หุ่นทดลองชน ที่นั่งหลัง
สำนักงานเพื่อความปลอดภัยการจราจรทางถนน หรือ National Highway Traffic Safety Administration ประกาศอย่างเป็นทางการว่า นับแต่ปี 2562 เป็นต้นไป จะเริ่มใช้หุ่นทดลอง ในการทดสอบการชน ติดตั้งในที่นั่งผู้โดยสารด้านหลังเป็นครั้งแรก
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า นับแต่ NHTSA เริ่มให้คะแนนการทดสอบการชน เมื่อปี 2521 ในระดับ 5 ดาว แต่เป็นเพียงการตรวจสอบความปลอดภัยให้กับผู้ที่นั่งในที่นั่งหน้า 2 ที่เท่านั้น ซึ่งผลกระทบของเรื่องนี้ หัวหน้าวิศวกรของ ศูนย์ค้นคว้าและป้องกันการบาดเจ็บ โรงพยาบาลเด็ก ของฟิลาเดลเฟีย ระบุว่า ผู้คนยังมีความเชื่อผิดๆ ว่า รถยนต์ที่ได้คะแนน 5 ดาว จากการทดสอบการชน จะมีความปลอดภัยในทุกตำแหน่งที่นั่ง ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด
การเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับปรุงให้ผู้โดยสารที่นั่งแถวที่สอง ด้านหลังมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นนั้น ค่อนข้างง่าย อาทิ เพียงแค่เพิ่มเข็มขัดนิรภัยที่มีระบบดึงกลับเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ก็พอจะช่วยได้แล้ว เพราะหากจะต้องติดตั้งถุงลมนิรภัย เพื่อป้องกันการกระแทกด้านหน้าสำหรับผู้โดยสารในที่นั่งหลัง โดยวิธีปฏิบัติแล้วจะค่อนข้างทำได้ยาก
อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องที่นั่งด้านหน้าที่มีความแข็งแรง เปรียบเสมือนฝาผนังด้านหน้าที่แข็งแรงสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง เพราะวิศวกรออกแบบที่นั่งด้านหน้าเพื่อป้องกันการชนจากด้านท้าย อีกทั้งในรถบางรุ่น ออกแบบให้ที่นั่งด้านหน้าพับตัวได้ เพื่อดูดซับแรงกระแทกที่ถูกกระทำจากการชนด้านหลัง นับว่าเป็นอันตรายสำหรับผู้โดยสารในที่นั่งด้านหลัง โดย บลูมเบิร์ก ยกเหตุการณ์เมื่อปี 2553 ที่เด็กสาววัย 16 ปี เทย์เลอร์ วาร์เนอร์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถถูกชนท้าย เพราะที่นั่งด้านหน้าที่พับได้ ฟาดเธอที่ศีรษะ NHTSA เลยต้องการหาข้อสรุป ระหว่างการป้องกันผู้นั่งด้านหน้า ที่มีที่นั่งแข็งแรง แต่ยังปกป้องผู้โดยสารด้านหลังในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและที่นั่งเกิดการพับตัว
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ศูนย์ความปลอดภัยด้านยานยนต์ระบุว่า ข้อมูลของการเกิดอุบัติเหตุที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้แยกแยะการเสียชีวิต หรือการบาดเจ็บ ของผู้โดยสารที่นั่งด้านหลัง แม้ว่าเบาะโดยสารด้านหน้าจะยุบตัวก็ตาม แต่เว็บไซต์ autoblog ก็เจาะลึกรายงานของศูนย์ความปลอดภัย และพบว่า เมื่อต้นปี มีเยาวชนเกือบ 900 คนที่นั่งอยู่ในที่นั่งด้านหลัง ได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิตจากอุบัติเหตุการถูกชนจากด้านท้าย ระหว่างปี 2533-2557
แต่ข้อมูลที่นักข่าวไปเสาะหามาได้ระบุว่า ความต้องการให้ติดตั้งหุ่นทดลองชน ในที่นั่งด้านหลังนี้ เกิดจากการที่ผู้โดยสารใช้บริการรถแท็กซี่ Uber หรือ Lyft ที่สามารถเรียกใช้ได้จากแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ที่ราชการของเมืองไทยไม่ยอมรับ แม้ว่าจะมีความสะดวกก็ตาม เริ่มเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการนั่งโดยสารในที่นั่งด้านหลัง เลยต้องการอยากรู้ว่าจะปลอดภัยได้แค่ไหน และต้องการคำตอบภายในเวลาอันควร
ขณะเดียวกัน NHTSA ก็ต้องการให้คะแนนเพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ภายใต้ระบบการให้คะแนน 5 ดาว ในการทดสอบการชน เพราะรถยนต์ในปัจจุบัน นำ้หนักเบาขึ้น และมีความคล่องตัวจากวิวัฒนาการการประกอบมากกว่ารถยนต์ในอดีต จึงได้เพิ่มวัตถุประสงค์ในการเพิ่มการทดสอบการชนของผู้โดยสารด้านหลัง เพื่อให้สาธารณชนได้แสดงความคิดเห็น เมื่อปี 2558
ปัจจุบัน NHTSA ใช้หุ่นทดสอบการชนในตำแหน่งที่นั่งหลัง ทดสอบการชนจากด้านข้าง โดยข้อเสนอเพิ่มเติมหุ่นทดสอบการชนในที่นั่งด้านหลัง แต่เป็นการทดสอบการชนจากด้านหน้า จะเริ่มต้นตั้งแต่รถรุ่นปี 2562 ทั้งในรถชนิด 2 ประตู และ 4 ประตู โดยจะมีการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อีก ซึ่งจะแจ้งให้ค่ายรถยนต์รับทราบต่อไป