หนังสือพิมพ์ โยมิอูริ Yomiuri รายงานข่าวจากกรุงโตเกียว ระบุว่า ค่ายนิสสัน เตรียมปรับลดบทบาทการจำหน่ายในยุโรป รวมทั้งมอบหมายให้ค่ายหุ้นส่วน เรโนลต์ เป็นผู้จัดจำหน่าย ใน 30 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดยุโรปตะวันออก อาทิ ฮังการี่ และ โปแลนด์ รวมทั้งในเนเธอร์แลนด์ เช่นกัน
ทางด้านการขาย นิสสัน จะมอบหมายให้ เรโนลต์ เป็นผู้ดำเนินการ ผ่านช่องทางโชว์รูมของ เรโนลต์ และผู้สั่งนำเข้าอิสระ ส่วนประเทศที่เป็นเป้าหมายของรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ เยอรมัน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อิตาลี, สเปน และยุโรปตอนเหนือ นิสสัน จะยังคงดูแลการขายเช่นเดิม
ด้านสายการผลิต นิสสัน จะปิดสายการผลิตใน อะวีล่า Avila, ทางทิศตะวันตกของกรุงเมดริด ซึ่งผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเบา เอ็นที 400 NT 400 และ เอ็นที 500 NT 500 รถบรรทุก 6 ล้อขนาดเล็ก จนถึงปี 2562 และจะปรับให้เป็นสายการผลิตชิ้นส่วน สำหรับยี่ห้อ นิสสัน และ เรโนลต์ โดยเริ่มดำเนินการไปแล้ว
ขณะเดียวกัน ด้านโรงงานใน บาร์เซโลน่า ที่ประกาศระงับการดำเนินการไปแล้ว แต่ถูกการต่อต้านจากพนักงานก็เลื่อนไปปิดในเดือนธันวาคม 2564 เพื่อการเจรจากับสหภาพและภาครัฐในพื้นที่ โดยการปิดโรงงานรถบรรทุกทั้งสองแห่ง จะมอบให้ เรโนลต์ เป็นผู้ดำเนินการต่อไป รวมทั้งนิสสัน จะพิจารณาให้ เรโนลต์ ทำการผลิตรถรุ่นอื่นๆ สำหรับจำหน่ายในยุโรป ต่อไปในอนาคต
ปัจจุบัน ค่ายเรโนลต์ ดำเนินการผลิตรถขนาดเล็ก ไมคร่า Micra สำหรัล นิสสัน ในฝรั่งเศส เช่นเดียวกับรถแวน นิสสัน และในอนาคต ตามแผนงานความร่วมมือของพันธมิตร นิสสัน จะมอบหน้าที่ในการพัฒนารถยนต์รุ่นต่างๆ ขนาดเล็ก รวมทั้งการขาย สำหรับตลาดยุโรป ให้ เรโนลต์ รับผิดชอบ
การดำเนินการทั้งหมด เป็นไปตามแผนงานระยะกลางและระยะยาว ซึ่งประกาศไปก่อนหน้านี้ โดย นิสสัน จะค่อยๆ ถอนตัวออกจากตลาดยุโรป และให้ความสำคัญกับตลาดประเทศจีน, สหรัฐอเมริกา และภายในบ้านตัวเอง ประเทศญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวไม่ได้ระบุถึงอนาคตของโรงงาน ซุนเดอร์แลนด์ Sunderland ในอังกฤษ ซึ่งทำการผลิตรถรุ่น จู๊ค และรถเอสยูวี แคชไคว และรถยนต์ไฟฟ้า ลีฟ หลังจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษ ที่แม้ว่าจะสามารถทำข้อตกลงกันได้ แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ เปิดเผยออกมา ทำให้ธุรกิจในอังกฤษ พากันระงับสายการผลิตอยู่ในปัจจุบัน
โรงงานซุนเดอร์แลนด์ มีกำลังการผลิตมากกว่า ปีละ 500,000 คัน แม้ว่าในปี 2562 ที่ผ่านมา ทำการผลิตเพียง 350,000 คัน และในปี 2563 ก็น่าจะน้อยกว่าเดิมด้วย แม้ว่าจะได้ลงทุนปรับปรุงสายการผลิตเพิ่มเติมไปแล้วกว่า 400 ล้านปอนด์
ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 นิสสัน ประเมินว่าจะขาดทุน 340 พันล้านเยน ราว 98 พันล้านบาท และมีแผนงานที่จะลดกำลังการผลิตทั่วโลก รวมทั้งรุ่นของรถลงราว 1 ใน 5 และลดค่าใช้จ่ายดำเนินการลงให้ได้ 300 พันล้านเยน ราว 87 พันล้านบาท ภายใน 3 ปี