ยางรถยนต์ ถือเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่สำคัญที่สุดสำหรับผมเลยล่ะครับ เพราะขณะที่เราขับขี่ส่วนเดียวของรถยนต์ที่สัมผัสกับพื้นถนนนั่นก็คือยาง ดังนั้น ผมจึงให้ความสำคัญสูงสุดในการเลือกใช้ยาง ที่จะต้องตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวัน และรูปแบบการขับขี่ที่ให้ความมั่นใจ ง่ายต่อการควบคุมรถ ไม่ว่าสภาพถนน หรือความเร็วที่ใช้ตลอดการเดินทาง นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนยางรถยนต์แต่ละครั้ง ค่อนข้างใช้จ่ายไปไม่น้อยเลย เปรียบเสมือนการลงทุนที่ย่อมต้องใช้ความรอบคอบ มองผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า ใช่แต่ว่าอยากลงทุนน้อย แล้วหวังผลตอบแทนสูง ซึ่งบ่อยครั้ง กลับพบว่าเราจำเป็นต้องเลือกใช้ยางดี มีคุณภาพ แม้ว่าจะต้องลงทุนสูงกว่าทางเลือกอื่นๆก็ตาม
ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้ทดสอบยาง Michelin Pilot Sport 3 โดยใช้ขนาดยางตามมาตรฐานเดิมกับล้อเดิมๆจากโรงงานคือ 215/50R17 ซึ่งหากมองหน้าตาทางกายภาพโดยรวมของดอกยางแล้ว ยางรุ่นนี้มีร่องน้ำใหญ่ๆตามแนวตรงถึง 3 ร่อง ค่อนไปทางด้านในของหน้ายางมาจนเหลื่อมเข้ามาเลยส่วนกลางของหน้ายางด้านนอกเล็กน้อย และมีดอกยางที่ไหล่ยางค่อนข้างใหญ่ตามแบบยาง Sport โดยทั่วไป แต่ร่องยางในส่วนของไหล่ยางค่อนข้างชิด (ภาพที่ 1) นอกจากนี้ ยางรุ่นนี้มีดอกยางแบบบังคับการติดตั้งด้านนอกกับด้านในกระทะล้อ นัยว่าเพื่อให้ร่องยางอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องตามที่เขาออกแบบไว้ เพื่อให้ร่องรีดน้ำอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมนะครับ
ในการทดสอบครั้งนี้ ผมเลือกใช้ รถโตโยต้า วิช ปี 2004 เป็นรถทดสอบ เนื่องจากว่าเป็นรถที่มีลำตัวยาวในส่วนห้องโดยสาร และจำนวนผู้โดยสารมากกว่ารถเก๋งซีดานทั่วไป ช่วงล่างจึงถูกออกแบบให้มีความกระด้างกว่ารถเก๋งซีดาน 4 ประตู การบรรทุกผู้โดยสาร โดยมีตำแหน่งที่นั่งแตกต่างกัน มีผลต่อการลงน้ำหนักที่ช่วงล่าง และบุคลิกการขับขี่ที่เปลี่ยนแปลงไปพอสมควรล่ะครับ (ภาพที่ 2)
ก่อนอื่นต้องขอสารภาพตรงๆนะครับว่า ผมเองก็เป็นคนที่ไม่ชอบยางแนว Sport เท่าใดนัก เพราะยางแนว Sport นี่มักจะไม่ค่อยนุ่มและเงียบเท่ายางในกลุ่มของ Comfort เนื่องจากเป็นคนที่ชอบจับเสียงผิดปกติของรถตลอดการขับขี่ หากมีเสียงรบกวนอื่นใด มักจะบั่นทอนสุนทรียภาพ และความมั่นใจในการขับขี่ของผมเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงมักเลือกใช้ยางในกลุ่ม comfort ที่มักไม่ค่อยส่งเสียงรบกวนตลอดการขับขี่ แต่ก็มีโจทย์ยากนิดหนึ่งตรงที่ ประสิทธิภาพความยึดเกาะถนน และความแม่นยำในการควบคุมรถอีกด้วย
หลังจากเปลี่ยนยาง และทำการตั้งศูนย์ถ่วงล้อเป็นการเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะทำการทดสอบจริง ผมมักจะใช้ยางไปซักระยะหนึ่งก่อนจะประเมินผล อย่างน้อย ซัก 200-300 กม.ล่ะครับ เหตุเพราะว่า ชิ้นส่วนบางอย่างเมื่อเปลี่ยนใหม่ๆก็ยังไม่ควรรีบร้อนไปประเมินผล น่าจะรอซักหน่อยให้เข้าที่เข้าทางดีกว่าครับ ระหว่างนี้ปล่อยให้คุณแม่บ้านใช้ทำธุระไปก่อนซัก 200-300 กม.
ผมได้ลองสอบถามกับทางช่างว่าเติมลมให้เท่าไหร่ ช่างแจ้งว่าเติมลมให้เท่าๆกันทั้ง 4 ล้อ ที่ 32 ปอนด์/ตร.นิ้ว ถึงแม้จะแตกต่างจากปกติที่ผมเติมอยู่กับรถคันนี้ไปบ้างก็ไม่เป็นไรครับ งานทดสอบก็คงต้องเป็นไปตามมาตรฐานของเขาล่ะครับ พอเมื่อใส่ยางเสร็จกลับออกมาก็เจอฝนตลอดทางเชียวล่ะครับ เพียงแต่ฝนตกไม่แรงเท่าไหร่ ระดับปัดน้ำฝนเบอร์แรกก็เร็วไป ต้องเปิดแบบเป็นจังหวะไปตลอดทาง ซึ่งฝนตกระดับนี้ถือว่าลื่นใช้ได้เลยครับ แต่ยังก่อน อย่าเพิ่งทดสอบเลยดีกว่า ไว้รอหลังจากใช้งานไปแล้วสักระยะหนึ่งดีกว่าครับ
สัปดาห์ถัดมาได้ทีล่ะครับ บังเอิญมีภารกิจต้องไปธุระที่จังหวัดลพบุรีเช้าไปบ่ายกลับ ระยะทางไปกลับรวมก็ราวๆ 300 กม. ถือเป็นระยะทางกำลังดีที่จะใช้ทดสอบยางอย่างจริงจังล่ะครับ ซึ่งนี่ต้องยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่ผมได้กลับมาขับรถคันนี้อีกครั้งหลังจากวันที่ขับไปเปลี่ยนยาง Michelin Pilot Sport 3 นี้มาเพื่อทดสอบ
เช้าวันอาทิตย์ก่อนออกเดินทาง ผมเตรียมทำการบ้านเล็กน้อย โดยได้ลองเก็บข้อมูลเรื่องเสียงของรถในภาวะต่างๆเพื่อเป็นพื้นฐานเปรียบเทียบกับตอนที่ขับขี่ช่วงความเร็วต่างๆ ตั้งแต่จอดนิ่งๆดับเครื่อง(ในลานจอดรถที่ไม่พลุกพล่าน) จอดนิ่งๆติดเครื่องยนต์ แต่ยังไม่เปิดแอร์ ตลอดจนเปิดแอร์(พัดลมระดับเบอร์ 1) (ภาพที่ 3-5)
จากนั้นจึงออกเดินทางซึ่งถนนในเมืองตลอดจนบนทางด่วนค่อนข้างโล่ง ผมจึงได้มีโอกาสขับทั้งช้าและเร็วโดยเก็บข้อมูลระดับเสียงภายในตัวรถที่ความเร็วระดับต่างๆกันคือ ความเร็วต่ำเดินทางในเมืองช่วงไม่เกิน 40 และ 60 กม./ชม. ความเร็วเดินทางช่วง 80 กม./ชม. และช่วง 110 กม./ชม. (ภาพที่ 6-9 ในภาพที่มีค่าความเข้มเสียง 3 ค่าคือค่าต่ำสุด ค่าเฉลี่ย และค่าสูงสุดของรอบที่ทำการทดสอบและการบันทึกไว้ได้)
นอกจากนี้ ผมยังได้บันทึกเสียงภายนอกและภายในตัวรถช่วงจราจรติดขัดคับคั่งไว้เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบด้วยครับ (ภาพที่ 10-11)
จากนั้นก็หาโอกาสทดสอบการควบคุมรถที่ระดับความเร็วต่างๆ การเปลี่ยนช่องทาง เข้าโค้ง ทดสอบการเบรกทั้งแบบชะลอความเร็ว จากระดับความเร็วสูง กลาง ต่ำ ตลอดจนทดสอบการเปลี่ยนทิศทางเพื่อทดสอบความแม่นยำในการควบคุมรถผ่านยางชุดนี้ ทั้งนี้ตลอดการเดินทางมีบางช่วงได้ลองใช้ความเร็วสูงกว่า 160 กม./ชม(ขออภัยเพื่อการทดสอบเท่านั้นน่ะครับ)
จากการทดสอบใช้งานตลอดเส้นทาง กรุงเทพฯ-ลพบุรี ทั้งไปและกลับ ผลการขับขี่ควบคุมรถเป็นไปในแบบของยาง Sport อย่างแท้จริง ที่ให้การยึดเกาะถนนที่ดีเลิศ การควบคุมรถก็เป็นไปอย่างมั่นคงแม่นยำ ตลอดจนประสิทธิการเบรก ที่สามารถทำการเบรกดึงความเร็วลงได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงเชียวครับ แต่สิ่งที่ผมแปลกใจมากก็คือเรื่องเสียงรบกวนที่น้อยมาก และความนุ่มนวลของยางเมื่อผ่านรอยต่อถนน เหยียบผ่านเส้นแบ่งช่องทาง ผ่านหมุดไฟกระพริบข้างทาง หรือรูดผ่านช่องทางด้านซ้ายที่ผิวจราจรเสียหายจากรถบรรทุกหนัก ทำเอาผู้โดยสารของผมหลับสบายไปตลอดเส้นทาง ซึ่งนี่ทำให้ผมแปลกใจมากคือ ยาง Michelin Pilot Sport 3 นี่เป็นยาง Sport หรือว่ายาง Comfort กันแน่ หรือจะเป็นยาง Sport ที่นุ่มเงียบแบบ Comfort ล่ะครับ? (ภาพหน้ายางหลังจากวิ่งไปราวๆ 500 กม. ภาพที่ 12-15)
เป็นที่น่าเสียดายทีเดียว ที่ตลอดเส้นทางทดสอบของผมนั้น ไม่มีฝนตกสักแหมะ ทำให้ไม่อาจจะจบบททดสอบยางได้อย่างสมบูรณ์แบบครบถ้วนเป็นแน่ แล้วผมจะทำอย่างไรดีครับ? นี่ก็ดูเหมือนว่าฝนจะทิ้งช่วงไปแล้วในเขตกรุงเทพฯ แต่โชคก็ยังเข้าข้างผมครับ ในเช้าวันพุธถัดมา ผมตื่นขึ้นมาพร้อมกับเสียงฝนตก สอบถามไปมาทราบว่าฝนตกตั้งแต่เมื่อคืน และนี่เป็นอิทธิพลของพายุนารี ทำให้เกิดฝนตกทั่วพื้นที่อีสานใต้และตะวันออก และยังส่งผลต่อปริมาณฝนตกในกรุงเทพฯเราด้วย ผมก็ได้แต่ภาวนาล่ะครับว่า ซักราวๆ 10.00 น. ไปแล้ว การจราจรไม่คับคั่งมาก ผมจะเอารถออกไปทดสอบยางท่ามกลางสายฝนอีกซักรอบ
เมื่อเปิดดูแผนที่ในคอมพิวเตอร์ พบว่าสภาพจราจรบนเส้นทางที่จะทำการทดสอบ คงเริ่มโล่งพอที่จะทำความเร็วปลอดภัย(ทั้งกับผมเองและเพื่อนร่วมทาง)ในระดับความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ผมรีบคว้ากุญแจรถและมุ่งหน้าไปถนนพระรามที่ 3 ซึ่งเป็นเส้นทางทดสอบในวันนี้ เนื่องจากถนนเส้นนี้มีสภาพจราจรที่ไหลต่อเนื่องค่อนข้างดีสามารถทำความเร็วได้ และที่สำคัญคือ ผิวจราจรเป็นคอนกรีตสลับราดยาง เป็นเหลี่ยมเป็นเนินย่อยๆ อีกทั้งมีแอ่งน้ำให้ทดสอบเอารถลุยผ่านแอ่งน้ำได้อย่างสบายหลายจุดเลยครับ
ระหว่างทาง ก็ยังถือโอกาสเก็บข้อมูลเสียงภายในห้องโดยสารไปด้วยครับ ว่าตอนที่ที่ฝนกำลังตกนั้น ระดับเสียงภายในห้องโดยสารขณะจอดติดไฟแดง ขณะเดินทางในสภาพจราจรติดขัด หรือช่วงทำความเร็วทดสอบ ว่ามีระดับเสียงแตกต่างจากกรณีถนนแห้งอย่างไรบ้าง เมื่อเข้าสู่เส้นทาง ผมก็ทำการทดสอบบนถนนเปียกอย่างที่ได้ตั้งใจไว้ อันได้แก่ทำความเร็วในช่วงต่างๆ พร้อมทั้งทดสอบเปลี่ยนช่องทาง ลองเบรกบ้าง ที่สำคัญคือขับลุยผ่านแอ่งน้ำขังบนผิวจราจรนี่ละครับ (ภาพที่ 16-18)
ผลการทดสอบบนถนนเปียกออกมาได้อย่างน่าประทับใจเชียวล่ะครับ เพราะร่องยางทั้ง 3 รีดน้ำได้ดี ลดแรงต้านที่หน้ายาง ทำให้สามารถขับฝ่าแอ่งน้ำได้อย่างมั่นคง ไม่เกิดอาการแฉลบหรือพวงมาลัยสะบัด แม้จะขับฝ่าแอ่งน้ำเพียงล้อข้างใดข้างหนึ่ง โดยแอ่งน้ำที่พบขณะทดสอบนั้น มีระดับความสูงของผิวน้ำที่คาดคะเนเอาด้วยสายตา บางแอ่งมีระดับสูงถึง 3 ซม. เลยทีเดียวครับ ในส่วนของการยึดเกาะถนนบนผิวถนนเปียกลื่นนั้นก็ทำได้ดีครับ ยังสามารถทำการเปลี่ยนช่องทางหรือเข้าโค้งได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังสามารถทำการเบรกได้ลึกและเบรกได้แรงอย่างมั่นคง แม้ระหว่างทดสอบมีบางครั้งที่จำเป็นต้องเบรคในโค้ง ก็ยังสามารถควบคุมรถได้อย่างแม่นยำโดยไม่เกิดอาการลื่นไถล หรือสูญเสียการควบคุมอันไม่พึงประสงค์ล่ะครับ
ในแง่ของเรื่องเสียงรบกวนบนถนนเปียกนั้น เป็นเรื่องธรรมดาครับที่มีเสียงของยางวิ่งผ่านน้ำจะมีเสียงดังกว่าถนนแห้งให้จับความรู้สึกแตกต่างได้บ้าง แต่ไม่ใช่เพราะว่าเสียงดังรบกวนเพิ่มขึ้นจนรู้สึกน่ารำคาญเลยครับ นอกจากนี้ เมื่อดูจากการวัดระดับเสียงภายในห้องโดยสารแล้วก็ยังพบว่าค่าเฉลี่ยความเข้มของเสียงนั้นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยราวๆ 2 เดซิเบล โดยมีความเข้มของเสียงสูงสุดมากกว่าบนถนนแห้งเพียง 1 เดซิเบลเท่านั้นเองครับ
ก่อนจบบทความนี้ ผมขอสารภาพอย่างหนึ่งครับว่า หลังได้จากทดสอบถนนแห้งบนเส้นทาง กรุงเทพฯ-ลพบุรีเมื่อวันอาทิตย์ ผมได้ดันลองเพิ่มลมยางเข้าไปอีก จากเดิมที่ 32 ปอนด์/ตร.นิ้ว เป็น 36 ปอนด์/ตร.นิ้ว ทั้งนี้เพราะอยากแยกอาการความนุ่มนวลของแก้มยางออกจากเนื้อยาง แต่บังเอิญพอถึงเช้าวันพุธซึ่งเกิดฝนตกหนักเพราะพายุนารี อารามดีใจรีบร้อนน่ะครับ รีบเอารถออกไปลุยทดสอบถนนเปียก จึงไปไม่ได้ปรับลดลมยางลงมาที่ระดับเดิม ซึ่งการเติมลมยางมากเกินไป อาจส่งผลให้ลื่นได้ง่ายเพราะพื้นที่การยึดเกาะถนนของหน้ายางลดลง เมื่อทำการทดสอบเสร็จแล้ว ครั้นมาทบทวนดูถึงนึกขึ้นมาได้ตอนขณะที่นั่งเขียนบททดสอบนี่แหละครับ แล้วนี่ทดสอบบนถนนเปียกอีกต่างหาก แต่กลับมีความรู้สึกว่ายางชุดนี้ยังคงให้การยึดเกาะถนนที่ดี ทำการเบรกได้ระยะที่สั้นแม้บนถนนเปียกทั้งๆที่ลมยางค่อนข้างแข็ง จึงอยากจะเรียนว่า สำหรับท่านที่ชอบเติมลมยางค่อนข้างมาก ผมว่าการยึดเกาะถนน ของยางชุดนี้ไม่ด้อยไปกว่าการเติมลมยางพอดีๆเลยล่ะครับ ทั้งยังได้ความกระชับในการควบคุมรถแบบสปอร์ตอย่างที่หลายๆท่านชื่นชอบมาอีกด้วยครับ
หากจะให้กล่าวถึงยาง Michelin Pilot Sport 3 ให้ชัดๆ คงพูดได้เต็มปากเลยว่านี่คือยางสปอร์ตที่รวมเอาจุดเด่นของยางคอมฟอร์ตไว้ด้วยกันอย่างแท้จริง เพราะคงจุดเด่นของยางสปอร์ตที่ให้การขับขี่ควบคุมรถเป็นไปได้อย่างแม่นยำ ยึดเกาะถนนได้ดีและเบรกได้สั้น ทั้งถนนแห้งและถนนเปียก แต่กลับนุ่มเงียบไร้เสียงรบกวนใจได้อย่างยางคอมฟอร์ตเลยล่ะครับ
มูลนิธิกลุ่มอีซ…
“มหกรรมยานยนต์ …
นายณัทธร ศรีนิเ…