รถไฟฟ้าในเกาหลี

ปัจจุบัน ทั่วโลกรู้จักเทคโนโลยีการผลิตรถไฟฟ้ากันทุกประเทศ ว่าเป็นรถที่ปราศจากมลพิษโดยสิ้นเชิง แม้จะยังไม่มีรายงานว่า เมื่อแบตเตอรี่ในรถหมดอายุ จะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้การกำจัดแบตเตอรี่ เป็นไปโดยปราศจากอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในประเทศเกาหลี ก็พยายามใช้มาตรการทางภาษี และการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนในประเทศ หันมาเลือกใช้รถไฟฟ้า ที่ปราศจากมลพิษให้มากขึ้น
ล่าสุด สำนักข่าว ซีเน็ท CNET ของเกาหลี เสนอข่าวว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ เสนอเม็ดเงินสนับสนุนก้อนใหญ่ ราว 20 ล้านวอน ตกราว 540,000 บาท หากผู้บริโภคเลือกซื้อรถไฟฟ้า จาก 4 ยี่ห้อ ที่ร่วมมือกะบภาครัฐ ซึ่งมี บีเอ็มดับบลิว, เจเนอรัล มอเตอร์ และญี่ห้อเกาหลีอีก 2 ยี่ห้อ เกีย และ เรโนลต์-ซัมซุง ซึ่งจะทำให้ราคาของ บีเอ็มดับบลิว ไอ3 จาก 57.5 ล้านวอน ราว 1,590,000 บาท ลดลงเหลือ 37.5 ล้านวอน ราว 1,050,000 บาท
นอกเหนือจากนั้น หากเป็นบริษัทหรือองค์กร ที่จะสั่งซื้อสถานีเพื่อชาร์จรถไฟฟ้า ติดตั้งในโรงรถหรือที่จอดรถ จะได้รับเงินสนับสนุนจุดชาร์จละ 7 ล้านวอน ราว 190,000 บาท ทั้งนี้ บรรดาเงินอุดหนุนทั้งหมดนี้ เพื่อชักชวนให้ชาวเกาหลี หันมาให้ความสนใจกับรถไฟฟ้า ที่ปัจจุบัน มีผู้ใช้อยู่น้อยกว่า 1,500 คัน จากจำนวนยานยนต์ราว 20 ล้านคัน ที่จดทะเบียนอยู่ในกรุงโซล

นอกจากราคาตัวรถที่แพงมากแล้ว ปัญหาของรถไฟฟ้าเรื่องอื่น ก็มี สถานีชาร์จไฟฟ้า ที่มีอยู่น้อยมาก และยังมีกฎหมายระบุความเร็วบนทางด่วนของเกาหลี ที่รถยนต์จะต้องใช้ความเร็วได้ไม่ตำ่กว่า 60 กม./ชม. ถ้าวิ่งช้ากว่านั้น ห้ามขึ้น ด้วยระยะของทางด่วน กว่า 300 กม. รอบกรุงโซล ทำให้กลายเป็นข้อจำกัดของการใช้รถไฟฟ้าไปโดยปริยาย
ทั้งเชฟโรเลต และ บีเอ็มดับบลิว ที่รถไฟฟ้าของทั้งสองยี่ห้อได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ต่างพยายามจะหาวิธีการช่วยเหลือเรื่องนี้ โดย บีเอ็ม วางแผนจะติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าอีก 120 จุด ในศูนย์การค้า หรือย่านชุมชน และจะมอบสมาชิก i3 Link Package ให้ผู้ซื้อรถไฟฟ้า สามารถเช่ารถบีเอ็มรุ่นอื่นๆ ได้ 10 วันภายในหนึ่งปี รวมทั้งมีความเป็นไปได้ ที่จะมีการแก้ข้อบังคับ หรือปรับปรุงข้อจำกัดด้านความเร็ว จากค่ายรถเกาหลี ที่กำลังเจรจากับภาครัฐในปัจจุบัน

Facebook Comments