สืบเนื่องจากปัญหาวาล์วดัง (2)

Brand: OTHER Model: Other
Year: 1979 Miles: 100001 – More
From: บัณฑิต พิทักษ์ไชยวงศ์

สวัสดีครับคุณอาธเนศร์ ผมใช้รถmazda 323 ปี 1979 รุ่นขับเคลื่อนล้อหลังครับ ใช้เครื่องยนต์ mazda รหัส UC-B ขนาด 1,415 cc. ครับ คือผมไม่ได้เรียนมาทางด้านช่างยนต์นะครับ แต่อยากซ่อมรถได้เองบ้าง ก็เลยจำ ๆ เวลาที่เอารถไปให้ช่างซ่อม แล้วก็มาอ่านหนังสือประกอบน่ะครับ ก็ได้อาศัยหนังสือที่คุณอาธเนศร์เขียนบ้าง หนังสือช่างยนต์ที่นักศึกษาช่างยนต์ ปวช. ใช้เรียนกัน มาใช้เป็นแนวทางครับ ผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคำแนะนำของคุณอาธเนศร์ในเรื่องของการตั้งวาล์วอยู่ 3 เรื่องครับ คือ
1. ผมอยากทราบสาเหตุที่จะต้องขันนัทฝาสูบให้ได้ปอนด์ก่อนที่จะทำการปรับตั้งวาล์วครับ เพราะอันนี้ผมไม่ทราบเลยว่าจะต้องทำก่อน และพอดีว่าผมไม่มีเครื่องมือคือประแจปอนด์สำหรับใช้ในการนี้ด้วยครับ มีแต่ชุดบล็อก แล้วก็พวกประแจปากตาย ไขควง เท่านั้นเองครับ ไม่ทราบว่าการขันนัทฝาสูบก่อนนี้มีความสำคัญต่อการปรับตั้งอย่างไรบ้างครับ เพราะตอนที่นำรถไปวางเครื่องมานั้น ผมก็เห็นช่างที่ทำให้นั้น เวลาที่แกขันกวดนัทฝาสูบ ก็ไม่ได้ใช้ประแจปอนด์ครับ แกใช้กะ ๆ เอาตามความชำนาญ ผมเลยไม่ทราบว่าการขันนัทฝาสูบให้ได้ปอนด์ที่ถูกต้องจริง ๆ นี่มันมีความสำคัญมากแค่ไหนต่อการตั้งวาล์วครับ ทราบแต่เพียงว่าถ้าขันไม่ได้ระดับหรือกวดนัทไม่ไขว้กันตามลำดับที่ถูกต้องแล้ว อาจทำให้ประเก็นฝาสูบแตกร้าวได้เท่านั้นเองครับ
2. ในการปรับตั้งระยะห่างของตีนวาล์วนี่ ผมไม่ได้สนใจเลยครับว่าสูบแต่ละสูบนั้นจะอยู่ตรงตำแหน่งไหนครับ ผมจะสนใจว่าแคมนั้นอยู่ในตำแหน่งที่เป็นแคมโลป คือแคมไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่กำลังเตะตัวร็อกเกอร์อาร์มอยู่ ซึ่งหมายความว่าวาล์วกำลังปิดสนิทอยู่น่ะครับ โดยวิธีการของผมก็คือเมื่อจะปรับตั้งวาล์วที่สูบไหน เช่นจะปรับตั้งที่สูบที่ 1 ก็จะทำการหมุนเครื่องยนต์โดยใช้วิธีเข็นรถยนต์ซึ่งเข้าเกียร์ 5 อยู่ ให้เดินหน้า หรือถอยหลังจนกระทั่งทั้งวาล์วไอดีและวาล์วไอเสียของสูบที่ 1 นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ปิดสนิททั้งคู่แล้ว จากนั้นผมก็จะทำการปรับตั้งระยะห่างของตีนวาล์วไอดีและไอเสียของสูบที่ 1 โดยคลายนัทที่ล็อกตัวสกรูปรับตั้งออก แล้วใช้ฟิลเลอร์เกจสอดตรงระหว่างแคมกับร็อกเกอร์อาร์ม แล้วปรับตั้งระยะโดยใช้ไขควงขันจนได้ระยะ แล้วกวดนัทที่ล็อกตัวปรับตั้งให้แน่นอีกครั้ง แล้วตรวจสอบระยะห่างที่ได้ปรับตั้งไปอีกครั้งว่ามีความคลาดเคลื่อนหรือไม่ ถ้ามีก็จะปรับตั้งใหม่ ถ้าไม่มีความคลาดเคลื่อน ก็จะค่อยไปทำการปรับตั้งระยะห่างของวาล์วในสูบอื่นคือสูบที่ 2 ต่อไปครับ โดยเริ่มจากเข็นรถให้วาล์วไอดีและไอเสียของสูบที่ 2 อยู่ในตำแหน่งที่ปิดสนิททั้งคู่แล้วค่อยปรับตั้ง และทำเช่นนี้กับสูบที่ 3 และสูบที่ 4 ไปทีละสูบครับ ไม่ทราบว่าวิธีการที่ผมทำเช่นนี้เป็นวิธีการที่ผิดหรือไม่ครับคุณอาธเนศร์ คือจะมีส่วนทำให้เกิดเสียงดังที่วาล์วหรือไม่ครับ (ก่อนเริ่มทำการปรับตั้งวาล์วนี่ผมได้นำรถไปขับจนเครื่องร้อนในระดับอุณหภูมิทำงานแล้วนะครับ)
3. ผมอยากทราบเทคนิคและวิธีการในการหมุนเครื่องยนต์ที่ช่างยนต์ใช้กันครับ ผมจำได้ว่าเมื่อตอนที่นำรถไปให้ช่างปรับตั้งวาล์วให้นั้น ช่างเขาใช้บล็อกหรือเครื่องมืออะไรสักอย่างขันที่แกนอะไรสักอย่างนึง ทำให้เครื่องยนต์หมุนไปตามที่ต้องการจนได้ระยะที่ใช้ในการปรับตั้งได้น่ะครับ แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจเพราะจำไม่ได้ทั้งหมด เลยไม่กล้าที่จะลองทำดูน่ะครับ กลัวว่าจะเกิดความเสียหายขึ้น ก็เลยใช้วิธีการใส่เกียร์ 5 แล้วก็ค่อย ๆ เข็นรถไปมาให้ได้ระยะที่ผมเรียนให้คุณอาได้ทราบในข้อ 2 เอาน่ะครับ ซึ่งผมก็คิดว่าถ้าผมใช้วิธีนี้กับรถยนต์ที่มีน้ำหนักมากกว่านี้แล้ว ผมก็คงไม่มีปัญญาที่จะเข็นรถไป ๆ มา ๆ ได้ครับ
รบกวนคุณอาธเนศร์กรุณาช่วยให้ความกระจ่างเป็นวิทยาทานแก่ผมด้วยครับ ผมต้องขออภัยที่รบกวนคุณอาธเนศร์ในเรื่องเดิม ซ้ำ ๆ กันหลายต่อหลายครั้งด้วยนะครับ ขอขอบพระคุณคุณอาธเนศร์ในความกรุณาล่วงหน้าเป็นอย่างสูงครับ

บัณฑิต พิทักษ์ไชยวงศ์

ผมเช็กกับข้อมูลที่ผมมีอยู่อีกทีแล้ว ก็พบว่า ต้องยืนยันระยะห่างตีนวาล์วเท่าเดิมครับ คืออย่างที่บอกไปแล้ว
แต่ทีนี้ เมื่อคุณตั้งแล้ว พบว่ามีเสียงดังอีก ก็เป็นไปได้อย่างหนึ่ง คือคุณตั้งระยะห่างตีนวาล์ว โดยที่ไม่ได้หมุนเครื่องยนต์ให้ได้จังหวะสำหรับตั้งวาล์วก่อน
ทำอย่างนี้หรือเปล่าครับ
1-อุ่นเครื่องจนได้ระดับทำงาน แล้วขันน๊อตฝาสูบตามลำดับให้ได้แรงบิดตามกำหนดของเขา แต่ทีนี้ ผมไม่มีเสปคสำหรับขันน๊อตฝาสูบตอนร้อนเสียด้วย คุณต้องขันตอนเครื่องเย็น ให้ได้ปอนด์ 47-51 ปอนด์ต่อตารางนิ้วนะครับ เบรกออกก่อนแล้วขันแน่นใหม่ทุกตัว ทำตามลำดับไขว้กันให้ถูกต้องด้วย
2-หมุนเครื่องยนต์จนลูกสูบที่หนึ่งขึ้นมาอยู่ที่ศูนย์ตายบน จังหวะจุดระเบิด จะดูจากทองขาวชี้ไปไหนก็ได้ หรือจะดูจากวาล์ว ที่ตอนนั้น วาล์วสูบที่หนึ่งจะต้องฟรีทั้งคู่ คือขยับได้ทั้งคู่ ดูประกอบกันแหละดี แต่หากดูจากศูนย์ตายบนอย่างเดียว ก็ตั้งตามลำดับที่ 3 และ 4
3-ตั้งวาล์วไอดีของสูบ 1 กับ 2
4-ตั้งวาล์วไอเสียของสูบ 1 กับ 3
5-หมุนเครื่องยนต์หนึ่งรอบ เพื่อให้สูบที่ 4 อยู่ที่ศูนย์ตายบน แล้วปรับตั้งตามลำดับที่ 6 และ 7
6-ตั้งวาล์วไอดีของสูบ 3 และ 4
7-ตั้ววาล์วไอเสียของสูบ 2 และ 4
เท่านั้นแหละครับ น่าจะเรียบร้อย แล้วก็ไม่ถามมาแต่แรกเสียด้วย ไอ้ผมก็นึกว่าคุณรู้อยู่แล้วว่า ของมาสด้าต้องตั้งวาล์วกันแบบพิลึกพิลั่นถึงปานนี้ ฮ่า ฮ่า เอาใหม่นะครับ ทำตามลำดับให้ถูกต้อง แล้วน่าจะดีเองแหละน่า-ธเนศร์


ดีครับ เป็นคำถามที่ดี ผมชอบตอบปัญหาแบบนี้ เพราะแสดงถึงความสนใจ ใคร่รู้ของผู้ถาม ที่จะหาคำตอบได้จากการถามเป็นส่วนมาก ไม่ใช่ไม่รู้แล้วไม่ค้นคว้า อย่างคำถามประเภทหัวเทียนใช้เบอร์อะไร หรือแบบพวกว่า รถใหม่ ซื้อมาใช้แล้วจะต้องดูแลรักษาอย่างไร คำถามประเภทหลังนี่ หาเอาจากคู่มือการใช้รถ ที่เขาแถมมาให้ก็ได้ ไม่เห็นจะต้องถามใคร ก็ยกขึ้นมาถาม แล้วอ้างว่าไม่รู้จึงถาม คนถามปัญหาประเภทนี้ น่าจะต้องส่งกลับไปเรียนประถมหนึ่งใหม่ เพราะไม่ได้เรื่องอะไรเลย
ถามอย่างคุณ ผมถือว่า มีปัญญา และมีสติครับ
1-การขันฝาสูบก่อนตั้งวาล์ว เพื่อให้ฝาสูบแน่นได้ขนาด ส่วนประกอบต่างต่าง เช่นพวกสายพานราวลิ้น หรือตัวลูกกระทุ้ง ในกรณีที่เป็นเครื่องแบบแคมชาร์ฟอยู่ด้านข้างเครื่อง จะได้เข้าที่เข้าทาง และเป็นการทำให้ฝาสูบเข้าที่พอดี พูดง่ายง่ายว่า ให้ทุกอย่างเข้าที่ พอตั้งวาล์วแล้ว ก็จะทำให้วาล์วเข้าที่ไปด้วยครับ เขายึดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมานมนานแล้ว เฉพาะช่างที่รู้เรื่อง และมีความละเอียดรอบคอบพอเท่านั้น จึงจะทำ
ช่างที่ทำให้คุณตอนแรก ไม่ได้เรื่องครับ ใช้ไม่ได้ ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีทางขันได้ดีหรอกครับ เพราะโอกาสปอนด์เท่ากัน เป็นไปได้ยาก คนเรา กะเกณฑ์อะไรได้บ้าง บางระดับเท่านั้น
เรื่องปอนด์นี่ ผมถือมากครับ เพราะเคยขันปอนด์ผิด แล้วมีปัญหามากตามมา จุกจิกด้วยครับ เครื่องยนต์ที่สั่น บางครั้งแก้ปัญหากันเกือบบ้า กลับมาเจอที่ปอนด์ขันฝาสูบก็มีครับ ช่างเก่า ช่างที่ทำงานเป็นจริง จะรู้ดี ช่างเถอะ ไม่รู้ หรือถึงรู้ ก็ไม่ทำ อ้างเอาความชำนาญ ที่ตัวเองไม่เคยรู้จักว่า ความชำนาญนั้น หมายถึงอะไร
อยากเป็นช่างชั้นดี ชั้นครู หรือชั้นอาชีพ ต้องระวังเรื่องมาตรฐานค่าปอนด์ของการขันแน่นทุกตัว น๊อตบางประเภท เช่นน๊อตฝาสูบของเครื่องยนต์หลายแบบ จะต้องขันไประดับปอนด์หนึ่ง แล้วทิ้งไว้ จากนั้นมาขันอีกระดับหลังจากนั้นสักชั่วโมงก็มี เพื่อให้น๊อตมีโอกาสยืดตัว หรือหดตัวแล้วแต่กรณี และบางแบบ ก็ต้องเปลี่ยนน๊อตกันเลยทุกครั้งที่ขันแน่นแล้วแต่ต้องถอดออกอีก ระวังนะครับ
หาประแจปอนด์สักตัว ศึกษาดีดีครับ แล้วคุณจะเห็นผลเอง
อีกอย่างหนึ่ง การดูอู่ของผม ก็จะดูประแจปอนด์ที่ช่างใช้ด้วย หากด้ามแตก โดยเฉพาะด้ามแบบมีจุดหมุน ผมถือว่า ช่างที่ใช้ประแจไม่มีความรู้เอาเลย ไม่น่าแนะนำครับ
2-วิธีที่คุณใช้ เป็นวิธีหนี่งที่ช่างหลายคนใช้กัน แต่ที่ถูกแล้ว ต้องทำตามลำดับที่เขาแนะนำมากับคู่มือการซ่อม แบบที่ผมแนะนำคุณน่ะครับ คือวิธีที่ถูกของเครื่องยนต์มาสด้า รุ่นเฉพาะของคุณ
รถแต่ละรุ่น เครื่องยนต์แต่ละแบบ จะมีการตั้งวาล์ว ผิดแผกแตกต่างกันออกไปครับ เรื่องนี้ ก็ต้องระวังเช่นกัน ระวังช่างด้วยสำหรับท่านที่ไม่ได้ทำเอง
3-ใช้ประแจตัวใหญ่ จับที่น๊อตพูลเลย์ของเหวี่ยง แล้วหมุนเอาครับ หมุนตอนถอดหัวเทียนออกหมดทุกหัวแล้ว จะเบาแรงมาก และหมุนได้ง่ายครับ ไม่ยากครับ
ถ้าคุณเรียนกับครูช่าง ซึ่งผมคงต้องอ้างตัวว่า ระดับช่างอย่างผม คือครูช่าง ก็คงจะต้องสอนต้องแนะนำกันแบบนี้ ไม่ใช่อย่างไรก็ได้ เวลาผมตอบปัญหาในรายการวิทยุ ไม่มีเวลาจะมาแนะนำกันอย่างนี้นัก เลยไม่ได้ทำ
ผมเรียนมา เพื่อเป็นครูช่าง ตั้งแต่เด็กแล้วละครับ เรียนเพื่อรู้อย่างเดียว ไม่ได้ ต้องเรียนเพื่อคิด เพื่อทำ ให้ดี ให้เหมาะสม ให้ถูกต้องตามแบบแผน ดังนั้น หลายคน จึงไม่ค่อยชอบผม นอกจากเพื่อนช่างด้วยกัน จึงจะรู้ดีว่า ผมเป็นอย่างไร
คนที่ไม่ใช่ช่าง ไม่มีเลือดเนื้อของความเป็นช่างอยู่ในตัว จะมองผมว่าจุกจิก จู้จี้ หรือไม่ได้เรื่องเอาเลยทีเดียวก็มี
แต่ที่ผมเรียนมา ก็คือเรียนมาเพื่อสอนช่าง ให้เป็นช่างอาชีพ และเรียนมา ไม่ได้เรียนมาเพื่อทำงานอย่างเดียว แต่เรียนมาเพื่อคุมงานช่างทั้งหมด อย่างที่ตอนแรก ผมเข้ามาทำงานในไทยครั้งแรก ก็เป็นช่างระดับ Supervisor ของ Support Shop อันเป็น Shop ที่แยกออกถึง 14 Shop ทำหน้าที่ซ่อมอุปกรณ์ชิ้นส่วนทุกชิ้นของเครื่องบินแต่ละลำ ตั้งแต่แลนดิ้งเกียร์ ขึ้นไปถึงเอวีโอนิก ที่ผมต้องดูแลทั้งหมด คนเดียว ตอนนั้น ผมอายุแค่ 23-24 เท่านั้นเองครับ
ก.พ.บอกว่า ผมจบและเข้ามาเมืองไทย เป็นคนแรกของวิชานี้ ผมเล่าเรื่อยเปื่อยให้คุณฟังเล่นไปงั้นเอง แบบคนขี้คุย ที่ไม่เคยคุยมาเลยตลอดเวลาที่ผ่านมาในชีวิตเท่านั้นแหละครับ เพิ่งคุยครั้งแรก แต่คนก็คงหาว่า ผมขี้คุยอีกตามเคย เอาอะไรกับมนุษย์นะครับ ฮ่า ฮ่า-ธเนศร์

Facebook Comments