รถไร้คนขับ ตอบสนองเร็วกว่าคน
การพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ ตั้งเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการจราจรทางถนน และเปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่ ได้พักผ่อนหรือผ่อนคลายได้ในช่วงการจราจรติดขัด เพราะเครื่องจักรกล หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ จะคำนวณต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และหาทางหลีกเลี่ยง หรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย
ค่ายปอร์เช่ ก็ทดลองเทคโนโลยีที่ว่านี้เช่นกัน ตั้งชื่อไว้ว่า อินโนไดร๊ฟ InnoDrive ที่รับประกันได้ว่า มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้มนุษย์เป็นผู้ขับขี่ แต่ปรากฏว่า เทคโนโลยีไร้คนขับนี้ ตัดสินใจได้เร็วกว่ามนุษย์ปกติธรรมดาด้วย พิสูจน์ได้จากบทความของนักเขียนในเว็บไซต์ยาฮู ออโต้ ที่มีโอกาสขับรถทดสอบของปอร์เช่ ซึ่งติดตั้งระบบขับเคลื่อนด้วยตัวเองที่ว่านี้
ระบบของปอร์เช่ ติดตั้งระบบควบคุมความเร็ว ปรับความเร็วตามสภาพการจราจร ในรถซีดานรุ่น พานาเมร่า เทอร์โบ มีทั้งระบบตรวจสอบเส้นทางผ่านดาวเทียม ข้อมูลการจราจร พร้อมข้อมูลที่ได้จากกล้อง เรดาร์ และเซ็นเซอร์ ที่ติดอยู่ที่รถ นำมาประมวลเป็นรายละเอียดทั้งหมด หลังจากนั้น อินโนไดร๊ฟ จะควบคุมการป้อนเชื้อเพลิงและระบบเบรก เพียงแต่ยังจำเป็นต้องมีผู้ขับขี่ ทำหน้าที่จับพวงมาลัย และเลือกว่าจะขับเคลื่อนแบบไหน แบบดุดัน efficient, แบบนุ่มนวล comfort, หรือแบบตามกระแสการจราจร or dynamic
เมื่อผู้ขับขี่เลือกระบบขับเคลื่อน ระบบการทำงานก็จะสั่งการตามความต้องการ ป้อนเชื้อเพลิงให้พอเพียงในแบบดุดัน, ลดแรงเหวี่ยงในแบบนุ่มนวล หรือขับขี่ตามกระแสการจราจร โดยไม่ฝ่าฝืนป้ายจำกัดความเร็ว
การทำงานอย่างที่ว่า ก็โดยการใช้ข้อมูลที่ได้ รวมกับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า แล้วสั่งการว่าเมื่อใดสมควรจะเบรก เพิ่มความเร็ว หรือปล่อยให้รถไหลแบบนุ่มนวล ตามสภาพการจราจร โดยวิศวกรของปอร์เช่ บอกว่า การขับเคลื่อนแบบไม่ต้องใช้คนขับนี้ รถไม่จำเป็นต้องวิ่งช้า เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น จึงปรับระบบให้ขับเคลื่อนให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่งั้นไม่สมชื่อ ปอร์เช่ และในการทดสอบ ปอร์เช่ พบว่า ระบบอินโนไดร๊ฟ ขับขี่ได้มีประสิทธิภาพกว่าผู้ขับขี่ ถึง 10% รวมทั้งเร็วกว่า 2% อีกด้วย
ระบบอินโนไดร๊ฟ ที่ติดตั้งใน ปอร์เช่ รุ่นปี 2557 นี้ สามารถตรวจสอบระยะทางด้านหน้าได้เพียง 200 เมตร แต่ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ไฟจราจรด้านหน้าเป็นสีแดงหรือสีเขียว ระบบประเมินเอาว่า ทุกอย่างเป็นสีเขียวหมด ซึ่งข้อจำกัดนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข แต่ค่ายรถยนต์เองก็เชื่อว่า อีกไม่นานเกินรอ เทคโนโลยีนี้ จะสามารถบรรจุเข้ามาในรถที่ขึ้นโชว์รูมแน่นอน โดยค่ายพันธมิตรอย่าง ออดี้ คาดหวังว่าจะสามารถติดตั้งระบบขับเคลื่อนด้วยตัวเองนี้ ในรถที่ออกจำหน่ายในปี 2559 ได้แน่นอน