มูลนิธิโตโยต้าฯ และ ม.ธรรมศาสตร์
ร่วมเชิดชูเกียรติรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น
“TTF Award” ประจำปี 2551
พล.ต.อ.เภา สารสิน ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ร่วมกับ มร.มิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ และคณาจารย์ ร่วมมอบ 4 รางวัลเชิดชูเกียรติ ผลงานวิชาการดีเด่น “TTF Award” ประจำปี 2551 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ศกนี้ ที่ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ.2530 ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสังคมไทยให้มีพัฒนาการและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมทางด้านการศึกษา วิชาการ และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ นับเป็นวัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของการก่อตั้งมูลนิธิฯ
ปี พ.ศ.2538 เป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศรางวัล “TTF Award” ภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการศึกษาในระดับสูง ตลอดจนสนับสนุนให้นักวิชาการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานงานวิชาการของไทย โดยมุ่งหวังพัฒนาสังคมไทยให้เป็น “สังคมแห่งความรู้” อันเป็นที่มาของการประกาศเกียรติคุณ ยกย่องผลงานวิชาการในสาขาต่างๆ พร้อมสนับสนุนการจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน อันจะเป็นประโยชน์แก่นิสิต นักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจนสาธารณชน เพื่อนำไปใช้ในการศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ ในวิทยาการใหม่ๆ ได้อย่างกว้างขวาง และลึกซึ้ง โดยตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ได้มีการประกาศรางวัลเกียรติยศให้กับผลงานอันทรงคุณค่าทางวิชาการ รวมทั้งได้รับการตีพิมพ์สู่สาธารณชนแล้วจำนวนทั้งสิ้น 22 เล่ม
ในปี พ.ศ.2551 มีผลงานส่งเข้ารับการพิจารณาจำนวนทั้งสิ้น 43 ผลงาน แบ่งออกเป็น
รางวัลเกียรติยศ -3 ผลงาน
สาขาวิทยาศาสตร์ -12 ผลงาน
สาขาสิ่งแวดล้อม – 3 ผลงาน
สาขาสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ -25 ผลงาน
คณะกรรมการได้พิจารณาผลงานวิชาการที่สมควรได้รับรางวัล
“TTF Award” ประจำปี พ.ศ.2551 ได้แก่
รางวัลเกียรติยศ
หนังสือเรื่อง “วัฒนธรรมคือความหมาย: ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ”
แต่งโดย รศ.ดร.มรว.อคิน รพีพัฒน์
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ได้รับรางวัล เงินสด 150,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ
คำประกาศเกียรติคุณ
“สังคมไทยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นทุนเดิม ดำรงอยู่ในยุคที่โลกทุกส่วนถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยเทคโนโลยีข่าวสารที่ก้าวหน้า และการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งของระบบการเงินและการค้าระหว่างประเทศ เมื่อถูกโหมกระหน่ำด้วยความรู้ความคิดใหม่ รวมทั้งนวัตกรรมทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และสังคม ก็ทำให้ความหลากหลายที่ดำรงอยู่ก่อน สลับประสานซับซ้อนจนยากแก่การทำความเข้าใจยิ่งขึ้นไปอีก มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตระหนักว่าการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมไทยเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังมิต้องกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างมีสติ และมีขันติธรรม ไม่เพียงต้องการความรู้ที่ลึกซึ้ง ชนิดที่ไม่หลงลืมผู้คนที่เป็นทั้งผู้ให้ และผู้บริโภคความรู้ อีกทั้งยังต้องเป็นความรู้ที่ใส่ใจกับชีวิต และความเปราะบางทั้งของสถาบันทางสังคมเดิม ของสายใยทางสังคม และของสรรพสิ่งที่แวดล้อมมนุษย์อยู่”
ผลงานวิชาการเรื่อง “วัฒนธรรมคือความหมาย” โดย หม่อมราชวงศ์ อคิน รพีพัฒน์ นักมานุษยวิทยาอาวุโสคนสำคัญของประเทศ เป็นการนำเสนอวิธีวิทยาทางมานุษยวิทยาที่ประสานชุดของความรู้ในระดับสากล เข้ากับความเข้าใจสังคมไทย โดยได้เฝ้าติดตามและศึกษา มาตลอด เพื่อให้เครื่องมือดังกล่าวสามารถนำมาใช้ทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมที่อุดมด้วยความแตกต่างหลากหลาย ทว่ามีพลวัตของการเปลี่ยนแปลงอย่างสูงเช่นสังคมไทย โดยไม่ละเลยมนุษย์ และภาวการณ์ดำรงอยู่ของผู้คนในฐานะเพื่อนมนุษย์ ด้วยลักษณะโดดเด่นดังกล่าว “วัฒนธรรมคือความหมาย” จึงเป็นผลงานวิชาการที่ควรค่าแก่การได้รับรางวัล “TTF Award เกียรติยศ” ประจำปี 2551
รางวัลผลงานวิชาการดีเด่น
สาขาวิทยาศาสตร์
หนังสือเรื่อง “วงจรป้อนกลับแบบลบและออสซิลเลเตอร์
ผู้แต่ง ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม
ได้รับรางวัล เงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ
คำประกาศเกียรติคุณ
“ปัจจุบันเป็นยุคที่เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างมาก การติดต่อสื่อสารระหว่างกันที่สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารแบบไร้สาย เรามีอุปกรณ์หรือเครื่องเอื้ออำนวยความสะดวกมากขึ้นโดยเฉพาะระบบที่เป็นแบบอัตโนมัติ ตั้งแต่ระบบที่มีขนาดใหญ่ไปจนถึงระบบที่มีขนาดเล็กๆ ความเจริญก้าวหน้านี้เป็นผลพวงจากการที่เทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์มีการพัฒนาไปอย่างมาก เนื่องจากสามารถประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์จำนวนหลายหมื่นตัวในไอซี (IC หรือ Integrated Circuit) ชิ้นเล็กๆชิ้นเดียวกันได้ อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ในส่วน การเรียน การสอน และการวิจัยด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศไทยนั้น จะหาตำราทางวิชาการที่เป็นภาษาไทยซึ่งสามารถใช้อ้างอิงเป็นหลักได้ไม่มากนัก”
ผลงานวิชาการเรื่อง “วงจรป้อนกลับแบบลบและออสซิลเลเตอร์” โดย ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม เป็นการรวบรวมเกี่ยวกับหลักการการป้อนกลับสัญญาณ คือ การป้อนกลับแบบลบ และ การป้อนกลับแบบบวก (หรือวงจรออสซิลเลเตอร์) ที่มีประโยชน์ สามารถประยุกต์ใช้อย่างมากมายในการวิเคราะห์ทางทฤษฎีและการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการคิดค้นกันไว้มากว่า 40 ปี โดยได้เรียบเรียงและรวบรวมไว้เป็นองค์ความรู้เดียวกัน นับเป็นความรู้ที่สำคัญที่นักศึกษาและนักวิจัยใช้ศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานและเพื่อต่อยอดพัฒนางานวิจัยได้ ในแต่ละบทผู้เขียนนอกจากจะอธิบายให้เห็นแนวคิดของการออกแบบและลำดับความเป็นมาอย่างชัดเจนแล้ว ยังได้มีการนำเสนอหลักการวิเคราะห์ไว้อย่างละเอียด เนื้อหาซึ่งผ่านสำนวนการเขียนที่ลุ่มลึก ส่วนใหญ่ผู้เขียนได้เรียงร้อยมาจากประสบการณ์การวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาของผู้เขียนเอง นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้แสดงทฤษฎีสมัยใหม่ในเรื่องราวของเฟสนอยซ์ในออสซิลเลเตอร์ไว้อย่างค่อนข้างจะสมบูรณ์ กอปรกับหลายต่อหลายส่วนในตำราเล่มนี้ ยังมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์วงจรในลักษณะวงจรรวมแบบแอนะลอกอีกด้วย “วงจรป้อนกลับแบบลบและออสซิลเลเตอร์” นับเป็นหนังสือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกเล่มหนึ่งที่มีคุณภาพระดับนานาชาติที่เขียนเป็นภาษาไทย จึงสมควรได้รับการยกย่องและควรค่าอย่างยิ่งแก่ รางวัล “TTF AWARD ประเภทดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2551
สาขาสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์
หนังสือเรื่อง “นโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น: ความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง”
ผู้แต่ง รศ.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้รับรางวัล เงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ
คำประกาศเกียรติคุณ
“ผลงานวิชาการ นโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น : ความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู เป็นผลงานวิชาการที่โดดเด่นมาก เพราะไม่เพียงนำเสนอการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่มีบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยข้อมูลหลักฐานทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ ทั้งจากนักวิชาการตะวันตก และนักวิชาการเอเชีย รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย ยังนำเสนอเนื้อหาสาระอย่างกว้างขวางครอบคลุมนโยบายต่างประเทศญี่ปุ่นต่อภูมิภาคต่าง ๆ ที่สำคัญในโลก สร้างความเข้าใจต่อบทบาทและนโยบายของญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังใช้ภาษา ที่สละสลวย เข้าใจง่าย ช่วยให้ผู้อ่านที่สนใจประเทศญี่ปุ่น สามารถเข้าใจความซับซ้อนของเนื้อหาได้อย่างชัดเจน นับเป็นงานวิชาการที่เปี่ยมด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง” ดังนั้นจึงสมควรได้รับรางวัล “TTF AWARD ประเภทดีเด่นสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์” ประจำปี 2551
* หมายเหตุ สาขาวิทยาศาสตร์ ไม่มีผลงานได้รับรางวัล
พล.ต.อ.เภา สารสิน ประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่า “การศึกษานับเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย มีความตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสังคมไทยในทุกระดับ ซึ่งรางวัล TTF Award นับเป็นหนึ่งในความตั้งใจที่จะพัฒนาองค์ความรู้ในระดับสูง จากผลงานวิชาการของนักวิชาการไทย ซึ่งการประกาศรางวัลครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 13 มูลนิธิฯจะมุ่งมั่นดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ต่อไป เพื่อให้สังคมไทยมีพัฒนาการ และเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนสืบไป”
**************************************************************************
สารฑูล สักการเวช
sarathun@caronline.net
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…