ทดสอบ ทดลองขับ ALL NEW FORD EVEREST : ฟอร์ด เอเวอร์เรส
การกลับมาอีกครั้งของ FORD EVEREST ชื่อนี้คุ้นหูในกลุ่มของคนที่ชื่นชอบรถยนต์ประเภท SUV (Sport Utility Vehicle ) เป็นอย่างดี หลายคนเฝ้ารอการเปิดตัวว่าเมื่อไรจะมาซะที หลังการมาของ เรนเจอร์ จากการสร้างกระแสก่อนการเปิดตัวตามแบบฉบับของ ฟอร์ด คือการโชว์รถคันจริงก่อนการขายอย่างเป็นทางการ ซึ่งจากการโชว์ตัวนั้นให้การตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม ถึงขนาดต้องจัดคิวให้ชมกันในงาน มอเตอร์โขว์ที่ผ่านมา
การกลับมาคราวนี้ฟอร์ดได้เปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างในรถรุ่นใหม่คันนี้ ทั้งเทคโนโลยีรวมถึงฟังก์ชั่นต่างๆ ที่จัดมาเพียบแบบทิ้งคู่แข่งไปเลย สมกับความตั้งใจที่ ฟอร์ด ต้องการคือ “ความเป็นที่หนึ่ง” ใน NEW FORD EVEREST คันนี้
ในการทดสอบ NEW FORD EVEREST ครั้งนี้เราเดินทางไปถึงจังหวัดเชียงราย การทดสอบครั้งนี้รูปแบบนั้นทางทีมงานได้เซ็ตไว้ทั้งทาง onroad และ oofroad สำหรับทริปทดสอบในครั้งนี้ ผมได้ขับอยู่สองตัวด้วยกันคือตัวเครื่อง 2.2 ลิตรขับ 2 ล้อ และตัวเครื่อง 3.2 ลิตร Titanium Plus ขับ 4 ล้อซึ่งเป็นตัวท๊อปสุดนั่นเอง
ภายนอกออกแบบให้ดูแข็งแรงบึกบึน
ความแตกต่างของ 2 รุ่นที่ทำการทดสอบนั้นผมเดินดูไปรอบๆ รถก็จะเห็นความแตกต่างกันไม่กี่จุด สังเกตง่ายๆ คือตัวท๊อป 3.2 ลิตร Titanium Plus นั้นส่วนใหญ่จะมีอุปกรณ์ที่มีพื้นผิวแบบโครเมี่ยม เช่นกระจกมองข้าง มือจับประตู และอื่นๆ ไฟหน้าแบบมีเดย์ไลท์ หลังคา Moon roof ประตูท้ายรถเปิด – ปิดด้วยไฟฟ้า ล้อแม็กลายสวย 6 ก้านขนาด 20 นิ้วพร้อมยาง 265/50R20 ส่วนตัว 2.2 ลิตร อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะเป็นสีเดียวกับตัวรถ ไฟหน้าโปรเจคเตอร์แบบธรรมดาไม่มีเดย์ไลท์ ล้อแม็กลายสวย 6 ก้านขนาด 18 นิ้วพร้อมยาง 265/60R18 นอกนั้นเหมือนกันเกือบทั้งหมด ซึ่งเน้นการออกแบบที่ดูแข็งแรง กันชนหน้าแบบ 3 มิติซึ่งเหมาะตามหลักอากาศพลศาสตร์ ฝากระโปรงและชุดไฟหน้าที่เข้ากับกระจังหน้าทรงสี่เหลี่ยมคางหมูทำให้ดูแข็งแกร่งทนทานและดูเป็นรถคันใหญ่มากๆ คันหนึ่ง ส่วนด้านท้ายหลายๆ คนมองว่าไฟท้ายเหมือน Benz รุ่นหนึ่ง ก็แล้วแต่มุมมองของคน ซึ่งเป็นไฟท้ายแบบแอลอีดีเข้าชุดกับฝากระโปรงด้านท้ายที่มีคำว่า EVEREST เป็นแถบโครเมี่ยมยาวจรดไฟด้านท้ายทั้งสองข้าง และยังมีแถบคิกเกอร์ เป็นครีบเล็กๆ ที่ติดอยู่ตัวถังด้านท้ายที่ช่วยลดแรงเสียดทานตามหลักอากาศพลศาสตร์เช่นเดียวกัน
ภายในหรูหรา ยกระดับความเป็น SUV
โดยครั้งนี้เราได้รถเป็นตัว 3.2 ลิตร ขับ 4 ล้อ Titanium Plus ตัวท๊อปสุด เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวรถที่ห่างหายไปนาน กลับมาครั้งนี้ภายในดูดีกว่าเดิมเยอะมาก จนคิดไปเองว่าภายในแบบนี้ รถคู่แข่งค่ายอื่นๆ น่าจะเหนื่อย เพราะเป็นการออกแบบภายในที่ทิ้งภาพรุ่นเดิมไปอย่างสิ้นเชิง เบานั่งเป็นแบบ 3 แถว เป็นเบาะหนังสีครีม ตัดกับบานประตูวัสดุสีเทาดำ ทำให้ดูกว้างขวางขึ้นสำหรับภายใน ลองนั่งไปเรื่อยๆ สิ่งที่ทำให้รู้สึกเป็นอย่างแรกก็คือระบบช่วงล่างที่ต้องบอกว่าไม่ได้แข็งกระด้าง แต่มันออกสไตล์นุ่มหนึบแบบ SUVหรูๆ ซะมากกว่า มองไปรอบๆ ตัวเห็นหลังคาที่เป็นแบบพาโนรามิค MOON ROOF ที่ทำให้นึกถึงรถระดับราคาแพงๆ เจ้าสิ่งนี้ก็ช่วยได้ในเรื่องความสวยงามอีกแบบ ถึงแม้ประโยชน์มันนิดเดียวแต่เชื่อว่าหลายคนก็อยากให้มันมีติดรถมาเหมือนกัน
ตรงกลางมีชุดปรับแอร์ด้านหลัง สามารถปรับได้ทั้งระดับความแรงและทิศทางลมพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกเล็กๆ น้อยๆ ช่องเสียบไฟแบบ 12V. และ 220V. แบบปลั๊กไฟบ้าน ในส่วนของเบาะแถว 2 นี้สามารถปรับระยะได้นิดๆหน่อยทั้งตัวพนักพิงและระยะของเบาะ แต่ถ้าต้องการใส่ของเยอะก็สามารถพับเรียบได้ด้วยเช่นกันเป็นแบบ 60/40 จากนั้นผมก็ได้ปีนไปนั่งในแถวที่ 3 สรุปง่ายๆ เลยค่อนข้างอึดอัดเพราะไม่ได้ออกแบบมาให้คนตัวใหญ่อย่างผมนั่งแน่นอน แต่ถ้านั่งไประยะทางไม่เกิน 50 กม. ก็น่าจะยังไหวอยู่ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือในที่นั่งแถว 3 นั้น ความนุ่มนวลของช่วงล่างและความนั่งสบายระหว่างรถวิ่งนั้นยังไม่แตกต่างกับตอนที่นั่งอยู่แถว 2 มากเท่าไหร่นัก และสำหรับเบาะแถว 3 นี้ ในรุ่นของตัวท๊อปสามารถพับเก็บแบบไฟฟ้าได้ด้วย ซึ่งจะมีปุ่มกดอยู่ทางด้านท้าย เป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับคนที่ใช้งานไม่ต้องมาเสียเวลาดึงพับเบาะเก็บด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าพับเบาะนั่งทั้งหมดแถว 2-3 จะมีพื้นที่บรรจุถึง 2,010 ลิตร และรับน้ำหนักบรรทุกได้ 750 กก.
จากภารกิจการทดลองนั่งในแถว 2-3 แล้ว ผมก็ปีนมานั่งข้างหน้าข้างคนขับ ทำให้รู้ว่าเบาะคู่หน้าเป็นแบบปรับไฟฟ้า 8 ทิศทางเช่นกัน ตัวเบาะค่อนข้างโอบกระชับดี ทัศนะวิสัยในการมองเห็นก็ดี อยู่ในตำแหน่งที่มองได้กว้างมาก ในส่วนของด้านหน้าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมประทับใจสุดนั่นคือการออกแบบชุดคอนโซลด้านหน้าที่ทำออกมาได้อย่างทันสมัยมากๆ สวยงามเหมือนมองตรงไหนก็ดูเข้ากันไปหมด แถมปุ่มต่างๆ ก็เยอะมากมายจนไม่รู้ว่าจะเริ่มเล่นจากตรงไหนดี ไม่เคยคิดเหมือนกันว่ารถคันนึงจะต้องมีปุ่มอะไรต่างๆ ให้กดมากมายขนาดนี้ แต่อย่างที่บอกทางฟอร์ดต้องการให้รถคันนี้สะดวกที่สุดและตอบสนองกับคนขับมากที่สุดโดยเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวรถกับผู้ขับมาเป็นอันดับหนึ่ง พวงมาลัยที่ออกแบบมาอย่างล้ำสมัยทำงานคู่กับแผงหน้าจอแสดงผลที่ออกแบบมาให้ใช้งานอย่าง่ายแม้ขณะที่ควบคุมตัวรถอยู่เป็นแบบ Dual TFT ซึ่งแสดงผลแบบแยกซ้ายและขวาอย่างชัดเจน ตรงกลางเป็นไมล์แสดงความเร็วของรถยนต์ ด้านซ้ายนั้นแสดงผลที่ทำงานร่วมกับระบบการสื่อสารของฟอร์ดที่ยอดเยี่ยมคือ Ford Sync 2 ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ให้มรการใช้งานและสั่งงานที่ง่ายขึ้นกว่าเวอร์ชั่นแรก โดยสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ระบบเครื่องเสียง ไม่ว่าคุณจะหาเพลงหรือนักร้องคนไหน ก็ทำได้เพียงสั่งด้วยคำพูดเท่านั้น และเชื่อมต่อกับระบบโทรศัพท์ที่คุณแทบไม่ต้องหยิบมาใช้งานเลยระหว่างขับรถ และล่าสุดกับการควบคุมระบบปรับอากาศที่ต้องการความเย็นและร้อนได้เพียงคำสั่งผ่านปากคุณเองเท่านั้น
สำหรับจอด้านขวาสุดเป็นการแสดงผลที่เกี่ยวกับตัวรถทั้งหมด ซึ่งเราไม่ได้มีเวลาเล่นมากนักทำให้ไม่ได้รู้ถึงรายละเอียดลึกๆ แต่ที่เห็นจะมีเป็นวัดรอบเครื่องยนต์แบบติจิตอล ระยะทางของน้ำมันที่เหลือ อัตราสิ้นเปลืองแบบต่างๆ อุณหภูมิความร้อน เอาเป็นว่าที่เกี่ยวกับรถทั้งหมดล่ะกัน ส่วนหน้าจอตรงกลางนั้นก็เป็นแบบทัชสกรีนขนาด 8 นิ้วพร้อมด้วยลำโพงทั้งหมด 10 ตัว ใครที่ชอบเครื่องเสียงก็คงเพลิดเพลินกับชุดนี้จริงๆ
เครื่องยนต์แรงกำลังดีทั้ง 3.2 ลิตร และ 2.2 ลิตร
NEW FORD EVEREST มีเครื่องยนต์ที่ให้เลือกตามความเหมาะสมซึ่งเครื่องยนต์และเกียร์นี้ทางทีมฟอร์ดบอกว่ามีการพัฒนาใหม่ที่ไม่ได้เหมือนกับตัวที่อยู่ในรถกระบะเรนเจอร์ ซึ่งโดดเด่นในเรื่องความทนทาน พลัง และการประหยัดน้ำมันอย่างดี โดยเป็นแบบหัวฉีดไดเรค อินเจคชั่นแรงดันสูงทำงานที่แรงดัน 1,800 บาร์ ส่วนหัวฉีดแบบเพียโซ (Piezo) สามารถฉีดน้ำมันได้อย่างแม่นยำขึ้นจึงเผาไหม้อย่างสะอาดและสมบูรณ์ มาดูตัวแรกเป็นดีเซล ดูราทอร์ค ทีดีซีไอ VG TURBO ขนาด 2.2 ลิตร แบบ 4 สูบ ซึ่งให้กำลังสูงสุดถึง 160 แรงม้า และมีแรงบิดที่ 358 นิวตันเมตร เครื่องยนต์ตัวนี้เหมาะสำหรับคนที่ชอบการประหยัดน้ำมันและไม่ต้องการความแรงมากมาย ซึ่งช่วงที่ผมได้ทดสอบขับนั้นจะเป็นเส้นทางในลักษณะของถนนผิวเรียบและขรุขระนิดหน่อยแบบทั่วไป การคาดหวังที่จะให้แรงบิดเยอะๆ คงไม่มีเพียงแต่เครื่องตัวนี้น่าจะเดินทางไปต่างจังหวัดได้ดีทีเดียว ขับง่ายสบายๆ ไม่ถึงกับอืดมาก แต่ก็ใช้จังหวะรอบเครื่องยนต์ดีดีก็ขับสนุกเช่นกัน มาพร้อมกับชุดเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดที่นุ่มนวลตอนเปลี่ยนเกียร์และสามารถเปลี่ยนเป็นแบบ สปอร์ตชิฟท์ โดยเปลี่ยนเกียร์ต่างๆ ได้ตามต้องการอารมณ์ของผู้ขับ ผมก็ไม่สามารถบอกรายละเอียดอะไรได้มากเท่าไหร่นัก เพราะได้ขับอยู่นิดเดียวจริงๆ ครั้นจะโม้ไปแบบคนอื่นให้เปลืองพื้นที่ก็จะใช่เหตุ เชื่อว่าคนอ่านก็คงไม่ต้องการให้สาธยายจนยืดยาวเท่าไหร่นักหรอก เพราะกว่าจะอ่านจบกลายเป็น แปะ ! ไว้ก่อน บางทีแปะแล้วแปะอีก จนลืมไปเลยก็มีฮ่าๆๆ
คราวนี้กลับมาดูตัวเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร ขับ 4 ล้อ Titanium Plus ตัวท๊อป สเปคเครื่องยนต์ เป็นดีเซล ดูราทอร์ค ทีดีซีไอ VG TURBO ขนาด 3.2 ลิตร แบบ 5 สูบ ซึ่งให้กำลังสูงสุดถึง 200 แรงม้า และมีแรงบิดที่ 470 นิวตันเมตร มาพร้อมกับชุดเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด เช่นกัน ผมได้ลองขับบนถนนทั่วไปก็ รู้สึกว่ากำลังเหลือกินเหลือใช้มากมาย กดคันเร่งเมื่อไหร่การตอบสนองมาทันทีแต่ด้วยเกียร์และการออกแบบให้มีการกระชากเครื่องน้อยลงไป จึงรู้สึกได้ถึงการขึ้นแบบนิ่มนวล สบายๆ ขับง่ายสนุกดี แต่ว่าความน่าของมันอยู่ที่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อพร้อมฟังก์ชั่นใช้งานการขับในสภาพพื้นผิวถนนต่างๆ ระบบ Terrain Management System (TMS) ถูกนำมาติดตั้งในรถคันนี้ โดยเป็นระบบที่ช่วยในการขับขี่ทางแบบออฟโรด หน้าที่มันจะช่วยปรับการตอบสนองต่อการเร่งเครื่องยนต์ ระบบเกียร์และระบบการยึดเกาะถนน เพื่อให้ได้สมรรถนะที่สูงสุดในการขับถนนนั้นๆ เป็นเรื่องที่ง่ายมากจริงๆ ในการขับออฟโรด พูดแบบชาวบ้านทั่วไปก็คือขับถนนและทางแบบไหนก็ปรับไปตามแบบนั้นเดี๋ยวรถมันจัดการระบบขับเคลื่อนให้เอง แบ่งเป็นดังนี้
พื้นถนนทั่วไป : จะเน้นเรื่องระบบส่งกำลังให้เปลี่ยนและเหมาะสมระหว่างล้อหน้าและหลัง ลดอาการลื่นไถลของตัวรถ เมื่อจำเป็นจะจ่ายแรงบิดไปยังล้อคู่หน้า ซึ่งจะคำนวณจากการเร่งความเร็วและการหักเลี้ยวมุมล้อ
หิมะ / กรวด / หญ้า : ซึ่งเน้นความสำคัญในเรื่องการยึดเกาะถนน เมื่อขับขี่บนผิวลื่นๆ ซึ่งจะมีระบบ Traction Control เข้ามาเสริมด้วย และมีความสัมพันธ์ตั้งแต่ชุดเกียร์จนถึงการควบคุมคันเร่ง
ทราย : ช่วยรักษากำลังของเครื่องยนต์ขณะวิ่งผ่านพื้นผิวทราย และจ่ายแรงบิดมากเป็นพิเศษและการตอบสนองของคันเร่งที่มากขึ้นด้วยและเน้นใช้เกียร์ต่ำ
หิน : ทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อนความเร็วต่ำเพื่อให้มีแรงยึดเกาะถนนสูงสุด (4×4) จะเหมาะกับเส้นทางลุยๆ โหดๆ จริง อย่างที่รถธรรมดาจะไม่สามารถไปได้
นอกจากนี้ยังมีระบบอีกหลายอย่างที่ทำงานร่วมกันในส่วนของการขับขี่แบบออฟโรด อย่างระบบล๊อกเฟืองท้ายแบบไฟฟ้าเพื่อป้องกันการลื่นไถลของล้อหลังและช่วยฉุดลากบนพื้นถนนที่ขับลำบาก ส่วนระบบควบคุมการจ่ายแรงบิดผ่าน Active Transfer Case ซึ่งจะจ่ายแรงบิดระหว่างล้อหน้าและหลังแบบอัตโนมัติ ทำให้ผู้ขับสามารถควบคุมรถได้ทุกสภาพถนน โดยการคำนวณและจ่ายแรงบิดไปยังล้อที่มีการยึดเกาะถนนดีที่สุด โดยระบบทั้งหมดจะแสดงผลการทำงานที่แผงหน้าปัดอย่างละเอียด พร้อมแสดงรูปการจ่ายแรงบิดของเครื่องยนต์ ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามโหมดต่างๆ ที่คุณได้เลือกใช้งาน ทำให้ผู้ขับได้ทราบความเคลื่อนไหวของตัวรถและควบคุมรถได้อย่างสบายใจ ซึ่งเส้นทางที่เราได้ทดสอบนั้นก็มีการจำลองให้ได้ใช้กันทุกโหมด ไม่ว่าจะขึ้นเขา ลงเขา ผมลองใช้โหมดต่างๆ แล้วรู้สึกว่าเดินคันเร่งได้ง่ายรถจะสั่งการเครื่องยนต์และเกียร์เป็นเรื่องเดียวกัน ที่เหลือก็แค่คุมพวงมาลัยไว้แน่นๆ ไปในทิศทางที่ต้องการแค่นั้นเอง อีกหนึ่งสิ่งที่ฟอร์ดได้บอกเอาไว้คือความสามารถในการลุยน้ำและความสูงของตัวรถจากพื้น ซึ่งจะสูงกว่ารถในกลุ่มเดียวกัน รถคันนี้สามารถลุยน้ำได้สูงถึง 80 ซม. มีความสูงของรถจากพื้น 22.5 ซม. มุมจากหลังระหว่างกันชนกับพื้น 25 องศา มุมคร่อมใต้ท้องรถ 21 องศา และมุมไต่วัดจากล้อถึงกันชนหน้า 29 องศา ดูจากสเปคแล้วก็ค่อนข้างได้เปรียบคู่แข่งอยู่เหมือนกัน
ช่างล่างและการควบคุม
สิ่งที่ฟอร์ดได้บอกพวกเราด้วยตัวรถระหว่างทดสอบ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือเรื่องของการควบคุมตัวรถการทรงตัวและระบบช่วงล่าง NEW FORD EVEREST มีการออกแบบช่วงล่างหน้าอิสระแบบคอยล์ – โอเวอร์ – สตรัท ที่มีการปรับแต่งพิเศษให้สามารถเหมาะสมกับทุกรูปแบบการขับขี่ทั้งแบบสองล้อและสี่ล้อ ทำงานโดยอาศัยปัจจัยต่างๆ เช่นน้ำหนักรถ จุดศูนย์ถ่วง การส่งกำลัง เช่นเดียวกับวาล์วแดมเปอร์และสปริง ที่ออกแบบใหม่เพื่อให้มีการขับขี่ที่ดีที่สุด อีกอย่างที่มีความสำคัญกับช่วงล่างคือ วัตต์ลิงค์ ซึ่งระบบมีมานานแล้วและฟอร์ดก็พัฒนามาจากรุ่นก่อนๆ ของฟอร์ดที่เคยใช้ชื่อว่าแกนแพนฮาร์ด สำหรับแกนช่วงล่างวัตต์ลิงค์ อธิบายง่ายๆ สุดคือมันจะทำหน้าที่รักษาไม่ให้เพลาเคลื่อนตัวได้ในแนวนอนเท่านั้น และเพลาสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ตามปกติปกติ ผลที่ได้คือเวลาเข้าโค้งก็ลดอาการโยนตัวของรถได้มากทีเดียว ทำให้รถทรงตัวดีและนิ่งขึ้น ได้ทำการทดสอบวิ่งในทางขรุขระมาก ทั้งหลุมและบ่อใหญ่ๆ สามารถซับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี นั่งในรถก็ยังรู้สึกสะเทือนไม่มาก
อีกทั้งระบบเบรกที่ต้องบอกว่าดีจริงๆ การเหยียบแต่ละให้น้ำหนักกำลังดี เพราะลองมาทุกความเร็วแล้ว ตัวรถไม่ออกอาการส่ายไปมา หยุดได้อย่างมั่นใจระยะเบรกก็ไม่ไกลมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะมีระบบช่วยการทรงตัวและอื่นๆทำงานไปพร้อมกัน อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องบอกว่าชอบในรถคันนี้คือระบบพวงมาลัยแบบไฟฟ้า Electronic Power Assisted Steering (EPAS) โดยพวงมาลัยชุดนี้ช่วยให้การขับขี่รถคันนี้เป็นไปอย่าง่ายดาย แม้รถจะคันใหญ่มากก็ตาม ผู้หญิงตัวเล็กๆ ก็ขับได้ เพราะเมื่อคุณอยู่ในความเร็วที่ต่ำหรือจอดนิ่งๆ พวงมาลัยจะผ่อนแรงให้คุณก็คือจะมีน้ำหนักเบาสบายๆ แต่ถ้าเมื่อใช้ความเร็วพวงมาลัยจะปรับน้ำหนักตามสภาพความเร็วของรถให้รู้สึกมั่นใจมีน้ำหนักควบคุมได้ง่าย
สรุปคือ ถ้าเป็น PPV หรือจะเรียก SUV ก็แล้วแต่ ในเวลานี้ NEW FORD EVEREST น่าจะมีภาษีดีกว่าใครเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสดใหม่ของบอดี้ เทคโนโลยีต่างๆ ที่จัดให้แบบเต็มๆ รวมถึงราคาของตัวรถที่อยู่ในระดับเดียวกันกับคู่แข่ง ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะตัวท๊อปสุด ซึ่งมันทำอะไรได้อีกเยอะแยะ ไม่ว่าจะมีระบบช่วยจอดรถ ระบบตรวจจับจุดบอดหรือถอยออกจากซอง มองว่าครั้งนี้ฟอร์ดเดินหน้าเต็มพิกัดลุยพร้อมรบจริงๆ ซึ่งเป็นสินค้าที่แพงที่สุดของฟอร์ดแล้วในตอนนี้ แต่ทว่า ปัญหาของความอุ่นใจต่อลูกค้าของฟอร์ดมันยังไม่ชัวร์เท่าไหร่ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ใช้จะมองเรื่องบริการหลังการขายเป็นสำคัญ ฟอร์ดจะมองและแก้ปัญหาจุดนี้ได้อย่างไร ? ในเมื่อ NEW FORD EVEREST ที่คุณขายอยู่ตอนนี้มันพร้อมจะเป็นผู้นำอันดับหนึ่งจริงๆ
##########################################################
เรื่อง premsak@caronline.net
ภาพ ford
เสียดาย ไม่ได้เห็นเบาะแถมสามเลย
ใช่ๆ และแพงไปนิด ไม่น่าจะถึงล้านหกเลย รวมดอกเบี้ยเข้าไปทำให้คิดหนักทั้งที่อยากได้
กำลังสนใจตัวทอ็ปอยู่พอดี แต่ยังไม่เห็นการทดสอบอัตราการสิ้นเปลืองกันเลย ว่ากินน้ำมันกี่กืโลเมตร ต่อลิตร ระหว่างเครื่องยนต์ 2.2 กับ 3.2 L Plus ขณะวิ่งนอกเมือง