ข่าวแวดวงรถยนต์ มร.โนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ว่า “ตลาดรถยนต์ในเขตภาคใต้ มีแนวโน้มที่สดใส จากปัจจัยบวกด้านพืชผลการเกษตรและการประมง การท่องเที่ยวที่ความเชื่อมั่นฟื้นตัวและขยายตัว ตลอดจนแรงกระตุ้นจากโครงการคืนภาษีสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกของรัฐบาล ทำให้ความต้องการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้น จากยอดจดทะเบียนรถยนต์ในปี 2555 พบว่า ภาคใต้ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ 15 จังหวัด* มียอดจำหน่ายรถยนต์ประมาณ 160,000 คัน หรือ 12.5% ของยอดจำหน่าย 1.28 ล้านคัน ไม่รวมรถบรรทุกใหญ่ ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ในเขตภาคใต้ก็มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ 12.12% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั่วประเทศ คาดว่าหากราคายางพาราดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาปาล์มน้ำมันล้นตลาดได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น และความต้องการรถยนต์ทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะ จะเข้าสู่ระดับ 200,000 คันได้ภายในปี 2558 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า”
ปี 2555 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจในภาคใต้ มีการเติบโตที่ดีขึ้น ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้ข้อมูลว่า พืชเศรษฐกิจของใต้ ได้แก่ ยางพารา มีราคาสูงขึ้นเป็นลำดับ จากการที่ประเทศจีนทะยอยซื้อยางเก็บเข้าสต๊อค เพราะผลผลิตจากประเทศจีนลดลงเนื่องจากอากาศร้อน คาดว่าในปี 2556 ราคายางจะขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 95-105 บาทต่อกิโลกรัม
“การปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันของภาคใต้ ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะของความต้องการรถยนต์ในกลุ่มกระบะ ประเภทหัวเดี่ยว แบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (Single cab 4WD) เพื่อใช้ในการเก็บและบรรทุกผลิตผลจากสวนโดยตรง ซึ่งมีเพียงมิตซูบิชิ และอีกเจ้าหนึ่งเท่านั้นที่ผลิตรถรุ่นนี้ออกสู่ตลาด ด้วยความเชื่อมั่นด้านสมรรถนะและระบบช่วงล่างที่ทนทาน ทำให้รถกระบะไทรทันได้รับความนิยมสูงมากในจังหวัดที่ทำสวนปาล์มและยางพารา เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง เป็นต้น ปัจจุบันมียอดจำหน่ายในจังหวัดเหล่านี้ เฉลี่ยเดือนละประมาณ 300 คัน ที่ผ่านมา ทำให้เกิดยอดค้างส่ง (Back order) มากกว่า 700 คัน ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 2-2.5 เดือน แต่บริษัทฯ กำลังอยู่ระหว่างปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการสำหรับรถกลุ่มนี้ เพื่อจัดส่งรถให้เพียงพอ และรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าไว้ ส่วนกลุ่มรถยนต์นั่ง นอกเหนือจากการเปิดตัวรถมิตซูบิชิ มิราจ ซึ่งมีจุดเด่นด้านการประหยัดพลังงานและดีไซน์ที่โดดเด่นแล้ว แรงกระตุ้นจากโครงการคืนภาษีรถยนต์ใหม่คันแรก ก็ทำให้กลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กในภาคใต้ มีความคึกคักเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มลูกค้าราชการ และพนักงานบริษัทเอกชน ยอดจำหน่ายของรถยนต์นั่งมิตซูบิชิจึงเพิ่มขึ้น จากปกติเดือนละ 100 คัน เป็นเดือนละ 500 คันโดยเฉลี่ย” มร. มูราฮาชิ กล่าวเพิ่มเติม
ในปี 2555 รถยนต์มิตซูบิชิ มียอดรถยนต์จดทะเบียนในเขตภาคใต้ ประมาณ 16,300 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ จากยอดจดทะเบียนทั้งหมดในพื้นที่ ซึ่งมีประมาณ 150,000 คัน ขณะที่ยอดจำหน่ายตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2555 มีจำนวนประมาณ 18,200 คัน ในปี 2556 ยอดจำหน่ายอาจจะคงเดิมที่ระดับ 18,000 คัน อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยข้างต้น บริษัทฯ จะวางเป้าหมายยอดจำหน่ายของภาคใต้เพิ่มขึ้นอีก 15% ภายในปี 2558
ปัจจุบัน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส มีเครือข่ายผู้จำหน่ายในภาคใต้ 27 โชว์รูม โชว์รูมที่เพิ่งเปิดให้บริการล่าสุด ได้แก่ โชว์รูม นิวมิตซู หาดใหญ่ (ถ.กาญจนวนิช จ.สงขลา) และโชว์รูมท่าศาลาปิยะมอเตอร์ส (ต.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช) ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 โชว์รูม ที่จังหวัดสตูล ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และตรัง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2556 และจะทำให้มิตซูบิชิมีโชว์รูมครบในทุกจังหวัดของภาคใต้ ส่วนบริการเสริมด้านศูนย์บริการซ่อมสีและตัวถัง ไดมอนด์ บอดี้ แอนด์ เพ้นท์ ปัจจุบันมี 6 แห่ง มีแผนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 4 แห่ง ขณะที่ศูนย์รถยนต์มือสอง ไดมอนด์ ยูสด์ คาร์ ปัจจุบันมี 3 แห่ง มีแผนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 6 แห่ง เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในภาคใต้อย่างได้มาตรฐานและครบวงจร อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการสร้างความสุขให้แก่ลูกค้าของรถยนต์มิตซูบิชิทุกคน
thunyaluk@caronline.net