Categories: รถใหม่

ผู้หญิงผู้หญิงขับรถ ฮอนด้าสเตปวากอน สปาด้า และฟรีดใหม่ :โดยธัญญลักษณ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา


เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีโอกาสเดินทางไปกับทริปทดสอบขับ ฮอนด้า สเตปวากอน สปาด้าใหม่ และฟรีดใหม่ เส้นทาง กรุงเทพฯ-สุโขทัย-กรุงเทพฯ

โดยช่วงเช้านัดพบกันที่ศูนย์ฝึกอบรมฮอนด้าบางชัน
ก่อนออกเดินทางก็ได้มีการอธิบายถึงเส้นทางที่จะขับรถไปในครั้งนี้ และมีการแบ่งกรุ๊ปการเดินทางเพราะมีรถ สเตปวากอน สปาด้า 2 คัน และ ฮอนด้า ฟรีด 3 คัน โดยนั่งไปคันละ 4 คน โดยทีมดิฉันได้รถ สเตปวากอน สปาด้า ในการเดินทางขาไป


และก่อนเดินทางก็มีการเล่นเกม พับเบาะที่นั่งด้านหลังของรถสเตปวากอน สปาด้ากัน โดยแข่งกับทีมประชาสัมพันธ์ของทางฮอนด้า โดยมีทีมละ 3 คน สองคนอยู่ที่เบาะแถวกลางอีกคนอยู่ที่ด้านหลัง แล้วเมื่อพับเบาะลงไปก็จะได้พื้นที่ข้างหลังกว้างขวางมาก ได้รู้วิธีพับเบาะและได้เห็นพื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้น


แล้วเราก็ออกเดินทางกัน


สเตปวากอน สปาด้า เครื่องยนต์ขนาด 2,000 ซีซี เป็นรถแบบ 7 ที่นั่ง ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (SOHC) 4 สูบ 16 วาล์ว IVTEC 150 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติแบบ CVT

พร้อมระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Paddle Shift พวงมาลันแบบแร็คแอนด์พิเนี่ยนพร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง หลังแบบทอร์ชั่นบีม

มีระบบ Idleing Stopที่ช่วยประหยัดพลังงานเมื่อรถหยุดนิ่ง พร้อมสวิทช์เปิดปิดหากเราต้องการหรือไม่ต้องการใช้ และมีกล้องส่องภาพด้านหลัง

พื้นที่นั่งแถวที่ 2 แบบแยกอิสระเป็นส่วนตัวแต่จากเก้าอี้คนขับด้านหน้ามาถึงแถวที่ สองมีเนื้อที่เหลือค่อนข้างกว้างคนขายาวางขาได้สบายทีเดียว
และเก้าอี้แถวที่สองเมื่อแยกที่นั่งคนละตัว ก็เหลือที่ตรงกลางระหว่างเก้าอี้ สองตัวพอสมควร ทำให้คนนั่งไม่ต้องใกล้ชิดกันมากนัก

ที่นั่งก็นั่งสบายดี เพราะรถค่อนข้างใหญ่มีที่ท้าวแขน แต่รู้สึกว่าเบาะนั่งแข็งไปหน่อยเมื่อนั่งไปนานๆ


หลังคาเป็นหลังคาแบบ Skyroof เปิดได้ถึงที่นั่งแถวที่ 3 สว่างโร่เต็มที่เลยถ้าเปิดหมดและควรเปิดในช่วงแดดร่มลมตก หรือท่านที่ไม่กลังแดดก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

ส่วนประตูด้านข้างเป็นแบบสไลด์อัตโนมัติซ้าย-ขวา ทำให้ขึ้นลงสะดวก เพราะขึ้นลงได้ทั้งสองฝั่ง

ที่นั่งแถวที่ 3 ปรับพับ 60:40 พร้อมพับแบบแบนราบ
ส่วนแถวที่ 3 เก้าอี้สามารถปรับพับแบบแบนราบ เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บของได้มากขึ้น เดินทางเที่ยวนี้นั่งกันไป สี่คน ใส่จักรยานคันใหญ่ 2 คัน และกระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก4 ใบ ยังมีเนื้อที่เหลือใส่ของได้อีก

เมื่อขนสัมภาระขึ้นรถแล้วก็เดินทางกันเลยค่ะ โดยทริปนี้ จะมีชายหนุ่มไปด้วยสองคน และสองสาวค่ะ ก็เลยเป็นทริปที่ให้สองหนุ่มเป็นคนขับ ส่วนสองสาวก็เป็นผู้โดยสารทริปนี้ถือว่าเป็นการนั่งไปมากกว่า ทดสอบที่นั่งหลังก็แล้วกันนะ เพราะรถแบบนี้ถ้ามีคนขับให้นั่งก็ดีค่ะ


เหมาะเป็นรถครอบครัว และถ้ามีผู้สูงอายุก็ยิ่งเหมาะสม เพราะพื้นรถต่ำ ก้าวขึ้นลงสะดวก
คนที่นั่งด้านหลังไม่ต้องกลัวร้อน เพราะมีช่องปรับอากาศทั้งแถวที่ 2 แล 3 ด้วยอยู่ด้านข้างของตัวรถ
ช่วงล่างนุ่มนวลค่ะผ่านถนนที่ขรุขระหลายที่ก็ไม่รู้สึกถึงความสะเทือนมากนัก

คนขับได้ใช้อัตราเร่งแซงหลายครั้ง ก็รู้สึกได้ว่าเร่งแซงทันใจไม่อืดอาด

รถคันนี้เป็นล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว 4 วง ยาง 205/55 R17


เมื่อขับทาถึงนครสวรรค์ ก็ถึงเวลารับประทาอาหากลางวัน โดยแวะที่ร้านกุ้งเผา 2 จ.นครสวรรค์ ท่านใดที่ชอบกุ้งก็มาทานกันได้ร้านอยู่ริมแม่น้ำ บรรยากาศดี

เมื่อออกจากร้านอาหารก็ขับไปยังจังหวัดพิษณุโลก โดยใช้ทางหลวง 117 ซึ่งถนนสายนี้จะเป็นถนนไปกลับข้างละ 2 เลน ถนนค่อนข้างที่จะขรุขระมากๆในหลายช่วงของถนน แต่รถที่ใช้ถนนสายนี้ไม่ค่อยจะมากนัก นั่นก็คือข้อดี ทำให้ได้ลองสมรรถนะช่วงล่างของรถ ซึ่งก็ได้บอกไปแล้วว่านุ่มนวล


และแล้วเราก็มาถึงจุดเป้าหมายนั่นก็คือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย

เมื่อมาถึงที่นี่แล้ว เราก็เอารถจักรยานที่อยู่ในรถฮอนด้าสเตปวากอน สปาด้าลง ซึ่งจะเป็นจักรยานคันใหญ่ ส่วนที่อยู่ในรถฮอนด้าฟรีด ก็จะเป็นจักยานคันเล็กแบบพับได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขี่จักรยานเที่ยวชมโบราณสถานในอุทยานได้ บรรยากาศร่มรื่นมากเลยค่ะ


อุทยานฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท หรือสามารถซื้อตั๋วรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท ในกรณีที่นำยานพาหนะเข้าภายในเขตอุทยานฯ เสียค่าธรรมเนียมอีก ราคา 10 – 50 บาท และทางอุทยานฯ มีบริการรถรางนำชมโบราณสถานทั่วบริเวณชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการขอวิทยากรนำชม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

โบราณสถานที่อยู่ภานใน วัดช้างล้อม วัดที่อยู่ภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย บนที่ราบเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาพนมเพลิง โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงลังกา ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบ จำนวน 39 เชือก และช้างที่อยู่ตามมุมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ ตกแต่งเป็นช้างทรงเครื่อง มีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขา และข้อเท้า ส่วนทางด้านหน้าเจดีย์ประธานมีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ เหนือฐานประทักษิณมีซุ้มพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ผนังซุ้มมีรูปประติมากรรมรูปต้นโพธิ์อยู่เบื้องหลังพระพุทธรูป แต่พระพุทธรูปได้ถูกทำลายไปคงเหลือเพียงองค์เดียวทางด้านทิศเหนือ บริเวณองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตรประดับด้วยรูปพระสาวกปูนปั้นลีลานูนต่ำจำนวน 17 องค์

วัดช้างล้อมที่เมืองศรีสัชนาลัยนี้ ช้างจะมีลักษณะที่เด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่น ๆ คือ ยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่กว่าช้างจริง และด้านหน้ามีพุ่มดอกบัวปูนปั้นประดับไว้

โบราณสถานภายในวัดที่ยังมีหลักฐาน คือ วิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน นอกจากนั้นเป็นวิหารขนาดเล็ก ๆ 2 หลัง และเจดีย์ราย 2 องค์

วัดเจดีย์เจ็ดแถว

ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดช้างล้อม นับว่ามีความสวยงามมากกว่าวัดอื่นในเมืองสุโขทัย เพราะมีเจดีย์แบบต่าง ๆ กันมากมายที่เป็นศิลปะสุโขทัยแท้ และเป็นศิลปะแบบศรีวิชัยผสมสุโขทัย โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูมอยู่ด้านหลังพระวิหาร และมีเจดีย์รายรวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่าง ๆ จำนวน 33 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง นอกกำแพงมีโบสถ์ และบ่อน้ำ เจดีย์รายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวมีรูปแบบที่ได้รับบอิทธิพลศิลปะจากที่ต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น ลังกา และพุกาม ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่น คือ ฐานเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถง ส่วนซุ้มโถงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้น มีภาพจิตรกรรมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า และเหล่าเทวดากษัตริย์ ส่วนซุ้มจรนัมด้านหลังของเรือนธาตุทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก สาเหตุที่เรียกว่า วัดเจดีย์เจ็ดแถวเนื่องจากได้พบเจดีย์จำนวนมากหลายแถวภายในวัด และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระราชวงศ์สุโขทัย

วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่

ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดเจดีย์เจ็ดแถวนัก โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง องค์ระฆังได้พังทลายลง ด้านหน้ามีบันไดขึ้นไปจากมุขหลังของวิหารไปถึงเรือนธาตุเพื่อสักการะพระพุทธรูป ด้านเจดีย์ประธานมีวิหาร มีมุขด้านหน้า และด้านหลัง มีบันไดขึ้น 5 ทาง เสาวิหาร และกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง
กลับ

วัดสวนแก้วอุทยานน้อย

หรือเรียกกันอีกชื่อว่า วัดสระแก้ว อยู่ห่างจากวัดช้างล้อม 200 เมตร กลุ่มโบราณสถานมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีประตูทางเข้าด้านหน้า และด้านหลังวัด มีโบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว วิหารมีซุ้มพระตั้งอยู่ด้านหลังลักษณะเป็นมณฑป หลังคามณฑปเป็นรูปโค้งแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย
กลับ

วัดนางพญา

ตั้งอยู่แนวเดียวกันกับวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก ปรากฏอยู่บนซากผนังวิหารด้านตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นวิหารขนาดเจ็ดห้อง ภายในวิหารตามเสาทุกด้านมีเทพนม และลวดลายต่าง ๆ ทำด้วยสังคโลกไม่เคลือบ เจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ซุ้มด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นจนถึงภายในโถงเจดีย์ ตรงกลางโถงมีแกนเจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น วิหารก่อด้วยศิลาแลงมีมุขหน้า และมุขหลัง ผนังวิหารเจาะช่องแสง ผนังด้านใต้มีลวดลายปูนปั้น ลักษณะเด่นก็คือ ลวดลายปูนปั้นทำเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง แต่ถูกทำลายไปบางส่วน นอกจากนั้นยังทำเป็นรูปลวดลายพรรณพฤกษา และรูปเทพนมเป็นรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น


หลังจากการเข้าชมอุทยานแล้วก็กลับเข้าที่พักที่โรงแรมสุโขทัยเฮอริเทจรีสอร์ท


เช้าวันรุ่งขึ้นทีมของดิฉันก็ขับ ฮอนด้าฟรีดกลับกรุงเทพฯ เราก็ยังนั่งกันสี่คนเหมือนเช่นเดิม โดยดิฉันสองสาวนั่งหลัง ส่วนสองหนุ่มก็เป็นคนขับ ก็เที่ยวนี้เป็นการทดสอบนั่งค่ะ

ฮอนด้าฟรีด ก็เป็นรถยนต์แบบ 7 ที่นั่งเหมือนกัน เป็นเครื่องยนต์ แบบซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (SOHC) 4 สูบ 16 วาล์ว I-VTC ขนาด 1.5 ลิตร 118 แรงม้าที่ 6,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 14.7 กม.-ม.ที่ 4,800 รอบต่อนาที ระบบเกียร์อัตโนมัติแบบ 5 สปีด
พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พิเนี่ยนพร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงไฟฟ้า

ระบบเบรกหน้าแบบดิสก์เบรกมีช่องระบายความร้อน เบรกหลังแบบดรัมเบรก

ส่วนระบบกันสะเทือนหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัท อิสระพร้อมเหล็กกันโคลง หลังทอร์ชั่นบีมแบบ H-Shap
ที่นั่งตอนหลังมีช่องแอร์เช่นกัน มีจอ LCD ขนาด 9 นิ้ว จำนวน 2 จอ เก้าอี้แบบแยกอิสระ 2 ตัวหลัง แถวที่สามแบบพับได้

ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว 4 วง ขนาดยาง 185/65 R 15
แล้วเราก็ขึ้นไปนั่งที่นั่งแถวที่ 2 ซึ่งเป็นเก้าอี้แบบแยกอิสระ

ส่วนแถวที่ 3 แบบแยกอิสระปรับพับได้ทำให้มีพื้นที่บรรทุกใมภาระได้มากขึ้น เพราะคันนี้บรรทุกจักรยานแบบพับได้สองคัน แล้วยังมีเนื้อที่บรรุกสัมภาระอื่นๆอีก
ที่นั่งด้านหลังมีเครื่องเล่นดีวีดีพร้อมจอ LCD ระบบสัมผัสขนาด 9 นิ้วจำนวน 2 จอ

และมีช่องปรับอากาศสำหรับผู้โดยสารตอนหลังด้วย แต่จะอยู่ด้านหน้าของผู้โดยสารแถวที่ 2

เบาะนั่งหลัง ดิฉันรู้สึกว่านั่งสบายกว่าตัว สเตปแวกอน เพราะนุ่มนวลกว่าไม่เมื่อยก้นเวลานั่งนานๆ

อัตรเร่งแซงถือว่าดีเพราะนั่งกันเต็มสี่ที่นั่ง พร้อมบรรทุกของด้วย

ส่วนเมื่อผ่านถนนที่ขรุขระ จะรู้สึกถึงแรงกระเทือนพอควรทีเดียว

แต่พอนึกถึงราคาของตัวฮอนด้าพรีดแล้ว ดิฉันก็พอรับได้ในส่วนนี้


และเราก็ได้เข้าชมบ้านทองสมศักดิ์ –ลำตัดเงินโบราณ ซึ่งมาถึงสุโขทัยแล้วก็ไม่ควรพลาดที่จะเข้าชม


ส่วนมื้กลางวันขากลับก็ไปรับประทานอาหารที่ร้านหน้าผาปลาทอดมันที่นครสวรรค์ร้านนี้อาหารก็อร่อยไม่ว่าจะเป็นทอดมันหรือเต้าเจี๊ยวหลน อิ่มท้องก็ขึ้นรถ


คราวนี้ก็เรียกว่าเป็นการทดสอบการนั่งรถทั้งสเปซแวกอนสปาด้า และฮอนด้าฟรีด ซึ่งราคาก็ต่างกันมาก

สมรรถนะรถก็ต่างกัน

ความกว้างขวางในรถก็ต่างกัน

ความนุ่มนวลก็ต่างกัน

เหมือนกันที่เป็นรถ 7 ที่นั่ง ประตูเปิดสไลด์ด้วยไฟฟ้าทั้งสองด้าน

ก้าวขึ้นลงสะดวกทั้ง 2 ด้าน แล้วถ้ามีผู้สูงอายุด้วยแล้วละก็สบายมาก ก้าวขึ้นลงสะดวก

ที่นี้อยู่ที่ท่าผู้ใช้รถแล้วละคะว่าจะเลือกคันไหนซึ่งคาดอยู่ที่งบประมาณแน่นอนค่ะ

สเตปแวกอนราคาอยู่ที่ รุ่น E 1,899,000 บาท ส่านรุ่น EL ราคา 1,959,000 บาท

ส่วนตัวฮอนด้าฟรีด ราคาอยู่ที่ รุ่น SE 834,000 บาท รุ่น E ราคา 879,000 บาท
และรุ่น EL ราคา 959,000 บาท (แตกต่างกันที่ออฟชั่น)

โดยรถทั้งสองรุ่นนี้เติมน้ำมันได้ทั้ง แก๊สโซฮอล์ E 10 และ E 20

ผู้หญิงขับรถ
ธัญญลักษณ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

Facebook Comments
CarOnline Team

Recent Posts