Categories: รถใหม่

ทดลองขับ Subaru B9 TRIBECA ; The “(Thirsty) More than expect” Crossover SUV…by: J!MMY


แม้จะอยู่ในช่วงขาลงมาเป็นปีแล้ว แต่ตลาดเอสยูวี ในสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีความสำคัญต่อยอดขายของผู้ผลิตรถยนต์หลายๆค่าย
เรียกได้ว่า ถ้าค่ายไหน ไม่มี เอสยูวี กับเขาสักรุ่นหนึ่ง อาจส่งผลถึงความสนใจของลูกค้า ที่จะเมินหน้าหนีจากรถยี่ห้อนั้นไปเลย

ฟูจิ เฮฟวีอินดัสตรี ในฐานะ ผู้ผลิตรถยนต์ ซูบารุ มองปรากฎการณ์นี้มานานนนนน มากกกกกกกก ก่อนจะตัดสินใจพัฒนา
และเปิดตัว เอสยูวี จากพื้นตัวถังรถเก๋ง แท้ๆ คันแรกของตน….ซูบารุ B9 ทรีเบกา

ที่บอกว่านานนนนนนน มากกกกกก เป็นเพราะเมื่อช่วงปี 1994 ซูบารุตัดสินใจเปิดตลาดกลุ่มใหม่ ที่เรียกกันว่า ครอสโอเวอร์สเตชันแวกอน
โดยจับเอา เลกาซี แวกอน และ อิมเพรสซา แวกอน มายกให้สูงขึ้นเล็กน้อย แล้วส่งออกขายในชื่อ เลกาซี แลงแคสเตอร์ / เอาต์แบ็ก
และ อิมเพรสซา เอาต์แบ็ก (Legacy Lancaster / Legacy Outback , Impreza Outback) จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อันเป็นตลาดเป้าหมายหลักของรถยนต์ประเภทนี้ ถึงขนาดที่ วอลโว ต้องทำตาม ด้วยการออก V70XC ในช่วงปี
1998 ตามด้วย นิสสัน สเตเจีย (Stagea) รุ่นล่าสุดในปี 2001

อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสเรียกร้องของลูกค้า ที่อยากจะเห็นซูบารุ ทำเอสยูวีออกมาสักที งานนี้จึงร้อนอาส์นไปถึงทีมวิศวกรที่จะต้องคิดค้น
และพัฒนาขึ้นมา จนแล้วเสร็จ เผยโฉมครั้งแรกในโลก ณ งาน NAIAS 2005 หรือ ดีทรอยต์ ออโตโชว์ 2005 วันที่ 10 มกราคม 2005
หรือ 10 ปี พอดีๆ หลังการเปิดตัว รถ Outback ! แต่การทำตลาดจริงในสหรัฐอเมริกา เริ่มขึ้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2005


ส่วนชื่อรุ่นอันวิลิศมาหรา นั้น ซูบารุแถลงข่าวออกมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2004 หรือเกือบ 1 เดือนก่อนเผยโฉมคันจริงว่า
B9 Tribeca เป็นชื่อที่ ผสมๆกันเข้ามา โดยตัว B มาจากเครื่องยนต์ตระกูล Boxer อันเลื่องชื่อของตน ส่วนเลข 9
มาจาก เลขรหัสเพื่อการแบ่งประเภทรุ่นรถยนต์เป็นการภายในของซูบารุ

แล้วชื่อ ทรีเบกาละ? ทรีเบกา หรือจะอ่านเป็น ไทรเบกา อันน่าจะถูกต้องกว่านั้น มาจากชื่อเรียกของพื้นที่ส่วนหนึ่งในเมืองนิวยอร์ก
บริเวณ สามเหลี่ยม ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของถนน Canel street และทางตอนเหนือของถนน Wall street ในเกาะ แมนแฮตตัน
(Manhattan) อันเต็มไปด้วยร้านเสื้อผ้าระดับหรู ห้องแสดงศิลปะ และภัตตาคารชั้นสูง เพื่อรองรับการใชั้ชีวิตและการทำงาน
ของเหล่าศิลปิน และผู้นำกระแสแฟชันรุ่นใหม่ๆ

โดยซูบารุเอง เลือกใช้ชื่อนี้ เพราะอ้างว่า ได้สำรวจมาแล้วจากเจ้าของรถซูบารุ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจากการสำรวจตลาดเบื้องต้น
ไปจนถึง ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วน ว่า ชื่อนี้เป็นชื่อที่ดี…..เหมาะแก่การนำมาตั้งเป็นชื่อรถรุ่นนี้อย่างยิ่ง

อ่านดูแล้วก็คงพอจะเข้าใจได้เสียทีว่า ครอสโอเวอร์ เอสยูวีคันนี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอาใจลูกค้าชาวอเมริกัน ผู้มีรสนิยมเริ่ดวิไลไฮโซ
มากกว่าอเมริกันชนทั่วไปที่แทบต้องใช้รถ Caterpillar ขุดหาคำว่า "รสนิยม" จากลำธารหลังบ้าน

และแน่นอนว่า ไฮโซมะกันเหล่านั้น ต้องมีปัญญาจ่ายค่าน้ำมัน โดยไม่ต้องพึ่งพาแก้ส LPG หรือ CNG เหมือนพี่ไทยเรา….


มอเตอร์ อิมเมจ ประเทศไทย นำเข้า B9 ทรีเบกา มาจากโรงงาน SIA (Subaru of Indiana Automotive) ในเมือง ลาฟาแยต
(Lafayette) มลรัฐ Indiana อันเป็นโรงงานเดียวในโลกที่ผลิตเอสยูวีรุ่นนี้

แล้วทำไมไม่นำเข้าจากญี่ปุ่นละ?
อย่างที่บอกไปครับว่า ซูบารุ เลือกจะพัฒนาเอสยูวีรุ่นนี้
เพื่อเอาใจลูกค้าในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก

ซูบารุ กับ อีซูซุ เคยร่วมมือกันตั้งโรงงานแห่งนี้ที่ เมืองลาฟาแยต มาแล้ว แม้ว่าภายหลัง อีซูซุจะถอนตัวออกไปในช่วง 1-2 ปีมานี้ก็ตาม
แต่ซูบารุ ยังคงเดินหน้าผลิตรถยนต์ในโรงงานของตนต่อไป และโรงงานจำเป็นต้องมีรถยนต์รุ่นใหม่ มาผลิต เพื่อขายในสหรัฐฯ
และส่งออกสู่ตลาดอื่นๆทั่วโลก เพื่อประคองให้โรงงานอยู่รอดได้ในระยะยาว

ดังนั้น ซูบารุจึงเลือกจะยก B9 ทรีเบกา มาผลิตที่นี่เพียงแห่งเดียว ก็เท่านั้น


และ อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนคาดถึงกันคือ
B9 ทรีเบกา เป็นรถยนต์ญี่ปุ่นแท้ๆ อีกรุ่นหนึ่ง ที่ไม่มีขายในญี่ปุ่น!!!

ถ้าจะถามถึงสาเหตุ คงตอบได้แต่เพียงว่า กระแสความต้องการรถยนต์เอสยูวีในญี่ปุ่นนั้น ลดน้อยลงไปมาก ในรอบ 10 ปีมานี้
ดังนั้น เหนื่อยแน่ ถ้าจะต้องบุกตลาด เอสยูวีระดับสูงราคาแพง คันใหญ่บึ้ม ที่ออกแบบให้แล่นบนพื้นถนนเป็นหลัก
ในประเทศที่มีประชากรชอบและเคยชินกับการอยู่ในพื้นที่เล็กๆอย่างญี่ปุ่น ที่อยากได้เอสยูวีแบบลุยได้อย่างถึงกึ๋น
ในภาวะที่ราคาน้ำมันในญี่ปุ่น อยู่ที่ระดับลิตรละประมาณ 134 เยน ในวันที่บทความนี้ถูกนำเสนอออกไป


รูปลักษณ์ภายนอก ที่ถูกออกแบบลงบนตัวถัง อันมีความยาว 4,885 มิลลิเมตร กว้าง 1,880 มิลลิเมตร สูง 1,685 มิลลิเมตร
และมีระยะฐานล้อยาว 2,750 มิลลิเมตร (เท่ากับระยะฐานล้อของ โตโยต้า วิช) โดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ตั้งแต่หน้า จรดท้าย
ที่มองละม้าย คล้ายกับเอสยูวี ชั้นหรู อย่าง ปอร์เช คาเยนน์ (Porsche Cayenne)

พูดกันตรงๆคือ หากมองย้อนจากบั้นท้าย ไปจนถึงล้อหน้านั้น คุณจะรู้สึกได้ว่า

"เฮ้ นี่มันไม่ใช่ซูบารุแบบที่ฉันคุ้นเคยนี่นา!"

ใช่ครับ มันหรูขึ้น วัสดุเหนือกว่าซูบารุทุกรุ่นที่เคยเจอมา เทียบชั้นได้กับรถยุโรปหรูๆชั้นดีเลยทีเดียว


แต่…

อย่าได้เดินมาดูทางด้านหน้ารถเชียวนะ!!!

ดีไซน์เนอร์ ผู้ได้แรงบันดาลใจ หลังการลาออกจากงานของตนที่ อัลฟาโรมิโอ
หันมาสร้างเอกลักษณ์ในแบบพิลึกพิลั่น แล้วอ้างว่า เอาแรงบันดาลใจมาจาก
เรื่องบินรบ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นอดีตอันเป็นที่มาของ ฟูจิเฮฟวีอินดัสตรี

มันออกแบบด้านหน้าของ B9 Tribeca ออกมาได้
"ดอนนน จมูกกกบานนนน ม้ากกกกกกกกกกกกกกกก!!"

ทำลายความสวยงามของเส้นสายตัวถังทั้งคั้นที่บรรจงรังสรรค์กันมาอย่างดีไปเสียฉิบ!


ชุดไฟหน้าแบบ 3 วงกลม ปรับระดับสูงต่ำของลำแสงจากสวิชต์ภายในรถได้ 5 ระดับ
พร้อมไฟตัดหมอกหน้า และไฟตัดหมอกหลัง
คืองานออกแบบจุดแรกที่ชวนให้นึกถึง คาเยนน์ ขึ้นมาบ้าง


อีกจุดหนึ่งที่ชวนให้นึกถึง คาเยนน์ ขึ้นมา
แต่ถือเป็นจุดเด่นของงานออกแบบบนตัวถังของ B9 ทรีเบกา

นั่นคือ บริเวณเสาหลังคาคู่หลัง D-Pillar และชุดไฟท้าย

เห็นแบบนี้ พอจะนึกได้เลยใช่ไหมครับว่า
ซูบารุ อิมเพรซา 5 ประตู โฉมล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในสหรัฐอเมริกา
ได้รับอิทธิพลเส้นสายจากบั้นท้ายของใคร…


กระจกมองข้าง พร้อมชุดไฟเลี้ยวด้านข้างในตัว มีขนาดใหญ่โต ชวนให้นึกถึงรถกระบะรุ่นใหม่ๆ ก็จริง
แต่กลับมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแนวตั้ง ทำให้มองไม่เห็นรถที่อยู่ไกลตัวจากเลนถนนด้านข้าง
แถมการพับเก็บนั้น ยังต้องใช้ระบบอัตโนมือเสียอีก

เอ หรือว่าผมจะโง่เอง ที่คลำหาสวิชต์พับเก็บกระจกไฟฟ้าไม่เจอ??



ห้องโดยสารของ B9 ใหญ่โตเพียงพอจะรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 7 คน!
การก้าวเข้าออกจากห้องโดยสารของ B9 ทรีเบกานั้น ถือได้ว่า สะดวกกว่าที่คิด
แค่หันก้นไปที่เบาะ แล้วหย่อนก้นลงไป เท่านั้น!

การออกแบบเอสยูวีที่ดีนั้น สำคัญตรงที่ ต้องออกแบบให้การเข้าออกสะดวกสบาย
ขณะเดียวกัน ตำแหน่งของเบาะต้องไม่สูงเกินไป และตัวรถเอง ต้องมีจุดศูนย์ถ่วงไม่สูงมากนัก
เพื่อให้สะดวกต่อการขับขี่ และลดอาการเหวี่ยงขณะเข้าโค้ง


เบาะนั่งคู่หน้า ปรับเลื่อนตำแหน่งได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้าทั้ง 2 ฝั่ง
เฉพาะฝั่งคนขับ จะมีระบบล็อกความจำตำแหน่งเบาะ 2 ตำแหน่ง
นั่งได้นาน โดยไม่ปวดเมื่อยล้า


ส่วนเบาะแถวกลาง เลื่อนขึ้นหน้า ถอยหลังได้ เพื่อเพิ่ม/ลดพื้นที่วางขา
ซึ่งอาจต้องเผื่อพื้นที่วางขา ไปให้กับผู้โดยสารแถวสามอีกด้วย


เมื่อเลื่อนเบาะแถวกลางขึ้นมาจนสุดแล้ว อาจจะเหลือพื้นที่วางขาน้อยมาก หรือแทบไม่เหลือเลย



เบาะนั่งด้านหลัง ตรงกลางมีที่พักแขน พับเก็บได้ พร้อมที่วางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง


ชุดพนักพิงเบาะสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60:40


เพื่อสะดวกต่อการเข้าไปนั่งในเบาะแถวสาม
ที่อาจจะมีพื้นที่วางขาไม่ใหญ่โตนัก
และพอมีพื้นที่เหนือศีรษะเหลืออยู่ไม่มากนัก
เป็นธรรมดาของรถประเภทนี้ ที่มีเบาะแถว สามเอาไว้เพียงพอ
กับการเดินทางในระยะสั้นๆของสมาชิกตัวน้อยๆ ทั้งพูดได้ และ/หรือ พูดไมได้ ได้แต่เห่าโฮ่งๆ อย่างเดียว


ซึ่ง ชุดเบาะแถวสาม ก็สามารถแบ่งพับได้ 50:50 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังให้กว้างและยาวขึ้น

จากจุดนี้ คุณจะเห็น ขอเกี่ยวสำหรับร้อยเชือก ผูกรัดโยงสัมภาระ

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง และบริเวณ เหนือขอบโครงสร้างตัวถัง
ตรงกลาง ด้านหลัง มีไฟส่องสว่าง เลือกเปิด/ปิดใช้งานได้


ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังยังมีอุปกรณ์ใช้งานได้จริงอีก 2 รายการ
นั่นคือ ช่องเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้า ขนาด 12 โวลต์ ที่ผนังฝั่งซ้าย
และมีไฟส่องห้องเก็บของ ที่แผงบุฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง
เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะแถวสาม มีขอเกี่ยวไว้เรียบร้อย
ป้องกันการกระทบกระเทือนของเข็มขัดกับแผงพลาสติกบุผนังด้านใน
ลดโอกาสการเกิดเสียงน่ารำคาญขึ้น

ส่วนพื้นห้องเก็บของ เมื่อเปิดฝาออกดู จะพบช่องทางเข้าถึงอุปกรณ์ซ่อมรถยามฉุกเฉิน
และช่องเก็บซ่อนของลับๆ ตามปกติของรถยนต์ท้ายตัดหลายๆรุ่นในสมัยนี้


แผงหน้าปัด ถึงจะออกแบบได้สวยงามมากๆ คอนโซลกลาง เป็นรูปตัว Y
ตกแต่งด้วยสีอะลูมีเนียม พร้อมแสงไฟสีแดง ให้อารมณ์เดียวกับนั่งอยู่ในยานอวกาศ ชัดๆ

แต่ ยังมีสิ่งที่ต้องแก้ไข….


เพราะแม้ว่า ในตอนกลางคืน จะดูสวยงามเพียงใด…


เพราะแสงแดด ยามบ่ายแก่ๆ สะท้อนลงบนพื้นผิวด้านบนของแผงหน้าปัด แล้วยิงเข้าตาของผู้ขับขี่และผู้โดยสารโดยตรงมากเกินไป รบกวนทัศนวิสัยด้านหน้า
ของผู้ขับขี่เต็มๆ


ขณะที่กระจกมองข้างนั้น ใหญ่โตชวนให้นึกถึงรถกระบะก็จริง
แต่มีขนาดแคบไปสักหน่อย ถ้าเพิ่มความกว้างได้อีกนิด น่าจะช่วยให้
การชำเลืองมอง เพื่อเปลี่ยนเลน ทำได้ปลอดภัยขึ้น


นอกจากนี้ เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ยังมีบางส่วนที่บดบังเวลาเลี้ยวกลับรถ
หรือเข้าโค้งขวาที่จำต้องพบกับรถแล่นสวนมาในฝั่งตรงข้าม


ส่วนด้านหลังนั้น แม้จะทำได้ดีกว่า นิสสัน มูราโน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เล็กซัส RX
แต่ก็ยังมีจุดบอดสายตาบ้างเหมือนกัน หากจะเปลี่ยนเลน หรือออกสู่เลนคู่ขนาน ควรใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นด้วย


เมื่อเสียบกุญแจ บิดไปยังตำแหน่งติดเครื่องยนต์
เข็มวัดความเร็ว และวัดรอบเครื่องยนต์ จะกวาดไปจนถึงปลายสุดอีกฝั่ง ก่อนจะกวาดกลับมาอยู่ที่จุดเริ่มต้น
เช่นเดียวกับซูบารุรุ่นอื่นๆ และเช่นเดียวกับที่อีซูซุ พยายามออกแบบแล้วติดตั้งใน ดีแมกซ์ กับ มิว-7 รุ่นใหม่ของโลก


จากนั้น ตัวเลขจึงจะสว่างขึ้นมา นั่นเป็นอันว่า พร้อมทำงาน


ส่วนแผงควบคุมตรงกลาง ออกแบบเป็นรูปตัว Y จะทำให้คุณรู้สึกได้ในทันทีที่ก้าวขึ้นมานั่งในรถว่า
กำลังนั่งอยู่ในยานอวกาศ มากกว่าจะเป็นรถยนต์

และในความสวยงามของมัน ยังแฝงมาพร้อมกับความยากลำบากในการใช้งาน เมื่อขึ้นขับครั้งแรกๆอีกด้วย!


ด้านบนสุด เหนือช่องแอร์ สีดำ คือจอแสดงข้อมูล
จะทำงานทันทีที่ติดเครื่องยนต์ หน้าจอจะขึ้นภาพกราฟฟิกเตรียมพร้อม…


และจะขึ้นข้อความต้อนรับ….


แล้วจึงเข้าสู่โหมดแสดงข้อมูลเป็นปกติ

ครึ่งจอด้านบน สำหรับแสดงการทำงานของชุดเครื่องเสียง ทั้งวิทยุ ซีดี และ ต่อเชื่อมได้กับเครื่องเล่น MP3

ซีกซ้าย จะเป็นรูปรถยนต์ เตือนผู้ขับขี่ถึงบานประตูที่ยังปิดไม่สนิท
กลายเป็นเอกลักษณ์ของซูบารุหลายๆรุ่นไปเสียแล้ว


ส่วนครึ่งล่างของจอ…

ฝั่งซ้ายแสดงอุณหภูมิภายนอกรถ

ตรงกลาง กดปุ่ม Info เพื่อเปลี่ยนการแสดงผล
ทั้ง ระยะเวลาในการเดินทาง , อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบเฉลี่ย และแบบสดๆ Real-time กดคันเร่งอย่างไร ตัวเลขขั้นและลดลงตามนั้น
และ ระยะทางที่เชื้อเพลิงในถังยังพอแล่นได้โดยประมาณ

ส่วนฝั่งขวา เป็นนาฬิกา
จะปรับเวลา ให้กดปุ่ม นาฬิกา อยู่ฝั่งขวาของปุ่ม Info

แต่ ปรับเปลี่ยนเวลาได้ครั้งละ 1 นาที บวก หรือ ลบ เท่านั้น
ถ้าจะเปลี่ยนหลักชั่วโมง ต้องค่อยๆกดบวกหรือลบ รอไปเรื่อยๆตามแต่ใจต้องการ(รอ)


ถัดลงมาเป็นชุดเครื่องเสียงระดับพรีเมียม ที่ให้คุณภาพเสียงได้ละเอียดดีมากๆ
ไม่แพ้ชุดเครื่องเสียงจาก McIntosh ที่ติดตั้งมาในตระกูลเลกาซีแต่อย่างใด
เล่น ซีดี 6 แผ่น ในตัว

พร้อมสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง บนพวงมาลัยทั้ง 2 ฝั่ง

ส่วนสวิชต์มือบิดสุดเท่ออกแบบล้ำยุคไม่เหมือนใคร ทั้ง 3 วงกลมด้านล่างนั้น
เป็นแผงควบคุมระบบเครื่องปรับอากาศ สำหรับผู้โดยสารตอนหน้า
เป็นแบบแยกฝั่ง ซ้าย-ขวา ดิจิตอล
ใช้ชุดคอมเพรสเซอร์จาก DENSO ใช้น้ำยาแบบ H134a
ตามสากลนิยมยุคใหม่ใช้กัน

แถวล่างสุดนั้น ฝั่งซ้ายสุด และขวาสุด เป็นสวิชต์สำหรับ ระบบ ฮีตเตอร์ อุ่นเบาะ แยกชุด ทั้งเบาะซ้าย-ขวา…มี 3 ระดับให้เลือก ลนก้น..


ส่วนผู้โดยสารตอนหลัง ทั้งแถว 2 และ 3 มีช่องแอร์ บนเพดาน แยกมาให้อีก 4 ช่อง (แถวละ 2 ช่อง ซ้าย-ขวา)
พร้อมสวิชต์พัดลม ควบคุมความแรงของกระแสลมได้เอง ที่ด้านหลังคอนโซลกลาง


กล่องเก็บแว่นตา พร้อมไฟส่องสว่างอ่านแผนที่ 2 ฝั่ง และมีไฟดวงเล็กๆ เพื่อสร้างบรรยากาศในยามค่ำคืน
กลายเป็นสิ่งจำเป็นในรถยนต์ระดับหรูไปเสียแล้วหรือไรกัน เพราะพักหลังมานี้ เปิดประตูขึ้นไปขับรถคันไหน
จะเห็นรถคันนั้นต้องมีเจ้าไฟดวงเล็กๆนี้กันจนเกร่อ

ในบริเวณเดียวกัน มีสวิชต์ เปิดและปิดซันรูฟ มาให้ด้วย และไม่ใช่จะให้มาเป็นกระจกเปลือยเปล่า
หากแต่ยังมีแผงบังแดด เลื่อนถอยหลังซ่อนเก็บไว้ได้

กระนั้น แม้จะเปิดให้รับแสงตะวัน ทว่า กลับไม่รู้สึกร้อนแต่อย่างใด

แผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้า และมีไฟสำหรับแต่งหน้า ที่แม้ให้แสงนวล แต่สว่างโล่ทิ่มตาไม่เบา ให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง
แถมยังมีแผงพลาสติก เลื่อนออกมาเพื่อช่วยบังแดดเพิ่มเติมให้ เอาใจคนที่เคยบ่นว่ารถสมัยก่อน แผงบังแดดสั้นเหลือเกิน
ให้เลิกบ่นเรื่องนี้ไปได้เสียที


คอนโซลกลาง มีที่วางแก้วมาให้ 2 ตำแหน่ง แต่เหมาะจะใส่ข้าวของกระจุกกระจิกได้หลากหลายมาก ฝาพับเป็นแบบตู้กับข้าว เปิดได้ด้วยการกดปุ่ม


และเมื่อเปิดที่วางแขน ที่วางได้อย่างสบายๆ ใช้งานได้จริง
รองรับท่อนแขนได้ดี เหมือนกับแผงประตูทั้ง 4 บาน
ก็จะพบกล่อง 2 ชั้น ชั้นบน ไว้วางกระดาษแผ่นเล็กๆ
ส่วนชั้นล่าง ใส่ ซีดี และมีช่องสำหรับเสียบ เครื่องเล่น MP3 หรือ iPod
(Aux)


ภาพรวมของห้องโดยสาร ให้ความสบายในการเดินทางได้ดีเหนือกว่าคู่แข่ง
ในระดับเดียวกัน ทั้งเล็กซัส RX และนิสสัน มูราโน อย่างชัดเจน
และยิ่งถ้าพูดถึงการออกแบบให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยแล้ว
ยิ่งไม่ต้องพูดถึง…

เบาะคู่หน้า มีก้านปรับดันหลัง ลดความเมื่อยหลังไปได้บ้าง

อุปกรณ์ ความปลอดภัยที่มีมาให้ครบจากโรงงานในลาฟาแยต ที่อินเดียนา ก็คือถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง
และม่านลมนิรภัย รวมแล้ว มีถุงลมนิรภัยมาให้ 6 ใบ เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงกลับอัตโนมัติ
พร้อมระบบลดแรงปะทะ รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆอีกหลายอย่าง
ฟังดูเหมือนจะสมกับค่าตัวที่ตั้งไว้สูงถึง 4.59 ล้านบาท

แต่……รถคันนี้ ไม่มี เซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง (Back sensor) มาให้!!


*** รายละเอียดด้านวิศวกรรม ***

เครื่องยนต์ ของ B9 ทรีเบกา เป็นรหัส EZ30
แบบ 6 สูบนอน บ็อกเซอร์ DOHC 24 วาล์ว 3,000 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 89.2 x 80.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.7:1
ไม่มีระบบอัดอากาศ เหมือนเช่นที่ซูบารุรุ่นอื่นๆเขามีเป็นปกติ


แต่เพียงแค่นี้ ก็สามารถผลิตกำลังออกมาได้ถึง
245 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที
แถมยังให้แรงบิดสูงสุด 30.3 กก.-ม.ที่ 4,200 รอบ/นาที
แรงบิดสูงพอที่รถกระบะบ้าพลังบนท้องถนนทั้งหลาย
ต้องกลับมาคิดดูให้ดีๆ ถ้าจะไล่จี้ติดท้ายเอสยูวีคันนี้


ระบบขับเคลื่อนเป็นแบบ 4 ล้อตลอดเวลา ที่ซูบารุเรียกว่า Symmetrical AWD
เชื่อมเข้ากับ เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ พร้อมโหมด บวก-ลบ ให้ผู้ขับขี่เลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้เอง
เพื่อช่วยสร้างอรรถรสในการขับขี่เพิ่มขึ้นได้อีกนิดหน่อย

อัตราทดเกียร์

เกียร์ 1 อยู่ที่ 3.841
เกียร์ 2 อยู่ที่ 2.352
เกียร์ 3 อยู่ที่ 1.529
เกียร์ 4 อยู่ที่ 1.000
เกียร์ 5 อยู่ที่ 0.839
เกียร์ถอยหลัง 2.765
อัตราทดเฟืองท้าย 3.583

Facebook Comments
CarOnline Team

Recent Posts