ทำเองก็ได้ Bio Diesel


เป็นเรื่องที่ผมเขียนเอาไว้หลายปีแล้ว แต่อย่างที่เคยทราบกันแหละครับ ว่า www.caronline.net นั้น จะใช้เพื่อการรวมเรื่องราวเก่าก่อนของผมเก็บไว้ และเมื่อเพิ่งค้นพบต้นฉบับนี้ ผมก็ขอถือโอกาสนำมาลงไว้เสียเลย นั่นประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง ก็คือการทำ Biodiesel ยังเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับบ้านเราอยู่มาก และเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องชนบท ที่อาจจะต้องการทำน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ใช้ โดยเฉพาะกับเครื่องต้นกำลังในการทำเกษตรกรรม ก็อาจจะใช้ข้อมูลที่ผมนำมาเสนอนี้ได้ โดยทันที ไม่ต้องไปหาข้อมูลจากที่ใดอีกมากมายนัก ในขั้นต้น

ก็ขอนำเสนอ เพื่อท่านที่สนใจ อยากรู้ถึงการผลิต Biodiesel ด้วยพร้อมกันเลยทีเดียว

———————————-ธเนศร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา——————————-

Biodiesel นั้น เราทำเองได้ครับ และอันที่จริง ก็น่าจะใช้ได้ด้วย แต่ปกติแล้ว คุณจะต้องทำแบบมาตรฐานการรับรองของสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือเยอรมนี ที่ผมไม่ค่อยเข้าใจว่าเขาจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ออกมาให้คนอื่นทำลำบากไปทำไม

หรือเป็นเพราะเขาได้ครอบครองบ่อน้ำมันธรรมชาติมากขึ้น และปล่อยให้มีการเก็งกำไร โถมเงินลงไปซื้อน้ำมันดิบล่วงหน้าเอาไว้ เพื่อกำไรในวันหน้า ทำให้น้ำมันดิบราคาสูงขึ้น แล้วเลยต้องกันท่า ไม่ให้ใครทำน้ำมันดีเซลจากน้ำมันธรรมชาติ เช่นน้ำมันพืชได้สะดวก เพื่อความคล่องคอของเขาในการรับประทานก็อาจจะเป็นได้

อย่างไรก็ตาม เรามาคุยกันถึงการทำน้ำมันดีเซล แบบไบโอดีเซล เอาไว้ใช้กับรถยนต์ดีเซล ที่หมดอายุรับรองคุณภาพจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์นั้นนั้นกันแล้ว ก็ไม่น่าจะแปลกอะไร จริงไหมครับ

อย่างที่ผมบอกไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว ว่าไบโอดีเซลนั้น ปกติก็จะเป็นน้ำมันจากพืช จากเมล็ดพืช แต่เมื่อประเทศมหาอำนาจก้าวเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็กลายเป็นว่าน้ำมันที่ไม่ใช่น้ำมันพืช ก็ยังถือเป็นไบโอดีเซลกับเขาไปด้วย ไม่ทราบว่าเรื่องอะไร และทำไม เช่นในย่อหน้าที่สองของบทความตอนนี้

แต่ที่เราจะพูดกัน ก็คือการใช้น้ำมันพืช มาทำเป็นน้ำมันดีเซล ใช้เอง แบบทำเอง ใช้เอง เท่านั้นแหละครับ เรื่องอื่นไม่เกี่ยว

การจะผลิตไบโอดีเซลมาใช้เองในครอบครัวนี้ ท่านควรจะมีสถานที่พักอาศัยหรือที่ทำการผลิตน้ำมัน อยู่ใกล้กับร้านขายไก่ทอด ไม่ว่าจะของปักษ์ใต้ หรือของเคอนัลผู้ขาย Greasy chicken เป็นอย่างแรก เพราะน้ำมันพืชที่นั่นเขาใช้กันมาก และทิ้งไปในแต่ละวันวันละหลายสิบลิตร

ก่อนอื่นเรามาพูดกันถึงระบบการผลิตน้ำมันดีเซลแบบ Biodiesel กันหน่อย

ระบบนี้ เขาเรียกกันว่า transesterification อ่านแบบแบ่งเป็นคำได้ว่า trans-ester-ification ซึ่งแน่นอนว่า ผมยังไม่ทราบจะเรียกเป็นไทยว่าอย่างไร แต่ในเมื่อขณะนี้ ทางราชการอย่างน้อยก็การเมืองละเอ้า ออกมาบอกว่า คนไทยน่าจะเรียนรู้และพูดภาษาอังกฤษกันให้มากขึ้น เพื่อการสื่อสารสากลจะได้มีประโยชน์กับประเทศมากกว่าเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ อันเป็นเวลาที่เรามักจะบอกแบบปลอบใจตัวเองที่พูดและเขียนภาษาอังกฤษแบบไม่เป็นภาษาคนกันเสมอ ว่า ไม่เป็นไร ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ของเรา นั้น จะได้คุ้นเคยกับภาษาเขียนของผมกันมากขึ้นหน่อย โดยเฉพาะภาษาทางเทคนิค ก็เลยไม่คิดจะแปล ด้วยว่า ผมไม่เก่งภาษาพอนี่แหละครับ

เอาเป็นว่า transesterification นั้น เป็นการเปลี่ยนลักษณะหรือสภาพของ ester อย่างหนึ่ง ไปเป็นอีกลักษณะหนึ่ง โดย ester นี่ก็คือห่วงลูกโซ่ของไฮโดรคาบอน hydrocarbon ซึ่งรวมตัวอยู่กับโมเลกุลอื่น คำว่า Molecule นี่น่าจะอ่านว่าโมเลคิว แต่เมื่อคุณครูท่านสอนมาตั้งแต่เล็กว่าโมเลกุล เราก็โมเลกุนกันไปก็แล้วกัน

โมเลกุลของน้ำมันพืชนั้น มีส่วนประกอบเป็น ester สามตัวต่อเชื่อมกับ glycerin ที่ผมเรียกว่า ไกลเซริน หรือบางท่านอาจจะออกเสียงว่า กรีเซริน ก็แล้วแต่นะครับ หนึ่งโมเลกุล รวมกันแล้วหากจะนึกถึงรูปร่างก็คงมองเป็นปลาหมึกที่มีหนวดแค่สามเส้น ส่วนหัวก็คือไกลเซริน หางสามสายคือเอสเทอร์

น้ำมันพืชนี่ เราเรียกกันทางเทคนิค หรือวิศวกรเคมีที่ผมไม่ได้เรียน เพราะมัวแต่ไปชอบเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องยนต์ จึงเลือกเรียนเครื่องยนต์และลำตัวอากาศยานไปเสียเลยรู้แล้วรู้รอดไปนั้น คือ triglyceride ที่ตรงนี้ผมว่าออกเสียงว่าไตรกลีเซอไรด์ได้แล้วและได้เลย ด้วยหลักการนำคำมารวมกัน โดยคำว่า Tri นั้นหมายถึงสามเอสเทอร์ และกรีเซอไรด์ ก็หมายถึงไกลเซรินนั่นแหละครับ

น้ำมันพืชนี่ยังมีชื่อเรียกอีกนะครับ สำหรับทางเทคนิคแล้วนี่ อย่างเช่น glycerol ester

ในน้ำมันพืชของเรา ปกติแล้วจะมีไกลเซรินอยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็อยากจะบอกกับท่านที่ไม่ได้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาสากลของโลกภาษาหนึ่งเอาไว้สักนิด เผื่อท่านจะค้นหาในอินเตอร์เน็ต อันเป็นแหล่งวิชาการสำคัญของโลกเอาไว้ก่อน ว่าไกลเซรินนั้น สามารถจะพิมพ์คำว่า glycerine บ้าง glycerol บ้าง และ glyceride ก็ได้บ้าง ลงไปในช่องค้นหาของ Google เพื่อให้หาที่มาที่ไปได้เสมอครับ แม้ว่าคำเหล่านี้บางทีอาจจะไม่พบในพจนานุกรมอังกฤษเป็นไทยก็ตาม

ไกลเซรินที่ผมเอามาพูดเสียยาวในนี้ เป็นสารที่ทำให้น้ำมันพืชมีความข้นหรือเหนียวยืดยาดได้ แม้จะไม่เหนียวให้เห็นนักก็ตามทีเถิด ก็ยังมีฤทธิอยู่ ดังนั้น เขาจึงต้องเอาออกจากน้ำมันพืช ที่จะมาใช้ทำเป็นไบโอดีเซล เพื่อให้น้ำมันที่จะได้มีความใสขึ้นนั่นเอง

การจะทำไบโอดีเซลขึ้นมาใช้เอง หรือจะทำจำหน่ายก็แล้วแต่ละนะครับ ท่านว่า จะต้องแยก esters ในเนื้อน้ำมันพืชออกจากไกลเซรินเสียก่อน

ตัว esters นั้นแหละครับ คือพื้นฐานของน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล

ด้วยกรรมวิธีของ Transesterification หรือตัวอ่านยาก เข้าใจง่ายนี่เอง ที่จะเอาแอลกอฮอลไปแทนที่ไกลเซรินในน้ำมันพืช

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว เราสามารถใช้แอลกอฮอลได้ทั้งสองแบบ คือแอลกอฮอลจากเมล็ดพืช ได้แก่ Ethanol หรือแอลกอฮอลแบบ Methanol อันมาจากถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ หรือไม้

ตามตำราและเอกสารที่ผมเที่ยวได้ค้นหามา เขาว่ากันเอาไว้ว่า เขาเชื่อว่าการใช้แอลกอฮอลแบบ Methanol มากกว่า Ethanol นะครับ ด้วยเหตุผลที่ว่า Methanol นั้นจะทำให้ปฏิกิริยาในการผลิตไบโอดีเซลคงที่มากกว่าการใช้ Ethanol แต่ก็มีข้อเสียคือ Methanol นั้นเป็นแอลกอฮอลพันธ์ที่ก้าวร้าว รุนแรงหน่อย เช่นชอบทำตัวเหมือนสารละลายเมื่อสัมผัสกับยาง และยังเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากกลืนเข้าไปในท้องของบุคคล ดังนั้น จึงต้องการความระมัดระวังสูง เมื่อจะนำมาใช้

เมื่อเราสามารถใช้แอลกอฮอลได้หลายแบบ ก็เลยมีการกำหนดให้เรียกไบโอดีเซลตามแบบที่ใช้แอลกอฮอลมาเป็นตัวแยกอณูของสสารออกจากกันไว้เสียก่อน

คือ Methyl esters หมายถึงไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันพืช และ methanol

ขณะที่ Ethyl esters เป็นไบโอดีเซลที่ผลิตด้วยกรรมวิธีผสมแอลกอฮอล กับ ethanol

แต่เมื่อเข้ามายุ่งเกี่ยวกับทางราชการไม่ว่าของประเทศอะไรก็ตามเถิดนะครับ เราก็ต้องมีคำเรียกขานกันขึ้นมามากกว่าความจำเป็นทั้งนั้นแหละ คือมีอีกตัวหนึ่ง เรียกน้ำมันไบโอดีเซล ไม่ว่าจะผสมขึ้นมากับแอลกอฮอลอะไรก็แล้วแต่ ว่า Alkyl esters จนได้นั่นละครับ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้แอลกอฮอลอะไร ชนิดไหน รวมไปถึงน้ำมันพืชอะไรก็แล้วแต่ การผลิตไบโอดีเซลก็จะต้องเกี่ยวข้องกับการแตกตัวโมเลกุลของ Triglyceride ออกมาให้เป็น esters 3 อณู และ glycerin ออกมาหนึ่งอณูเสมอไป

โดยเจ้า esters 3 ตัวนี้ จะติดอยู่กับแอลกอฮอล ดังนั้น จาก Triglyceride หนึ่งตัว เราก็จะได้ Alkyl esters ออกมา 3 ตัว

แล้วส่วนของ glycerin ก็จะกลายเป็นตะกอน เหมือนวุ้น เอาไปทำสบู่ก็ยังพอได้ แต่ไม่มีใครเอาไปทำอะไรกันให้ยุ่งยากขึ้นมาอีก ก็เลยทิ้งไป คนเขาก็กล่าวหากันว่า เป็นความสิ้นเปลืองในการผลิต เอามาเป็นผลการวิจัยว่า ใช้ไม่ได้ ทั้งที่ความสิ้นเปลืองหรือสูญเสียในการผลิตนั้น เราผลิตขึ้นมาจากความสูญเปล่า อันได้แก่น้ำมันพืชใช้แล้วที่จะต้องทิ้งไป แล้วทำไม เมื่อเอามาใช้งานได้ใหม่ ทางวิทยาลัยนานาประดามี จึงจะต้องมาอ้างว่า สิ้นเปลือง

จนทำให้นักข่าวที่ไม่รู้เรื่องดีนัก เอามาอ้างในคอลัมน์ของตนกันให้กลุ้มไปว่า ไม่น่าจะผลิตไบโอดีเซลขึ้นมาใช้ เนื่องจากมีความสิ้นเปลืองถึงเกือบยี่สิบเปอร์เซ็นต์บ้างละ อะไรต่ออะไรบ้างละ กันท่าเอาไว้ก่อน

เหมือนอย่างนักวิชาเกิน ในสมัยหม่อมราชวงศ์ เทพฤทธิ์ เทวกุล ทำ Ethanol ขึ้นมาให้ลองใช้กันในครั้งกระโน้น

ผมว่า อย่าเพิ่งเชื่อฝรั่งนักเลยครับ โดยเฉพาะฝรั่งที่ตกเป็นทาสของกลุ่มพลังงานน้ำมันดิบจากใต้ดินนั่นน่ะ

ฝรั่งดีดี ที่รู้ดีจริงจริงก็มี แต่เขาไม่ออกมาพูดกันให้เลอะเทอะเหมือนผม เท่านั้นเอง

ตอนนี้ เรามาว่ากันถึงการใช้ Catalyst หรือตัวเร่งปฏิกิริยาทางเคมี เพื่อแตกตัวน้ำมันพืชที่เราได้มา เพื่อแยกออกให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงแบบไบโอดีเซลกันนะครับ

ในการที่เราจะแยก Triglycerides หรือจะเรียกว่า Crack น้ำมันพืชออกมาให้เป็นไบโอดีเซลนั้น เราจะต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาทางเคมี ที่เรียกว่า Catalyst เข้าไปในน้ำมันพืช

ตัวเร่งปฏิกิริยานี้ก็คือสารที่จะไปเร่งให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างสารประกอบพื้นฐานของเรา ซึ่งในที่นี้ก็คือน้ำมันพืชนั่นเองแหละครับ ส่วนตัวเร่งปฏิกิริยานั้น เราใช้ซอเดียม ไฮดรอกไซด์ หรือโปแตซเซี่ยม ไฮดรอกไซด์

แต่ผมว่า หากจะเลือกใช้ซอเดียม ไฮดรอกไซด์ ก็น่าจะง่ายกว่า เพราะไม่ต้องไปหาซื้อไกลบ้านไกลช่องกันนัก เพียงเข้าไปในซูเปอร์มาเก็ตใหญ่ใหญ่แห่งไหนก็ได้ เดินไปทางเรื่องของน้ำยาทำความสะอาดเครื่องสุขภัณฑ์ ก้มก้มเงยเงยมองหากระป๋องสีขาว ตัวอักษรสีแดง เดี๋ยวเดียวก็พบละน่า

ด้วยว่าเจ้าสารตัวนี้ ก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า โซดาไฟ นั้นเองนะครับ

คือจริงจริงแล้ว ท่านจะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ สุดแล้วแต่ เพียงแต่ผมเห็นว่า โซดาไฟหาไม่ยาก ตามร้านทั่วไปก็มักจะมีขาย แต่ไม่ได้ใส่กระป๋องไว้ หากแต่อาจจะแบ่งขายเป็นกิโลกรัม ที่ผมเลือกอย่างเป็นกระป๋อง เพราะใช้ง่ายกว่า เขาทำมาเป็นเกร็ดเล็กเล็กแล้ว ไม่ได้เป็นก้อนใหญ่เกินไปที่จะต้องรอให้ละลาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้สารใดในสองอย่างนี้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ท่านก็ต้องระวัง เพราะเป็นสารมีพิษทั้งคู่ สูดดมเข้าไปมากก็จะทำอันตรายกับปอด ถูกเนื้อถูกตัวก็กัดอุตลุต กลืนเข้าไปเป็นถึงตายเอาง่ายง่าย

อย่าให้สารเหล่านี้อยู่ใกล้มือเด็กโดยเด็ดขาดนะครับ

ตัวเร่งปฏิกิริยาจะเข้าไปทำหน้าที่แตกตัว Trigylcerides และปล่อย esters สามตัวของไทรกลีเซอไรด์ให้เป็นอิสระ เมื่อ esters หลุดจาก Glycerin แล้ว ก็จะมารวมตัวเข้ากับแอลกอฮอลที่เราผสมเข้าไปแต่แรก

ส่วนตัว Catalyst ก็จะเข้ารวมตัวกับ Glycerin แล้วตกลงไปเป็นตะกอนนอนก้นอยู่ในภาชนะที่ใช้สำหรับการทำปฏิกิริยาครั้งนี้เอง

ตะกอนที่ได้มา ก็คือ Glycerin soap ส่วนอีกด้านหนึ่ง ที่ลอยตัวอยู่เหนือตะกอน ก็คือ Alkyl esters หรือน้ำมันเชื้อเพลิงแบบไบโอดีเซล ที่จะต้องไปทำอะไรต่ออีกเล็กน้อยก่อนนำไปใช้งานในเครื่องยนต์ดีเซลของเรา

ในการทำไบโอดีเซลของเรา เป็นการสร้างปฏิกิริยาทางเคมีขึ้นระหว่างกรด กับสารพื้นฐานอีกสองอย่าง

น้ำมันพืชนั้นมีค่าเป็นกรด แอลกอฮอลกับตัวเร่งปฏิกิริยาเป็นอีกสองอย่างที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ผ่านมา

การจะเลือกใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาขนาดไหน ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นกรดของน้ำมันพืช ตรงนี้วัดได้อย่างไร ผมเห็นพวกทำสวนกล้วยไม้เขาเอากระดาษลิสมัทที่เด็กนักเรียนใช้ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนนั้นแหละครับ วัดเอาด้วยการจุ่มลงไป เราอาจจะต้องทำอย่างละเอียดสักหน่อย เพื่อให้ได้ผลดีกว่า ไม่ต้องใช้สารเร่งปฏิกิริยามากเกินความจำเป็นก็จะดี ส่วนจะทำวิธีไหน ผมคงไม่ต้องมาสาธยายให้มากเรื่อง

ด้วยว่า หลายท่านที่อ่านคอลัมน์นี้ และคิดจะทำ ก็คงมีความสามารถทางเคมีเพียงพออยู่แล้ว จากการอ่านคำทับศัพท์ของผมนี่แหละ เป็นเครื่องวัด เมื่อมีความสามารถพอหรือน่าจะมากกว่าผม ซึ่งในตอนเรียนวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยนั้น ผมทำคะแนนได้ต่ำสุดของทุกวิชาที่เรียน คือได้แค่ C เท่านั้น ก็คงไม่ต้องบอกกล่าวอะไรให้มากความ

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการสร้างหรือผลิตไบโอดีเซล ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของคุณเอง ในการวัดค่า pH ของน้ำมันพืช

อย่าลืมนะครับ น้ำมันพืชที่เราเอามาผลิตเป็นไบโอดีเซล ก็คือน้ำมันพืชใช้แล้ว เขาจะทิ้ง แต่เราเอากลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

ดังนั้น จึงไม่มีส่วนใด หรือไม่ควรจะนับว่า ส่วนใด เป็นส่วนที่เหลือ เพราะเหลือมาแล้ว และทิ้งแล้วทั้งนั้น

ผมว่า การทำไบโอดีเซลใช้เองนั้น เริ่มที่จำนวนไม่มากนักก่อนก็ดีนะครับ อย่างแรกก็คือไม่ต้องเที่ยวได้ควานหาน้ำมันพืชใช้แล้วกันมากนัก ส่วนอย่างที่สองหรือสามก็ตามใจท่าน คิดอะไรก็ได้ ใส่เข้าไปแทนผมอย่างไรเล่าครับ

เอาอย่างนี้ เริ่มด้วยการลงทุนหาถังผสม ที่ควรจะเป็นกระบอกแก้ว ใส ขนาดจุสักห้าลิตรสิบลิตร ที่คงหายากหน่อยละครับ สำหรับบ้านเรา แต่คงพอจะหาได้ในขนาดพอเหมาะ อาจจะเอาขนาดเล็กจุสักห้าลิตรมาสักสามสี่กระบอก หรือจะใช้แบบมีก๊อกปล่อยออกทางก้นกระบอก ที่ก๊อกอยู่สูงเล็กน้อย ก็ดีเหมือนกัน การมีก๊อกดีอย่างไรนี่ เดี๋ยวผมจะบอกให้ครับ

หากระบอกแก้วความจุสูงแบบที่ว่านี่ ได้ตามร้านเครื่องครัว สำหรับภัตตาคาร หรือร้านขายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์

แล้วหาพื้นที่สำหรับผลิตในบ้านของคุณนี่แหละ เอาโรงรถ ที่ปัจจุบันคงหาโรงรถยากหน่อย เพราะบ้านส่วนมากใช้พื้นที่จอดรถแบบเปิดโล่งมีแค่หลังคาคลุมเท่านั้นมานานแล้ว เอาที่ไหนดีล่ะ ห้องเล็กเล็กสักห้องในบ้าน แต่ควรจะเป็นชั้นล่าง และพื้นเป็นปูน มีก๊อกน้ำ อ่างล้างมือ สายยางน้ำ เอาไว้ใช้สำหรับล้างมือ ล้างตา ถ้ามีสารอะไรกระเด็นเข้าตาไว้ก่อนนะครับ ตรงนี้ อย่าลืม เอาไว้ให้ใกล้มือทีเดียวเชียวละ

มีโต๊ะไว้ทำงาน อาจจะเป็นโต๊ะอาหารเก่าแบบของผมก็ได้ เพราะเป็นโต๊ะแบบนั่งหกคน พื้นที่มากพอครับ

พื้นที่ทำงานควรจะสะอาด และไม่มีอะไรกีดขวางทางเดิน ทางทำงาน ไม่มีอะไรเกะกะพื้นให้สะดุดได้ และหากหาน้ำส้มสายชูสักขวดมาไว้ในพื้นที่ด้วย ก็จะดีมาก เอาไว้ใช้ทำให้ Methanol เป็นกลางในกรณีหกลงพื้น

สิ่งจำเป็นในการผลิตไบโอดีเซล นอกเหนือจากพื้นที่ที่ว่าไว้แล้ว ก็คือสิ่งของที่ผมจะลำดับต่อไปนี้

อย่างแรก ที่ชั่งน้ำหนัก แบบในครัวใช้กัน แต่ต้องเป็นที่ชั่งที่บอกละเอียดอย่างน้อย 1 กรัมได้นะครับ จะเป็นเครื่องชั่งแบบไหนก็ได้ ขอให้มีสเกลน้ำหนัก 1 กรัมเป็นอย่างน้อยก็แล้วกัน เครื่องชั่งแบบนี้ ผมหาได้จากแผนกเครื่องครัวของห้างสรรพสินค้าโดยบังเอิญ คือซื้อมาเล่นนานแล้ว น่าจะจากญี่ปุ่น แต่พอมาลองทำไบโอดีเซลก็ใช้ได้ดีเลยทีเดียว

อีกอย่าง ก็คือแถบกระดาษลิตมัส หรือเครื่องวัด pH Meter ซึ่งตัวหลังนี่ผมไม่มี เคยเห็นในห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่ไม่คิดจะซื้อ เพราะแพงและไม่เคยนึกถึงความจำเป็น ก็เลยต้องเที่ยวไปหากระดาษลิตมัสตามร้านของเครื่องวิทยาศาสตร์ เคมี หรือตามร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงกล้วยไม้กันตามยถากรรม

กระบอกแก้ว หรือกระป๋อง ขนาดหลายลิตร ตามจำนวนน้ำมันที่คุณต้องการผลิตนั่นแหละครับ อาจจะใช้ขนาดไม่กี่ลิตร สักสองสามกระป๋องก็ได้ แต่เป็นแก้วหรือวัสดุใส ที่ไม่ทำปฏิกิริยากับพวกสารเคมีที่เราจะใช้ ก็ได้ ผมใช้กระบอกแก้วที่มีก๊อกตรงข้างล่างเอาไว้เลย หาซื้อได้จากร้านจำหน่ายเครื่องวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนน่ะครับ

โซดาไฟ อันนี้ผมเลือกใช้โซดาไฟเกร็ด ซื้อตามซูเปอร์มาเก็ต แผนกน้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ มีถมไป ไม่รู้ว่า เป็นโซดาไฟ 100% หรือไม่ แต่ก็พอใช้ได้ และถือว่าใช้ได้ดีด้วย

ทีนี้ก็มาถึง Methanol หรือ Ethanol ซึ่งเป็นแอลกอฮอล หากเลือกได้ ผมเลือก Ethanol ที่แม้จะไม่ดีเท่ากับการใช้ Methanol แต่ก็เป็นแอลกอฮอลจากพืช ส่วน Methanol นั้น คุณคงหาไม่ยากหรอก ขอให้รู้จักพวกกลุ่มแต่งรถเพื่อแข่งบ้างเท่านั้น ก็จะพูดจาขอปันกันได้ แล้วตอนหลังค่อยถามเขาว่า จะหาซื้อเองได้ที่ไหน ของพรรณนี้ บอกกันมากนัก ก็จะกลายเป็นดูถูกคุณไปเท่านั้นเอง จริงไหมครับ ฮ่า ฮ่า

ที่ผมเลือกใช้ Ethanol ก็เพราะเป็นแอลกอฮอลจากพืชผักผลไม้ หาไม่ยากเท่าไร ตามร้านขายพวกเคมีภัณฑ์มีทั้งนั้นแหละครับ ไม่มีอันตรายมากเท่า Methanol แม้จะไม่ค่อยคงที่เท่าไรเมื่อมีน้ำมาผสมก็ตาม

น้ำมันพืชใช้แล้ว หาได้ไม่ยากหรอกครับ ตามร้านขายอาหารหลายแห่ง มีอยู่แล้ว

ร้านเหล่านั้น หลายแห่งต้องจ้างคนมาเอาไป เสียเงินเพื่อทำลายเหมือนน้ำมันเครื่องตามอู่รถยนต์ด้วยซ้ำไป คุณลองไปเจรจาขอซื้อเขาก็ได้ ให้เขาเก็บไว้ให้ในแต่ละวัน พอเช้าคุณก็ไปเอามา แล้วเริ่มทำงานของคุณได้

อย่าใจร้อนไปหาซื้อน้ำมันพืชที่ขายเป็นลิตรตามซูเปอร์มาเก็ตนะครับ เขาขายแพง น้ำมันแบบยังไม่ได้ใช้นี่ นอกเสียจากว่า คุณจะมีแหล่งผลิตน้ำมันพืช ที่ราคาถูกมากมาก ก็อาจจะเอามาใช้ได้ เพราะน้ำมันพืชแบบที่ยังไม่ได้ใช้งานเลยนี้ ใช้ส่วนผสมง่ายมาก ไม่ต้องเพิ่มบางส่วนอย่างที่จะต้องบอกกล่าวกันต่อไป

การไปขอน้ำมันพืชใช้แล้วจากร้านอาหารนั้น ผมคิดว่า ส่วนมากจะไม่ได้กรองมาก่อนถึงมือคุณ และน้ำมันนั้นอาจจะเย็นตัวลงแล้วด้วย คือข้นมากหน่อย

เราต้องเอามาอุ่นให้ร้อนราวสัก 50 องศาเซลเซียส อุ่นนะครับ ไม่ใช่ทำให้น้ำมันร้อนระอุแบบจะต้องผัดต้องทอดอะไรกันนักหนา จากนั้นก็เทผ่านกรองที่ทำจากอะไรก็ได้ เอาถุงน่องใช้แล้วของภรรยาก็ยังได้ หากคุณมีภรรยาที่ชอบใส่ถุงน่อง รับรองต้องมีถุงน่องขาดใช้ไม่ได้ซุกอยู่ตามซอกตู้ หรือตามใต้ที่นั่งรถยนต์กันบ้างละน่า

ถ้าหาถุงน่องไม่ได้ ไม่ต้องลงทุนไปซื้อหรือถอดจากขาสวยสวยของใครหรอกครับ จะเป็นเรื่องยุ่งยากไปเปล่าเปล่าไม่เข้าการ ไปหาซื้อที่กรองตามร้านขายอุปกรณ์ร้านอาหารก็ได้ ผมเห็นอยู่ร้านหนึ่ง ในศูนย์การค้าเล็กเล็ก ที่ลานจอดรถตรงข้ามร้านอาหารสีลมวิลเลจ สุขุมวิท ซอยอะไรจำไม่ได้ แต่เข้าทางซอยประสานมิตรได้ คงนึกกันออก

กรองทำไม ก็กรองเพื่อเอากากหรือเศษอาหารที่ค้างอยู่ในน้ำมันนั้นออก ให้เป็นน้ำมันพืชใช้แล้วที่ใส สะอาด แต่ไม่บริสุทธิ์ไว้ก่อนอย่างไรเล่าครับ

เมื่อกรองเสร็จ ก็ใช้ได้แล้วละครับ สำหรับน้ำมันที่เตรียมเอามาทำไบโอดีเซลของเรา

สิ่งของจำเป็น ในการทำไบโอดีเซลอีกสี่ห้าอย่าง ก็จะเป็นพวกกระดาษับแบบที่ใช้ในครัว เรียก Paper Towers สักม้วนหนึ่ง ปั๊มดูดแบบที่คุณดูดน้ำออกจากขวดใหญ่ใส่ขวดเล็ก หรือปั๊มดูดแบบใส่ในอ่างปลาก็ได้ ตัวหนึ่ง

จากนั้นก็มีเทปกระดาษสำหรับติดขวดเพื่อเขียนเตือนสติตัวเองเอาไว้บ้าง บางอย่างนะครับ ทีนี้ก็มีกระบอกแก้วที่หาได้ตามร้านทดลองวิทยาศาสตร์ขนาด 20 ซีซี. หนึ่งกระบอก 200 ซีซี. สองกระบอก และ 1500 ซีซี.สักสามกระบอก จานเล็กเล็กสำหรับชั่งน้ำหนักโซดาไฟ ที่หยอดแบบที่หยอดยาล้างตา ขนาดทีละไม่เกิน 1 ซีซี. อันหนึ่ง

ผมใช้ตัวกระบอกแบบที่บอกไว้ในตอนก่อนหน้านี้ แบบมีก๊อกปล่อยกากที่ไม่ต้องการออกทางด้านล่างด้วย

ส่วนน้ำยาเคมี วิชาที่ผมไม่ชอบเอาเลยทีเดียวนั้น ก็มีน้ำมันพืช ที่เราเตรียมเอาไว้ แต่ในที่นี้ เมื่อใช้เพื่อทดลองทำ ก็จะใช้น้ำมันพืชใหม่ หรือเก่าก็แล้วแต่คุณ แต่หากใช้อย่างเก่า ก็ต้องหาทางตรวจความเข้มข้นของสารละลายในน้ำมันพืช ที่ผมจะบอกต่อไปกันไว้ด้วย การหาความเข้มข้นนั้น จำเป็นอยู่แล้วสำหรับการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ดังนั้น เตรียมไว้เลยก็จะดีเหมือนกันครับ

เอาน้ำมันพืชที่จะใช้ในการทดลองไว้สักหนึ่งลิตรก็พอ

แล้วก็มาแอลกอฮอลล้างผิว แบบที่คุณหมอใช้ชุบสำลีก่อนแทงเข็มฉีดยาลงไปในแขนในขาหรือแก้มก้นของคุณนั่นแหละ สักขวดเล็กเล็ก

แอลกอฮอลแบบ Methanol หรือ Ethanol ปริมาณ 200 ซีซี. กับโซดาไฟหนึ่งกระป๋อง เราไม่ได้ใช้ทั้งกระป๋อง แต่เวลาซื้อนี่ ก็ควรจะซื้อทั้งกระป๋อง เพราะไม่แพง และเก็บรักษาง่าย กับน้ำกลั่นหนึ่งขวด ใช้น้ำกลั่นอย่างเติมแบตเตอรี่ก็ไม่ผิดกติกาใด

อีกสักนิดเถิดครับ ไหนไหน เราก็ต้องใช้น้ำมันพืชใช้แล้วในการทำไบโอดีเซลของเรา ดังนั้นมาดูการหาความเข้มข้นของสารละลายในน้ำมันพืชกันก่อน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการทำอยู่แล้ว

เริ่มด้วยการชั่งน้ำหนักโซดาไฟบนที่ชั่งให้ได้น้ำหนัก 1 กรัม แล้วใส่น้ำกลั่นลงไปในกระบอกตวงให้ได้ 1000 ซีซี.หรือหนึ่งลิตร จากนั้น ใส่โซดาไฟลงไปในน้ำกลั่น เอาเทปปิดป้ายบนกระบอกตวงนี้ เขียนว่า น้ำโซดาไฟ ห้ามดื่ม

แล้วทีนี้ วัดหรือตวงแอลกอฮอลทาผิวหนังลงในกระบอกตวงขนาด 20 ซีซี.ให้ได้ปริมาณ 10 ซีซี. เอาน้ำมันพืชใช้แล้วแต่กรองแล้วนี่แหละ เติมลงไปในแอลกอฮอลที่เตรียมไว้นี่ 1 ซีซี. ปิดเทปเขียนป้ายไว้อีกว่า น้ำมันผลมแอลกอฮอล

ต่อไปก็เอาหลอดหยอดตาที่ผมให้เตรียมไว้ ดูดและหยดน้ำผสมโซดาไฟ จำนวน 1 ซีซี.มาใส่ลงในกระบอกตวง 20 ซีซี. ที่ใส่น้ำมันผสมแอลกอฮอลไว้ หลังจากหยดน้ำโซดาไฟลงไปแล้ว ก็ตรวจระดับความเป็นกรด pH ของน้ำมันพืชผสมแอลกอฮอลโดยการใช้กระดาษลิสมัท หรือหากคุณมี pH meter ก็ใช้มิเตอร์วัดเอา

เราต้องการให้น้ำมันพืชผสมแอลกอฮอลของเรา มี pH ในระดับ 8-9 ดังนั้น หากยังไม่ได้ที่ ก็เติมน้ำโซดาไฟลงไปทีละ 1 ซีซี.นะครับ ปกติ ก็มักจะใช้ไม่เกิน 3 ซีซี.หรอกครับ

ใช้สูตรนี้ครับ

จำนวน ซีซี.ของน้ำโซดาไฟที่ใส่เข้าไปในน้ำมันพืชผสมแอลกอฮอล ถือเป็น x

ให้ L เป็นจำนวนกรัมของโซดาไฟที่ต้องใช้ ในการทำน้ำมันพืชใช้แล้วให้เป็นไบโอดีเซล

ในขณะที่จำนวนโซดาไฟที่ต้องใช้ สำหรับน้ำมันพืชบริสุทธิ์ หรือน้ำมันพืชใหม่นั้น คือ 3.5 กรัมต่อลิตร

สูตรก็ออกมาง่ายแสนง่ายว่า (x+3.5)=L

ก็เป็นอันว่า คุณจะได้จำนวนน้ำหนักของโซดาไฟ ที่ใช้ในการผสมกับน้ำมันพืชใช้แล้ว ที่ใกล้เคียงที่สุดกับความต้องการ

ทีนี้ เราก็มาเริ่มต้นวิธีการทำไบโอดีเซล อย่างง่ายง่ายกันได้แล้วละครับ

อันที่จริง ผมไม่ชอบเขียนแบบหนึ่งสองสามตามลำดับหมายเลข แต่คราวนี้เห็นจะต้องขอสักหน่อย ว่าด้วยลำดับการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลของเรานี่แหละ

อ้อ อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะให้หาไว้ หากจะต้องการทำไบโอดีเซลใช้งานกันทุกวันละก็ ลงทุนสักนิด ซื้อเครื่องผสมอาหารมาใช้ แบบที่ใช้เครื่องกวนตอนบน ตอนล่างเป็นกระบอกหรือกระป๋อง ความจุมากเท่าที่อยากจะได้ สิบยี่สิบลิตรก็แล้วแต่ ตอนบนเป็นมอเตอร์และมีที่กวนสำหรับผสมอาหาร เวลาใช้ก็ปิดฝาลงไปแล้วเปิดสวิทช์ไฟมอเตอร์ให้กวนให้เป็นอันพอ

ลำดับในการผลิตไบโอดีเซลมีอย่างนี้ครับ

1-คำนวณปริมาณสารเร่งปฏิกิริยาสำหรับจำนวนน้ำมันพืชใช้แล้วที่เราเอามาทำ หากใช้น้ำมันพืชที่ยังไม่ได้ใช้ ก็ต้องคำนวณเหมือนกัน

2-ตวง Methanol หรือ Ethanol กับโซดาไฟ และน้ำมันพืชของเราให้ได้ขนาดตามกำหนด

3-ละลายโซดาไฟลงใน Methanol หรือ Ethanol และผสมให้เข้ากันใช้เวลาประมาณไม่เกิน 5 นาที

4-ผสมส่วนผสมตามข้อ 3 ลงในน้ำมันพืช ใส่ลงในเครื่องผสม(อาหาร)ที่เตรียมไว้ เดินเครื่องปั่นประมาณ 15 นาที

5-ทิ้งให้ Glycerin ตกตะกอนในเครื่องผสม ใช้เวลาราว 8 ชั่วโมง หลังจากนั้น แยกส่วนบน อันเป็น Biodiesel ออกจาก Glycerin ที่ตกตะกอนอยู่ตอนล่าง

คุณก็จะได้น้ำมันไบโอดีเซลเอาไว้ใช้งานกับรถยนต์ดีเซลของคุณแล้วละครับ

การคำนวณหาปริมาณสารเร่งปฏิกิริยาสำหรับน้ำมันพืชแต่ละล็อตที่ได้มานั้น ผมบอกไว้แล้วในสัปดาห์ก่อน ดังนั้นจึงไม่ขอพูดซ้ำอีก แต่จะใช้ตัวย่อ L อันเป็นจำนวนกรัมของโซดาไฟที่จะต้องใช้ ต่อลิตรของน้ำมันพืช เท่านั้นนะครับ

เมื่อเราทราบจำนวนสารโซดาไฟที่ต้องใช้แล้ว ก็เริ่มปฏิบัติการขั้นต่อไป อันได้แก่การเทน้ำมันพืชลงในกระบอกตวง 1500 CC. ทีละหนึ่งลิตร แล้วตวงแอลกอฮอลแล้วแต่ชนิดที่ต้องการใช้ คราวละ 200 CC. ลงใช้กระบอกตวงความจุ 500 CC. กับโซดาไฟ จำนวน L กรัมในจานใบเล็กที่เตรียมไว้สำหรับการชั่งนั่นแหละครับ ทีละลิตร ทีละครั้งก็ได้ ไม่เหนื่อยมากนักหรอก ได้จำนวนแน่นอนด้วย หรือจะทำแบบจำนวนมาก ก็คูณเอาได้เหมือนกัน ไม่ว่ากัน

ทีนี้ ลำดับต่อไปก็คือการผสมโซดาไฟลงกับแอลกอฮอล ซึ่งต้องดูให้แน่ใจก่อนนะครับ ว่ากระป๋องผสมอาหารของเรานั้นอยู่ในสภาพไม่มีการรั่วซึมอย่างเด็ดขาด จากนั้น เทโซดาไฟที่เตรียมและวัดปริมาตรไว้แล้วลงในกระป๋องหรืออ่างของเครื่องผสมอาหาร ระวังอย่าให้กระเด็นมาถูกร่างกายของคุณ หรือกระเด็นไปบนพื้น หากหกลงพื้นก็ต้องรีบทำความสะอาดด้วยการใช้กระดาษซับเปียกน้ำและน้ำส้ม เช็ดออกทันที

เสร็จแล้วก็เทโซดาไฟลงในแอลกอฮอลในอ่างผสมอาหาร ปิดฝาอ่างหรือกระป๋องแล้วแต่แบบที่คุณซื้อหามานั่นแหละครับ แล้วเปิดมอเตอร์ปั่นด้วยความเร็วต่ำ ราวสักสามสิบวินาที หรือจนกว่าโซดาไฟจะผสมกับแอลกอฮอลเรียบร้อย กลายเป็นสารผสมเรียกว่า sodium methoxide ไปแล้ว

มาขั้นตอนต่อไป ด้วยการเปิดฝาเครื่องผสมอาหาร เอาจมูกกับหน้าให้ห่างจากอ่างหรือกระป๋องที่ผสมหน่อยนะครับ เพื่อสุขภาพของคุณเอง แล้วค่อยค่อยเทน้ำมันพืชลงไปในอ่างผสมอาหารนั่น จากนั้น ปิดฝาอีกที แล้วเปิดเครื่องปั่น ปั่นที่ความเร็วปานกลางหรือสูง ใช้เวลาราว 15 นาทีนะครับคราวนี้

หากมอเตอร์เครื่องปั่นร้อนเกินไป ก็ปิด หยุดสักพัก แล้วเปิดใหม่ ไม่มีปัญหาอะไรครับ

ทีนี้ ทิ้งส่วนผสมนี่ไว้แปดชั่วโมง ปิดป้ายไว้ด้วยว่าเป็นไบโอดีเซล อย่าดื่ม อย่าเททิ้ง กันไว้ก่อน เผื่อบ้านคุณหรือบริเวณที่คุณใช้ในการผลิตไบโอดีเซลมีคนอื่นที่ไม่รู้เรื่อง แต่เผอิญรู้ภาษาคนอยู่แถวนั้นด้วย จะได้ไม่เข้าไปยุ่งกับกิจกรรมของคุณจนเสียหายไป หรืออาจจะตายได้ ถ้าไปดื่มเข้า

แบบนึกว่า ของที่คุณผสมนั้นคือสุราชั้นดีนั่นเอง

อันที่จริงยังไม่เสร็จนะครับ คือยังไม่เสร็จเป็น Bio Diesel อย่างที่คุณต้องการ แต่ผสมเสร็จแล้วเท่านั้น

คราวนี้ ก็ต้องรอให้น้ำมันพืชแตกตัวและกลายเป็น Bio Diesel ออกมาให้เราเห็น ในกระบอกทดลอง หรือในถังทดลองหรือถังผสมอาหารที่คุณเอามาใช้ทำถังผลิตไบโอดีเซลนั่นแหละครับ

ถ้าหากว่า คุณใช้กระบอกตวงหรือกระบอกทดลองแบบมีก๊อกเปิดได้ข้างล่าง ก็วางไว้ในที่สูงพอเหมาะ ให้มีพื้นที่พอสำหรับการเปิดก๊อกปล่อยสารละลายภายในออกมาสู่ภาชนะอื่นที่ใช้รองรับด้วยก็แล้วกัน

ตั้งถังหรือกระบอกผสมเอาไว้นิ่งนิ่ง ภาวนาอย่าให้แผ่นดินไหวขึ้นมาในขณะรอเป็นเวลา 8 ชั่วโมงได้ก่อนได้แหละครับ เป็นดีแน่นอน

หากคุณลงทุนซื้อตัวผสมอาหารสำหรับภัตตาคารมาใช้ ก็คงใหญ่พอสำหรับระดับหนึ่งแกลลอนของไบโอดีเซล จึงทิ้งส่วนผสมเอาไว้ในนั้นได้ แต่หากมีถังทดลองแบบมีก๊อกข้างล่าง ก็ใช้ถังเถิดนะครับ สะดวกดี

คราวนี้ก็รอ แต่ไม่ต้องถึงแปดชั่วโมงหรอกครับ แค่ชั่วโมงแรก คุณก็จะเริ่มเห็นปฏิกิริยาของน้ำมันพืชในกระบอกทดลองแล้วละ จากการแยกตัวเป็นสองชั้นของน้ำมัน ทางตอนบน ราวสัก 80-90% ของกระบอก น้ำมันจะใสขึ้นมากกว่าตอนล่าง ที่เป็นชั้นสูงราว 10-20% อันมีสีคล้ำกว่า เข้มข้นกว่า รอต่อไปครับ จะไปไหนก็ได้ แต่ปิดป้ายไว้เตือนผู้อื่นด้วยว่า ไบโอดีเซลกำลังอยู่ในระดับทำปฏิกิริยา อย่าขยับถังหรือกระบอกผสม และห้ามทดลองดื่ม

ผ่านเวลา 8 ชั่วโมงไปแล้ว ก็ทำการง่ายง่ายดังนี้ครับ

ถ้าคุณใช้ถังหรือกระบอกที่มีก๊อกอยู่ตอนล่าง ก็เอาหลอดทดลองขนาด 500 CC. มารองรับไว้ใต้ก๊อก เปิดก๊อกปล่อยให้ Glycerin ที่ก้นกระบอกไหลออกมาให้หมด จะมีน้ำมันใสไหลออกมาบ้างเล็กน้อยก็ช่างเถิด ไม่เป็นไร ด้วยว่า ภายในที่เหลือนั้น ก็คือไบโอดีเซลของคุณแล้วละครับ

แต่ถ้าคุณใช้ถังหรือกระบอกที่ไม่มีก๊อกข้างล่าง ก็ต้องหาภาชนะสำหรับใส่ไบโอดีเซลเตรียมไว้ อย่าเทส่วนผสมลงไปในถังไบโอดีเซลนะครับ เพราะหากทำเช่นนั้น Glycerin ก็จะไหลลงไปในไบโอดีเซลด้วยจนได้

ใช้ปั๊มน้ำที่เตรียมไว้ แบบปั๊มจากถังน้ำใหญ่ลงขวดน้ำในครัวนั่นแหละครับ หรือปั๊มน้ำไฟฟ้าที่ใช้กับบ่อปลา บ่อน้ำพุเล็กเล็กหน้าบ้านก็ได้ แต่ปั๊มจะต้องสะอาดและแห้งไม่มีน้ำเลยด้วย ปั๊มไบโอดีเซลส่วนบนลงไปในกระบอกทดลองขนาด 1500 CC. ทีละลิตร จนหมดจำนวนที่ผสมไว้ อย่าใจร้อนหรืออยากได้น้ำมันมาก จนดูดเอา Glycerin ขึ้นมาด้วยก็แล้วกัน

ได้น้ำมันไบโอดีเซลมาแล้ว เก็บปิดฝาไว้ก่อน เอาไว้ทดสอบน้ำมันกันในสัปดาห์หน้า

เพราะต้องทดสอบกันบ้างครับ แต่ไม่จำเป็นจะต้องส่งไปห้องทดลองวิทยาศาสตร์ให้ทดสอบให้แพงเกินเหตุหรอกครับ ผมมีวิธีทดสอบง่ายง่ายเอาไว้ให้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ ต้องจัดการกับ Glycerin ที่เหลืออยู่เสียก่อน

Glycerin ที่เหลือตกค้างหลังการทำไบโอดีเซล ที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อ้างจากรายงานของบางมหาวิทยาลัยในสหรัฐมาอย่างผิดวัตถุประสงค์นั้น ใช้ได้นะครับ ใช้ทำสบู่ล้างไขมันได้อย่างดี

หรือหากไม่อยากใช้ละเอ้า ก็สามารถจะทิ้งได้แบบไม่เป็นพิษเป็นภัยอีกด้วยซ้ำไป ผมจึงอยากบอกว่า คนแปลข่าวควรจะใช้สามัญสำนึกในภาษาที่แปลออกมาให้ดีกว่าที่จะเริ่มใส่ร้ายการผลิตใดใด หากทำไม่ได้ ก็หางานใหม่ทำเสียรู้แล้วรู้รอดไปเถิดครับ

ถ้าคุณจะทิ้ง Glycerin ที่เหลือก็เพียงเทลงไปบนหน้าดินในบ้านนั่นแหละครับ เพราะไม่นาน Glycerin จะถูกกินไปโดยแบคทีเรียธรรมชาติ Glycerin เป็นสาร Biodegradable ไม่มีพิษไม่เป็นอันตรายกับสัตว์และพืช แอลกอฮอลใน Glycerin จะระเหยไปภายในไม่เกินหนึ่งสัปดาห์หากปล่อยทิ้งตากแดดตากลมไว้

แต่หากจะทำสบู่ก็ยังได้เหมือนกันครับ คุณแม่ผมเคยทำสบู่จากน้ำมันมะพร้าว แต่ตอนนั้นผมยังเด็กมาก ไม่ทราบว่าคุณแม่ผสมน้ำหอมชนิดอะไร แต่จำได้ว่า ต้องมีโซดาไฟผสมกับน้ำมันมะพร้าวด้วย เหมือนกับการทำไบโอดีเซลในตอนนี้

หากคุณมี Glycerin บริสุทธิ์ละก็ ราคาแพงเชียวนะครับ แต่เสียใจที่จะต้องบอกว่า Glycerin ที่ได้จากการทำไบโอดีเซลนี้ ไม่บริสุทธิ์และกว่าจะทำให้บริสุทธิ์ได้ ก็คงใช้เงินและเวลาอีกบ้าง ไม่มากนักหรอกครับ

ก็แค่หวังว่า เครื่องมือทำ Bio Diesel ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะทำออกมาจำหน่ายจ่ายแจกแก่ชาวบ้านที่เข้าไปรับการอบรมผลิตน้ำมัน ในราคาประมาณหนึ่งแสนบาทนั้น คงพอที่จะใช้ได้ และน่าจะบอกวิธีทำ Glycerin ให้บริสุทธิ์ เพื่อไม่ให้เหลือของทิ้งกันแบบตบหน้าวิทยาลัยสหรัฐ หรือนักแปลมือแปท่านนั้นกันได้ต่อไป

แต่สำหรับเรา ตอนนี้ ผมว่า ลืมลืมไปก่อนดีกว่า

ผมหมายใจจะเล่าให้ฟังว่า เราทดสอบเพื่อดูผลการผลิตได้อย่างไร แบบง่ายง่ายนะครับ

แต่ก่อนอื่น ก็ขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านจากเชียงราย ที่นำเอาเรื่องราวของไบโอดีเซลที่ผมเขียนเล่าไว้ในคอลัมน์เล็กเล็กตรงนี้ ไปทดลองทำ และบอกกล่าวผมถึงความคืบหน้ามาเป็นระยะ เมื่อวานนี้ท่านก็โทรศัพท์เข้าไปที่บ้าน ภริยาผมเป็นผู้รับสาย ผมไม่อยู่ เลยไม่ได้พูดกับผม นัยว่า จะทวงถามเรื่องการทำ Water Wash หรือเอาน้ำล้างไบโอ ดีเซล ที่ผมเคยพูดกับท่านไว้สองสามสัปดาห์ที่ผ่านไป

จริงจริงแล้ว การผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วของเรา ที่ทำกันตามวิธีที่ผมบอกนี้ เมื่อทิ้งให้ตกตะกอนแปดเก้าชั่วโมง และเอาไบโอดีเซลออกจากที่ตกตะกอนอยู่แบบไม่โลภมากเสียแล้ว การล้างด้วยน้ำก็ไม่จำเป็นหรอกครับ ด้วยว่าสารเร่งปฏิกิริยา กับ Glycerin นั้น จะตกตะกอนลงสู่เบื้องล่างแล้วถึง 99.9% หากคุณไม่ดูดไบโอดีเซลตอนบนออกลึกจนเรี่ยตะกอน หรือหากเอาตะกอนออกได้ด้วยการใช้ก๊อกก้นถังผสม และให้ตะกอนออกมามากจนหมดจริงแล้ว สารเร่งปฏิกิริยากับ Glycerin ก็จะออกมาหมดอยู่แล้ว ไม่ติดเข้าไปกับเนื้อไบโอดีเซล

ดังนั้น ผมจึงยังไม่ขอเล่าถึงการล้างไบโอดีเซลด้วยน้ำ หันไปพูดถึงการทดสอบระหว่างการผลิต และขั้นสุดท้ายกันเลยทีเดียวดีกว่า

แต่ก็จะนำเอาเรื่องการล้างไบโอดีเซลมาเล่าให้ท่านฟังกันในไม่ช้านี้ หากท่านยังอยากฟังอยู่ ก็เชิญบอกกล่าวกันหน่อยนะครับ จะได้มีเรี่ยวมีแรงเขียนเล่าสู่กันฟังต่อไป

หากท่านจะทดสอบไบโอดีเซลที่ผลิตขึ้นมาเอง ด้วยห้องทดลองวิทยาศาสตร์ได้ ก็ทำได้นะครับ แต่ผมไม่กล้าทำ เพราะค่าทดสอบแบบนั้น หลายหมื่นบาทอยู่ครับ เขียนคอลัมน์กันทั้งปี ยังไม่พอถึงครึ่งค่าทดสอบเลย เอาแบบง่ายง่ายดีกว่า

เริ่มด้วยการดูระดับการตกตะกอนที่จะบอกได้ว่า ไบโอดีเซลของเราได้ผลหรือไม่ หากได้ผลระดับการตกตะกอนก็จะเป็นสองชั้น

ชั้นบนประมาณ 80-90% สีใสกว่าชั้นล่าง ด้วยว่านั่นคือไบโอดีเซลหรือ esters

ส่วนชั้นล่างจะมีสีเข้มกว่าชั้นบนอย่างชัดเจน เป็นส่วนเหลือจากชั้นบนคือประมาณ 10-20% เป็นส่วนผสมของสารเร่งปฏิกิริยาหากว่าคุณใช้น้ำมันพืชใช้แล้วในการผลิตไบโอดีเซล กับ Glycerin และอาจจะมีเศษอาหารเหลืออยู่ด้วย แต่ไม่น่ารับประทานหรอกครับ

ทีนี้ หากว่าในระหว่างสองชั้นนั้นเกิดมีชั้นกลางขึ้นมาด้วยราว 10% แล้ว ก็หมายความว่าชั้นนั้นเป็นสบู่ครับ ผลมาจากการมีน้ำผสมอยู่ในน้ำมันพืชมากหน่อย หรือคุณใส่สารเร่งปฏิกิริยามากเกินไปเท่านั้นเอง ตรงนี้แหละ ที่ผมว่า หากเกิดส่วนชั้นกลางขึ้นแล้ว คุณอาจจะต้องทำการล้างไบโอดีเซลที่ผลิตได้ด้วยน้ำ ที่ผมไม่ได้เล่าไว้ เพราะปกติจะไม่เกิดนะครับ

ถ้าการผลิตไม่เกิดผล หรือเสีย คุณจะได้ส่วนผสมออกมาเป็นเจลลี่หรือสบู่ไปเลย อันนี้เอาไปใช้ไม่ได้ ต้องทำกันใหม่ครับ

ไหนไหน ก็อุตส่าห์มีท่านผู้อ่านทางเชียงรายหรือเชียงใหม่ อันเป็นเมืองที่ค่อนข้างหนาวเย็นอยู่แล้ว ดังนั้น ผมจึงต้องแถมการทดสอบไบโอดีเซลของท่านผู้อ่านที่ทดลองกันสักหน่อย ด้วยการหาจุด Cloud Point และ Gel Point เอาไว้สำหรับการใช้งานไบโอดีเซลที่ผลิตในช่วงฤดูหนาว

คุณเอาตัวอย่างไบโอดีเซลที่ผลิตได้แต่ละคราวนะครับ ไม่ต้องมากหรอก เอาใส่หลอดทดลองหรือถ้วยแก้วก็ได้ มาวางไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นสักครั้งละ 15 นาที คือทุก 15 นาทีเอาออกมาวัดระดับความเย็นของไบโอดีเซลกัน แล้วดูสภาพน้ำมันว่า เริ่มขุ่นแบบท้องฟ้ามีเมฆหรือยัง จนเริ่มมีผลึกเกิดขึ้นในไบโอดีเซล ตรงนั้นแหละครับ Cloud Point ไม่ควรใช้ไบโอดีเซล ในอุณหภูมิภายนอกระดับเดียวกับไบโอดีเซลที่เราวัดระดับอุณหภูมิได้

และเมื่อไร ที่ไบโอดีเซลกลายเป็นเจลลี่ ก็คือ Gel Point ละครับ ต้องอุ่นถังน้ำมันกันก่อนจะใช้ หากจะใช้ในอุณหภูมิระดับนั้นจริง

อีกอย่างหนึ่งของการทดสอบที่เหลือ ก็คือหาค่าความถ่วงจำเพาะ ที่ปกติแล้ว ความถ่วงจำเพาะของน้ำมันพืชจะอยู่ที่ระดับ 0.920 หรือมากกว่า

ในขณะที่ไบโอดีเซลที่ผลิตได้ จะมีความถ่วงจำเพาะอยู่ประมาณ 0.860-0.900

ไบโอดีเซลที่ผลิตได้อย่างถูกต้อง จะมีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ที่ 0.880

ปกติแล้ว การวัดค่าความถ่วงจำเพาะนี้ เราจะทำกันที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส แต่หากทำลำบากหรือทำไม่ได้แล้วละก็ ทำกันที่ 30 องศาเซลเซียสก็ยังอ่านค่าได้ใกล้เคียงมากอยู่ครับ ใช้ได้นะครับ ที่ 30 องศานี่

กระบอกทดลองพลาสติก กับตัววัดค่าความถ่วงจำเพาะ คงต้องหามาใช้กันสักชุดหนึ่ง

หากไบโอดีเซลที่คุณทำออกมา ให้ค่าความถ่วงจำเพาะสูงเกินกว่า 0.900 จะใช้กับเครื่องยนต์ที่ไม่ได้โมดิฟายไว้สำหรับน้ำมันพืชไม่ได้นะครับ จำเอาไว้เลย และวัดค่าความถ่วงจำเพาะของไบโอดีเซลที่ผลิตขึ้นมาแต่ละครั้งเสมอ ถ้าเลยจาก 0.900 ไปละก็ อย่านำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลทั่วไป เพราะจะทำให้เครื่องยนต์สึกหรอมาก กับทำให้หัวฉีดเชื้อเพลิงตัน เกิดมลภาวะสูง จนถึงเครื่องยนต์เสียหายมากได้ครับ

ขอให้สนุกกับการผลิตไบโอดีเซลนะครับ
—————————————————

Facebook Comments
CarOnline Team

Recent Posts