Categories: รถใหม่

ทดลองขับ Volvo XC90 D5 เมื่อ SUV ร่างยักษ์ แก้ครหาเรื่องเปลืองน้ำมันสำเร็จ !?…by : J!MMY


ในบรรดาเอสยูวี ขนาดใหญ่ ที่ยังทำตลาดในเมืองไทยขณะนี้ เหลืออยู่ไม่กี่ราย และแต่ละราย ต่างก็พยายามดิ้นรน
เพื่อทำตัวเลขยอดขายให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในสภาพเศรษฐกิจ ที่มีทั้งกลุ่มที่มองว่าซบเซา และกลุ่มที่ทำมาค้าขึ้น
ในช่วงเวลาเดียวกัน อันเป็นสภาพการณ์ที่แปลกไปกว่าที่เคยเป็นมา ยิ่งบรรดาลูกค้าขาประจำมองว่า เอสยูวีเหล่านี้
มีขนาดตัวถังใหญ่โต กินน้ำมัน ผู้ผลิตรถยนต์ยิ่งจำเป็นต้องปรับตัว หาทางออกกันอย่างหนัก

และเครื่องยนต์ดีเซล คอมอนเรล จึงกลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาว ที่ช่วยกอบกู้ได้ภาพลักษณ์เรื่องของความประหยัด อันส่งผลต่อเนื่อง
ถึงยอดขาย ให้พอประคองตัวรอดจากปีที่แล้วและปีนี้ไปได้

วอลโวเอง ก็เป็นบริษัทหนึ่งที่ทำตลาด เอสยูวีในไทย ด้วยรุ่น XC90 มานานแล้ว และวันนี้ ถึงเวลาต้องกระตุ้นตลาดเสียที
ด้วยการนำขุมพลังดีเซล มาวางลงใน XC90 และเรียกชื่อรุ่นตามอย่างตลาดโลกว่า XC90 D5


วอลโว เปิดตัว XC90 ครั้งแรก ในตลาดโลก เมื่อปลายปี 2003 และส่งเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างฉับไว
ณ งานบางกอกอินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ กลางปี 2004 และได้รับยอดสั่งจองเป็นอย่างดี
ยอดขายทำได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับหวือหวา อันเป็นธรรมชาติของเอสยูวี ราคาแพงระดับนี้

ส่วนหนึ่งที่ขายดี เพราะตัวรถมีขนาดใหญ่โต และมีราคา 3 ล้านบาทปลายๆ เมื่อเทียบกับรถนำเข้าจากญี่ปุ่น
ที่มีขนาดตัวถังเล็กกว่า แต่มีราคาเท่ากัน หรือเมื่อเทียบกับ BMW X5 ที่มีราคากระโดดขึ้นไปถึง 9 ล้านบาทเศษๆ
เมื่อเจอโครงสร้างการคำนวนภาษีนำเข้า ตามที่เคยเป็นข่าวเมื่อหลายปีก่อน

อีกทั้งคุณภาพการประกอบของโรงงาน สวิดิชแอสเซมบลี ริมถนนบางนา-ตราด นั้น ประณีต และมีคุณภาพดีมากๆ
งานออกมาค่อนข้างเนี้ยบ เป็นส่วนใหญ่ นั่นทำให้มีลูกค้าบางส่วนตัดสินใจซื้ออย่างง่ายดาย

เมื่อ 2 ปีก่อน ผมได้มีโอกาสทดลองขับ รุ่น 3.0 ลิตร T6 ซึ่งถือเป็นรุ่นที่แรงที่สุด และไม่ว่าผมจะมองรถคันนี้ไว้อย่างไร
มันก็เป็นเช่นนั้นครบถ้วนไปเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านบวก หรือด้านลบ ทั้งเรื่องความใหญ่โต สวยงาม ที่เป็นจริง
ในมุมมองของผม ไปจนถึงความนั่งสบาย ความหรูหรา ที่ทำได้ดีสมกับความเป็นวอลโว แต่เมื่อแลกกับกาสรกินน้ำมัน
ดุเดือดเอาเรื่อง จนค่าน้ำมันผมบานปลายไปไม่น้อย ทำให้ผม ยังต้องสรุปเอาไว้เพียงว่า ไม่ว่าคุณจะมอง XC90 ไว้อย่างไร
ทั้งด้านดี หรือด้านลบ มันก็เป็นรถในแบบที่คุณมองทั้งด้านดีและลบอยู่อย่างนั้นนั่นละ


จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 2 ปีผ่านไป หลายสิ่งหลายอย่าง เปลี่ยนไป เช่นเดียวกัน วอลโว ก็ต้องปรับปรุงรถของตัวเอง
เพื่อไม่ให้คู่แข่งแย่งชิงความสดใหม่ ในสายตาของลูกค้าทั่วโลกไปแต่เพียงฝ่ายเดียว

จากเดิม ที่เคยมีขาย 2 รุ่น ทั้งรุ่น 2.5 ลิตร และ รุ่น 3.0 ลิตร T6 ไปๆมาๆ ก็ตัดรุ่น 2.5 ลิตร ออกไป
เหลือเพียงรุ่น T6 แล้วจู่ๆ ก็แทนที่ด้วยรุ่น 2.5 ลิตร อีกครั้ง ก่อนจะเริ่มแนะนำรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล สู่ตลาด
เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2007 ที่ผ่านมา หมาดๆ พร้อมกับแว่วมาว่า อีกหน่อยจะเหลือเฉพาะรุ่นดีเซล ทำตลาดอย่างเดียว
เพราะว่า ออพชันต่างๆ จะเหมือนกันกับรุ่น เบนซินไม่ผิดเพี้ยน แตกต่างกันแค่ขุมพลัง
และระบบส่งกำลังเท่านั้น


การนำเครื่องยนต์ ดีเซล เข้ามาทำตลาด
นอกเหนือจากเป็นแผนเดินเครื่องบุกตลาดรถยนต์หรูขุมพลังดีเซลอย่างเต็มตัวแล้ว

ยังเป็นช่องทางที่เหมาะสมในการแก้ไขข้อกล่าวหาที่ว่า รถคันโตๆ น่าจะกินน้ำมัน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นตลาดวอลโวในเมืองไทย
ในระหว่างรอทัพรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ทะยอยเปิดตัวในเมืองนอกแล้ว ตามเข้ามาประกอบในเมืองไทย ช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ทั้ง S80 V70 และ XC70 โฉมใหม่ ไปจนถึง C30 ใหม่


ความเปลี่ยนแปลงของ XC90 นั้น มีหลายจุด เริ่มจากภายนอก เปลี่ยนชุดกันชนหน้าใหม่ ให้มีพื้นทีซึ่งมีสีเดียวกับตัวถังเพิ่มขึ้น
แถมมีแผ่นรองใต้ท้องรถด้านหน้ามาให้
โดยเผื่อเอาไว้หวังป้องกันการกระทบกระทั่งที่เกิดจากการไต่ขึ้นหรือลงเนินลาดชัน

ชุดไฟหน้า แม้จะปรับปรุงแนวไฟเลี้ยวด้านข้าง แต่การวางตำแหน่งของหลอดไฟต่างๆยังคงเเหมือนเดิม
หากยกไฟสูง จานฉายจะกระดกขึ้นและลดกลับสู่สภาพปกติ


กระจกมองข้างถูกออกแบบให้เล็กลง แต่ยังคงให้การมองเห็นที่ดีอยู่ สำหรับการขับขี่ในเมือง เพิ่มไฟเลี้ยวมาให้ตามสมัยนิยม
คิ้วด้านข้าง และมือจับเปิดประตู พ่นสีเดียวกับตัวถัง ส่วนราวหลังคา เป็นแบบอะลูมีเนียม


สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า นักออกแบบของวอลโวเขาใส่ใจแม้รายละเอียดเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ยักมีใครสังเกตกัน
จะอยู่บนหลังคา ด้านหลัง ถ้าอยากมองเห็น ต้องหาทางปีนขึ้นไปดู จะพบแผ่นพลาสติกสีดำ รีไซเคิลได้ แปะเอาไว้
บนหลังคา จนเป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นเหล็กไปเสียแล้ว แผงพลาสติกนี้ ช่วยไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนบนหลังคา
ขณะแบกจักรยาน หรือสัมภาระอื่นใดไว้บนหลังคารถนั่นเอง


ส่วนชุดไฟท้าย ก็ปรับปรุงใหม่ ให้มองเห็นได้ชัดเจนในระยะไกล แต่สงสัยว่าจะเหมาะกับประเทศในแถบ
สแกนดิเนเวีย ที่เต็มไปด้วยหิมะขาวโพลนมากกว่า เพราะสำหรับกลางค่ำกลางคืน บนท้องถนนใน กทม. แล้ว
ไฟเบรกค่อนข้างจะสว่างจ้าไปหน่อย ไฟเลี้ยวและไฟถอยหลัง จากเดิมเป็นแบบวงรีซ้อนอยู่ในชุดไฟเบรก
ในรุ่นใหม่ ถูกจัดวางให้เป็นสัดส่วน มีระเบียบมากขึ้น

กันชนด้านหลัง ออกแบบขึ้นใหม่ ให้มีพื้นที่ซึ่งพ่นสีเดียวกับตัวรถมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับกันชนหน้า
เพิ่มขนาดของโลโก้ VOLVO ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม คราวนี้ วอลโวมีสีตัวถังให้เลือกเพียง 4 สีเท่านั้น
คือ สีเงิน ดำ เทาตะกั่ว และ ทอง


ที่สำคัญ ยังมีล้ออัลลอยลายใหม่ ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ สลักสัญลักษณ์ไว้ว่า XC บ่งบอกชัดเจนเลยว่า
ล้ออัลลอยรุ่นนี้ สำหรับ XC90 เท่านั้น ขนาด 8x18x49 นิ้ว พร้อมฝาครอบดุมล้อ ลวดลายโลโก้ใหม่ของวอลโว
สวมเข้ากับยาง Continentral Cross contact 235/60 W R18 ที่ส่งเสียงหอนได้หอนดีในหลายๆทางโค้ง
แต่บางโค้งก็เงียบเอาเสียดื้อๆ ซะอย่างงั้น ยิ่งโดยเฉพาะบนพื้นปูนจอดรถที่สยามพารากอน มันหอนดังสนั่นเสียยิ่งกว่าที่ยางทั่วไปเขาจะหอนดังกันบนพื้นปูนแบบนี้
ดังเสียจนผมอายชาวบ้านที่เขาหันมามองจนแทบจะแทรกแผ่นดินหนี เปล่าหรอกครับ รถไมได้แรงเลย ยางมันเสียดสีดังไปหน่อยแหละ



ทั้งหมดนี้ทำให้มิติตัวถัง ยาวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4,798 เป็น 4,807 มิลลิเมตร กว้างเพิ่มขึ้นจาก 1,898 เป็น 1,909 มิลลิเมตร
ความสูงลดลงจาก 1,784 เหลือ 1,781 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,857 มิลลิเมตร เท่าเดิม


ภายในห้องโดยสาร นอกจากจะมีให้เลือกได้ทั้งโทนสีดำ หรือสีเบจ แล้ว
ยังมีรายละเอียดการตกแต่งต่างจากรุ่น T6 เล็กน้อย หากดูผิวเผิน ก็คงไม่ได้สังเกตเห็น


เริ่มแรกอยู่ที่วัสดุหุ้มเบาะนั่ง ทั้ง 3 แถว เปลี่ยนมาใช้ หนังแท้แบบนุ่ม ที่เรียกว่า
Sovereign Hide ที่ให้สัมผัสที่นุ่มดีกว่ารุ่นก่อนนิดหน่อย ไม่ถึงกับเยอะมาก
แต่ส่วนใหญ่ ในอดีตที่ผ่านมา วัสดุในรถวอลโวนั้น ตอนออกจากโรงงานใหม่ๆ และใช้ไปไม่นานนัก
เรียกได้ว่าจัดอยู่ในเกณฑ์ดี ยกเว้นเสียแต่เมื่อใช้ไปนานๆ บางชิ้นจะเริ่มเสื่อมไปตามกาลเวลา
แต่ภาพรวมถือว่ายังรักษาสภาพได้ดีอยู่

เบาะนั่งคู่หน้าปรับระดับด้วยไฟฟ้า มีหน่วยความจำตำแหน่งเบาะนั่ง 3 ตำแหน่ง
บริเวณมือจับดึงประตูทั้ง 4 บาน ออกแบบขึ้นใหม่ ใช้พลาสติกสีเงิน


เบาะแถว 2 ยังคงเข้าออกสบายตามประสาเอสยูวีขนาดใหญ่ ด้านหลังของชุด คอนโซลกลาง มีที่วางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง และที่เขี่ยบุหรี่ มาให้

ช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารแถวกลาง ติดตั้งอยู่ที่เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ทั้งสองฝั่ง

ความสะดวกในการเข้าออกจากตัวรถนั้น
หากเป็นการเข้าออกเฉพาะแถวสอง ที่ไม่ต้องถึงขั้นปีนขึ้นรถอย่างที่เห็นจากภายนอก
ถือว่ายังสบายอยู่…….



…..แต่ถ้าจะเข้าสู่เบาะแถว 3 ต้องพับเบาะด้วยการยกคันโยกด้านข้าง รั้งเบาะขึ้นมาข้างหน้าอย่างที่เห็น เพื่อเข้าสู่เบาะแถว 3
ซึ่งอาจสร้างความลำบากเล็กน้อย ถ้าสมาชิกตัวน้อยของคุณ มิได้มีหุ่นขนาดน้อยๆ อย่างที่ลูกหลานชาวบ้านชาวช่องเขาเป็นกัน


เบาะนั่งแถวกลางแบ่งพับได้ 40 : 20 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระ นั่งสบาย แม้พนักพิงจะแข็งนิดๆก็ตาม
แต่ยังถือว่า ไม่แข็งมากเท่าไหร่ ผิดกับคู่แข่งอย่าง เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต ที่แข็งราวกับเสาหิน สโตน เฮนซ์ ในอังกฤษ
ไม่แตกต่างอะไรกับโตโยต้า ยาริส เลยด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม เบาะนั่งตอนกลางนั้น มีข้อเสียคือ ตัวพนักพิง
เมื่อพับลงมาแล้วไม่สามารถทำตัวเป็นที่วางแขนได้อย่างที่รถคันอื่นเขาทำได้


วอลโวเหมือนจะรู้ว่าตนเองด้อยกว่าเขาในเรื่องนี้ เลยเสริมจุดเด่นมาให้ ชนิดที่คู่แข่งทั่วไปเขาไม่มีให้กันง่ายๆ
นั่นคือเบาะรองนั่งตรงกลางยังสามารถยกขึ้นเป็นเบาะรองนั่งนิรภัยสำหรับเด็กวัยซน อายุประมาณ 4-8 ปีได้


ส่วนเบาะแถว 3 นั้น ตัวระดับผู้ใหญ่ การก้าวขึ้นไปนั่ง จะลำบากลำบนสักหน่อย
ไม่ค่อยสบายเท่ากับแลนด์โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี หรือ แม้แต่ ฟอร์ด เอเวอร์เรสต์ ซึ่งมีทางขึ้นลงที่สะดวกกว่า
เนื่องจาก ทั้งคู่ ออกแบบธรณีประตู และบานประตู รวมทั้งรูปลักษณ์ภายนอกเป็นกรอบประตูสี่เหลี่ยม
แต่ถ้าเป็นเด็กวัยอยากรู้อยากเห็น ชนิดที่ต้องมี ดูเม็กซ์ 3 พลัส หรือ อะแล็คต้า เอ็นเอฟ คอยอุดปากเอาไว้ไม่ให้ส่งเสียงร้องแล้วละก็
เบาะขนาดนี้ พื้นที่ เหลือๆ เลยครับ ยังพอจะนั่งได้แน่ๆ


การปรับเบาะให้เลื่อนพับเก็บนั้น มีหลายขั้นตอน ต้องดึงเบาะรองนั่งเลื่อนเข้าไปเก็บใต้พนักพิงดังในภาพก่อน
จากนั้น ดึงหมอนพักศีรษะให้พับลง แล้วจึงดึงคันโยกที่พนักพิง ให้พับลงมา ฟังดูแล้วมึนไหมครับ?

แต่เพียงเท่านี้ก็จะได้พื้นที่วางของ และยังมีพื้นที่นั่งโดยสารได้ 5 ที่นั่ง (หากไม่พับเบาะแถวกลางเลยแม้แต่ชิ้นเดียว)
หรือ 4 ที่นั่ง (หากพับเบาะแถวกลาง หรือ ซ้าย หรือขวา ชิ้นใดชิ้นหนึ่งลงมา)


และเมื่อพับเบาะแถวกลางลง ทั้งหมด โดยพับพนักศีรษะลงมาก่อน แล้วจึงพับพนักพิงหลังลงไปจนเรียบร้อย….


ก็จะได้พื้นห้องเก็บของที่แบนราบ เพียงพอสำหรับสัมภาระขนาดใหญ่

ฝากระโปรงท้าย ยังคงแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชิ้นบน เปิดแบบยกขึ้น ส่วนชิ้นล่าง ไว้เปิดเพื่อการขนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมากกว่าปกติ
แถมยังมีแผ่นรองพื้นกันกระแทก เสริมมาให้เป็นแผ่นเชื่อมระหว่างฝากระโปรงชิ้นล่าง และพื้นห้องเก็บของให้ต่อเนื่องกันด้วย

แต่ถ้าไม่ต้องการให้เห็นสิ่งของสัมภาระ ขณะมีผู้โดยสาร 5 คน
ก็มีชุดแผงปิดบังสัมภาระมาให้ การเคลื่อนย้าย หรือติดตั้งจะมีสลักล็อก ให้ยกอยู่บริเวณปลายสุดของทั้งฝั่งซ้ายและขวา


นอกจากนี้ ยังมีฝาพลาสติก ที่พื้นห้องเก็บของ เปิดขึ้นมา ตั้งขึ้นได้
มีแอ่งขนาดเล็กสำหรับซ่อนสิ่งของบางอย่างที่ต้องการ

ช่องแอร์ ไม่ได้มีเฉพาะ ผู้โดยสารแถวกลางเท่านั้น
หากแต่ยังมีช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารแถว 3 อีกด้วย

ตำแหน่งติดตั้ง เหมือนกัน นั่นคือ ที่เสาหลังคา B-Pillar & C-Pillar


ชุดแผงหน้าปัด ยังคงเหมือนเดิม จากรุ่นก่อน เพียงแต่ว่า มีการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ถ้าภายในเป็นสีดำ Off Black อยู่แล้ว ทุกอย่างก็เหมือนเดิม แต่ถ้าเป็นภายในสีเบจ sandstone
ชิ้นบน จะเป็นสีกาแฟ Espresso เพื่อลดภาพสะท้อนจากแดดบนกระจกบังลมให้น้อยที่สุด


ชุดมาตรวัดเปลี่ยนใหม่ มาเป็นแบบ "Watch Dial" ยกชุดมาจาก S60R / S80 Executive
คล้ายกับหน้าปัดนาฬิกาข้อมือแบบโครโนกราฟ แทนที่จะเรืองแสงจากด้านไหน แต่กลับใช้หลอดไฟดวงเล็กๆ 2 ดวง ติดตั้งซ่อนไว้ด้านบนของกรอบเรือนไมล์
ส่องไปยังวงแหวนสีเงิน สะท้อนให้เห็นอย่างสวยงามยามค่ำคืน


รวมทั้งยังเพิ่มการประดับตกแต่งด้วยคิ้วโครเมียม ทั้งบนพวงมาลัย สวิชต์ระบบปรับอากาศ แยกฝั่ง ซ้าย-ขวา
พร้อมสวิชต์ เปิด-ปิดการทำงานของชุดแอร์ สำหรับเบาะแถวกลางและแถวหลังสุด
สวิชต์เปิด-ปิดระบบ เสียงเตือน ของเซ็นเซอร์ บริเวณกันชนหลัง ที่ช่วยกะระยะ ขณะถอยหลังเข้าจอด Park Assist
สวิชต์ไฟฟ้า เปิด-ปิดระบบป้องกันเด็กมือซน เปิดประตูเล่นจากภายในรถ ขณะรถกำลังแล่น
สวิชต์ พับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า ซึ่งแทนที่จะอยู่ในบริเวณเดียวกับสวิชต์ปรับกระจกมองข้าง แต่กลับมาอยู่ในตำแหน่งนี้แทน
และช่องต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าขนาด 12 โวลต์ ทั้งหมดนี้ ติดตั้งอยู่ที่ด้านล่างของแผงควบคุมกลาง

ส่วนด้านบน ชุดเครื่องเสียง เปลี่ยนมาเป็นแบบใหม่ 8 ลำโพง 4×40 วัตต์ มีหน้าจอแสดงการทำงานใหม่ สามารถปรับระดับเสียงได้ละเอียด
ถึงขนาดว่า เลือกปรับได้ ทั้ง อีควอไลเซอร์แถวหน้า หรือแถวหลัง พร้อมซีดี เชนเจอร์ 6 แผ่นในตัว เล่นแผ่น MP3 ได้
ให้คุณภาพเสียงที่จัดอยู่ในเกณฑ์ดีพอ ที่ผู้ขับขี่จะไม่ต้องไปเปลี่ยนชุดเครื่องเสียงใหม่เอง อาจจะด้อยที่เสียงเบสบ้าง
แต่นั่นก็เพียงนิดเดียวเท่านั้น ส่วนสวิชต์ที่เห็น แม้จะวางตำแหน่งตัวเลขเหมือนสวิชต์โทรศัพท์ติดรถยนต์ ที่เคยมี
ในรุ่นเดิม แต่รุ่นใหม่นี้ วอลโวถอดระบบโทรศัพท์พร้อมระบบ Small Talk ที่พนักศีรษะฝั่งผู้ขับขี่ รวมทั้งยกชุดหูฟังโทรศัพท์
บนคอนโซลกลาง ออกไปแล้ว


แต่อย่างน้อยก็ยังมีชุดควบคุมเครื่องเสียง ที่เสาหลังคาทั้งสองฝั่ง พร้อมช่องเสียบหูฟัง
เอาใจผู้โดยสารแถวกลาง ที่อยากเปลี่ยนแผ่น เปลี่ยนเพลง แต่เกรงใจคนขับรถ
กลัวจะโดนพลขับเขม่นเอาระหว่างเดินทาง



รวมทั้งยังมีมีสวิชต์ ควบคุมการทำงานของเครื่องเสียง ทั้งบนพวงมาลัย ติดตั้งที่ฝั่งขวา
(ส่วนฝั่งซ้าย เป็นสวิชต์ ระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control)

ส่วน ก้านไฟเลี้ยว ปรับปรุงใหม่ คล้ายกับของ บีเอ็มดับเบิลยู คือ หากต้องการเปลี่ยนเลน เพื่อเร่งแซง
แค่กด หรือยกขึ้นเบาๆ ไม่ต้องให้มีเสียง "คลิก" ไฟเลี้ยว ก็จะกระพริบขึ้น 3 ครั้งก่อนจะดับไปเอง
พร้อมปุ่ม INFO และ READ กดอ่านและเปลี่ยนหน้าจอข้อมูลแสดงผลบนชุดมาตรวัด ซึ่งแสดงผลได้ทั้งตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ระยะทางที่น้ำมันในถังที่เหลือ จะแล่นต่อไปได้โดยประมาณ ไปจนถึงแจ้งเตือนการเปิด-ปิดระบบควบคุมการทรงตัว DSTC
และ แจ้งเตือนประตูปิดไม่สนิท อันเป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานที่มีอยู่แล้วในวอลโวรุ่นใหม่ๆ พักหลังมานี้


สวิชต์เปิดปิดไฟหน้า พร้อมสวิต์เปิด-ปิด ไฟตัดหมอก ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง รวมทั้งชุดสวิชต์เปิดปิดหน้าต่างไฟฟ้า
และกุญแจรีโมทคอนโทรล อิมโมบิไลเซอร์ มีมาให้ไม่ต่างจากวอลโวรุ่นอื่นๆ
จะไม่คุ้นชินอยู่บ้างก็คงจะเป็น เบรกมือ ที่ย้ายมาเป็นเบรกจอด ที่ต้องเหยียบแป้นลงไป พอจะถอน ต้องดึงคันโยกที่เห็นนี้

เสียงตอนที่แป้นเบรกจอดดีดตัวกลับมานั้น ค่อนข้างรุนแรง จนคิดว่า เด็กทารกที่หลับอยู่ อาจร้องไห้จ้าขึ้นมาได้โดยง่าย


ชุดคอนโซลกลาง ถูกปรับปรุงใหม่ หูฟังโทรศัพท์จากรุ่นเดิมที่เคยมี ถูกยกออกไป ตอนนี้จึงเหลือแค่ที่วางแก้วน้ำ และช่องใส่ของเล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนกล่องใส่ ซีดี พร้อมที่พักแขนในตัว ยังอยู่ และยังมี 2 ชั้น เหมือนเดิม


มาดูทัศนวิสัย จากตำแหน่งคนขับกันบ้าง

สี่แยกนี้ คือสี่แยกเกียกกายครับ
เหมาะที่เราจะใช้สำรวจตรวจสอบดูว่า ทัศนวิสัยการมองเห็น เป็นอย่างไร
และตำแหน่งเบาะนั่งนั้น อยู่สูงขนาดไหน


กระจกด้านข้างนั้น แม้ว่า จะมีขนาดใหญ่ และมองเห็นได้ชัดเจนดีตามสไตล์วอลโว

แต่นั้น เป็นเพียงเฉพาะช่วงเวลาแดดออก


เพราะเมื่อใดที่ฝนตก ผมยังจำเป็นต้องใช้วิธีดั้งเดิม
คือเปิดหน้าต่าง ยื่นกระดาษทิชชู ออกไปเช็ดให้มันหายมัว

ถ้ามีระบบไล่ฝ้าที่กระจกมองข้างมาด้วย จะดีกว่านี้

ยิ่งกระจกมองข้าง มีการออกแบบให้ มีการหักเหเล็กน้อย เพื่อให้มองเห็นรถด้านข้างในอีกมิติหนึ่งได้ด้วยนั้น

ผมว่า ควรจะมีครับ สำหรับรถรุ่นนี้

ลองดูจากภาพที่ผมถ่ายมาก็แล้วกันนะครับ
ดูเฉพาะสิ่งที่อยู่ในกระจกมองข้างเพียงอย่างเดียว
และในวันที่ถ่ายรูปนี้ คือวันที่พายุฝนลงกระหน่ำอย่างหนักในเขต กทม.


ส่วนฝั่งตรงข้ามนั้น กระจกมองข้าง ยังทำหน้าที่ได้ไม่ถึงกับดีนัก

แต่ทัศนวิสัย ก็ยังไม่ถูกเสาหลังคาคู่หน้าบดบังไปอย่างที่คิด


ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น

โปรดสังเกตโตโยต้า ยาริส สีดำในภาพ

ถือได้ว่าทัศนวิสัยโปร่งกว่า เอสยูวีหลายๆคันที่เคยผ่านมือผมมาเลยทีเดียว

และจะยิ่งโปร่งตามากขึ้น ถ้าคุณพับพนักศีีรษะเจ้ากรรมนั่นลงไปให้พ้นหูพ้นตา


อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่ติดตั้งมาให้นั้น

มีรายการค่อนข้างยาวเฟื้อย

แต่ขอเลือกเฉพาะชิ้นสำคัญๆ มาให้ชมกัน

วอลโว ยังคงออกแบบโครงสร้างตัีวถังด้านข้างให้มีการกระจายแรงปะทะ
ในแบบ SIPS
โดยมี ถังลมนิรภัยมาให้ 6 ใบ
ประกอบด้วย คู่หน้า ถุงลมนิรภัยด้านข้าง SIPS Bag 2 ใบ
ม่านลมนิรภัยด้านข้าง IC อีก 2 ใบ
มีระบบป้องกันการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอและหลังที่เกิดจากการสะบัดของศีรษะ
WHIPS

เข็มขัดนิรภัยเป็นแบบ 3 จุด ทั้ง 7 ที่นั่ง โดยเฉพาะคู่หน้าเป็นแบบ ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pretensioners

มีระบบควบคุมการทรงตัวเมื่อเกิดอาการโคลง RSC
รวมทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพ และการทรงตัว DSTC เหมือนรุ่นเดิม

กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ พร้อมไฟเตือนรัดเข็มขัดนิรภัย
SEAT Belt

เซ็นเซอร์ใบปัดน้ำฝนหน้า และมีใบปัดน้ำฝนหลังมาให้ตามมาตรฐาน

ฯลฯ


ส่วนการเข้าออกจากตำแหน่งคนขับและผู้โดยสารนั้น
แม้ความสูงของตัวรถจากภายนอกจะหลอกสายตาคุณว่า
น่าจะสูงใช่เล่น
แต่พอเอาเข้าจริง ไม่ต้องปีนตะกายเป็นสไปเดอร์แมนเพื่อขึ้นรถแต่อย่างใด
แค่หันก้น หย่อนลงไปในเบาะนั่ง เท่านั้นก็เรียบร้อย


***รายละเอียดทางวิศวกรรม และผลการทดลองขับ***

ขุมพลังของรุ่น D5 ถ้าดูข้อมูลทางเทคนิคเผินๆ อาจคิดไปว่าเหมือนเป็นการยกมาจาก V70 D5 มาใส่กันดื้อๆ ง่ายๆ อย่างนี้เลย

แต่ความจริงแล้ว "ไม่ใช่!" เพราะว่า ขุมพลังนี้ เป็นบล็อกเดียวกัน
แต่เป็นการปรับปรุงรายละเอียดบางอย่างใหม่ ที่ต่างจาก ใน V70D5 ในหลายๆด้าน

แม้จะอยู่บนพื้นฐาน เครื่องยนต์ดีเซล 5 สูบ DOHC 20 วาล์ว 2,401 ซีซี ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบคอมมอนเรล ปั้มแรงดันสูง เหมือนกันก็ตาม
แต่ มีการปรับปรุงรายละเอียดหลายรายการ

ทั้งการเปลี่ยน มาใช้หัวฉีดแบบใหม่ ที่มีจำนวน รูฉีดต่อ 1 หัวฉีด มากถึง 7 รู (จากเดิม 5 รู) ทำให้เชื้อเพลิงฉีดจ่ายได้เป็นละอองฝอยมากขึ้น
ฉีดได้ละเอียดกว่า ช่วยให้การเผาไหม้ดีขึ้น ท่อไอดี และไอเสียทั้งหมดถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น และโค้งมนมากขึ้น เพื่อให้อากาศไหลเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้ดีขึ้น
อีกทั้งยังช่วยระบายไอเสียออกไปได้รวดเร็วขึ้น ควบคุมด้วยระบบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า ที่พัฒนาให้ตอบสนองรวดเร็ว ทันใจ มีการขยายห้องเผาไหม้ให้ใหญ่ขึ้น
มีความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก 81x 93.2 มิลลิเมตร ลดกำลังอัดลง เหลือ 17.3 : 1 ควบคุมมลพิษโดย ระบบ EGR (Exhaust Gas Recirculation)
พร้อมระบบแคตาไลติก คอนเวอร์เตอร์ ที่มีขนาดใหญ่กว่ารุ่นก่อน รวมทั้งยังมีระบบเครื่องกรองเขม่าไอเสีย CDPF (Coated Diesel Particulate Filter)
ช่วยลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศลงจากเดิม พร้อม เทอร์โบแรงดันต่ำ LPT (Light Pressure Turbo) รุ่นใหม่ ควบคุมด้วยอีเล็กโทรนิกส์

กำลังสูงสุด 185 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.72 กก.-ม.) ที่ 2,000-2,750 รอบ/นาที


เชื่อมด้วย เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อม Mode บวกลบ
และมี Mode W สำหรับออกตัวบนพื้นลื่นๆ ด้วยเกียร์ 3
วอลโว เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกในเมืองไทย ที่เชื่อม
เครืองยนต์ดีเซล เทอร์โบ เข้ากับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ

และติดตั้งเข้ากับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ All-Wheel-Drive
Instant Traction ซึ่งใช้แรงดันไฮโดรลิกช่วยในการส่งกำลัง
จากเครื่องยนต์ ไปยังล้อที่เกาะถนนดีที่สุด เพื่อลดการหมุนฟรีของล้อ

ขณะแล่นทางตรงธรรมดา ล้อคู่หน้าจะได้รับแรงบิดจากชุดเกียร์และเครื่องยนต์
มากถึง 95% แต่เมื่อเร่งเครื่องกระทันหัน หรือเข้าโค้งแคบๆ
แรงบิดจะถูกถ่ายเทไปยังล้อหลังตามความจำเป็น ในระดับ 50%
เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากโค้ง เสริมด้วยระบบ
ควบคุมเสถียรภาพ DSTC (Dynamic Stability and Traction Control)


ตอนแรกผมก็งงอยู่ว่า
เครื่องเล็กแค่นี้ จะลากตัวถังที่มีน้ำหนักมากขนาดนี้ได้อย่างไร

แต่พอเอาเข้าจริง

เรายังคงทดลอง ด้วยมาตรฐานเดิม
ปล่อยเกียร์ไว้ในตำแหน่ง D อย่างเดียว ไม่เข้าโหมดบวกลบ
คือ นั่ง 2 คน เปิดแอร์ และขับตอนกลางคืน เปิดไฟหน้า
เปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆให้ทำงาน
เท่าที่คนขับรถทั่วไปพึงจะเปิดใช้กัน
ยกเว้นวิทยุ เพราะเราต้องใช้สมาธิกันมาก

ตัวเลขที่ทำออกมา ไม่เลวครับ

ผมยังคงมีความเห็นเหมือนเช่นเดิมที่เคยให้เอาไว้ว่า ตั้งแต่ขับรถวอลโวมา

ผมชอบเครื่องยนต์ ดีเซล ที่เชื่อมกับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะชุดนี้มากที่สุด
เพราะนอกจากจะให้อัตราเร่งที่ดีแล้ว ยังให้ความประหยัดเป็นเยี่ยม

และยิ่งสำหรับรถที่มีน้ำหนักตัวเปล่าๆ ที่หนักราวๆ 2,117 กิโลกรัม อย่างนี้ด้วยแล้ว
แรงดึงในขณะออกตัว และในช่วงของการไต่ความเร็วที่เกียร์ 2 ยังคงน่าประทับใจอยู่เช่นเดิม

การตอบสนองของคันเร่งไฟฟ้าในวอลโว ก็ยังคงเป็นคันเร่งไฟฟ้า ในแบบที่รถยนต์จากประเทศผู้ซึ่งเจริญแล้วในฝั่งยุโรป
เขาเป็นกัน กล่าวคือตอบสนองได้ไว แต่ยังคงเหลืออาการ Lack นิดเดียว ไม่นานเหมือนกับลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้าของโตโยต้า
ทั้งคัมรี วีออสและยาริส ที่เมื่อกดคันเร่งจนสุดแล้ว เจ้าตัวเค้าจะขอคิดก่อนสัก 1 วินาทีว่าเค้าควรจะทำตัวอย่างไรต่อไปกับชีวิตเค้า
จากนั้นถึงจะพารถพุ่งโจนทะยานออกไป อันเป็นบุคลิกของลิ้นเร่งไฟฟ้าสที่ตอบสนองช้าเกินการ และวิศวกรญี่ปุ่นเองดูเหมือนยังไม่ยอมแก้ซะที

ระบบกันสะเทือนหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบ มัลติลิงค์ ไม่ได้แตกต่างอะไรจากรุ่นอื่นๆ ในตัวถัง XC90 นี้แต่อย่างใด
คือยังคงให้ความนุ่มนวล แต่หนักแน่นและมั่นใจได้ในการเดินทาง ไม่ว่าจะบนทางเรียบ หรือทางไม่เรียบ ยิ่งโดยเฉพาะช่วงโค้งตัว S
บริเวณทางลงทางด่วน บนถนนพระราม 6 ที่ค่อนข้างจะอันตรายอยู่ไม่น้อย รถที่ผมเคยใช้ความเร็วลงจากทางด่วนช่วงนี้ ได้เร็วที่สุด
มีอยู่ 2-3 คัน ที่ความเร็วระดับเกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั่นคือ ซาบ 9-3 แอโร บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 ใหม่
มินิ คูเปอร์ และ คูเปอร์ เอส รวมทั้งรถบางคันที่แตะลีมิท 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เช่น มาสด้า 3 ฮอนด้า ซีวิค ฯลฯ

โดยปกติแล้ว กับรถประเภทเอสยูวีนั้น ผมจะใช้ความเร็วประมาณ 70 -75 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในโค้งนี้ และต้องเหยียบเบรกลึกๆ ก่อนหมดโค้งซึ่งเป็นสัญญาณไฟจราจร
XC90 D5 สามารถพาผมเข้าโค้ง 2 จังหวะนี้ ด้วยความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ซึ่งถือว่าสูงมากจนเข้าใกล้ขีดจำกัดของตัวรถคันนี้ ได้อย่างสบายๆ และไม่มีปัญหาอะไร
แต่ถ้าได้ยางที่มีการยึดเกาะถนนที่ดีกว่านี้ ผมว่า อาจทะได้ดียิ่งกว่านี้สักเล็กน้อย แต่คงไม่มีทางเกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปแน่ๆ
สำหรับรถที่มีจุดศูนย์ถ่วงค่อนข้างสูงอย่างนี้

ระบบควบคุมการทรงตัวเมื่อตัวรถเกิดอาการโคลง RSC (Roll Stability Control) จับอาการเมื่อรถมีการโคลงตัวมากกว่าปกติ
ระบบจะพยายามดึงรถให้กลับสู่เสถียรภาพโดยเร็ว ทำงานร่วมกับระบบควบคุมการทรงตัวเมื่อลื่นไถล DSTC (Dynamic Stability and Traction Control)
ที่จะตัดการส่งจ่ายเชื้อเพลิง และเพิ่มแรงเบรกไปยังล้อที่จำเป็นต้องใช้ในภาวะคับขัน เช่นเข้าโค้งด้วยความเร็วมากเกินไปสักหน่อย คล้ายๆกันกับระบบ VSC
ในโตโยต้า หรือ ESP ของบ็อช นั่นละครับ

ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อม ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD และระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน
EBA (Electronics Break Assist) จานเบรกหน้ามีขนาด 13.2 นิ้ว ส่วนจานหลังมีขนาด 12.1 นิ้ว
ตอบสนองหนักแน่น แต่นุ่มนวล นุ่มเท้า และมั่นใจได้ดีเช่นเคย
การจับตัวของแป้นเบรก ยังคงเหมือนกับรุ่นก่อน คือค่อยๆจับตัวไปตามแรงเหยียบที่แป้นเบรก
กดเบา แป้นเบรกก็จับตัวพองาม พอกดลึกๆ ก็จับตัวแน่นขึ้น
ตามสไตล์รถยุโรปที่ดี ที่พึงเป็นกัน


แต่ประเด็นที่ผมเห็นควรว่าจะต้องแก้ไข มีอยู่หลักๆ 2 ประเด็น

เรื่องแรกก็คงจะเป็นเรื่องของพวงมาลัย

จริงอยูว่า ในรุ่น T6 ผมเคยเขียนเอาไว้ในบทความรีวิวเมื่อ 2 ปีก่อนว่า
พวงมาลัยเพาเวอร์ ปรับความหนืดได้อัตโนมัติ ตามความเร็วรถ
มีน้ำหนักเบามากๆ เมื่อใช้ความเร็วต่ำ แต่เมื่อใช้ความเร็วระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป
พวงมาลัยจะหนืดขึ้น และให้ความมั่นใจในย่านความเร็วสูงได้ดี นิ่งตามสไตล์วอลโว

แต่ในรุ่น ดีเซล นั้น แม้จะเป็นชุดพวงมาลัยชุดเดียวกัน ทว่า ความรู้สึกที่ได้รับ มันช่างแตกต่างกัน
อยู่ไม่น้อย เพราะในย่านความเร็วต่ำ ในเมือง พวงมาลัยมีน้ำหนักเบามากๆ เอาใจสุภาพสตรี ที่ต้องการความคล่องตัว
รวมทั้ง รองรับการปีนป่ายเส้นทางทุระกันดาน เพื่อจะลดการดีดกลับของพวงมาลัยเวลาปีนป่าย ก็ตาม
ทว่าในบางจังหวะ ถ้าหักเลี้ยวจนสุดแล้ว พวงมาลัยจะไม่คืน แต่ถ้าหักเลี้ยวแบบไม่สุด พวงมาลัยจะคืนตัวอย่างช้าๆ

แต่เ เมื่อใช้ความเร็วสูงบนทางด่วน การตอบสนองของพวงมาลัยนั้น ผมว่า ยังไม่ถึงกับให้ความมั่นใจเท่าที่ควร
ยิ่งระยะฟรีน้อย เมื่อเจอกับความหนืดที่ไม่มากพอแล้ว ยิ่งทำให้ต้องใช้สมาธิในการถือพวงมาลัยให้นิ่งๆ มากขึ้นกว่าวอลโวคันอื่นๆ
ที่ผมเคยลองขับในช่วง 2-3 ปีทื่ผ่านมา ซึ่งบอกกันตรงนี้เลยว่า ประเด็นนี้คือ 1 ใน 2 จุดหลักที่ผมยังไม่ประทับใจ และคิดเห็นต่างไปจากรุ่น T6

เรื่องที่ 2 เห็นจะได้แก่เรื่องของการสั่นสะเทือนขณะเดินเบา

จริงอยู่ว่า เครื่องยนต์ดีเซลนั้น ปกติแล้วใช้กำลังอัดมาก และมีขนาดหนักมาก แตการจะทำให้เครื่องยนต์ดีเซล นุ่มและเงียบกว่าคู่แข่งได้นั้น
ยังถือเป็นเรื่องยากอยู่สำหรับผู้ผลิตหลายราย และสำหรับวอลโวแล้ว ประเด็นนี้ ก็ยังคงเป็นอย่างนั้นอยู่

แม้จะให้สมรรถนะที่ดี และประหยัดน้ำมันแค่ไหนก็ตาม แต่เครื่องยนต์ดีเซลของวอลโวนั้น
มีเสียงจากการทำงานในรอบเดินเบา ที่ดังเอามากๆ แถมยังมีแรงสั่นสะเทือนเข้ามายังพวงมาลัย จนสั่นในระดับพอมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า


***การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง***

เรายังคงทดลองตามมาตรฐานเดิมครับ

สำหรับรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
ผมจะเปลี่ยนจากการเติมน้ำมันที่ปั้มของเอสโซ่
กลับไปเติมน้ำมันที่ปั้มบางจาก
ซึ่งเป็นปั้มขาประจำ บนถนนพระราม 6

เติมแค่หัวจ่ายตัด ก็เพียงพอแล้ว

จากนั้น ขึ้นทางด่วน พระราม 6
ไปยังสุดปลายทางด่วนสายเชียงราก
แล้วเลี้ยวกลับ ย้อนมาขึ้นทางด่วนใหม่อีกรอบ
ก่อนจะมาลงยัง ทางลงพระราม 6 โค้งรูปตัวเอส
แล้วก็ ย้อนกลับไปเติมน้ำมันที่ปั้มบางจากเช่นเดิม ณ หัวจ่ายเดิม เท่านั้น

มีสมาชิกใหม่ มาร่วมทดลองกับเราด้วยครับ
น้องโจ๊ก ซึ่งเป็นสมาชิกจาก pantip.com ห้องรัชดา เช่นกัน
เรานั่งกันไป 2 คน เปิดแอร์ และใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดระบบควบคุมความเร็วคงที่ อย่างต่อเนื่อง
ประมาณรถบนทางด่วนวันนั้น ไม่เยอะ และเราใช้ความเร็วกันได้
อย่างสม่ำเสมอ

และนี่คือ ผลการทดลองที่ทำได้ครับ

เปรียบเทียบกับ รุ่นเบนซิน 3.0 ลิตรตัวเดิม


เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้ว ค่อนข้างตกใจเหมือนกัน

ที่น่าตกใจคือ XC90 D5 ประหยัดพอกันกับ V70 D5 ซึ่งมีขนาดตัวถัง
เล็กกว่า ต้านลมน้อยกว่า แถมยังใช้เครื่องยนต์บล็อกเดียวกันอีกด้วย

อีกทั้งตลอดทริปนี้ ผมขับใช้งานในเมือง รวมทั้งเดินทางบนถนนวงแหวน
จนถึงวันคืนรถ เบ็ดเสร็จแล้ว ระยะทางทั้งหมดประมาณ 460-480 กิโลเมตร
ผมจำตัวเลขได้ไม่แน่ชัดว่าเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆคือ
ผมเสียค่าใช้จ่ายในค่าน้ำมัน เพื่อการทดลองเจ้า XC90 D5 คันนี้
ไม่ถึง 300 บาท นั่นคือ แค่เติมน้ำมันครั้งแรก และครั้งหลัง ในวันทดลองเท่านั้น
จากนั้น ไม่ต้องเติมอีกเลย จนกระทั่งคืนรถ…!! และจากการคำนวน
ของคอมพิวเตอร์ในรถ บอกผมว่า น้ำมันที่หมิ่นเหม่กับเข็ม ขีด E ก็ยังเหลือ
พอให้ขับต่อได้อีกประมาณ 30-40 กิโลเมตรเนี่ยสิ!


และยิ่งดีเซลมีราคา ประมาณนี้

ผมว่า ภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าน้ำมัน ในเดือนนี้
ก็ลดลงได้เยอะเหมือนกันแหะ


***สรุป***
SUV คันใหญ่ ที่เป็นทุกสิ่ง อย่างที่คุณคิด เสริมความประหยัดมากกว่าที่คิด แต่พวงมาลัย เบาไปสักนิด

ถ้าคุณยังเคยอ่านบทความรีวิว XC90 T6 ที่ผมเคยทำเอาไว้เมื่อ 2 ปีก่อน
ครั้งนั้น ผมบอกว่า SUV คันนี้ ไม่ว่าผมจะคิดกับมันทั้งในแง่บวก และในบางเรื่องที่เป็นแง่ลบ มันก็เป็นไปตามที่ผมคิดไว้เช่นนั้นจริงๆ
ไม่ว่าจะเป็นความใหญ่โตโอ่โถงของห้องโดยสาร ความนุ่มสบาย และความปลอดภัยในระดับมาตรฐานของวอลโว
ไปจนถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ดุดัน จนน่ากลัวมากๆ ทำเอากระเป๋าฉีกไปพักนึงเลยทีเดียว

แต่มาวันนี้ ด้วยขุมพลังใหม่ ดีเซล คอมมอนเรล พร้อมเทอร์โบแรงดันต่ำ
แรงไม่หนีกันมากนัก ด้อยกว่ากันนิดนึง ว่ากันตามตัวเลข
แ่ต่ประหยัดได้น่าตกใจมาก
เพราะเทียบตัวเลขได้พอๆกับ นิสสัน ทีด้า 1.6 ลิตร เลยด้วยซ้ำ
ประหยัดกว่า วีออส ยาริส แจ้ส ซิตี้ เอวิโอ เสียอีก
(ถ้าเราดูกันแต่ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง ที่บริโภคกัน เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้มองว่ามันเป็นน้ำมันประเภทใด)
ช่วยลบจุดอ่อนที่สำคัญของเจ้ายักษ์รุ่นนี้ ลงไปได้อย่างชัดเจน

และยิ่งมีอุปกรณ์สาธารณูปโภคในห้องโดยสาร ที่ไม่ต่างอะไรจากรุ่นเบนซินแล้ว
คุณจะยอมจ่ายแพงกว่า จาก 3,745,000 บาท ในรุ่นเบนซิน 2.5 ลิตร มาเป็น 3,800,000 บาท ในรุ่นดีเซลอีกไหมละ?
ถ้าผมจะบอกว่าคุณจะได้ความประหยัดเพิ่มขึ้น ถึง 1 เท่าตัวเลยทีเดียว เงินส่วนต่างนั้น น่าคิดไม่ใช่เล่นเลย


แต่อย่างไรก็ตาม XC90 D5 ก็ยังเป็นได้แค่ SUV ที่เกือบจะสมบูรณ์แบบ อยู่ดี
เพราะยังขาดอีก 3 ประเด็นสำคัญ ซึ่งจะช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์แบบมากขึ้นกว่านี้

นั่นคือ เสียงและการสั่นสะเทือนของเรื่องยนต์ขณะรอบเดินเบา ที่มากไปสักหน่อย
รวมทั้งน้ำหนักของพวงมาลัย ที่เบา เอาใจสุภาพสตรี ในความเร็วต่ำ เสียจนแทบไม่ให้ความมั่นใจในการขับขี่บนความเร็วเดินทางจนถึงความเร็วสูง

และประเด็นสุดท้าย คือเรื่อง การบริการหลังการขาย


ต้องบอกก่อนว่า ทุกครั้งที่ขึ้นขับรถยนต์จากวอลโว ผมรู้สึกดีๆ

ทั้งดีเพราะตัวรถ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผมได้ครบถ้วนมากที่สุดยี่ห้อหนึ่ง
มีความปลอดภัย และสบายใจแทบทุกครั้งที่ขึ้นขับ ไปจนถึงการออกแบบ ในสไตล์ สแกนดิเนเวีย ดีไซน์
ที่ใส่ใจกับผู้ซื้อแทบจะละเอียดละออไปทุกซอกรูขุมขนของตัวรถ

และเช่นกัน ผมยังรู้สึกดีที่ว่า ไม่ได้จ่ายค่าซ่อมบำรุงด้วยตัวเอง (ฮา)
มิเช่นนั้น คาดว่า คงจะเบือนหน้าหนีจากวอลโวไปแล้ว เพราะราคาอะไหล่ จากวันแรกที่ลองขับ จนถึงวันนี้ ที่ผ่านไป ก็ยังแพงถึงใจเหมือนเดิม

แม้ว่า เดี๋ยวนี้ ข้อมูลใหม่ อัพเดทแล้ว ทำให้พบว่า ราคาอะไหล่ ก็ถูกกว่าเบนซ์ในหลายรายการแล้วก็จริงในภาพรวม แต่ลูกค้าทั่วไปยังติดภาพในความรู้สึกว่ามันแพงอยู่

แต่สำหรับ XC90 D5 นี้ ลดข้อบกพร่องในรุ่นเดิมไปได้หลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ประหยัดเสียยิ่งกว่า V70 D5
อย่างน่าฉงน แถมยังให้ตัวเลขอัตราเร่ง ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่ารุ่นเบนซินมากมายเท่าใดนักเลย (แต่ก็ต้องยอมรับละว่า รุ่นเบนซิน T6 เร่งได้ดีกว่าจริงตามตัวเลข)

ขออีกแค่ 3 อย่างนี้เท่านั้นเองจริงๆนะ…


ขอขอบคุณ
คุณฉันทนา วัฒนารมย์ (คุณตุ้ม)
และ คุณต่าย จากฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท วอลโว คาร์ส ประเทศไทย จำกัด
ที่เอื้อเฟื้อรถในการทดลองขับ


รายละเอียดเิพิ่มเติม

บทความทดลองขับ Volvo XC90 T6
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3622492/V3622492.html

เว็บไซต์ของวอลโว
้้http://www.volvocars.com
http://www.volvocars.co.th

————-///————–

Facebook Comments
CarOnline Team

Recent Posts