Brand: OTHER Model: Other
Year: 1979 Miles: 100001 – More
From: บัณฑิต พิทักษ์ไชยวงศ์
สวัสดีครับคุณอาธเนศร์ ผมใช้รถmazda 323 ปี 1979 รุ่นขับเคลื่อนล้อหลังครับ ใช้เครื่องยนต์ mazda รหัส UC-B ขนาด 1,415 cc. ครับ จากที่เคยเรียนถามคุณอาธเนศร์ ได้เคยให้คำแนะนำในเรื่องของการปรับตั้งวาล์วของรถรุ่นนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ผมยังมีข้อสงสัยอยู่ในบางเรื่องครับ จึงอยากจะรบกวนคุณอาธเนศร์ ช่วยให้คำแนะนำเพิ่มเติมด้วยครับ คือ
1. ในการปรับตั้งวาล์ว คุณอาธเนศร์ เคยแนะนำขั้นตอนการตั้งวาล์วว่า “ให้หมุนเครื่องยนต์จนลูกสูบที่หนึ่งขึ้นมาอยู่ที่ศูนย์ตายบน จังหวะจุดระเบิด จะดูจากทองขาวชี้ไปไหนก็ได้ หรือจะดูจากวาล์ว ที่ตอนนั้น วาล์วสูบที่หนึ่งจะต้องฟรีทั้งคู่ คือขยับได้ทั้งคู่ ดูประกอบกันแหละดี แต่หากดูจากศูนย์ตายบนอย่างเดียว ก็ตั้งตามลำดับที่ 3 และ 4” สิ่งที่ผมสงสัยก็คือที่คุณอาบอกว่าให้ดูจากทองขาวชี้ไปไหนก็ได้ครับ ผมไม่เข้าใจว่าจะต้องดูอย่างไรบ้างครับ แล้วถ้าหากว่าผมจะดูจากการที่หัวนกกระจอกตรงจานจ่ายเนี่ย ไปตีกับฝาจานจ่ายในจังหวะที่สูบที่ 1 จุดระเบิดนี่ จะเป็นวิธีการที่ถูกหรือเปล่าครับ รบกวนคุณอาธเนศร์ช่วยกรุณาอธิบายเพิ่มเติมให้ด้วยครับ
2. น็อตตัวที่ล็อกสกรูปรับตั้งวาล์วนี่ จำเป็นที่จะต้องขันกวดให้ได้ปอนด์ด้วยหรือไม่ครับ เพราะตอนที่ผมตั้งระยะห่างวาล์วแล้ว ผมก็กวดด้วยประแจปากตายธรรมดาจนแน่น แล้วก็เช็คระยะห่างด้วยฟิลเลอร์เกจอีกครั้งครับ แต่ผมคิดว่าแรงที่กวดไว้คงจะได้ไม่เท่ากันทุกตัวครับ ถ้าต้องกวดให้ได้ปอนด์แล้ว ผมรบกวนคุณอาธเนศร์ในเรื่องค่าทอร์คที่ถูกต้องด้วยนะครับ
3. ในเรื่องของค่าทอร์คของฝาสูบ ซึ่งคุณอาธเนศร์แนะนำให้ขันฝาสูบตอนเครื่องเย็นให้ได้ทอร์คประมาณ 47 – 51 psi ก่อนทำการปรับตั้งวาล์วครับ คือผมอยากทราบว่าน็อตตัวอื่น ๆ ของเครื่องยนต์หรือจุดยึดอื่น ๆ นั้น จะต้องขันให้ได้ทอร์คตามสเปคที่กำหนดจากโรงงานหรือไม่ครับ รบกวนคุณอาธเนศร์ช่วยบอกค่าของทอร์คที่จะต้องขันในจุดอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับรถรุ่นนี้ให้ด้วยนะครับ ผมไม่มีหนังสือคู่มือที่บอกรายละเอียดของรถรุ่นนี้เลยครับ ทราบเพียงแค่ค่าคร่าว ๆ โดยประมาณที่หนังสือสอนการซ่อมรถยนต์ทั่ว ๆ ไป ซึ่งบอกไว้ว่าขนาดของ bolt เท่าไร ใช้วัสดุอะไร ควรใช้ขนาดปอนด์แค่ไหน เท่านั้นเองครับ ไม่ได้บอกค่าที่เฉพาะเจาะจงกับอุปกรณ์แต่ละส่วนไว้ให้เลยครับ
4. สืบเนื่องจากข้อ 3 ครับ ผมไปดูประแจปอนด์ที่ร้านขายเครื่องมือแถวคลองถมมาครับ ที่ร้านมีอยู่เพียงแบบเดียวครับ เป็นของไต้หวัน ด้ามประแจยาวประมาณ 2 ฟุต ขันได้ตั้งแต่ 10 – 150 psi ราคาประมาณ 850 บาท ครับ ผมคิดว่าค่อนข้างยาวไปสักหน่อย และช่วงของทอร์คก็กว้างมากไปครับ คงจะทำให้ขันทอร์คได้ค่าไม่ละเอียดถูกต้องเท่าที่ควรครับ ผมอยากให้คุณอาธเนศร์ ช่วยแนะนำการเลือกซื้อประแจทอร์คด้วยครับ ว่าควรใช้ของยี่ห้ออะไรดี และควรเลือกใช้แบบไหน มีค่าทอร์คอยู่ในช่วงประมาณเท่าไหร่ครับ
5. การตั้งระยะห่างของทองขาว ซึ่งคุณอาธเนศร์แนะนำให้ตั้งระยะห่างไว้ที่ 0.018″ – 0.022″ (0.45 – 0.55 mm) ครับ ผมอยากทราบวิธีการตั้งระยะห่างทองขาวที่ถูกต้องครับ เพราะผมเห็นมีสกรูอยู่เพียง 2 ตัวที่ใช้ยึดขาของตัวทองขาว ไม่ทราบว่าจะต้องปรับตั้งที่สกรู 2 ตัวนี้ใช่หรือไม่ครับ ลองเปิดหาดูจากหนังสือการซ่อมรถยนต์ก็ไม่ได้อธิบายไว้ครับ ในหนังสือบอกไว้แค่ว่าต้องตั้งระยะห่างให้ถูกต้อง และปรับตั้งหน้าสัมผัสทองขาวให้ได้ศูนย์ คือไม่เอียง และไม่เยื้องศูนย์ แต่ไม่ได้บอกขั้นตอนในการปรับตั้งไว้เลยครับ รบกวนคุณอาธเนศร์ช่วยกรุณาอธิบายขั้นตอนการปรับตั้งให้ด้วยนะครับ
6. ในการปรับตั้งคาร์บิวเรเตอร์ ที่คุณอาธเนศร์ แนะนำให้ปรับให้ได้อัตรา HC ที่ 1.5 +/- 0.5 คาร์บิวฯ 2V ผมไม่ทราบว่าจะต้องใช้เครื่องมืออะไรเป็นพิเศษในการวัดด้วยหรือไม่ครับ ถ้าหากต้องใช้เครื่องมือดังกล่าว จะต้องทำอย่างไรบ้างครับ ตอนนี้ผมปรับตั้งโดยใช้กะ ๆ เอาจากการตั้งลิ้นปีกผีเสื้อในตำแหน่งที่เครื่องยนต์เกือบดับ แล้วงัดขึ้นมาอีกเล็กน้อยเพื่อให้เครื่องยนต์เดินเรียบขึ้นครับ แล้วปรับตั้งสกรูส่วนผสมเดินเบาช่วยอีกนิดหน่อย แต่ไม่ทราบว่าจะได้รอบเดินเบาที่ 750 +/- 50 rpm หรือไม่ครับ เพราะที่บ้านไม่มีเครื่องมือที่ใช้วัดรอบเครื่องยนต์น่ะครับ แล้วที่สงสัยอีกอย่างคือ เมนเจ็ต 110 กับ นิดเดิลเจ็ต 150 ที่คุณอาธเนศร์บอก คือ นมหนูอากาศ กับนมหนูน้ำมัน ที่ช่างเรียก ๆ กันใช่หรือเปล่าครับ
7. เรื่องเสียงที่ผมเคยเรียนถามไปตั้งแต่ครั้งแรกนั้น ผมพบสาเหตุแล้วครับคุณอาธเนศร์ คือน็อตล็อกสายคล้องท่อไอเสีย ตรงบริเวณที่เลยออกมาจากท่อร่วมไอเสียแล้ว มันคลายตัวออกมาครับ ทำให้เกิดเสียงดัง กิ๊ง กิ๊ง ทั้งเวลาเร่งและเวลาเบรกชะลอความเร็วครับ ผมได้ลองไล่ดูตามจุดยึดต่าง ๆ ที่คุณอาธเนศร์แนะนำให้ทำดูครับ จึงได้พบกับสาเหตุของปัญหาครับ
รบกวนคุณอาธเนศร์กรุณาช่วยให้ความกระจ่างเป็นวิทยาทานแก่ผมด้วยครับ ผมต้องขออภัยที่รบกวนคุณอาธเนศร์ในเรื่องเดิม ซ้ำ ๆ กันหลายต่อหลายครั้งด้วยนะครับ ขอขอบพระคุณคุณอาธเนศร์ในความกรุณาล่วงหน้าเป็นอย่างสูงครับ
บัณฑิต พิทักษ์ไชยวงศ์
บัณฑิต พิทักษ์ไชยวงศ์
สวัสดีครับคุณอาธเนศร์ ผมใช้รถ mazda 323 ปี 1979 รุ่นขับเคลื่อนล้อหลังครับ ปัจจุบันได้ทำการเปลี่ยนเครื่องยนต์เดิมซึ่งกินน้ำมันเครื่องและน้ำมันเชื้อเพลิงมาก มาใช้เครื่องยนต์ mazda รหัส UC-B ขนาด 1,415 cc. ครับ หลังจากเปลี่ยนเครื่องยนต์ก็ใช้งานมาสองปีกว่าแล้ว ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดครับ แต่ตอนนี้เวลาขับรถจะได้ยินเสียงดังคล้ายเสียงโลหะกระทบกัน ดังกิ๊ง กิ๊ง กิ๊ง กิ๊ง ดังมาจากบริเวณเครื่องยนต์เป็นบางครั้งครับ แต่คิดว่าน่าจะไม่ใช่เสียงเขกของเครื่องยนต์ครับ เนื่องจากได้ยินเสียงนี้ทั้งในเวลาเร่งเครื่องยนต์ และเวลาถอนคันเร่งครับ คือมีเสียงดังทั้งในเวลาเครื่องยนต์มีภาระ และไม่มีภาระครับ และอาการนี้ก็เป็นทุกเกียร์ด้วยครับ ปกติผมเป็นคนที่เวลาขับรถจะไม่ลากเกียร์จนรอบสูงเกินไป หรือเปลี่ยนเกียร์ที่รอบต่ำเกินไปครับ จะพยายามขับให้รถได้กำลัง คือเปลี่ยนเกียร์ในช่วงของ power band ของเครื่องยนต์ครับ ผมใช้น้ำมันออกเทน 95 นะครับ แล้วก็ทำการปรับตั้งไฟจุดระเบิดเองด้วยครับ เลยค่อนข้างแน่ใจว่าไม่ใช่เสียงเขกของลูกสูบน่ะครับ ไม่ทราบว่าอาการนี้เป็นอาการที่เรียกว่าวาล์วยันหรือไม่ครับคุณอา หรือว่าเป็นอาการอื่นครับ รบกวนคุณอาธเนศร์ช่วยบอกวิธีการแก้ไขให้ด้วยครับ และจะรบกวนคุณอาธเนศร์เรื่องข้อมูลของระยะห่างในการตั้งวาล์วไอดีไอเสียด้วยครับ ผมอยากลองทำเองดูน่ะครับ แต่ค้นหาข้อมูลไม่ได้เลยครับ พอดีรถไม่ได้ตั้งวาล์วมานานแล้วครับ ตั้งแต่เปลี่ยนเครื่องยนต์มาได้สองปีกว่าแล้วครับ ขอขอบพระคุณคุณอาธเนศร์เป็นอย่างสูงครับ
บัณฑิต พิทักษ์ไชยวงศ์
——————————————————————————–
แน่ใจว่า เสียงนั้น ไม่ใช่เสียงจากการทำงานปกติของเครื่องยนต์หรอกครับ แต่เป็นเสียงการหลวมของจุดใดจุดหนึ่งของเครื่องยนต์ อาจจะเป็นการหลวมของน๊อตยึดอุปกรณ์เครื่องยนต์ ที่ดังชัดเจนได้หากเปิดฝาครอบเครื่อง แล้วเร่งเครื่องยนต์ หากไม่แน่ใจ ก็ต้องใช้สายวัดเสียงของช่าง ฟังดูครับ ฟังตามจุดยึดต่างต่าง และตามที่สงสัยก็จะหาเจอไม่ยาก บอกตรงนี้ บอกไม่ได้หรอกครับ เพราะไม่ได้อยู่ที่รถและไม่ได้ยินเสียงเอง แต่ที่คุณบอกมา เข้าข่ายครับ
เครื่องยนต์ที่คุณเปลี่ยนให้กับรถ ก็ไม่ใช่เครื่องยนต์ใหม่กว่ารถเท่าไรเลย เป็นเครื่องที่ใช้กันมากในตอนปี 79-82 อยู่ดีนั่นแหละครับ
ตั้งวาล์ว ไอดีที่ 0.010 นิ้ว หรือ 0.25 มม. ไอเสีย ที่ 0.012 นิ้ว หรือ 0.30 มม. เวลาเครื่องยนต์ร้อนระดับทำงานแล้ว
บอกอย่างอื่นไว้ด้วยก็แล้วกัน ลำดับจุดระเบิด 1-3-4-2 วาล์วน้ำเปิดที่ 82+/-1.5 องศาเซลเซียส ฝาน้ำทนแรงดัน 13 ปอนด์ต่อตารางนิ้วหรือ 0.9 บาร์ รอบเดินเบา 750+/-50 รอบต่อนาที ตั้งคาร์บิวเรเตอร์ให้ได้อัตรา HC ที่ 1.5 +/-0.5 คาร์บิวฯ 2V เมนเจ็ต 110 นิตเดิลเจ็ต 150 แรงดันปั๊ม 1.4-2.1 ปอนต์ต่อตารางนิ้ว ออกเทน 91
ใช้ทองขาวในการตั้งจังหวะจุดระเบิด ตั้งทองขาวห่าง 0.018-0.022 นิ้ว หรือ 0.45-0.55 มม. คอนเดนเซอร์ 0.20-0.24 ไมโครฟารัท จังหวะจุดระเบิด 11 องศาก่อนศูนย์ตายบน ใช้หัวเทียน NGK เบอร์ BPR 6 ES ตั้งเขี้ยวหัวเทียนห่าง 0.032 นิ้ว หรือ 0.8 มม.
แค่นี้ จัดทำให้ได้ตามนี้ ก็ใช้งานได้ดีแล้วครับ-ธเนศร์
คำตอบจากคุณอาธเนศร์ครั้งที่ 2 ครับ
ผมเช็กกับข้อมูลที่ผมมีอยู่อีกทีแล้ว ก็พบว่า ต้องยืนยันระยะห่างตีนวาล์วเท่าเดิมครับ คืออย่างที่บอกไปแล้ว
แต่ทีนี้ เมื่อคุณตั้งแล้ว พบว่ามีเสียงดังอีก ก็เป็นไปได้อย่างหนึ่ง คือคุณตั้งระยะห่างตีนวาล์ว โดยที่ไม่ได้หมุนเครื่องยนต์ให้ได้จังหวะสำหรับตั้งวาล์วก่อน
ทำอย่างนี้หรือเปล่าครับ
1-อุ่นเครื่องจนได้ระดับทำงาน แล้วขันน๊อตฝาสูบตามลำดับให้ได้แรงบิดตามกำหนดของเขา แต่ทีนี้ ผมไม่มีเสปคสำหรับขันน๊อตฝาสูบตอนร้อนเสียด้วย คุณต้องขันตอนเครื่องเย็น ให้ได้ปอนด์ 47-51 ปอนด์ต่อตารางนิ้วนะครับ เบรกออกก่อนแล้วขันแน่นใหม่ทุกตัว ทำตามลำดับไขว้กันให้ถูกต้องด้วย
2-หมุนเครื่องยนต์จนลูกสูบที่หนึ่งขึ้นมาอยู่ที่ศูนย์ตายบน จังหวะจุดระเบิด จะดูจากทองขาวชี้ไปไหนก็ได้ หรือจะดูจากวาล์ว ที่ตอนนั้น วาล์วสูบที่หนึ่งจะต้องฟรีทั้งคู่ คือขยับได้ทั้งคู่ ดูประกอบกันแหละดี แต่หากดูจากศูนย์ตายบนอย่างเดียว ก็ตั้งตามลำดับที่ 3 และ 4
3-ตั้งวาล์วไอดีของสูบ 1 กับ 2
4-ตั้งวาล์วไอเสียของสูบ 1 กับ 3
5-หมุนเครื่องยนต์หนึ่งรอบ เพื่อให้สูบที่ 4 อยู่ที่ศูนย์ตายบน แล้วปรับตั้งตามลำดับที่ 6 และ 7
6-ตั้งวาล์วไอดีของสูบ 3 และ 4
7-ตั้ววาล์วไอเสียของสูบ 2 และ 4
เท่านั้นแหละครับ น่าจะเรียบร้อย แล้วก็ไม่ถามมาแต่แรกเสียด้วย ไอ้ผมก็นึกว่าคุณรู้อยู่แล้วว่า ของมาสด้าต้องตั้งวาล์วกันแบบพิลึกพิลั่นถึงปานนี้ ฮ่า ฮ่า เอาใหม่นะครับ ทำตามลำดับให้ถูกต้อง แล้วน่าจะดีเองแหละน่า-ธเนศร์
——————————————————————————–
คำตอบจากคุณอาธเนศร์ครั้งที่ 3 ครับ
ดีครับ เป็นคำถามที่ดี ผมชอบตอบปัญหาแบบนี้ เพราะแสดงถึงความสนใจ ใคร่รู้ของผู้ถาม ที่จะหาคำตอบได้จากการถามเป็นส่วนมาก ไม่ใช่ไม่รู้แล้วไม่ค้นคว้า อย่างคำถามประเภทหัวเทียนใช้เบอร์อะไร หรือแบบพวกว่า รถใหม่ ซื้อมาใช้แล้วจะต้องดูแลรักษาอย่างไร คำถามประเภทหลังนี่ หาเอาจากคู่มือการใช้รถ ที่เขาแถมมาให้ก็ได้ ไม่เห็นจะต้องถามใคร ก็ยกขึ้นมาถาม แล้วอ้างว่าไม่รู้จึงถาม คนถามปัญหาประเภทนี้ น่าจะต้องส่งกลับไปเรียนประถมหนึ่งใหม่ เพราะไม่ได้เรื่องอะไรเลย ถามอย่างคุณ ผมถือว่า มีปัญญา และมีสติครับ
1-การขันฝาสูบก่อนตั้งวาล์ว เพื่อให้ฝาสูบแน่นได้ขนาด ส่วนประกอบต่างต่าง เช่นพวกสายพานราวลิ้น หรือตัวลูกกระทุ้ง ในกรณีที่เป็นเครื่องแบบแคมชาร์ฟอยู่ด้านข้างเครื่อง จะได้เข้าที่เข้าทาง และเป็นการทำให้ฝาสูบเข้าที่พอดี พูดง่ายง่ายว่า ให้ทุกอย่างเข้าที่ พอตั้งวาล์วแล้ว ก็จะทำให้วาล์วเข้าที่ไปด้วยครับ เขายึดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมานมนานแล้ว เฉพาะช่างที่รู้เรื่อง และมีความละเอียดรอบคอบพอเท่านั้น จึงจะทำ
ช่างที่ทำให้คุณตอนแรก ไม่ได้เรื่องครับ ใช้ไม่ได้ ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีทางขันได้ดีหรอกครับ เพราะโอกาสปอนด์เท่ากัน เป็นไปได้ยาก คนเรา กะเกณฑ์อะไรได้บ้าง บางระดับเท่านั้น
เรื่องปอนด์นี่ ผมถือมากครับ เพราะเคยขันปอนด์ผิด แล้วมีปัญหามากตามมา จุกจิกด้วยครับ เครื่องยนต์ที่สั่น บางครั้งแก้ปัญหากันเกือบบ้า กลับมาเจอที่ปอนด์ขันฝาสูบก็มีครับ ช่างเก่า ช่างที่ทำงานเป็นจริง จะรู้ดี ช่างเถอะ ไม่รู้ หรือถึงรู้ ก็ไม่ทำ อ้างเอาความชำนาญ ที่ตัวเองไม่เคยรู้จักว่า ความชำนาญนั้น หมายถึงอะไร
อยากเป็นช่างชั้นดี ชั้นครู หรือชั้นอาชีพ ต้องระวังเรื่องมาตรฐานค่าปอนด์ของการขันแน่นทุกตัว น๊อตบางประเภท เช่นน๊อตฝาสูบของเครื่องยนต์หลายแบบ จะต้องขันไประดับปอนด์หนึ่ง แล้วทิ้งไว้ จากนั้นมาขันอีกระดับหลังจากนั้นสักชั่วโมงก็มี เพื่อให้น๊อตมีโอกาสยืดตัว หรือหดตัวแล้วแต่กรณี และบางแบบ ก็ต้องเปลี่ยนน๊อตกันเลยทุกครั้งที่ขันแน่นแล้วแต่ต้องถอดออกอีก ระวังนะครับ
หาประแจปอนด์สักตัว ศึกษาดีดีครับ แล้วคุณจะเห็นผลเอง
อีกอย่างหนึ่ง การดูอู่ของผม ก็จะดูประแจปอนด์ที่ช่างใช้ด้วย หากด้ามแตก โดยเฉพาะด้ามแบบมีจุดหมุน ผมถือว่า ช่างที่ใช้ประแจไม่มีความรู้เอาเลย ไม่น่าแนะนำครับ
2-วิธีที่คุณใช้ เป็นวิธีหนี่งที่ช่างหลายคนใช้กัน แต่ที่ถูกแล้ว ต้องทำตามลำดับที่เขาแนะนำมากับคู่มือการซ่อม แบบที่ผมแนะนำคุณน่ะครับ คือวิธีที่ถูกของเครื่องยนต์มาสด้า รุ่นเฉพาะของคุณ
รถแต่ละรุ่น เครื่องยนต์แต่ละแบบ จะมีการตั้งวาล์ว ผิดแผกแตกต่างกันออกไปครับ เรื่องนี้ ก็ต้องระวังเช่นกัน ระวังช่างด้วยสำหรับท่านที่ไม่ได้ทำเอง
3-ใช้ประแจตัวใหญ่ จับที่น๊อตพูลเลย์ของเหวี่ยง แล้วหมุนเอาครับ หมุนตอนถอดหัวเทียนออกหมดทุกหัวแล้ว จะเบาแรงมาก และหมุนได้ง่ายครับ ไม่ยากครับ
ถ้าคุณเรียนกับครูช่าง ซึ่งผมคงต้องอ้างตัวว่า ระดับช่างอย่างผม คือครูช่าง ก็คงจะต้องสอนต้องแนะนำกันแบบนี้ ไม่ใช่อย่างไรก็ได้ เวลาผมตอบปัญหาในรายการวิทยุ ไม่มีเวลาจะมาแนะนำกันอย่างนี้นัก เลยไม่ได้ทำ
ผมเรียนมา เพื่อเป็นครูช่าง ตั้งแต่เด็กแล้วละครับ เรียนเพื่อรู้อย่างเดียว ไม่ได้ ต้องเรียนเพื่อคิด เพื่อทำ ให้ดี ให้เหมาะสม ให้ถูกต้องตามแบบแผน ดังนั้น หลายคน จึงไม่ค่อยชอบผม นอกจากเพื่อนช่างด้วยกัน จึงจะรู้ดีว่า ผมเป็นอย่างไร
คนที่ไม่ใช่ช่าง ไม่มีเลือดเนื้อของความเป็นช่างอยู่ในตัว จะมองผมว่าจุกจิก จู้จี้ หรือไม่ได้เรื่องเอาเลยทีเดียวก็มี
แต่ที่ผมเรียนมา ก็คือเรียนมาเพื่อสอนช่าง ให้เป็นช่างอาชีพ และเรียนมา ไม่ได้เรียนมาเพื่อทำงานอย่างเดียว แต่เรียนมาเพื่อคุมงานช่างทั้งหมด อย่างที่ตอนแรก ผมเข้ามาทำงานในไทยครั้งแรก ก็เป็นช่างระดับ Supervisor ของ Support Shop อันเป็น Shop ที่แยกออกถึง 14 Shop ทำหน้าที่ซ่อมอุปกรณ์ชิ้นส่วนทุกชิ้นของเครื่องบินแต่ละลำ ตั้งแต่แลนดิ้งเกียร์ ขึ้นไปถึงเอวีโอนิก ที่ผมต้องดูแลทั้งหมด คนเดียว ตอนนั้น ผมอายุแค่ 23-24 เท่านั้นเองครับ
ก.พ.บอกว่า ผมจบและเข้ามาเมืองไทย เป็นคนแรกของวิชานี้ ผมเล่าเรื่อยเปื่อยให้คุณฟังเล่นไปงั้นเอง แบบคนขี้คุย ที่ไม่เคยคุยมาเลยตลอดเวลาที่ผ่านมาในชีวิตเท่านั้นแหละครับ เพิ่งคุยครั้งแรก แต่คนก็คงหาว่า ผมขี้คุยอีกตามเคย เอาอะไรกับมนุษย์นะครับ ฮ่า ฮ่า-ธเนศร์
1-ไม่น่าสงสัยเลยครับ ผมบอกชัดเจนแล้ว
2-ไม่จำเป็นต้องใช้ปอนด์ในการตั้งวาล์วนัก แต่ขอให้แน่นพอ ไม่ต้องแน่นจนเกินไป ใช้ประแจแหวนขันดีกว่าปากตาย ที่ให้กำลังน้อย และลื่นจนทำให้น๊อตเสียมุมได้ ควรไปดูช่างที่เขาตั้งวาล์วกันให้ดีดีสักที จะเห็นว่า เขาจะใช้มือทั้งสองข้าง ทำอย่างไร และทำอะไรบ้างครับ สอนกันตรงนี้ ไม่ได้เรื่องหรอก
3-น๊อตที่ต้องขันในรถ มีเป็นร้อย อาจจะถึงพันตัว ใจคอคุณจะให้ผมบอกให้หมดเลยหรือครับ หาหนังสือซ่อมรถมาสด้า มาดูเองดีกว่าครับ สนุกกว่าอ่านในนี้ สนุกกว่าพิมพ์ให้อ่านกันแยะทีเดียวครับ สาบานได้ ฮ่า ฮ่า
4-ถ้าไม่ได้ทำงานแบบเป็นประจำทุกวัน เลือกแบบด้ามเป็นพลาสติกสีดำ มีจุดหมุนอยู่กลางด้าม ที่จะต้องรักษาไว้ไม่ให้ด้ามเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งจนด้ามแตก ก็น่าจะใช้ได้ ขนาดของปอนด์ ก็ดูพวกขีดที่เขาทำไว้บนมาตรวัดซีครับ ปอนด์นั้น ไม่ต้องแน่นอนนักหรอก ประมาณเอาแบบใกล้เคียงที่สุด ก็ใช้ได้แล้วครับ ไม่มีใคร ขันจนได้ปอนด์เป๊ะทุกตัวหรอกน่า ต้องแตกต่างกันเล็กน้อย สำหรับประแจแบบนี้นะ
ถ้าเป็นแบบดีดี แบบของอู่ที่ดีเขาใช้กัน เขาก็จะเป็นแบบหมุนตั้งปอนด์เอาไว้ก่อน และเป็นตัวแบบขันบ๊อกซ์ครับ ปกติ ผมใช้ของ Snap-On แต่คุณคงใช้ไม่ไหวหรอก แพงมาก ผมใช้เพราะชอบ และจับแล้วนิ่มมือพิลึก กับเขารับประกันคุณภาพตลอดชีวิต แค่นั้นเอง
5-หาหนังสือแบบกลับให้ได้ ไปให้ถึง อ่านดีกว่าครับ จะรู้เรื่องพอสมควร แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า มีเรื่องวิธีการปรับตั้งทองขาวหรือไม่
แนะนำว่า ให้ไปดูช่างที่มีฝีมือเขาทำสักครั้ง ดูให้ละเอียด ดีที่สุดครับ เพราะบอกในนี้ ไม่สนุกแน่ ต้องมีเทคนิดนิดหน่อยแทรกอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ ปัญหามันอยู่ที่การเขียนให้คุณเข้าใจนั้น ยากมากครับ ขอตัวดีกว่า ไม่เขียน อธิบายด้วยคำพูดกับการกระทำ ง่ายที่สุดครับ
ไปหาช่างทำให้ดู ดีกว่าครับ
และน๊อตที่มีสองตัว ก็ดูตัวที่ปรับตั้งได้ซีครับ จะเห็นเองแหละ ว่าเป็นน๊อตตัวไหน ตัวแรกยึดให้อยู่กับที่ ตัวที่สองปรับตั้งให้เคลื่อนที่ได้ มองมอง ใช้เชาว์สักนิด นิดเดียวเท่านั้น คุณน่าจะมองออกครับ
เรื่องพวกนี้ สอนกันลำบากครับ เพราะการใช้เชาว์ ต้องเกิดเองครับ ลองมองดูครับ
6-ถ้าไม่มีเครื่องมือ คุณจะไปรู้อะไรได้อย่างไรครับ ผมบอกไป ก็เพื่อให้คุณได้ใช้เครื่องมือวัด ที่ราคาตัวละหลายสตางค์น่ะครับ ต้องไปให้ช่างเขาทำให้ หากต้องการให้ตรงเป๊ะ และก็ต้องเป็นช่างที่มีเครื่องมือด้วย จะให้ช่างทั่วไปที่ไม่ใช้เครื่องมือทำ ก็ทำเองเสียดีกว่า
ถ้าไม่มีเครื่องมือ ก็ทำไม่ได้ครับ หาซื้อซีครับ อยากเป็นช่าง อยากทำเอง จะให้ผมช่วยอย่างไรล่ะ ช่วยบอกวิธีการทำนี่ ก็มากพอแล้วครับ จะให้ยืมเครื่องมือไปใช้ด้วยก็คงไม่ไหว
เอาเป็นว่า คุณไปเรียนเป็นช่าง กับช่างจริง แบบครูพักลักจำ ดีกว่าครับ ผมบอกได้เท่าที่ผมบอกไปแล้ว และคุณเอามาถามตั้งยาวนี่แหละครับ จะทำอย่างไร ให้คุณเข้าใจได้ดีกว่าที่ผมบอก ก็มีอยู่อย่างเดียว คือผมทำให้ดู แต่คุณจะไปดูได้อย่างไร ในเมื่อผมไม่ทำแล้ว
สอนคนให้เป็นช่าง จะสอนเฉพาะคนชอบอ่านไม่ได้ครับ
ต้องสอนคนชอบคิด ชอบดู มากกว่าคนชอบอ่าน คนชอบอ่าน ก็ได้แต่อ่านไป ถามไป แล้วไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่างถ้าไม่คิด และไม่หาของดู
7-คงไม่ต้องตอบอะไรอีก และนี่คือคำยืนยัน ที่ผมบอกว่า “สอนให้คนหาปลาเป็น ดีกว่าจับปลาไปให้เขากิน” ที่ผมทำเรื่อยมา และได้รับการต่อว่าต่อขาน จากคนที่เคยกับการกินปลาอย่างเดียวมามากแล้วเหมือนกัน-ธเนศร์
ป.ล.ที่สอนคุณนี่น่ะ ผมก็สอนให้จับปลานะครับ เรื่องไปหาช่าง ไปดูช่างทำงาน ก็คือสอนให้จับปลานั่นเอง
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…