ที่นั่งของ Pajero Sport มีสามตอนครับ ไม่มีช่องแอร์บนหลังคา แต่ให้ความเย็นกับตอนหลังด้วยช่องแอร์ข้างที่นั่งผู้โดยสารตอนหลังฝั่งขวา และแอร์นั้นก็ใช้ปุ่มควบคุมระดับความเย็น เป็นปุ่มเปิดและปิดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ไปด้วย โดยคุณบิดสวิทช์ความเย็นไปให้สุด แล้วผ่านจุดปิดสนิทอีกกิ๊กหนึ่ง คอมเพรสเซอร์จะตัดการทำงานไปเลย
ทางด้านหน้าของรถนั้น เย็นพอครับ เย็นจนตอนช่วงเย็นผมต้องปิดช่องแอร์ให้เลยศีรษะไปทางด้านหลัง และหากอยู่ทางที่นั่งตอนหลัง ก็คงจะเปิดแอร์ตอนหลัง ให้เป่ามาข้างหน้าได้สบายมากอยู่แล้ว จึงไม่ต้องห่วงเรื่องความเย็น
รูปที่ถ่ายมานี้ ผมถ่ายมาด้วยเจตนาจะใช้เพื่อเตือนความจำ
คือไม่ได้ตั้งใจจะเอามารีวิว แต่เห็นท่านเร่งรัดให้รีวิว ก็เลยตามใจท่านกันก่อน
แต่ไม่ใช่บททดสอบ ที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนที่ทำงานนะครับ
คงเป็นบทความทดลองขับรถเล่น ในวันหยุดของผมเท่านั้น
ดังนั้น บางรูป ในตอนต่อไป ก็อาจจะต้องเอามาจากแคตตาล็อกบ้าง แม้ผมจะไม่นิยม
แต่อย่างช่วงล่างนี่ ผมไม่มีรูปมาเลย เอามาให้ดูกันเท่านั้น
ไม่ใช่เพื่อการศึกษา แค่อ่านเล่นเพลินเพลิน ฆ่าเวลากันนะครับ
ผมยังไม่เติมน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะจะเติมช่วงขากลับ เพื่อดูอัตราสิ้นเปลือง ที่ขับด้วยความเร็วค่อนข้างสูงครับ
ธเนศร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
17 กันยายน 2551
ต้องบอกกันย้ำอีกครั้ง ว่าผมลองขับจริงจริง ไม่ได้ทดสอบ เพราะฉะนั้น รายงานนี้ก็จะพูดเพียงแค่สัมผัสเกือบจะเรียกได้ว่า First Impression ละนะครับ
รูปก็เช่นกันนะครับ ผมต้องแสกนออกมาจากแคตตาล็อกของรถเป็นบางรูป เพราะตอนที่ไปทดลองขับนั้น ผมไม่ได้เอากล้อง 5D ที่ใช้ประจำ หากทำงานทดสอบรถไปด้วย คงเอา Sanyo ตัวเล็กที่ใช้สำหรับถ่าย VDO ในตอนดำน้ำ ไปถ่ายภาพนิ่งมาแค่สำหรับลงในมติชน สุดสัปดาห์เท่านั้น
บางรูป ผมคงต้องขอเอาจากการทดลองขับ Fortuner มาเสริมเข้าไปละครับ พวกรูปเส้นทางวกวนนั่นแหละครับ
คือผมไปทดลองขับกับโตโยต้ามาแล้ว เขาเชิญไปก็ไปกันสักหน่อย แล้วก็ไม่ได้ค้างกับเขาด้วย เพราะต้องเดินทางไปปราณบุรีวันรุ่งขึ้น ขากลับต้องเสียเงินค่า Upgrade ตั๋วเครื่องบินกันหน่อย เพราะอยากนั่งสบายสบายสองคนกับเมีย
จะให้รูปสวย หรือมีมาก ก็คงไม่ได้เสียอีก ด้วยว่า ผมไม่ได้ตั้งหลักถ่าย และไม่ได้คิดจะเอาเรื่องมาลงในนี้แต่แรกเลย
มาเล่าให้ฟัง เพราะเห็นมีหลายท่านอยากทราบเร็วเร็วเท่านั้นเอง
รถคันนี้ ผมไม่ได้ขอยืมเขามาทดสอบนะครับ เขาเอามาให้ผมทดลองขับก่อน เป็นกลุ่มพิเศษเท่านั้นเอง
ดังนั้น เรื่องราวการรายงาน จึงเป็นเพียงการบอกเล่า เหมือนที่ผมทำมาในนิตยสารทั่วไป ระยะราวสิบปีหลังนี้เท่านั้น
————————————-
ที่นั่งของปาเจโร สปอร์ต ที่ผมเอามาขับเล่นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ บุด้วยผ้า ให้พื้นที่เพียงพอสำหรับการวางขาท่อนบน และพนักพิง แต่ค่อนข้างไม่ซับแรงสะเทือนเลย ดูจากการขับบนทางหลวงสาย 7 ช่วงแยกมอเตอร์เวย์ชลบุรี ไปออกแยกนาเกลือระยอง ที่เขาสร้างใหม่ให้เป็นถนนคอนกรีต ที่ผู้สร้างเก่งจนทำให้ผิวคอนกรีตขรุขระเหมือนคุณขับรถอยู่บนทางลูกรังสมัยผมยังเด็กและเริ่มหนุ่มได้
ความสะเทือนจากน่อง ไล่เรื่อยขึ้นมาถึงช่องท้อง ทำให้เหนื่อยเอาการเหมือนกันครับ เพียงแค่ช่วงไม่กี่สิบกิโลเมตร
แอร์ของปาเจโร สปอร์ต เย็นจนต้องลดระดับลง เมื่ออากาศเย็นลงในช่วงใกล้ค่ำของวัน
เขาใช้ปุ่มปรับอุณหภูมิ เป็นปุ่มเดียวกับควบคุมการทำงานของคอมเพรสเซอร์ โดยคุณจะหมุนปุ่มปรับอุณหภูมิขึ้นไปตามเข็มนาฬิกา และเมื่อจะเลิกใช้ หรือปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้น ก็หมุนทวนเข็มนาฬิกา จนสุด แล้วหมุนเลยไปอีกแก๊กหนึ่ง ก็จะเป็นการปิดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ไปด้วยเลย
เกียร์ที่เป็นสปอร์ตโทรนิค เดินหน้า 4 จังหวะ หากคุณโยกคันเกียร์ไปที่ D แล้วตบไปทางซ้าย ก็จะกลายเป็นให้คุณเปลี่ยนจังหวะเกียร์เอง โดยการโยกคันเกียร์ขึ้น หรือลง ดูจากตัวเลขบอกจังหวะเกียร์ในหน้าปัด ที่ใหญ่ และชัดเจนครับ
ผมลองเล่นเพียงนิดเดียว แค่ตอนออกตัวจากปั๊มน้ำมันในช่วงขากลับ แล้วก็ไม่ทำอีก เพราะไม่รู้จะเปลี่ยนเองทำไมให้ยุ่งยาก ในเมื่อเกียร์อัตโนมัติเขาทำออกมาให้ขับง่ายอยู่แล้ว ก็ใช้ไปอย่างที่เขาออกแบบมาให้ ก็หมดเรื่อง
แต่เมื่อลองแล้ว ก็เอามาบอกหน่อยก็แล้วกัน ว่าดีกว่าเกียร์ธรรมดา ตรงที่ไม่ต้องเหยียบและปล่อยเท้าซ้ายจากคลัทช์เท่านั้นเอง
และที่ด้อยกว่าเกียร์ที่ปล่อยให้ทำงานเอง ก็คือการต้องลดมือลงจากพวงมาลัย มาตบคันเกียร์ขึ้นขึ้นลงลง รวมทั้งอาจจะต้องละหรือลดสายตาลงจากการมองข้างหน้า มาดูรอบเครื่องยนต์กับตำแหน่งจังหวะเกียร์บ้างเป็นบางครั้ง
————————————————-
เขียนมาได้แค่นี้ ก็ต้องไปทำรายการวิทยุเสียอีกแล้ว พักไปสองชั่วโมง กลับมาอ่านอีกที ต้องตั้งหลักใหม่ในการเขียน ก็เผอิญไปเจอกระทู้ใน Car On Line ของเราเข้า คุณอาจณรงค์ มาบ่นว่า ผมเขียนไม่ค่อยน่าอ่าน
และบอกว่า อย่างนี้คุณอาจณรงค์ก็เขียนเองได้
ก็เชิญเลยนะครับ ผมอยากให้คนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาเขียนหนังสือกันให้แยะแยะอยู่แล้ว สนับสนุนให้เขียนเลยครับ เขียนมาลงในนี้ก็ได้ครับ ลงในกระทู้ก่อนก็ได้ เพราะมีช่องให้ลงรูปได้อยู่แล้ว เชิญเลยครับ พอรู้ฝีมือกันแล้ว ผมจะเชิญมาเป็นนักเขียนประจำ Web มีรายได้ให้ด้วย ตามระดับฝีมือ
———————————————————
สำหรับรถยนต์ Pajero Sport 3.2 GLS นี่ เครื่องปรับอากาศ ในที่นี้คงต้องเรียกว่า เครื่องทำความเย็น เพราะไม่น่าจะสามารถให้ไออุ่นออกมาได้ เป็นแบบธรรมดา หมุนปุ่มบังคับเอาเอง
ปุ่มอุณหภูมินั้น เมื่ออยู่ในตำแหน่งปิด ก็จะปิดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ไปเลย
จนกว่าคุณจะหมุนไปทางตามเข็มนาฬิกา เลยเข้าไปในแถบสีน้ำเงิน ก็จะทำงานตามการควบคุมของเทอโมสตัดหน้าแผงคอยล์เย็น เหมือนกับเครื่องทำความเย็นในรถยนต์รุ่นก่อนก่อน ไม่ได้ใช้น้ำร้อนช่วยเพิ่มอุณหภูมิแต่อย่างใด
ผมไม่ถือว่า เป็นรถที่พร้อมสำหรับการเดินทางทุกแห่งหนในบ้านเรานะครับ รถยนต์รุ่นหลังหลังนี่ ปกติจะใช้ระบบปรับอากาศกันเป็นส่วนมาก Pajero Sport ควรจะให้ระบบปรับอากาศมาแทนที่จะให้เพียงระบบทำความเย็น ด้วยว่า ผู้บริโภคอาจจะเอารถเดินทางไปเที่ยวภาคเหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือ ในฤดูที่อากาศเย็นวันใดวันหนึ่งก็ได้ แล้วก็จะต้องนั่งสั่นอยู่ในรถ แทนที่จะอบอุ่นด้วยอุณหภูมิของห้องพักอาศัย หรือ 24 องศาเซลเซียส ที่รถรุ่น GLS ไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม ทราบว่า ตัว GT อันเป็นรุ่นทอปนั้น ทำได้
——————————————–
อุปกรณ์เพื่อความบันเทิงในการโดยสาร ผมบอกไปแล้วว่า ผมไม่ได้สนใจอะไรเท่าไร ไม่ได้เอาแผ่น CD ที่ติดรถไปด้วยเหมือนกันมาฟังด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงเห็นจะต้องปล่อยให้เป็นเรื่องที่ท่านไปลองฟังกันเอาเอง
รถยนต์ที่ผมทดลอง หรือทดสอบผมจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องเครื่องเสียงมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะปกติ ก็ฟังแต่เสียงเครื่องยนต์กับเสียงการทำงานของรถยนต์เท่านั้น
กับ Pajero Sport GLS เสียงลมด้านข้างที่ปะทะกับแผ่นหนากว้างของกระจกมองข้าง ก็แว่วเข้ามาให้ได้ยินกันพอประมาณ เมื่อความเร็วเกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป
เข็มขัดนิรภัยนี่ ผมมองดูเฉยเฉยนะครับ สำหรับตอนหลัง เห็นมีให้ครบทุกที่นั่ง ในแบบพาดไหล่ ส่วนคนนั่งกลางสำหรับที่นั่งตอนสองนั้น คงมีแค่คาดเอวเท่านั้น แต่ก็ยอมรับว่าไม่ได้สังเกตหรอกครับ ว่ามีหรือเปล่า
ผมบอกตามตรงว่า ไม่ค่อยชอบรถแบบนี้ ที่ทำที่นั่งออกมาสามตอน เพราะหากคุณต้องขนสัมภาระของคนที่ไปด้วยกันในรถยนต์คันเดียวกันเจ็ดคน หรือแค่หกคน ก็จะไม่มีที่เก็บสัมภาระเอาเลย
ด้วยว่า ถ้าเดินทางไปค้างแรมกันเจ็ดคนเต็มอัตราศึก ก็จะต้องเปิดใช้ที่นั่งเต็มกำลังพล เหลือที่เก็บสัมภาระของแต่ละคนเพียงน้อยนิด และแน่นอนว่า ไม่พอ
ก็ต้องหา Rack มาวางบนหลังคา เพื่อบรรทุกของ เป็นเหตุให้ต้านลม เปลืองเชื้อเพลิงหนักขึ้นไป
ส่วนมากเราก็มักจะเดินทางกันไม่เกินสี่คน ปกติก็สอง ถึงสามคน ในรถยนต์คันเดียว นอกจากเป็นครอบครัว ที่ต้องการพื้นที่สักห้าคน อันไม่จำเป็นต้องใช้ที่นั่งหลัง
แล้วจะทำออกมาทำไม ให้เปลืองค่าที่นั่งเปล่าเปล่า
แต่ก็จำได้ว่า หลานเล็กเล็กของผมสองคน ชอบที่นั่งตอนหลังมากมาย ทุกครั้งที่ขึ้นเดินทางกับรถ PPV ของพ่อเขา ก็จะโดดไปนั่งตอนหลัง จุกจิกกันอยู่สองคนพี่น้อง ปล่อยที่ตอนกลางเอาไว้ให้พี่เลี้ยงนั่งถ่างแข้งถ่างขาไปตามสบาย
ดังนั้น จะว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ก็ยากนะครับ
ยิ่งรถยนต์สมัยนี้ ทำออกมาดีดีกันแทบทั้งนั้น จะหาจุดด้อยจุดเด่นก็ยาก จนเห็นใจคนทดสอบรถยนต์มือระดับนิตยสารแล้ว ว่าหาจุดติรถยนต์ยาก ถึงยากมาก อย่างรถคันนี้ ถ้าผมไปติเรื่องที่นั่งหลัง ก็ต้องนึกถึงหลานเล็กเล็กที่ผมบอกเอาไว้ข้างต้น ว่าโปรดปรานมาก จนทำให้พ่อของเขามีความสุข ในการขับรถและใช้รถยนต์คันนั้นในที่สุด
ถ้าคุณจะซื้อรถ PPV หรือ SUV ไปใช้กับครอบครัวของคุณ ก็ขอให้ดูจำนวนคนในครอบครัว ความต้องการใช้งานรถของคุณ และขนกันไปทั้งครอบครัวนั่นแหละครับ เอาขึ้นไปลองนั่ง ลองขับขี่ พร้อมกันไปเลย แอบดูหน้าตาแสดงถึงความสุข ความพึงใจของลูกน้อยของคุณ จากการได้ลองรถใหม่สักนิด แล้วค่อยคิดอีกที ว่าจะเลือกรถคันไหนดีกว่ากัน
เหมือนกันกับรถ PPV ค่ายอื่น ที่อัดที่นั่งมากันจนไม่เหลือที่บรรทุกสัมภาระ หากจะเดินทางไปค้างแรมที่อื่น โดยบรรทุกเต็มพิกัด เจ็ดคน
————————————————-
เรื่องเครื่องยนต์ ผมคงไม่พูดอะไรมากนัก เพราะบอกไปแล้วในตอนต้นว่า เป็นเครื่องยนต์อะไร แรงม้าแรงบิดเท่าไร
แต่ที่น่าจะยกขึ้นมาพูดเอาไว้ตรงนี้ ก็คือระบบหัวฉีดคอมมอนเรล ที่มิตซูบิชิบอกว่า ใช้ Hyper Pressure Pump นั่นแหละครับ
ด้วยยังไม่ได้ถามมิตซูบิชิว่า ใครเป็นผู้ผลิตปั๊มตัวนี้ให้ และที่หวาดหวาดอยู่ ก็กลัวว่าจะเป็นของเดนโซนั่นเอง
เพราะเดนโซ กำลังมีปัญหาอยู่กับ SCV วาล์วควบคุมแรงดันของปั๊มแรงดันสูง ที่อยู่ไม่อยู่ก็ติดขัดขึ้นมา ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับวูบลงไป และแทนที่เดนโซจะหาเหตผลมาแก้ไข กลับโทษว่า เป็นเพราะน้ำมันดีเซลในบ้านเรา ที่เป็น B2 และ B5 หรือ V-Power กันไปหมดแล้ว
กลายเป็นว่า ใช้น้ำมันอะไรในบ้านเรา ก็ใช้ไม่ได้อย่างนั้นหรือ เดนโซ
เพราะรถที่เกิดปัญหาเครื่องยนต์ดับวูบลงไปกลางคัน แบบกลางโค้ง หรือระหว่างการเร่งแซงนั้น จะเป็นรถที่ใช้ระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงที่เดนโซทำให้ทั้งสิ้น และรถแต่ละคัน ก็ล้วนแล้วแต่ใช้น้ำมันดีเซลหนึ่งในสามรูปแบบทั้งนั้น
ผมว่า ไม่ใช่เชื้อเพลิงหรอกครับ ที่ก่อเหตขึ้นมา
น่าจะเป็นเพราะเดนโซนั่นแหละ ออกแบบอะไร หรือทำอุปกรณ์ด้วยวัสดุใด ที่สึกหรอ และติดขัดขึ้นมาอย่างรวดเร็วมากกว่า
เพราะรถอื่น อย่างเมอเซเดส เบนซ์ หรือรถดีเซลอื่น ที่ใช้อุปกรณ์ของ Bosch หรือ Aisan ไม่เห็นมีใครเป็นอาการเดียวกับที่เกิดกับรถที่เดนโซส่งอะไหล่ตัวนี้ให้เลย
ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจ และถามไถ่กันไว้บ้างนะครับ สำหรับคนเลือกรถกระบะดีเซลตอนนี้ ว่าใครใช้ระบบของใคร
———————————————–
เกียร์อัตโนมัติของ Pajero Sport GLS มีคันเกียร์เล็กเล็กอยู่ด้านข้างขวา นั่นก็คือทรานสเฟอร์เกียร์
ที่ทำหน้าที่ส่งกำลังขับเคลื่อนให้กระจายกันไปทั้งสี่ล้อ หรือสองล้อ แล้วแต่การเลือกของผู้ขับขี่
แรกที่เดียว เกียร์อยู่ในตำแหน่ง 2H อันได้แก่การขับเคลื่อนสองล้อ ที่มิตซูบิชิเลือกเรียกว่า High Range เป็นเกียร์ที่เหมาะกับการขับขี่ปกติทั่วไป กำลังส่งไปยังล้อหลังทั้งหมด
หากดันคันเกียร์ขึ้นไปอีกจังหวะ ไฟสัญญาณบนหน้าปัดจะติดสีเขียวขึ้นทั้งสี่มุนของล้อรถ ที่ทำเป็นกราฟฟิคเอาไว้ให้เห็น ตรงนี้ เป็นการขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ High Range เข้าเกียร์ได้โดยไม่ต้องหยุดรถก่อน เหมือนที่โฆษณากันว่า Shift-on-the-Fly ในสมัยแรกแรก ทั้งที่เป็นเรื่องปกติ แต่ฝ่ายการตลาดของบริษัทรถยนต์คงเห็นเป็นเรื่องแปลก เลยเอามายกเป็นจุดโฆษณากันจนได้
ตำแหน่งนี้ ในคู่มือบอกว่า จะเป็นการแบ่งกำลังล้อหน้าและหลังในแบบ 50:50 และเหมาะสำหรับบนถนนลื่น หรือฝนตก ที่หากล้อใดหมุนฟรี ชุด Viscous Coupling ก็จะช่วยแบ่งกำลังจากล้อนั้น ไปส่งให้กับล้อที่ไม่ฟรี เพื่อลดการฟรีของล้อลง แต่ผมก็ไม่ได้ลองอีกเช่นเคยนะครับ
คือพูดกันตรงไปตรงมา ว่าไม่ได้ลองเลยสักเกียร์ แค่ขับ 2 ก็พอถมไปแล้ว สำหรับการขับเล่นแค่นี้เอง
อีกตำแหน่งหนึ่ง 4 HLc ก็จะเป็นการขับแบบ 4 ล้อ โดยมี Center Differential Lock ช่วยคุมให้กำลังขับแบ่งไปตามล้อทั้งสี่อย่างเหมาะสมกับสภาพการขับขี่และเส้นทาง ใช้เฉพาะความเร็วไม่มากนักและต้องการแรงขับเคลื่อนสูง และน่าจะต้องหยุดรถเพื่อเข้าเกียร์ด้วย
ตำแหน่งสุดท้าย คือ 4 LLc อันนี้ ต้องหยุดรถเพื่อเข้าเกียร์แน่นอนอยู่แล้ว เพราะเป็นตำแหน่งสูงสุดของเกียร์ 4 จังหวะ อัตราทดเฟืองสูงมากเป็นพิเศษ ไม่สามารถใช้ความเร็วสูงได้ แต่รถจะมีกำลังสูงสุด ใช้ระบบ Center Differential Lock ช่วยในการควบคุมเช่นกันกับจังหวะที่สาม
ไม่ใช่ผมไม่เห็นความสำคัญ เลยไม่ได้ลองนะครับ แต่ผมไม่คิดจะลองอยู่แล้ว เพราะขี้เกียจ และไม่ได้คิดจะมารายงานผลการทดสอบรถยนต์เหมือนที่เคยทำมาเมื่อสิบปีก่อนเท่านั้นแหละ
———————————————–
ระบบห้ามล้อเป็นแบบ ABS และ EBD ที่น่าแปลกกว่าของโตโยต้าอยู่สักหน่อยครับ คือของโตโยต้านั้น ระบบ EBD จะทำงานเองทันทีที่พบว่า รถมีอาการปัดเซ และเรียกระบบเดียวกันกับที่มิตซูบิชิเรียกนี้ว่า BA หรือ Brake Assist
เพราะระบบของมิตซูบิชิ จะเพียงทำหน้าที่แบบเดียวกับ BA คือกระจายแรงเบรกเมื่อจะหยุดฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ได้ทำงานเหมือน EBD ของโตโยต้าที่จะใช้เมื่อมีการปัดเซของรถขณะขับขี่
เบรกหน้าดิสก์แบบมีช่องระบายความร้อน และหลังเป็นเบรกดุม ที่ให้การลดความเร็วจากความเร็วสูงได้ดีทีเดียวครับ อันนี้ รับได้ เพราะลองมาแล้ว แต่ไม่ถึงกับหยุดลงไปวัดระยะเบรก ที่จะเกินการทดลองขับไปมากหน่อยละนะครับ
ขนาดยางนี่ ใหญ่ดีจริงจริงแฮะ 265/70 R16 คงเป็นเพราะเฟืองท้ายใช้ 4.100 และแรงบิดที่มีมากมายมหาศาลช่วยให้ใช้ยางใหญ่ได้ดีก็เป็นได้
————————————–
อีซูซุส่งเครื่อ…