Brand: TOYOTA Model: Vigo
Year: 2006 Miles: 0-5000
From: ยุทธการ สายเพชร
ผมกำลังออก vigo เครื่อง 2500 เพื่อมาบรรทุกโดยเฉพาะ ปกติจะบรรทุก ประมาณ 1500 กก.ต่อเที่ยว ระยะทางประมาณ 40 กม.ต่อเที่ยวทุกวัน ช่วงออกรถมาใหม่ จะบรรทุกได้ 1500 ได้เลยหรือป่าวครับ หรือควรบรรทุกเบาๆไว้ก่อนเพื่อรันอิน รบกวนให้คำแนะนำตามเห็นสมควรด้วยครับ
เป็นคำถามที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งที่ผมได้รับนะครับ ขอบคุณเป็นพิเศษที่ถามมา
ปกติแล้ว ผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้อง Run-in เครื่องยนต์ใหม่ในระยะหลังนี่เท่าไรนัก
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเห็นอย่างเดิม เมื่อพูดถึงส่วนประกอบอื่น เช่น เกียร์ เฟืองท้าย เบรก
แต่ ย้ำนะครับ ว่าแต่ ไม่เคยมีใครเท่าที่ผมทราบมา พูดถึงการ Run-in ช่วงล่าง หรือส่วนรับน้ำหนักเลยแม้แต่ครั้งเดียว หรือท่านเดียว เอาเป็นว่า บทความเดียวก็ว่าได้ คือไม่เคยเจอ
เพิ่งมาเห็นคำถามของคุณยุทธการ นี่แหละครับ และเห็นว่า เป็นคำถามที่ดีมากด้วย
การตอบ ก็คงต้องตอบจากประสบการณ์ การศึกษา และการผ่านงานสายอาชีพช่างยนต์มาเป็นหลัก
ไม่จำเป็นต้องอาศัยวิชาวิศวกรรมใดใดทั้งสิ้น ในการตอบปัญหาของคุณ เพราะผมจำไม่ได้ ว่าเคยเรียนเรื่องนี้มาบ้างหรือไม่ ในตอนนี้ จึงไม่ขออ้างอิงนะครับ
เอาเป็นว่า ผมเห็นว่า ควรนะครับ ควรทำการ Run-in ในเรื่องการบรรทุกน้ำหนักกันสักหน่อย เผื่อเอาไว้ ด้วยว่า ไม่ได้เป็นความลำบากอะไร และไม่ได้สร้างความไม่สะดวกใดมากไปกว่าบรรทุกไม่มาก ในช่วงแรก
เรามามองกันว่า แหนบ หรือสปริง นั้น เขาทำออกมาให้รับน้ำหนัก และให้ความหยุ่นตัวที่รองรับน้ำหนักมากกว่าที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ ผมเรียนว่า ได้ครับ แต่ไม่ใช่รับมาก และนานเกินกว่าที่พอจะจำเป็น
เช่นแหนบหรือสปริง ที่รับน้ำหนักได้ราวหนึ่ง ถึงสองตัน ก็พอจะรับน้ำหนักเกินขึ้นมาได้ในหลักร้อยกิโลกรัม เมื่อมีการเสริมให้ดีพอ เท่านั้น
ส่วนการเริ่มรับน้ำหนัก ไม่มีใครกำหนดไว้ก่อนเลยว่า ตอนแรกควรจะรับเท่าไร และนานเพียงใด
แต่เรามานึกเอาเองก็แล้วกัน ว่าตอนแรก ให้รับสักครึ่งหนึ่งของน้ำหนัก ใช้ระยะทางและเวลาไม่เกินหกชั่วโมง อันหลังนี่เป็นความคิดของผมเอง ไม่มีอะไรยืนยัน ไม่มีหลักวิชาใด เป็นเพียงความรู้สึกอย่างเดียว จึงไม่ยืนยันความถูกต้อง
หลังจากนั้น ให้รับน้ำหนักสักเศษสามส่วนสี่ของน้ำหนักกำหนด แล้วต่อไป ค่อยบรรทุกน้ำหนักเต็มที่ แต่ไม่ใช่เกิน อันจะทำให้แหนบหรือสปริงล้าไปได้เร็วแน่นอน
ผมมองว่า การเพิ่มแบบค่อยเป็นค่อยไปกับรถยนต์ น่าจะช่วยให้เราได้สัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของรถยนต์ อันหมายถึงความมั่นคงในการทรงตัว การตอบสนองต่อการบังคับควบคุม และการรองรับของห้ามล้อเป็นหลักใหญ่นะครับ
ซึ่ง ในการทำอย่างที่กล่าวมาแล้ว น่าจะช่วยให้เราได้รู้สึกถึงการทำงานของรถยนต์ เครื่องยนต์ เมื่อรับน้ำหนัก ภาระที่เพิ่มขึ้นกับเครื่องยนต์ และช่วงล่าง การลอยตัวของล้อหน้า การห้ามล้อของล้อหลัง ได้ดีกว่าอย่างอื่น
เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปกับรถยนต์คันใหม่ ที่เรายังไม่รู้จัก เป็นการทำความรู้จักกับรถของเรา อันน่าจะทำให้เราสามารถใช้งานอย่างปลอดภัยกว่า
ปกติแล้ว การ Run-in พวกระบบขับเคลื่อน เช่นเฟืองท้าย เกียร์นั้น ผมทำก่อนจะบรรทุกแล้วครับ โดยการใช้เกียร์สูงเป็นบางครั้ง เมื่อขึ้นทางชัน เพื่อให้เฟืองเกียร์และเฟืองท้ายรับภาระ แต่ไม่ได้ทำหนักจนเครื่องยนต์ไปไม่ไหว
เอาแค่ขึ้นสะพานอย่างสะพนแขวนของเรา ด้วยเกียร์สูง ปล่อยให้ขึ้นไปด้วยการใช้กำลังของเครื่องยนต์จนเกือบไม่ไหว แล้วจึงเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำช่วย สักครั้งสองครั้ง ก่อนจะเริ่มรับน้ำหนัก ก็พอถมไปแล้ว
การ Run-in ในเรื่องน้ำหนักบรรทุกนั้น ผมคิดว่า หากผมจะทำก็ทำเพื่อให้ Shock Absorber ของรถได้เริ่มสึกหรอลงตามลำดับขั้น ไม่ข้ามขั้นมากนัก
ด้วยว่า เมื่อบรรทุกหนัก สปริงจะลดตัวลง Shock Absorber ก็จะต้องลดระดับลงในกระบอกเองด้วย
ดังนั้น หากเราบรรทุกมากเกินไป Shock Absorber จะลดลงต่ำมาก จนส่วนหนึ่งแทบไม่ได้ทำงานเลย ไปทำงานเอาส่วนปลาย ส่วนปลายจึงจะสึกมากกว่า และส่วนต้นจะแทบไม่สึกหรอเลย เมื่อเราไม่ได้บรรทุก รถจะทำงานผิดไปจากตอนแรกมาก เพราะ Shock Absorber จะกลับไปทำงานเฉพาะส่วนต้น ที่แทบไม่สึกหรอเลย
คือ Shock Absorber ปกติจะสึกเร็วครับ ในตอนแรกของชีวิตใช้งาน จะสึกไป 25% เร็วมาก แต่หากไปสึกกับตอนหลัง ตอนต้นยังไม่สึก ก็อาจจะสึกช้า
ที่ว่าสึกหรอนี่ ก็คือพวกลูกสูบและลูกยางของ Shock Absorber
หากเราสามารถทำให้การสึกหรอนั้น สม่ำเสมอกันทั้งต้น และหลัง หรือปลาย ตัว Shock Absorber ก็จะทำงานดีตลอดทุกช่วง ไม่มีการสะดุดระหว่างช่วง อันนี้ ก็คงเป็นความคิดของผมคนเดียวอีกนั่นละกระมัง
เบรกนี่ คุณคงเข้าใจอยู่แล้วว่า ต้องมีการ Run-in หรือ Bedding-in ไว้ก่อนหน้าการใช้งานหนัก
ก็คงมีเท่านี้ละกระมังครับ
หากถามความเห็นผม ผมก็เห็นว่า ควรมีการ Run-in กับน้ำหนักบรรทุกบ้าง คงไม่เสียหายอะไร สักครั้ง สองครั้ง กับน้ำหนักบรรทุกที่คุณคาดการเอาไว้ล่วงหน้าในระยะต่อไป ก็น่าจะพอแล้วครับ-ธเนศร์
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…