราะการเร่งต้องกดคันเร่ง เพิ่มความเร็วอยู่แล้ว คุณก็อาจจะรู้สึกว่า เร่งดีขึ้น
แต่การเร่งดี แรงดี ไม่ได้แลกมาด้วยอากาศที่เข้ากระบอกสูบจากการดูดและอัดของเทอร์โบอย่างเดียว
ต้องมีน้ำมันเข้าไปเผาผลาญอากาศนั้นให้ร้อน ให้ขยายตัว ให้เกิดแรงดันขึ้นด้วย
น้ำมันที่เข้าไป ก็จะต้องมีปริมาณมากกว่าตอนแรก ที่ไม่ได้ปล่อยให้อากาศจำนวนมากเข้าสู่กระบอกสูบ
หากให้น้ำมันน้อยเกินไป ก็จะเกิดปัญหาส่วนผสมบาง ความร้อนสูง
ให้น้ำมันมากเกินไป ก็จะมีปัญหาควันดำ(ในเรื่องของดีเซล) กำลังตก เพราะเผาไหม้ไม่สมบูรณ์อยู่ดี
ก็ต้องปรับต้องแต่ง ต้องแก้ไขกันอยู่เรื่อยไปและเรื่อยมา
อีกทั้งเครื่องยนต์ ที่ไม่ได้ทำก้านสูบ ลูกสูบ เอาไว้ให้เหมาะกับกำลังดันสูงที่ได้จากการเพิ่มอากาศเข้าไปในกระบอกสูบ ก็จะต้องเกิดความเครียดในโลหะสูงขึ้น โอกาสจะทรุดโทรมเร็วขึ้น ก็ต้องมีตามมา
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ คนบอกกล่าวกับคุณ ไม่ได้พูดถึง อาจจะไม่ทราบ หรืออาจจะลอกความคิดเห็นของฝ่ายเทคนิคการตลาดที่ผมบอกไว้แต่แรกเท่านั้น มาก็ได้
เมื่อผมบอกกับคุณอย่างนี้แล้ว ผมก็อยากให้เป็นหน้าที่ของคุณ ในการพิจารณาเอาเอง ว่าควรจะติดตั้งหรือไม่ อย่างไร
แต่ถ้าผมจะต้องออกความเห็น ก็อยากบอกแค่ว่า อย่าเลยครับ ยิ่งเครื่องยนต์ของคุณ ใช้งานมาตั้งสองแสนกว่ากิโลเมตรแล้วนี่ คงต้องทรุดโทรมลงบ้างอยู่ก่อนแล้ว ปัญหาจะเกิดขึ้นเร็วกว่าเครื่องยนต์ใหม่ใหม่เป็นแน่แท้
ผมไม่อยากให้คุณสนุกสนาน ชื่นอกชื่นใจกับอัตราเร่ง ที่เทอร์โบจะให้คุณได้ เพียงแค่ไม่กี่เดือน แล้วก็ต้องมานั่งกุมขมับ ปวดหัวเรื่องการซ่อมบำรุง จนต้องคิดเลยไปถึงการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ในภายหลังจากนั้นเลย
ไม่ว่าใครจะมาบอกคุณอย่างไร เช่นช่างที่หวังได้เงินจากคุณ จะยืนยันอย่างไร ก็ขอให้คำนึงถึงความจริง ที่ผมบอกกับคุณไว้ในนี้ นี่เป็นหลักวิทยาศาสตร์ หลักความจริง ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปได้หรอกครับ นอกเสียจากคุณจะเปลี่ยนชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ไปด้วยเลย ซึ่ง ปกติก็เป็นไปได้ยาก เพราะแพงมากขึ้นอีกหลายหมื่น
เชื่อใครก็ได้ ว่าติดตั้งแล้วดี แต่รอไม่เกินหกเดือน คุณก็จะคิดถึงข้อความที่ผมอุตส่าห์นั่งตอบปัญหาให้คุณ
เชื่อผม คุณก็ไม่ได้สนุก ไม่ได้ลองอย่างที่อยากจะลอง แต่คุณไม่เสียเงิน และไม่เสียรถ
เท่านี้แหละครับ-ธเนศร์
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…