รถยนต์ในปัจจุบันนี้ได้บรรจุเทคโนโลยีต่างๆมาอย่างมากมาย ซึ่งสิ่งต่างๆที่ให้มานั้นจะคอยอำนวยความสะดวกในการขับขี่ให้กับเราได้เป็นอย่างมาก แต่เมื่อเราซื้อรถแล้วบางทีเราก็รู้ว่ามันมีแต่ก็ยังสงสัยว่าระบบมันทำงานยังไงบ้าง ครั้งนี้ทาง Ford จึงได้จัดทริป Ford Advanced Driving Experience เพื่อเรียนรู้การทำงานของระบบต่างๆ แบบใช้งานจริง
โดยการขับครั้งนี้มีรถสองรุ่นคือ ฟอร์ด เรนเจอร์ ไวลด์แทรค 3.2 ลิตร และรถยนต์อเนกประสงค์แบบ 7 ที่นั่ง ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 3.2 ลิตร ไทเทเนี่ยม พลัส รุ่นปี 2016
ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) ใช้เรดาร์วัดระยะห่างระหว่างรถคันหน้า โดยระบบจะตั้งค่าระบบควบคุมความเร็วแบบอัตโนมัติเพื่อให้รถอยู่ห่างจากรถคันหน้าในระยะที่ปลอดภัยตามความเร็วที่ตั้งไว้ โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องเหยียบคันเร่งหรือเบรกตามคันหน้า หากรถคันหน้าเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ต่ำลง ระบบจะลดความเร็วลงอัตโนมัติเพื่อรักษาระยะห่างในระยะที่ปลอดภัย เมื่อถนนกลับมาโล่งและคันหน้าเร่งความเร็ว ระบบจะเร่งความเร็วตามสภาพการจราจรกลับมาที่ความเร็วที่ตั้งค่าไว้
ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (Lane Keeping System) ทำงานร่วมกับกล้องที่ติดตั้งบริเวณหน้ารถเพื่อตรวจจับหาเส้นแบ่งเลนบนพื้นถนนข้างหน้า โดยระบบจะสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ขับขี่กำลังเบนรถออกจากเลนโดยตั้งใจหรือไม่ จากนั้นจึงเปรียบเทียบข้อมูลจากกล้องกับมุมและแรงบิดของพวงมาลัย หากระบบพบว่าผู้ขับขี่กำลังเปลี่ยนเลนโดยไม่ตั้งใจ ระบบจะเข้าควบคุมแรงบิดของพวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้าเพื่อดึงรถกลับเข้าสู่เส้นทางเดิม หากรถยังคงเคลื่อนออกนอกเลน สัญญาณเตือนการเปลี่ยนเลนจะแจ้งเตือนผู้ขับขี่ด้วยระบบสั่นที่พวงมาลัย
ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning System) ใช้เรดาร์บริเวณหน้ารถเพื่อวัดระยะห่างของรถกับวัตถุที่เคลื่อนที่อยู่ด้านหน้า โดยจะป้องกันการชนที่ความเร็วสูงกว่า 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากระบบวัดค่าเวลาก่อนชนได้ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนพร้อมกระพริบไฟบนกระจกด้านหน้าและแสดงข้อความเตือนบนหน้าจอแสดงข้อมูล หากผู้ขับขี่ไม่ตอบสนองต่อสัญญาณเตือน ระบบจะชาร์จแรงเบรกเตรียมไว้ จึงทำให้ผู้ขับขี่สามารถหยุดรถได้อย่างรวดเร็วเมื่อแตะเบรก ลดความเสียหายจากการกระแทกหรือหลีกเลี่ยงโอกาสการชน
ระบบแจ้งเตือนการขับขี่ (Driver Alert System) จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบว่าผู้ขับขี่มีอาการเหนื่อยล้า ระบบดังกล่าวทำงานโดยใช้กล้องที่ติดตั้งอยู่บริเวณกระจกหน้าซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ กล้องนี้มีหน้าที่ระบุและบันทึกตำแหน่งช่องทางที่รถวิ่งอยู่ เมื่อรถเคลื่อนที่ ระบบจะคาดการณ์ตำแหน่งที่รถควรจะอยู่โดยอ้างอิงจากตำแหน่งของช่องทางที่มีการบันทึกไว้ จากนั้นจึงวัดหาตำแหน่งที่แท้จริงของรถ หากพบว่ามีค่าความแตกต่างมาก ระบบจะส่งสัญญาณเตือนบนหน้าจอควบคุม หากผู้ขับขี่ยังไม่มีการตอบสนอง ระบบจะแสดงสัญญาณที่หน้าจอแสดงข้อมูล เพื่อให้ผู้ขับขี่ทราบว่าควรหยุดพัก อย่างไรก็ตาม ระบบจะไม่ส่งสัญญาณเตือนเมื่อมีการเปลี่ยนช่องทางเพื่อเร่งแซง เนื่องจากระบบสามารถรับรู้ได้ว่าผู้ขับขี่บังคับรถออกนอกช่องทางโดยตั้งใจ
ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ (Auto High Beam Control) ระบบจะทำงานที่ความเร็วสูงกว่า 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระบบนี้ใช้กล้องที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าตรวจสอบสภาวะต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาว่าเมื่อใดต้องเปิดหรือปิดไฟสูง ระบบจะเปิดไฟสูงเมื่อบริเวณนั้นมืดมากพอและไม่มีแสงไฟจากรถคันอื่นๆ โดยรอบ
นอกจากนี้ ใน ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 3.2 ลิตร ไทเทเนี่ยม พลัส รุ่นปี 2016 ยังมี ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist) ที่ช่วยให้การนำรถเข้าจอดเทียบข้างเป็นเรื่องง่ายดายด้วยการเหยียบคันเร่ง เข้าเกียร์ และเบรก โดยไม่จำเป็นต้องบังคับพวงมาลัย รวมไปถึง ระบบตรวจจับรถขณะออกจากซองจอด (Cross Traffic Alert) ซึ่งจะคอยแจ้งเตือนผู้ขับขี่ในกรณีที่มีรถคันอื่นอยู่ในจุดบอดหรือเมื่อมีรถตัดผ่านในขณะถอยออกจากซองจอด ช่วยให้การถอยรถออกจากช่องจอดได้เป็นได้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
หลังจากได้ลองใช้ระบบต่างที่มีอยู่ในรถทั้งสองคันนี้ต้องย้ำเตือนกับท่านผู้อ่านไว้ว่าระบบนั้นแค่ช่วยลดในเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุแต่ไม่ได้ทำให้ไม่เกิดอุบัติเหตุนะครับเพราะสุดท้ายแล้วผู้ขับขี่นั้นยังเป็นที่ควบคุมรถอยู่เหมือนเดิม
premsak@caronline.net
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…
บริษัท มิตซูบิช…