Ford Escape 2.3 ลิตร จอดรอเราอยู่หน้าโรงแรมรามาด้า ริมทะเลออสเตรเลียใต้ เมืองแอดเดอเล่ต์ หลายคัน ผมได้คันสีแดง เดินทางร่วมกับคุณชลิต กิตติญานทรัพย์ และคุณดวงดาว สุวรรณรังษี
สำรวจรถ พบว่า เป็นโมเดลที่ขายในออสเตรเลีย แตกต่างจากที่จะนำเข้าไปในประเทศไทยคือไม่มีซันรูฟ และเสาอากาศวิทยุยังเป็นแบบติดตั้งตายตัว ไม่สามารถลดระดับลงเก็บได้
ส่วนที่ผิดจากรถเอสเคป 3.0 ลิตร ก็มีเพียงเครื่องเสียง ที่จะเป็นวิทยุเทปและเล่น CD ได้หนึ่งแผ่น กับไม่มีระบบควบคุมความเร็วเดินทางอัตโนมัติเท่านั้น
เราออกเดินทางกันตามเวลา แต่ไม่ได้กำหนดว่า จะให้ใครเป็นคันนำทาง คงมีแต่ฟอร์ด Explorer ของช่างเทคนิคจากฟอร์ด ออสเตรเลียเป็นคันปิดท้าย ดังนั้น เมื่อเขาเริ่มขบวน เราก็ออกรถตามไปได้เลยที่พร้อม
คุณชลิตเป็นผู้นำทางในช่วงแรก ดูแผนที่แล้วบอกทางให้กับผู้ขับขี่ โดยเดินทางไปทางตะวันออกของเมืองแอดเดอเล่ต์ และเมื่อเป็นแผนที่นำทางแบบ Rally sign เราก็ไม่รู้แน่ชัดว่า ทางจะพาเราไปที่ไหน จนกว่าจะถึงจุดพักรถที่อาจจะบอกหรือไม่บอกก็ได้ว่า เป็นเมืองหรือตำแหน่งแห่งหนใด
รู้แต่ว่า ทางตอนแรก พาเราออกจากเมือง ผ่านไปบนไฮเวย์ ที่ให้วิ่งได้ 100-120 ตามแต่ป้ายจำกัดความเร็ว จากนั้น ก็พาขึ้นไปเลาะเลียบหน้าผาสูงชัน ที่เอสเคป 2.3 ลิตรทำได้อย่างดี แม้จะเป็นทางเปียกเพราะฝนเพิ่งตกแต่ก็ไม่มีอาการลื่นให้รู้สึกได้เลย จึงแน่ใจว่า ยังคงขับเคลื่อนแบบล้อหน้า 2 ล้ออยู่ตลอดเส้นทาง
เกียร์ของเอสเคป เป็นเกียร์อัตโนมัติ แบบคอลัมน์ชีฟ หรืออยู่ที่คอพวงมาลัย เหมือนเกียร์มือที่เราเคยเรียกกันในสมัยก่อน เกียร์แบบนี้ เป็นเกียร์ที่ผู้ขับขี่อาจจะสับสนได้ง่าย หากคอยเปลี่ยนเกียร์จาก D ไปเป็น N และสลับไปมาขณะจอดรอสัญญาณไฟ อาจจะเข้าเกียร์เป็นถอยหลัง แล้วรถเลื่อนไปชนคันที่จอดต่อท้ายอยู่ได้ง่ายง่าย
การเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัติไปไปมามานั้น ไม่เป็นที่แนะนำของช่างยนต์สากล อย่างน้อยก็ในสหรัฐอเมริกา เพราะจะทำให้สับสนและเกิดอุบัติเหตุง่ายมากอย่างหนึ่ง ส่วนเรื่องที่ทำให้เกิดความสึกหรอมากกว่านั้น ก็อีกอย่างหนึ่ง
แต่ในบ้านเรานั้น ใครจะทำอย่างไร ผมไม่เกี่ยวแล้ว ขอไม่ยุ่ง ไม่แนะนำอะไรทั้งนั้น เพราะเมื่อไรที่เกียร์เสีย เพื่อนช่างของผมจะเป็นผู้ได้เงินคุณทุกครั้งไป จะแนะนำให้โดนด่ายับเยินไปทำไมกันล่ะครับ
เราน่าจะเดินทางไปทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองนะครับ เพราะคลับคล้ายคลับคลาว่า ผ่าน Mount Barker ด้วย จากนั้นก็เป็นทางลูกรังที่ตัดผ่านป่าดง และขุนเขาในออสเตรเลียใต้ ลึกลงไปจนถึงเมือง Strathalbyn ที่ผมไม่กล้าออกเสียง สาบานได้
แล้วต่อไปบนทางคล้ายเดิม คือเป็นทางเรียบ สลับกับทางลูกรัง บนภูเขาและในป่า ให้ฟอร์ด เอสเคป 2.3 ได้แสดงพลังในการขับเคลื่อน ทั้งบนเส้นทางที่เปียกเพราะฝน และแห้งเป็นฝุ่น ไปเกือบตลอดทาง
เรากดปุ่มเลือกให้รถเปลี่ยนการขับเคลื่อนเป็น 4 ล้อกันเมื่อเข้าสู่ทางฝุ่น หรือลูกรัง ทั้งเปียกและแห้ง เพื่อดูอาการตอบสนองในขณะเข้าโค้งอย่างรุนแรงบนผิวทางลื่น เพราะฝุ่นหรือน้ำ แต่เอสเคปก็ยังคงเดินทางได้อย่างดี ไม่ปัด และไม่เซ แม้จะใช้ความเร็วในขณะเข้าโค้งสูงเอาการก็ตาม
เบรก ต้องยอมรับว่า ตอบสนองการควบคุมรถได้ดีมาก ผมเองนั้น ชอบใช้เบรกในการชะลอความเร็วของรถอยู่แล้ว ไม่ใช้เกียร์ช่วย เพราะการใช้เกียร์ ก็คือการใช้เครื่องยนต์ ในขณะที่ผมเชื่อเสมอมาว่า เครื่องยนต์มีหน้าที่เร่งความเร็วของรถ ไม่ใช่ชะลอความเร็ว อันเป็นหน้าที่ของเบรก และเบรกของเอสเคป 2.3 ก็ดีเหลือเกินอยู่แล้ว
EBD หรือระบบกระจายแรงเบรกของฟอร์ด เอสเคป 2.3 นั้น เราได้ทราบจากผู้บรรยายในห้องประชุมว่า ไม่มี แต่หันไปใช้ระบบ Mechanical Brake Assist System ADAM แทน และก็ให้ผลในการตอบสนองการห้ามล้อได้อย่างดี คือตอนแรกผมไม่เชื่อ แต่เมื่อลองขับเองแล้ว ก็ทราบว่า ระบบนี้ ไม่ได้ด้อยไปกว่า EBD ที่เราเริ่มจะคุ้นเคยในรถยนต์ใหม่หลายต่อหลายคัน
คือแบ่งกำลังห้ามล้อได้ดี และเมื่อเบรก ก็ไม่ได้ยุบส่วนหน้าของรถลงจนเสียหลักได้ง่ายเลยแม้แต่น้อย ตรงนี้ น่าจะเป็นเพราะการออกแบบช่วงล่างได้ดีเสริมด้วยมาก
เราทุกคนในรถ ไม่รู้สึกว่า ถูกโยนตัวไปข้างหน้า ขณะรถลดความเร็วกะทันหันเลย แต่ตรงกันข้าม เมื่อเราออกตัว ก็รู้สึกแบบว่าหลังติดเบาะกันแทบทุกทีซีน่า
เอาอย่างนี้ก็แล้วกันครับ เรื่องของ Mechanical Brake Assist System นี่ ผมจะเอาไปเล่าในประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์เก็บตกเทคโนโลยี อันเป็นคอลัมน์เฉพาะสำหรับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด อย่างน้อยก็ล่าสุดที่ผมทราบมานั่นแหละนะครับ
ความมั่นคงในการทรงตัว เราพบว่า ตลอดเวลาของการทดลองขับบนเส้นทางต่างต่าง ทั้งช่วงแรกและช่วงหลัง รถให้ความรู้สึกมั่นคง และแสดงอาการมั่นคงมาก การเข้าโค้งไม่ว่าจะแรงสักเพียงไหน ไม่ได้ทำให้รถเอียงตัวออกนอกโค้งมากเกินเหตุ จนคนนั่งต้องเกร็ง หรือคนขับต้องเอียงตัวขืนการเทออกนอกโค้งของรถเลยสักครั้ง
ที่แปลกอยู่หน่อย ก็คือการเร่งแซง ที่ทำได้ดี หากตามรถที่นำอยู่ในอัตราความเร็วตั้งแต่ 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและสูงขึ้นไปไม่มากนัก แต่การตอบสนองในขณะเร่งเพื่อนำรถออกจากโค้งที่ความเร็วใกล้เคียงกัน กลับไม่ตอบสนองเร็วเหมือนตอนเร่งแซง หรือตอนออกตัวจากที่จอด ทั้งที่สภาวะแทบไม่ได้แตกต่างกันเลย
ทำให้ผมค่อนข้างงุนงง แต่ยังนึกเข้าข้างฟอร์ดอยู่เล็กน้อย คือว่า ขณะจะเข้าโค้งนั้น เรามักยกเท้าจากคันเร่ง ไปแตะเบรก เครื่องยนต์ก็จะต้องตกลงไปอยู่ตามเกียร์ และส่วนมากก็จะอยู่ในลักษณะเกือบจะ Idle หรือ Idle ไปเลย เมื่อเรากดคันเร่งเพื่อทวีความเร็วสำหรับการไต่โค้งของรถ วาล์วควบคุมท่อไอดีที่ฟอร์ดติดตั้งให้กับเครื่องยนต์รุ่นนี้ อาจจะไม่ทำงานทันที เพราะความเร็วของไอดียังไม่ถึง ทำให้เสียงในการตอบสนองไม่รู้สึก ในขณะที่การตอบสนองก็ยังคงมี ก็อาจจะเป็นได้
ตรงนี้ ต้องลองขับกันอีกครั้ง ในเมืองไทยครับ
ผมออกจะแปลกใจ เมื่อได้ยินคุณดวงดาว สุวรรณรังษี ที่ใครต่อใครเรียกกันว่า”พี่หน่อย” บ่นว่า อยากได้เอสเคปสักคัน แต่เผอิญขับรถสูงอันได้แก่ JEEP เชโรกีอยู่แล้ว ไม่อยากขับรถเตี้ยกว่า เพราะไม่ถนัด ทั้งที่ผมก็รู้สึกว่า ทั้งสองคันนี้ไล่เลี่ยกันมากอยู่แล้ว
แต่ก็เก็บความสงสัยไว้ในใจ จนเราขับมาถึงจุดจอดรถครั้งที่สอง ที่ Victor Harbor ตอนลงจากรถเพื่อไปขึ้นรถรางลากด้วยม้า ไปเกาะที่ผมจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว ก็สังเกตการลงจากรถ รู้สึกว่า การรับน้ำหนักของข้อหัวเข่าน้อยลงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด แสดงว่า ระดับความสูงของรถน่าจะลดลงไม่มากก็น้อย
ผมอายุมากแล้ว อะไรต่ออะไรก็เสื่อมไปบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็แปลกที่เมื่อไรเดินทางไปต่างประเทศ อาการปวดโน่นปวดนี้ ทั้งภายในภายนอก มักจะหายไปอย่างน่าพิศวงมาตลอด จนทำให้ขาดการสังเกตสังกาไปเกือบหมด
อย่างเรื่องไขมันแบบคอเรสโตรอล ที่ผมมีอยู่สูงคือตรวจครั้งใด ก็ได้ประมาณ 220 แทบทุกครั้งนั้น หายไป กลับมาบ้านตรวจอีกครั้งจะเหลือราว 200 หรือต่ำกว่า ทั้งที่กินนมกินเนยอย่างไม่ยั้งทุกที
น้ำตาลที่สูงประมาณ 130 พอไปถึงเมืองนอก กินอะไรต่ออะไรเข้าไปมาก ตอนเช้าตรวจเองเมื่อไร จะพบว่าเหลือไม่เกิน 120 ทุกคราวไป บ่อยครั้งสำหรับน้ำตาลที่จะเหลือแค่ 100 หรือไม่เกินนั้น คราวนี้ก็ฟาดขนมหวานเข้าไปมากเสียด้วย ยังไม่ถึง 120 เลย สงสัยจะเป็นเพราะเดินมากก็เป็นได้กระมังครับ
ความดันโลหิตก็ลดลงกว่าเดิม คือปกติ 140-90 จะเหลือราว 120-80 ได้อย่างน่าประหลาดใจ แต่ผมไม่สงสัยในเรื่องนี้ ด้วยว่าคงจะเกิดจากการหมดความเครียดสะสมเมื่ออยู่ในบ้านเรา อันมีงานต้องส่งกันแทบทุกวัน แต่พอไปอยู่ต่างประเทศ หากไม่ได้เอาคอมพิวเตอร์ไปด้วย ก็หมดโอกาสส่งงาน คลายกังวลไปได้ อันเป็นการลดความเครียดลง เป็นผลให้ความดันโลหิตลดลงด้วยอย่างหนึ่งหรืออะไรก็ไม่ทราบนี่แหละ
แต่ก็พบเหมือนกันนะครับ เวลาไปอยู่ต่างจังหวัดครั้งใด เอาเครื่องวัดต่างต่างไปด้วย ก็พบว่า ทุกอย่างที่ว่าสูงเกินไปนั้น ลดลงอยู่ในระดับปกติแทบทุกครั้งไปเช่นกัน
หรือต่างจังหวัด อาจจะเป็นยารักษาโรคที่รักษาไม่หายของผม อันเกิดจากกรรมพันธุ์ได้อย่างดีก็ไม่ทราบ
แล้วผมก็ตกลงใจซื้อ Escape 3.0 ลิตร มาไว้เป็นพาหนะเดินทางต่างจังหวัด แทนวอลโว่ 960 3.0 ลิตรคันโปรด
เพราะการเดินทางไกล ผมชอบใช้รถเครื่องยนต์ใหญ่ เพื่อให้อัตราเร่งดี การแซงเป็นไปได้อย่างเฉียบขาด แม่นยำ
วันนี้ผมขับฟอร์ด เอสเคป 2.3 ลิตร ที่ฟอร์ดนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ด้วยเจตนาลึกล้ำ ที่ผมเดาไม่ออกนอกจากเห็นว่า คงเพราะฟอร์ดต้องการให้ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ตามความเชื่อของลูกค้ากลุ่มนั้นเอง ที่กังวลมากมายแสนสาหัสกับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถเครื่องยนต์ใหญ่ แต่อยากได้ทรวดทรงรถยนต์แบบเอสเคปหันกลับมาสนใจ และเลือกซื้อเอสเคปไปใช้งานบ้างก็เป็นได้
แล้วมองต่อไปว่า คนซื้อรถระดับนี้ ไม่เอารถไปลุยป่าฝ่าดงที่ไหนหรอกกระมัง รวมทั้งอายุอานามของลูกค้ากลุ่มนี้น่าจะมากหน่อยแล้ว จึงลดความสูงของรถลง เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของลูกค้าแต่ละกลุ่มไป
ทีนี้ เมื่อลดความสูงลงแล้ว ก็หมายความว่า ระบบกันสะเทือนน่าจะดัดแปลงให้ผิดไปจาก 3.0 ลิตรที่ขายอยู่ก่อนและเป็นที่นิยมของคนวัย 30-40 ในไทยกันมาก
ก็ทำให้นุ่มนวลขึ้น แต่ยังรองรับการเลี้ยวโค้งได้อย่างดี ไม่เอียงตัวมากอย่างที่ผมบอกไว้ คือเหนือกว่ารถเก๋งหลายคันทีเดียวละครับ สำหรับการทรงตัว และความมั่นคงในการเลี้ยวโค้งของ Escape 2.3 ลิตรคันนี้
ทัศนวิสัยล่ะ การลดความสูงของรถลงถึง 10 มิลลิเมตร ให้ความรู้สึกดีขึ้นสำหรับคนอายุมาก ในการก้าวขึ้นและลงจากรถแล้ว จะส่งผลกระทบอะไรกับการขับขี่ในเมือง หรือย่านการจราจรติดขัดหรือไม่
เพราะปกติ คนที่ขับรถสูง จะชอบความสูงเพราะทำให้มองเห็นได้ไกลกว่า
เราขับเข้าเมืองกัน หลังจากหยุดหาที่ให้คุณดวงดาวบันทึกภาพรถในไร่องุ่นงดงาม ของออสเตรเลียใต้กันแล้วค่อยดูกันก็ได้ครับ เพราะเพิ่งนึกออกเอาตอนหลังนี่เอง ว่าการขับขี่ในเมือง น่าจะสำคัญสำหรับผู้เลือกใช้รถ 2.3 ลิตรมากหน่อย
ฟอร์ดนั้น เป็นรถยนต์ที่คนรุ่นผม รู้จักกันก่อนโตโยต้า นิสสัน และฮอนด้า มากมาย คนรุ่นผม ก็ย่อมต้องอายุอานามไล่เลี่ยกับผม จริงไหม
ตอนที่ฟอร์ดกำลังโด่งดังอยู่ในประเทศไทยนั้น แองโกลไทยนำเข้ามาหลากหลายรุ่น รุ่นที่ชื่นชมกันมาก ก็ได้แก่ คอร์ติน่า อันเป็นรถยนต์นั่งขนาดกลางของไทย หรือคอมแพกอันเป็นขนาดเล็กสำหรับต่างประเทศ ในขณะที่รถญี่ปุ่นเพิ่งเข้ามาเป็นแท็กซี่ในบ้านเรา ตอนนั้น อยู่ในช่วงปี พุทธศักราช 2505-2515 ราคารถยนต์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ยังอยู่ระดับหลักหมื่น ในขณะที่ฟอร์ดขึ้นไปถึงหลักแสนมานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลายท่าน ก็อยากได้รถที่ไม่สูงมากนัก เครื่องยนต์กำลังเหมาะกับตัวรถ ไม่สูงอย่างที่ผมชอบ แต่ไม่เล็กจนเกินไปทำให้ต้องออกแรงมาก เพราะท่านเหล่านั้น มักจะเหนื่อยไปกับการออกกำลังของเครื่องยนต์ขนาด 2.0 สำหรับการขับขี่บนถนนหลวง ทั้งในและนอกเมืองของไทยเราช่วงนี้กันเสียแล้ว
ฟอร์ด ออกรถ 2.3 มา เพราะเห็นว่า เครื่องยนต์ขนาดนี้ ให้ความสมดุลกับการใช้งานรถประเภทนี้ พร้อมไปกับการขีดขั้นกำหนดภาษีของทางการไทย
ผมชอบรถเกียร์อัตโนมัติอยู่แล้ว เพราะเกียร์อัตโนมัติออกแบบมาเพื่อให้ขับขี่ได้ง่าย ไม่ต้องกังวลกับการเปลี่ยนเกียร์ไปมา ดังนั้น เมื่อเข้าเมือง ผมจึงทิ้งเกียร์อัตโนมัติเอาไว้ที่ตำแหน่ง D ตลอดเวลา
จะว่าไปแล้ว ผมก็ใช้ตำแหน่งนี้เรื่องมาตั้งแต่เริ่มขับขี่ รวมไปถึงการขึ้นเขาสูง ลงเนินไม่ว่าจะลาดชันสักเพียงใด เพราะฟอร์ดออกแบบเกียร์ไว้ให้ใช้ได้ทุกสภาพเส้นทาง เกียร์จะปรับเปลี่ยนจังหวะเองโดยไม่ต้องพึงพาการเปลี่ยนจังหวะเลย และเบรกของฟอร์ด เอสเคป 2.3 ก็ให้การหยุดยั้งที่ดี ไม่มีอาการเฟดเพราะความร้อนจากหน้าสัมผัสของผ้าเบรกแม้แต่น้อย ตลอดเส้นทางการขึ้นและลงเขาสูงของออสเตรเลียใต้
ในเมือง เมื่อเราเข้าไปถึงย่านจอแจของการจราจร ช่วงเลิกงานพอดี ผมนั่งอยู่บนความสูงกำลังดีของฟอร์ด เอสเคป และใช้กำลังเครื่องยนต์ที่มีอย่างเหลือเฟือสำหรับความเร็วเดินทางในเมือง แทรกเข้าสู่สายธารการจราจรได้อย่างรวดเร็ว ไม่สร้างอาการเสียจังหวะของรถที่อยู่ในเส้นทางก่อนแล้วแต่อย่างไร
รวมถึงการเร่งออกตัวจากจุดหยุดนิ่งตอนรอการเคลื่อนตัวของการจราจร ก็กดคันเร่งแผ่วลงไปเรื่อยเรื่อย รถก็เคลื่อนตามการออกตัวของรถคันหน้าได้อย่างใกล้ชิดพอ สำหรับการไม่ทำให้การจราจรติดขัดเพิ่มขึ้น
ยิ่งหากอยู่หน้าตอนติดไฟแดง ฟอร์ด เอสเคป 2.3 จะออกตัวได้เร็วใกล้เคียงกับ 3.0 ลิตร ไม่เป็นตัวสร้างความล่าช้าอันนำมาซึ่งการติดขัดสะสมของการจราจรเลยแม้แต่น้อย
ความสูงของรถ ทำให้ได้เปรียบอย่างชัดเจน สำหรับการนำรถเปลี่ยนเลนเมื่อจำเป็น เพราะคุณจะมองเห็นรถหลังได้ไกล มองหน้าได้ไกล กะระยะได้ดีกว่า และปลอดภัยกว่า
คุณไม่ต้องขยับตัวโยกออกไปเพื่อดูเส้นทางจากกระจกมองข้าง ไม่ต้องเอี้ยวตัวมาก ไม่ต้องลุ้นมาก และไม่ต้องเกร็งมากกับการกดคันเร่งลงลึก จนทำให้มุมของข้อเท้าต้องเกิดขึ้นมากจากการเบนตัวของฝ่าเท้า คุณเพียงวางตัวสบายสบายอยู่บนที่นั่งขับขี่ และควบคุมทิศทางรถ กำลังรถ นำรถไปได้ทุกที่ ที่ใจปรารถนา
เพราะกำลังรถ มาได้เพียงแตะคันเร่งแผ่วแผ่วเท่านั้น รถก็ทะยานออกไปได้อย่างเร็วพอ และไม่เร็วจนเกินไปแล้ว
ทั้งหมดนี้ เป็นจุดสำคัญ สำหรับการเลือกซื้อรถ อย่างน้อย ก็สำหรับผม!
—————————————
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…