พักหลังนี่หยิบยกเอาเรื่องของรถไฟฟ้ามานำเสนอบ่อย ทั้งเรื่องของสถานที่ชาร์จรถ เรื่องของปลั๊ก ที่จะเสียบชาร์จตัวรถ ในหลากหลายเรื่อง เพราะบ้านเรากำลังอยู่ในขั้นทดลอง โดยฟากทางการไฟฟ้านครหลวง เพื่อเตรียมการหากจะมีการสั่งนำเข้ารถไฟฟ้ามาจำหน่ายจริง หนนี้นำเรื่องปัญหาของเสียง ที่เกิดจากรถไฟฟ้า ที่แทบจะไม่มีเสียงอะไรเลย ขณะเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นปัญหาที่เมืองนอกเมืองนา กำลังคิดวิธีแก้ไข เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากคนเดินถนนไม่ได้ยินเสียงทำงานของเครื่องยนต์
นิสสัน ลีฟ
เรื่องนี้เหมารวมถึงรถไฮบริด ขณะที่เครื่องยนต์หยุดทำงาน ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่อย่างเดียว ก็เข้าข่ายเช่นกัน ก็เลยมีข้อเสนอหลายอย่าง ที่จะติดตั้งเครื่องกำเนิดเสียง ในรถไฮบริดและรถไฟฟ้า เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้พิการหรือคนเดินถนน ให้ได้ยินว่าเสียงที่กำลังเคลือนมานี้ คือเสียงของรถไฟฟ้า โดยสหพันธ์คนตาบอดแห่งชาติ รณรงค์จนรัฐสภา ออกกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยของคนเดินถนน เมื่อปี 2554 แต่ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะองค์กรเพื่อความปลอดภัยแห่งชาติ ขอให้เลื่อนการบังคับใช้ไปก่อน เพื่อกำหนดมาตรฐานการกำเนิดเสียง ไปจนถึงปลายปีนี้
หลายองค์กรในอเมริกา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนตาบอด หยิบยกเรื่องเสียงในรถไฮบริดและรถไฟฟ้ามานาน นับแต่เริ่มมีรถจำหน่ายเมื่อ 15 ปีก่อน เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย หากมีรถเคลื่อนที่เข้ามา โดยไม่มีเสียงเครื่องยนต์เหมือนที่คนพิการทางสายตา คุ้นเคย ทำให้ต้องเกิดการวิจัยในเรื่องนี้ และพบว่า โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนผู้พิการ มีสูงถึง 35% แม้ว่าจะมีการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก แต่ก็สามารถผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้
เชฟโรเลต
ด้านผู้ผลิตยานยนต์ ก็ออกมาระบุว่า เสียงที่เกิดขึ้นอาจจะดังไปหรือไม่ และควรติดตั้งกับรถที่เสียงเครื่องยนต์เงียบด้วยหรือไม่ ไม่เพียงเฉพาะรถไฮบริด หรือรถไฟฟ้า เท่านั้น โดยตอบรับกับข้อกฎหมาย ด้วยการตระเตรียมให้มีเสียงเตือน เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในอนาคต อาทิ นิสสัน ลีฟ จะเกิดเสียงเตือนเมื่อความเร็วต่ำกว่า 30 กม./ชม. โดยอัตโนมัติ ขณะที่ค่ายเชฟโรเลต โวลต์ และ สปาร์ค อีวี ผู้ขับขี่สามารถทำให้เกิดเสียงเตือนได้ตามต้องการ
แต่ก็ยังมีเสียงต่อต้านออกมาจากผู้ใช้รถเหล่านี้ เพราะประทับใจกับความเงียบในรถยนต์ของตนเอง
บรรดาผู้ผลิตรถไฟฟ้าทุกค่าย ต่างก็รอคอยการบังคับใช้กฎหมายนี้ เพื่อเพิ่มเติมแหล่งกำเนิดเสียงในรถของตัวเอง ซึ่งน่าจะยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร กว่าจะตกลงกันได้ว่าจะใช้เสียงดังแบบไหน และดังแค่ไหน สองเรื่องนี้กว่าจะออกมาเป็นมาตรฐาน น่าจะมีเรื่องสนุกมาเล่าสู่กันฟังอีกเยอะ
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…